เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 นางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน พร้อมด้วยคณะสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน นำโดยนางสาวศศรักษ์ ศะศิวณิช กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ได้เข้าเยี่ยมคาราวะ หม่า เทาเทา รองนายกเทศมนตรีเมืองจางโจว โดยได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอตงชาน และได้แลกเปลี่ยนความเห็นในการส่งเสริมความร่วมมือ ในหลายด้านระหว่างอำเภอตงชานและประเทศไทย เช่น ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านอุตสาหกรรมการประมงและการแปรรูป ตลอดจนการค้าระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมหมู่บ้านชาวประมงอ้าวเจี่ยว ตั้งอยู่ในอำเภอตงซาน เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน หนึ่งในหมู่บ้านประมงที่สวยที่สุดในจีน และรับฟังเกี่ยวกับการสืบสาน รักษาและส่งต่อแนวคิด ค่านิยม และประวัติศาสตร์อันเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ พิพิธพัณฑ์กู่เหวินชาง รวมถึง รับฟังการบรรยายการพัฒนาต้นแบบจากหมู่บ้านที่มีรายได้น้อย จนประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหมู่บ้านอ้าวเจี่ยว ได้รับการพัฒนาด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชั้นนำ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปอาหารทะเลย อีคอมเมิร์ซ และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ยังได้มีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอตงซาน ตั้งอยู่ในเมืองจางโจว โดยเป็นเกาะลำดับที่6 และใหญ่เป็นอันดับที่2 ในมณฑลฝูเจี้ยน มีพื้นที่ 243.4 ตร.กม. ประกอบด้วย 7 ตำบล 1 เขตอุตสาหกรรม และประชากรถาวร 220,800 คน โดดเด่นในฐานะ “เกาะเชิงนิเวศสีเขียว” ด้วยจำนวนป่าปกคลุม 27.86% และเป็นหนึ่งใน 33 เขตตัวอย่างด้านนิเวศวิทยาของประเทศ ตงซานยังเป็น “เกาะท่องเที่ยว” ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลาย มีทรัพยากรการท่องเที่ยว 6 ประเภท และ 48 ชนิด แนวชายฝั่งยาว 162 กิโลเมตร และเกาะเล็ก 66 เกาะ นอกจากนี้ยังเป็นฐานการผลิตและเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อที่ใหญ่ที่สุดในจีน และมีมูลค่าการแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์ทางน้ำสูงสุดในมณฑล ได้รับการยกย่องเป็น “เขตสาธิตเศรษฐกิจทางทะเล” ของฝูเจี้ยน อีกทั้งยังตั้งอยู่ในเขตเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ มีทรัพยากรแสงแดดที่ดีที่สุดในฝูเจี้ยน ด้วยจำนวนชั่วโมงแสงแดดมากกว่า 2,000 ชั่วโมงต่อปี
ตงซานกำลังก้าวจาก “เมืองประมงดั้งเดิม” สู่ “ศูนย์รวมอุตสาหกรรมใหม่” ด้วยบรรยากาศแห่งการเปิดกว้างและพัฒนา โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชายฝั่ง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และวัสดุใหม่พลังงานใหม่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ วัสดุกระจกใหม่ พลังงานแสงอาทิตย์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางน้ำ
โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 สถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 180 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ชายทะเลแห่งแรกของมณฑลฝูเจี้ยน อำเภอตงชาน ได้เชื่อมต่อระบบและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยสามารถผลิตพลังงานสะอาดเฉลี่ยปีละ 300 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 240,000 ตันต่อปี พลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งจะนำพลังงานสีเขียวส่งต่อไปยังบ้านเรือนของผู้คนมากมาย
ที่มา : cnenergynews.cn
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นฐานพลังงานสะอาดที่สำคัญของชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยมีพลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ แก๊ส และนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้มีโครงสร้างแหล่งพลังงานที่ครบถ้วนที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ จนถึงสิ้นปี 2023 สัดส่วนการติดตั้งและการผลิตพลังงานสะอาดในมณฑลฝูเจี้ยนคิดเป็น 63% และ 52.9% ของทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าพลังงานสะอาดมีส่วนในทุกสองหน่วยของพลังงานที่ใช้ไปแล้ว หนึ่งหน่วย ทำให้ฝูเจี้ยนกลายเป็นมณฑลที่มีการพัฒนาพลังงานสีเขียวดีที่สุดในภาคตะวันออกของจีน
ภายใต้ความหลากหลายของแหล่งพลังงานและสัดส่วนการติดตั้งพลังงานสะอาดที่เกินครึ่ง ความท้าทายเพื่อจัดการให้พลังงานสะอาดถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท State Grid Fujian Electric Power จำกัด ได้เดินหน้าสร้างระบบไฟฟ้าระดับจังหวัดแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นพัฒนา การสร้างศูนย์กลางพลังงานสะอาดทางตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์มโครงข่ายไฟฟ้ากำลังสูง และระบบนิเวศดิจิทัลไฟฟ้าในฝูเจี้ยน พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด ความมั่นคงปลอดภัย และประสิทธิภาพสูง
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตงชาน คือสวนเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ขณะที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสวนอุตสาหกรรมหลิงกั่ง ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่เน้นวัสดุใหม่ของกระจกโซลาร์เซลล์ โดยมีพื้นที่วางแผนทั้งหมด 7.33 ตารางกิโลเมตร พร้อมโครงสร้างพื้นฐานอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ท่าเรือ และท่าเทียบเรือไว้ในที่เดียว ทำให้สวนอุตสาหกรรมหลิงกั่งเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การผลิตโซลาร์เซลล์และกระจก วัสดุใหม่ พลังงานใหม่ และการผลิตอุปกรณ์ทางทะเล โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างฐานอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์และพลังงานสีเขียวของทั้งอำเภอตงชานให้แข็งแกร่ง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นการลงทุนทั้งต้น กลาง และปลายน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด ปัจจุบันสวนอุตสาหกรรมได้ดึงดูดบริษัท 23 แห่งเข้ามาลงทุน โดยมียอดการลงทุนรวม 12,037.5 ล้านหยวน และมีบริษัทขนาดใหญ่ 9 แห่งในสวนอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตจากการรวมตัวทางอุตสาหกรรมที่มากขึ้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: จากแนวคิด ก้าวจาก “เมืองประมงดั้งเดิม” สู่ “ศูนย์รวมอุตสาหกรรมใหม่” ทำให้เห็นถึงการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนและแน่วแน่ โดยในปี 2567 ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามณฑลฝูเจี้ยนส่งออกอาหารทะเลแปรรูปไปยังประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 255 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ส่งไปที่ประเทศไทย ในขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนนำเข้าสินค้าน้ำตาล และสารที่ให้ความหวานเป็นอันดับ 1 จากประเทศไทย สินค้าแบบดั้งเดิม ถูกพัฒนา โดยมีเป้าประสงค์พัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยอุตสาหกรรมใหม่ แนวคิดการพัฒนาพลังงานสีเขียวใหม่ แนวทางการพัฒนาหลังงานสะอาดอำเภอตงชานในมณฑลฝูเจี้ยน แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี และการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของตนเองได้อย่างเหมาะสม การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม จะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและส่งเสริมความยั่งยืนต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยในอนาคต อำเภอตงซานเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดและสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว อาหาร พลังงาน และเทคโนโลยี การศึกษาข้อมูลและการสร้างเครือข่ายที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในจีน
https://www.ceicdata.com/zh-hans/china/energy-production-electricity-solar/cn-electricity-production-solar-fujian
https://www.chinadaily.com.cn/a/202411/11/WS673164ada310f1265a1cc9eb.html
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352484724006450
https://www.cnenergynews.cn/dianwang/2024/11/14/detail_20241114182416.html
https://news.xmnn.cn/fjxw/202501/t20250116_293474.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
17 มกราคม 2568