แหล่งข่าวจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์แห่งนครดานัง (Da Nang Semiconductor and Artificial Intelligence Center for Research and Training: DSAC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 ได้มีพิธีมอบใบรับรองการลงทุนด้านการออกแบบชิป (investment certificate on chip design) ให้กับบริษัท SkyeChip ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศมาเลเซีย เพื่อพัฒนาโครงการในนครดานัง โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นโครงการลงทุนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการออกแบบชิปให้เพิ่มมากขึ้นอาเซียน

ตามรายงานยังระบุว่า นักลงทุนรายสำคัญหลายราย เช่น บริษัท Mixel Vietnam สาขาของบริษัท Marvell Vietnam ในนครดานัง บริษัท Sibridges Vietnam บริษัท Connexus บริษัท Ideas2Silion Vietnam และบริษัท AIAIVN Vietnam Artificial Intelligence ซึ่งเป็นบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ของเวียดนาม ได้ลงทะเบียนเพื่อขยายการดำเนินงานมายังนครดานัง รวมทั้งยังมีบริษัทอื่น ๆ เช่น บริษัท Synopsys บริษัท Quest Global บริษัท FPT Semiconductor และบริษัท Renesas ที่วางแผนจะขยายการลงทุนและจัดโปรแกรมฝึกอบรมบุคลากรในนครดานัง นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำอย่างบริษัท Nvidia บริษัท Qualcomm บริษัท Intel บริษัท Mediatek และบริษัท Super Micro ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมและโอกาสในการลงทุนในนครดานังเช่นกัน

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 บริษัท Marvell Technology, Inc. จากสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเปิดศูนย์ออกแบบแห่งใหม่ในนครดานัง โดยวางเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในสามศูนย์ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของเวียดนาม ร่วมกับนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย รวมถึงมีการกำหนดแผนการฝึกอบรมวิศวกรจำนวน 5,000 คน รวมถึงนักออกแบบชิป 2,000 คนภายในปี 2573 เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) หลายฉบับระหว่างกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของนครดานัง (Da Nang Department of Information and Communications) กับหน่วยงานพันธมิตร เช่น บริษัท Synopsys International, บริษัท Marvell Vietnam, เครือ Sovico, เครือ Viettel Group และบริษัท FPT IS ในการประชุมสัมมนาด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เมื่อปี 2567

นครดานังยังเร่งดำเนินการพัฒนา Da Nang Software Park แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นอุทยานเทคโนโลยีสารสนเทศแบบรวมศูนย์ที่บริหารโดยรัฐบาล เพื่อรองรับพนักงานด้าน IT และเซมิคอนดักเตอร์จำนวน 6,000 คน นอกจากนี้ ศูนย์ DSAC ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 6 แห่งในนครดานังเพื่อวิจัยและฝึกอบรมบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ได้เริ่มหลักสูตรฝึกอบรมแรกสำหรับผู้เข้าร่วม 22 คนในด้านการออกแบบไมโครชิป และอีก 17 คนในด้านการประกอบ การทดสอบ และการบรรจุในนครดานัง

บริษัทเวียดนามและเกาหลีใต้ยังได้ลงนามในข้อตกลง 5 ฉบับ เกี่ยวกับความร่วมมือและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในด้านการดูแลสุขภาพและเมืองอัจฉริยะในนครดานัง รวมทั้ง บริษัท LG Electronics ของเกาหลีใต้มีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในขณะที่ Samsung ได้จัดตั้ง Samsung Innovation Campus ที่มหาวิทยาลัย Duy Tan ของนครดานัง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเวียดนาม-เกาหลี (Viet Nam-Korea Information Technology and Communications University) มีแผนร่วมมือกับ LG Electronics และมหาวิทยาลัย Northampton ในสหราชอาณาจักร เพื่อวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ดิจิทัลและการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

ปัจจุบัน มีธุรกิจด้านการออกแบบชิปและเซมิคอนดักเตอร์ 14 แห่งดำเนินงานในนครดานัง ได้แก่ บริษัท Synopsys, Uniquify, Renesas, Synapse (ปัจจุบันคือ Quest Global), Sannei Hytechs, Mixel Vietnam, Marvell Vietnam, Sibridges Vietnam, Ideas2Silion Vietnam, FPT Semiconductor, Viettel Hi-Tech และ Acronics

 (แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสูงสุดในยุคปัจจุบัน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไปจนถึงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 แนวโน้มการกระจายห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาทางการเมืองที่ซับซ้อนทั่วโลก ทำให้หลายประเทศในเอเชียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำคัญ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานนี้ เนื่องจากหลายบริษัทเลือกย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่เวียดนาม

นครดานัง ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของเวียดนาม เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจที่ดีกับประเทศที่มีอำนาจในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงมีบุคลากรที่มีความสามารถสูงและเสถียรภาพทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างช่องทางกฎหมายและกลไกที่ให้สิทธิพิเศษในการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในนครดานังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก เช่น Synopsys และ Marvell ที่เลือกตั้งสำนักงานในเมืองนี้ นอกจากนี้ยังมีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Nvidia, Qualcomm และ Intel ที่ได้เริ่มเข้ามาสำรวจโอกาสในการลงทุนและร่วมมือกับดานังในด้านการฝึกอบรมบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ ในขณะที่เครือ Foxlink Group จากไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ได้ลงทุน 135 ล้านเหรียญสหรัฐในดานังและกำลังวางแผนขยายธุรกิจในอนาคต อีกทั้งยังมีข้อมติเลขที่ 136/2024/QH15 ของสมัชชาแห่งชาติเวียดนาม ซึ่งกำหนดนโยบายเฉพาะที่สนับสนุนการลงทุนในด้านชิปและปัญญาประดิษฐ์ในดานัง ทำให้การลงทุนในเมืองนี้มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนให้ดานังกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

เวียดนามกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชีย โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เมื่อมีการปรับเปลี่ยนในห่วงโซ่อุปทานโลกจากผลกระทบของสงครามการค้าและข้อจำกัดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2566 ระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้ประกาศ “Semiconductor Partnership” หรือความร่วมมือในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กับเวียดนาม ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสนับสนุนให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคแทนที่จีน โดยในระยะยาว เวียดนามจะได้รับโอกาสในการเพิ่มบทบาทในตลาดการผลิตชิปทั่วโลก

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 บริษัท Nvidia ผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศความร่วมมือสำคัญกับรัฐบาลเวียดนาม โดยมีแผนจะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (R&D Center) แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมทางด้าน AI และเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

การเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ในเวียดนามเปิดโอกาสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากความต้องการในการผลิตชิปและพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของเวียดนามในหลายด้าน

สำหรับนักลงทุนไทย การขยายโอกาสการลงทุนในเวียดนามผ่านการร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูง โดยการสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจ สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาจะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ การลงทุนและการร่วมมือกันยังสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต

thThai