หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้รับประโยชน์จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากประเทศมหาอำนาจหลักของโลก ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจีน (นาย สี จิ้น ผิง) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดท่าเรือ Chancay หรือท่าเรือขนาดใหญ่ของเปรูในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงลิมา ซึ่งท่าเรือดังกล่าวลงทุนโดยกลุ่ม Cosco Shipping และเพียง 4 วันต่อมาในช่วงการประชุม the 17th China-Latin America and the Caribbean Business Summit จีนและนิการากัวได้ร่วมลงนามในสัญญาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในเขต Bluefield ที่มีมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท CAMC Engineering ของจีนเป็นผู้ลงทุนหลัก
รัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่นำโดยนาย Donald Trump อยู่ระหว่างการพิจารณาเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 60 สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากท่าเรือ Chancay เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อจีน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศแผนการสนับสนุนเศรษฐกิจของชิลีด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่สำคัญให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพรองรับการค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยทั้งชิลีและและสหรัฐอเมริกาได้มีการหารือร่วมกันล่าสุดในปี 2567 และจะเริ่มต้นโครงการกับท่าเรือ San Antonio ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญของชิลี ด้วยเงินลงทุนจำนวนกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือระยะทาง 1,730 เมตร จำนวน 2 แห่ง และเขื่อนกันคลื่นระยะทาง 4 กิโลเมตร หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ท่าเรือ San Antonio จะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 6 ล้าน TEU ปริมาณงานกว่า 60 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจประเมินความต้องการต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ การออกแบบ และแนวทางการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของชิลี ซึ่งการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา ถือเป็นการรักษาการได้เปรียบทางการแข่งขันและเสริมสร้างสถานะของสหรัฐอเมริกา ลดการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา
ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของท่าเรือ San Antonio
ท่าเรือ San Antonio ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างจากกรุงซันติอาโกไปทางตะวันตกด้วยระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร เป็นท่าเรือที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 10 ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ถือเป็นท่าเรือที่เป็นประตูสำคัญในการรองรับการค้าจากภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ทั้งนี้ ท่าเรือ San Antonio มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าจากทั่วโลก เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกซึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสินค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกากับตลาดโลก
การลงทุนของสหรัฐอเมริกาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชิลี สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ โดยทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และเครือข่ายทางการค้าของชิลี ซึ่งโครงการพัฒนาท่าเรือจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนนวัตกรรม และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในภูมิภาค[1]
รัฐบาลชิลีได้เปิดรับให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการฯ และปัจจุบันมีบริษัทจำนวน 34 ราย สนใจเข้าร่วมการประมูลก่อสร้างท่าเรือ โดยในจำนวนนี้มีบริษัทจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ราย การพัฒนาท่าเรือในระยะแรกมีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการฯ ในปี 2569 และการพัฒนาท่าเรือในระยะที่ 2 มีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ[2]
บทวิเคราะห์/ความเห็นของสคต.
การสร้างอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนของจีนในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งในภูมิภาคลาตินอเมริกา สร้างความท้าทายต่อบทบาททางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือ San Antonio มิใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นการเข้ามาถ่วงดุลบทบาทของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา อีกทั้งเป็นการพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐอเมริกากับชิลี โดยชิลีถือเป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ส่งผลถึงโอกาสที่ดีทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
หากการพัฒนาท่าเรือ San Antonio แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จะเป็นโอกาสที่ดีของการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา เนื่องจากศักยภาพการรองรับสินค้าที่เพิ่มขึ้น การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยลดเวลาการตรวจปล่อยสินค้า
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของเปรูทำให้จีนเล็งเห็นถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในเปรู ประกอบกับรัฐบาลเปรูเห็นว่าการมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของเปรู ช่วยลดต้นทุนการนำเข้า/ส่งออกสินค้า และระยะเวลาในการขนส่งระหว่างภูมิภาคลาตินอเมริกากับเอเชีย นอกจากนี้ จำนวนประชากรเปรูมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นจำนวน 5 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่าน รวมจำนวนประชากรที่ 34 ล้านคนในปัจจุบัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี การขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ในขณะที่ชิลีมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นคิดเป็นจำนวน 3 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ทำให้เปรูจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการรองรับสินค้าที่ท่าเรือให้มากขึ้น การก่อสร้างท่าเรือ Chancay จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลจีนได้เสนอให้แก่เปรู
แม้ปัจจุบันชิลียังไม่ได้รับผลกระทบจากความแออัดของสินค้าที่ท่าเรือเหมือนที่เปรูประสบ ชิลีเห็นว่าการพัฒนาท่าเรือในแถบตอนกลางของประเทศจะช่วยให้ท่าเรือ San Antonio สามารถเพิ่มการรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 6 ล้าน TEU ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการรองรับสินค้าของท่าเรือ Chancay ในเปรู นอกจากนี้ รัฐบาลชิลีมีแผนในการขยายความสามารถเพิ่มขึ้นให้รองรับการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 9 ล้าน TEU[1] ภายในปี 2578
การพัฒนาท่าเรือของเปรูและชิลีมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวที่ระดับร้อยละ 3.3 ในปี 2568 เช่นเดียวกับภาคการค้าโลกที่จะเติบโตที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2568 จึงคาดว่าปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางทะเลจะขยายตัวตามอุปสงค์สินค้าที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือของเปรูและชิลีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร (อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว และมันสำปะหลัง) มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเปรูและหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (ภัยแล้ง ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี)
_______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มกราคม 2568
[1] The Chile´s Infrastructure Policy Council (IPC) – https://www.infraestructurapublica.cl/chancay-y-los-desafios-portuarios-de-chile-por-luis-eduardo-escobar/#:~:text=Chile%20hoy%20no%20tiene%20congesti%C3%B3n,que%20Valpara%C3%ADso%20duplique%20su%20capacidad.
[1] Digital local media – https://www.ex-ante.cl/lo-que-hay-tras-el-interes-de-eeuu-por-invertir-en-el-puerto-de-san-antonio-y-sus-gestiones-en-chile/
Local newspaper – https://www.df.cl/senal-df/el-deal/san-antonio-la-carta-de-eeuu-para-hacer-frente-a-la-expansion-de-china
China-LAC Business Summit website –
Twitter – https://x.com/ExtremaRatio4/status/1859999685873721827?mx=2
[2] Chilean port administrator Empresa Portuaria San Antonio (EPSA) is a government-chartered and owned corporation established in 1997 to manage, operate and maintain San Antonio city’s port, in Chile’s Valparaiso region (V).