กฎหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเปรู

ภูมิภาคลาตินอเมริกาให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากยานพาหนะต่าง ๆ ที่ผ่านมาหลายประเทศ เช่น โคลอมเบีย ชิลี ได้ออกกฎหมายและโครงการในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพยายามในการดำเนินการดังกล่าวเช่นเดียวกันกับโคลอมเบีย และชิลี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเปรู (นาย Raúl Pérez Reyes) ได้แถลงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลจะสามารถประกาศกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาคเอกชนและการขนส่งสาธารณะของภาครัฐ การสร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และการลดการใช้พลังงานน้ำมัน นอกจากการจัดทำกฎหมายแล้ว รัฐบาลเปรูมีแผนในการปรับกฎระเบียบที่จะช่วยลด/ยกเลิกอุปสรรคในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน บริษัท Luz del Sur ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในเปรู มีส่วนแบ่งตลาดในการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำหน่ายในเปรู โดยบริษัทได้ร่วมดำเนินการกับบริษัท BYD ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกจากจีน ในการนำเสนอการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบและการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีเป้าหมายให้มีรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 500 คัน ภายในปี 2569[1]

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

การจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของเปรู ระหว่างปี 2562 – 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 47.57 ต่อปี ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูรวมประมาณ 6,015 คัน กอปรกับการออกกฎหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลเปรู ทำให้การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีความเป็นไปได้สูง

นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเปรู เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อการขยายจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 รถยนต์ไฟฟ้าที่จัดจำหน่ายในเปรูมีจำนวนมากว่า 140 รุ่นจาก 60 แบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 35 เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เนื่องจากผู้ผลิตจากจีน เช่น BYD, Geely, Keyton, King Long และ JMC สามารถจัดหารุ่นและราคาที่เหมาะสมกับงบประมาณของผู้บริโภคชาวเปรูได้ ล่าสุด จีนและเปรูได้ดำเนินการปรับปรุงข้อตกลงทางการค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากจีน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมสำคัญในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าของโลก

สมาคมยานยนต์ของเปรู (AAP) คาดการณ์ว่าเปรูมีโอกาสอย่างมากในการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่โลจิสติกส์ของ BYD เนื่องจากเปรูมีวัตถุดิบจำเป็นในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ทองแดง สังกะสี เหล็กกล้า รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น สายไฟ วัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ[1] อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจากไทยยังมีโอกาสส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบพกพา รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับผู้ประกอบการเปรู  เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังเปรู ทั้งนี้ การเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูส่งผลให้มีการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 นอกจากนี้ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฟฟ้ายังเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดรถยนต์มือสองของเปรู ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 โดยตลาดรถยนต์มือสองของเปรูมีขนาดใหญ่กว่าตลาดรถยนต์ใหม่ประมาณ 3 เท่า ซึ่งการบริการหลังการขายทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์มือสองที่มีความจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฟฟ้า เนื่องจากผู้บริโภคชาวเปรูนิยมเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่แทนชิ้นส่วนเดิม จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าไปยังเปรู เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ปี 2566-2570 ได้มีการกำหนดแนวทางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สำคัญของโลก ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับการเติบโตของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสของการขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับชิ้นส่วน อะไหล่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากยาง และยางรถยนต์ด้วย และหากไทยมีความพร้อมทั้งนโยบาย และศักยภาพการผลิต การขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้

________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

กุมภาพันธ์ 2568

[1] A multimedia journalistic portal leader in Latin America and Europe, specialized in the promotion of sustainable mobility and zero-emissions –  https://mobilityportal.eu/electric-vehicles-in-latin-america/

[1] An online magazine that provides information in the electricity, hydrocarbons, mining, and infrastructure sectors. https://revistaenergia.pe/luz-del-sur-y-byd-impulsan-la-electromovilidad-en-peru-con-nueva-flota-de-46-vehiculos-100-electricos/#:~:text=Luz%20del%20Sur%2C%20en%20alianza,una%20matriz%20energ%C3%A9tica%20m%C3%A1s%20limpia.

A Latin American community for sustainable mobility – https://latamobility.com/peru-emitira-decreto-para-fomentar-electromovilidad/

 

thThai