ฝ่ายไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และฝ่ายอียิปต์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการลงทุน (H.E. Mr. Hassan Elkhatib) ได้ร่วมลงนามออนไลน์ในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Memorandum of Understanding (MoU) on the Establishment of the Joint Trade Committee (JTC)) และแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Joint Action Plan (JAP) on Economic Cooperation) หลังจากได้พิจารณาจัดทำมาตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567
โดยวันลงนาม รัฐมนตรีทั้งสองได้กล่าวแสดงความยินดี โดยฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับอียิปต์ในฐานะประเทศยุทธศาสตร์ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และเห็นว่าเวที JTC และแผนปฏิบัติการร่วมฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ในขณะที่ฝ่ายอียิปต์ให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้า การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จากอียิปต์ในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีเครือข่ายความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ทั้งนี้ อียิปต์พร้อมส่งเสริมความร่วมมือรายอุตสาหกรรมกับไทย โดยเฉพาะการเกษตร การประมง ยานยนต์ เทคโนโลยี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับการดำเนินงานสำคัญหลังจากนี้ เช่น การจัดประชุม JTC เป็นประจำ การทบทวนการดำเนินการตามความตกลงการค้าระหว่างไทยและอียิปต์ที่ลงนามเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527 รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การค้าและการลงทุน การเกษตร เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน การแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักด้านกฎระเบียบการลงทุน การจัดคณะผู้แทนการค้าและการลงทุน การจัดทำ MoU ด้านความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ความเห็น/ข้อเสนอแนะ
- การจัดตั้ง JTC จะที่เปิดโอกาสให้ไทยได้ใช้เวที JTC ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างประเทศกับอียิปต์ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น การโอนชำระค่าสินค้านำเข้าล่าช้า การตรวจปล่อยสินค้าที่ท่าเรือล่าช้า และการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น สินค้าปลอมและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
- นอกจากนี้ ปัจจุบัน มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในอียิปต์เพิ่มขึ้น อาทิ การประกาศใช้นโยบายเชิงปกป้องของอียิปต์ (เช่น การลดการนำเข้า การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ การเพิ่มภาษีสินค้าที่ไม่จำเป็น การนำมาตรฐานสินค้ามาใช้เพิ่มขึ้น) ความเปราะบางของเศรษฐกิจอียิปต์เอง (เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงประมาณร้อยละ 30 ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่ามากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 ภาวะหนี้สาธารณะสูงเกือบร้อยละ 90 ของจีดีพี) ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอิสราเอลและทะเลแดง ที่ส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้าทางทะเล และคู่แข่งของสินค้าไทยจากประเทศที่มี FTA กับอียิปต์ ทำให้การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ โดยเฉพาะการทบทวนการดำเนินการตามความตกลงการค้าระหว่างไทยและอียิปต์ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2527 จะเปิดโอกาสให้ไทยและอียิปต์ได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตความตกลงดังกล่าวเป็น FTA ที่ครอบคลุมหลายด้าน โดยเฉพาะการลดภาษีนำเข้าสินค้า การคุ้มครองการลงทุน และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว
——————————————————-