ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) เผยว่าปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกของฟิลิปปินส์ในปี 2567 พบว่ามีปริมาณการเก็บเกี่ยวที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ปริมาณ 19.09 ล้านตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 4.84จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นปริมาณผลผลิตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ที่ 19.29 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตข้าวทั้งปีต่ำกว่าการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) ไว้ที่ 19.30 ล้านตันสำหรับปี 2567 โดย PSA ระบุผลผลิตข้าวเปลือกจากพื้นที่ชลประทานในปี 2567 มีปริมาณ 14.56 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกจากพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝน มีปริมาณ 4.53 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 5.23 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) โดยภูมิภาคที่มีการผลิตข้าวเปลือกปริมาณสูงสุดได้แก่ ภูมิภาค Luzon กลาง ที่ 3.48 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาค Cagayan Valley ที่ 2.92 ล้านตัน และภูมิภาค Ilocos ที่ 1.97 ล้านตัน ขณะที่ภูมิภาค Western Visayas และ Soccsksargen อยู่ที่ 1.89 ล้านตัน และ 1.21 ล้านตัน ตามลำดับ โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากช่วงภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงฝนตกหนักและพายุไต้ฝุ่นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567
นาย Raul Q. Montemayor ผู้จัดการของสหพันธ์เกษตรกรเสรี (Federation of Free Farmers National)ระบุว่าการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ผลผลิตจะลดลงมากกว่าตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากมีพายุไต้ฝุ่นจำนวนมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นอกจากนี้ ผลผลิตในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึงร้อยละ 5.5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และผลผลิตในครึ่งปีหลังยังคงลดลงเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) ระบุว่าความเสียหายทางการเกษตรที่เกิดจากเอลนีโญในปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 15.3 พันล้านเปโซโดยมีปริมาณผลผลิตที่สูญเสียไปที่ 330,717 ตัน ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 109,481 เฮกตาร์ โดยความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตข้าวคิดเป็นร้อยละ 38.8 ของความเสียหายทั้งหมด (หรือมูลค่าประมาณ 5.93 พันล้านเปโซ) นอกจากนี้ ผู้จัดการของสหพันธ์เกษตรกรเสรีเสริมว่า การลดลงของผลผลิตข้าว 970,000 ตันเท่ากับการบริโภคข้าวภายในประเทศประมาณ 15 วัน ซึ่งผลผลิตข้าวที่สูญเสียไปในปีนี้ได้รับการชดเชยจากการนำเข้าข้าวในปริมาณมาก โดยข้อมูลจากสำนักอุตสาหกรรมพืชฟิลิปปินส์ (Bureau of Plant Industry: BAI) แสดงปริมาณการนำเข้าข้าวในปี 2567 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.78 ล้านตัน นาย Raul Q. Montemayor กล่าวปิดท้ายว่า การผลิตในปี 2568 จะต้องพยายามให้มีการฟื้นตัวมากขึ้น แต่การนำเข้าข้าวในปริมาณมากในอัตราภาษีที่ต่ำนั้นอาจส่งผลให้ราคาข้าวจากเกษตรกรลดต่ำลงและเป็นการลดแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตมากขึ้น
นาย Jayson H. Cainglet กรรมการบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเกษตรกรรมฟิลิปปินส์ (Samahang Industriya ng Agrikultura (SINAG)) ระบุว่าราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นอาจช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยเสริมว่า หวังว่าจะมีการเก็บเกี่ยวได้ดีตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรด้านรายได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของนโยบายการนำเข้าที่ไม่มีข้อจำกัดผ่านคำสั่ง Executive Order (EO) 62 ที่ภาษีข้าวนำเข้าถูกลดลงจากร้อยละ 35 เป็น 15 และมีผลจนถึงปี 2571 ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มสำหรับราคาข้าวตกต่ำลงในภาคการเกษตรทั่วประเทศ โดยกรรมการบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเกษตรกรรมแห่งฟิลิปปินส์ แนะนำว่า กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) และสำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA)ควรเพิ่มงบประมาณในการจัดซื้อข้าวเปลือกเพื่อช่วยในการกำหนดราคาหน้าโรงสีและพ่อค้าคนกลาง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีการเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่การผลิตข้าวในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นทุกปีได้ โดยผลิตข้าวได้ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นกว่า 16 ล้านตันต่อปี ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเวียดนามและไทย นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในภาคข้าวที่มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงชีพของประชากรปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีความซับซ้อนด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และพายุไต้ฝุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตข้าวอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้ปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงถือเป็นโอกาสของการขยายการส่งออกข้าวของไทยมาตลาดฟิลิปปินส์เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว โดยในปี 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวรวม 3.61 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.65 จากปีก่อน โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 2.97 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 82.23 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไทย ปริมาณ 3.42 แสนตัน (ร้อยละ 9.46) และเมียนมา ปริมาณ 1.56 แสนตัน (ร้อยละ 4.33) สำหรับในปี 2567 (เดือนมกราคม – พฤศจิกายน) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวรวม 4.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.28จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนที่มีปริมาณการนำเข้า 3.13 ล้านตัน โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 3.28 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 87.10 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไทย ปริมาณ 575,450 ตัน (ร้อยละ 13.20) และปากีสถาน ปริมาณ 236,027 ตัน (ร้อยละ 5.42) อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยยังคงมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดฟิลิปปินส์ แต่ยังคงต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามที่มีพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดฟิลิปปินส์จึงจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นต่อไป