เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทุเรียนสด 1 ตู้ที่นำเข้าจากไทยที่เข้าประเทศจีนผ่านสนามบินนานาชาติอู๋ซวีเมืองหนานหนิงที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ถูกปฏิเสธการนำเข้าผ่านด่าน เนื่องจากไม่มีผลวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 (BY2) แนบมากับสินค้า ซึ่งเป็นทุเรียนล๊อตแรกจากต่างประเทศที่ถูกปฎิเสธผ่านด่านหลังจากการดำเนินการมาตรการตรวจสอบสาร BY2 กับทุเรียนนำเข้าทุกล๊อต
สาร BY2 เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารนี้เป็นสารก่อมะเร็งและกระทรวงสาธารณสุขของจีนจัดให้สารนี้เป็นสารที่กินไม่ได้ในเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ศุลการกรแห่งชาติจีน (GACC) กำหนดให้ทุเรียนทุกล๊อตจากทุกประเทศที่ส่งออกมาจีนต้องแนบผลวิเคราะห์ BY2 และผลต้องไม่พบสารดังกล่าว โดยจีนจะสุ่มตรวจที่ด่านนำเข้าสินค้าทุกล๊อต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
มาตรการดังกล่าว เกิดขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน ได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทยที่นำเข้ามาประเทศจีน พบปัญหาการใช้สาร BY2 จึงทำให้ศุลกากรแห่งชาติจีนออกมาตรการอย่างฉุกเฉินที่ใช้กับประเทศที่อนุญาตส่งออกทุเรียนเข้าจีน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย กับด่านนำเข้าผลไม้ของจีนทุกแห่ง เวลาในการตรวจสอบของศุลกากรอยู่ที่ประมาณ 3 – 7 วันทําการ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและผลตรวจสอบของศุลกากรท้องถิ่นแต่ละแห่ง และไม่สามารถผ่านด่านได้ในช่วงระยะเวลารอผลการตรวจสอบ
ตามสถิติจากศุลกากรแห่งชาติจีน จีนเป็นตลาดบริโภคทุเรียนที่มากทึ่สุดของโลก สัดส่วนบริโภคทุเรียนคิดเป็นร้อยละ 91 ของโลก เมื่อช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.53 ล้านตัน มูลค่า 48,585 ล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และ 5.1 ตามลำดับ ประกอบด้วยการนำเข้าจากไทยมีปริมาณ 7.96 แสนตัน มูลค่า 27,954 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 11.13 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ปริมาณนำเข้าจากเวียดนาม 7.2 แสนตัน มูลค่า 20,375 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.93 ปริมาณนำเข้าจากฟิลิปปินส์ 1.33 หมื่นตัน มูลค่า 227 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.65 ปริมาณนำเข้าจากมาเลเซียน 255 ตัน มูลค่า 30 ล้านหยวน สำหรับทุเรียนของมาเลเซียนเพิ่งได้รับอนุญาตนำเข้าสู่ประเทศจีนในเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567
หลังจากมาตรการดังกล่าวที่ดำเนินการอย่างเป็นทางการทำให้ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย มีการระงับส่งออกทุเรียนเป็นชั่วคราว และมีการปรับมาตรการตรวจสอบเพื่อผ่านมาตรฐานการนำเข้าของจีน ทั้งนี้ กรมวิชาเกษตรได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ดังนี้ 1) กรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ต้องใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้อง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง หรือตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า 2) กรณีตรวจพบโรงคัดบรรจุใช้สารห้ามใช้หรือมีสารห้ามใช้ไว้ในครอบครอง จะถูกระงับการส่งออกและนำไปสู่การยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชก็ได้ และ 3) กรณีเจ้าหน้าที่สงสัยว่าทุเรียนมีการใช้สารห้ามใช้ ให้มีอำนาจสั่งให้โรงคัดบรรจุนำผลทุเรียนนั้นไปตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง การยกระดับมาตรการตรวจสอบทุเรียนนำเข้าของจีนเป็นเรื่องสำคัญต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อทุเรียนที่ส่งออกเข้าตลาดจีน และทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องปรับมาตรฐานการส่งออก มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องมีการวางแผนการส่งสินค้าอย่างดี แต่ถ้ามองจากระยะยาวมาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียน รวมถึงช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรรักษาคุณภาพของทุเรียน โดยไม่ใช้สารที่มีอันตรายต่อร่างกาย และผ่านการมาตรฐานที่กำหนดของศุลกากรแห่งชาติจีน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนที่ดีและครองตำแหน่งผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีนต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันศุลกากรแห่งชาติจีน ยังไม่มีการออกประกาศเกี่ยวกับการตรวจสอบที่ชัดเจน ทั้งนี้ สคต.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบในโอกาสแรก สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สคต.ณ เมืองหนานหนิง ทาง Email: thaitcnanning@ditp.go.th
————————————————————————
สำนังงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
แหล่งที่มา https://mp.weixin.qq.com/s/mn6efZj58cUT9f70MLJyTg
https://news.foodmate.net/2025/01/707189.html
http://www.customs.gov.cn/ (ตัวเลข)