นักวิเคราะห์ชี้ ข้อตกลงการค้าของมาเลเซียจะดึงดูดการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

ที่มา : สำนักข่าว Bernama

การเข้าร่วมของมาเลเซียในข้อตกลงการค้าหลายฉบับที่เป็นการดำเนินการของแต่ละประเทศอาจดึงดูดนักลงทุนมายังประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ อีกด้วย นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร. อาเหม็ด รามาน อับดุล ลาติฟ จาก Putra Business School กล่าวว่า มาเลเซียเป็นสมาชิกอาเซียนเพียงประเทศเดียวที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในข้อตกลงการค้าหลายฉบับ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และกลุ่มประเทศ BRICS โดยเขาอธิบายถึงการมีส่วนร่วมในข้อตกลงต่าง ๆ นั้นจะช่วยให้มาเลเซียสามารถกระจายคู่ค้า และขยายตลาดสำหรับสินค้าและบริการ  “เมื่อคุณเริ่มมีความร่วมมือกับประเทศการค้าต่าง ๆ มากขึ้น คุณก็สามารถกระตุ้นให้พวกเขาลงทุนได้ไม่เพียงแค่ในมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอาเซียนด้วย” เขากล่าว

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในอาเซียน และการดึงดูดการลงทุนจะสำเร็จได้หากมาเลเซียรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและปรับปรุงนโยบายการลงทุน เช่นการส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยี และการเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นต้น

 

 

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

          ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

  1. โอกาสขยายตลาด : ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิกของ RCEP, CPTPP
    และ BRICS ผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจกับมาเลเซีย
  2. การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น : การที่มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอาจทำให้ผู้ประกอบการไทย
    ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในด้านการผลิตและการส่งออก 3.  การปรับตัวในการลงทุน : ผู้ประกอบการไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรักษาศักยภาพ
    ในการแข่งขัน เนื่องจากมาเลเซียสามารถเสนอเงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งการที่มาเลเซียเปิดตลาด
    และสร้างความร่วมมือกับหลายประเทศอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
    ทางการค้า และภาษีที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ

ผลกระทบต่อนักลงทุน

  1. โอกาสการลงทุน : นักลงทุนสามารถร่วมลงทุนในมาเลเซีย และขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ
    และสามารถใช้ประโยชน์จากการถ่ายโอนเทคโนโลยีและการเคลื่อนย้ายแรงงาน
  2. ความเสี่ยงทางการค้า : การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของมาเลเซียอาจส่งผลต่อการลงทุน
    เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและภาษี เป็นต้น

 

ความคิดเห็น สคต.

          สคต. มีความเห็นว่าการที่มาเลเซียเข้าร่วมข้อตกลงการค้าหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และกลุ่มประเทศ BRICS ส่วนนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสที่สำคัญของไทยในการขยายตลาดการค้าใหม่ ๆ ที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มการดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคได้โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าของมาเลเซียยังนำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญสำหรับไทยในการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงการปรับตัวของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยรวมแล้ว การใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตเพื่อช่วยให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

thThai