ที่มา : สำนักข่าว Bernama
วันที่ 12 มกราคม 2025 นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ได้พบกับศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ ดี แซ็คส์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลก โดยทั้งสองได้หารือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสีเขียว และบทบาทที่มาเลเซียสามารถมีได้ในฐานะประธานอาเซียน รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในมาเลเซีย โดยหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีอันวาร์กล่าวว่า “หวังว่าการประชุมนี้จะนำประโยชน์หลายประการมาสู่ประเทศ” ผ่านโพสต์ในแพลตฟอร์ม X
การประชุมนี้เกิดขึ้นก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ โดยศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซ็คส์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง นักเขียน นักการศึกษานวัตกรรมและผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เขามีชื่อเสียงจากกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ หนี้สินระหว่างประเทศ และวิกฤตการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายโซลูชันการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Solutions Network) และร่วมเป็นประธานสภาวิศวกรเพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังงาน (Council of Engineers for Energy Transition) รวมทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติยศที่มหาวิทยาลัยซันเวย์ (Sunway University)
และเป็นผู้สนับสนุนหลักของ SDG ให้กับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
- โอกาสทางธุรกิจและการลงทุน : การที่มาเลเซียกำหนดนโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างเพื่อดึงดูด
การลงทุนอาจเป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจและร่วมลงทุนในมาเลเซีย
หรือในภูมิภาคอาเซียน - การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว : การเน้นพลังงานสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถสร้างโอกาส
ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีสามารถใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ ๆ ได้ - การปรับตัวในการแข่งขัน : หากมาเลเซียสามารถดึงดูดนักลงทุน และพัฒนาภาคธุรกิจได้สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาเซียน
ผลกระทบต่อนักลงทุน
- โอกาสในพลังงานสีเขียว : นักลงทุนสามารถลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนา
ที่ยั่งยืนที่มาเลเซียสนับสนุน - การดึงดูดการลงทุน : นโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก
- การสร้างพันธมิตร : นักลงทุนมีโอกาสร่วมมือกับธุรกิจมาเลเซียเพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ
- การปรับกลยุทธ์ : นักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์ตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และพลังงาน
สีเขียวในอาเซียน
ความคิดเห็น สคต.
สคต. เล็งเห็นถึงโอกาสที่สำคัญในการขยายธุรกิจ และการลงทุนร่วมกับมาเลเซียในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ในส่วนนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยรวมถึงแนวโน้มของตลาดโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเปิดรับนักลงทุนต่างชาติของมาเลเซียอย่างต่อเนื่องยังเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างพันธมิตรธุรกิจ และความร่วมมือต่าง ๆ ที่อาจมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของไทยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเทคโนโลยี เพื่อรักษาเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวได้มากที่สุด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์