อินโดนีเซียเตรียมรุกตลาดทุเรียนโลก หลังจีนปฏิเสธทุเรียนไทย อินโดนีเซียกำลังเดินหน้าขยายส่วนแบ่งในตลาดทุเรียนโลก หลังจากที่จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ปฏิเสธ ตู้คอนเทนเนอร์ทุเรียนจากไทยกว่า 100 ตู้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากพบการปนเปื้อนของ สารสีย้อมก่อมะเร็ง “Basic Yellow 2” (BY2) ทำให้ทางการจีนตัดสินใจส่งคืนสินค้าดังกล่าว และประกาศขึ้นบัญชีดำผู้ส่งออกไทยบางราย

นายลิเฟอร์ดี ลุกมาน (Liferdi Lukman) ผู้อำนวยการฝ่ายพืชสวนดอกไม้ กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย ระบุว่า “สถานการณ์นี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับอินโดนีเซียในการส่งออกทุเรียนไปยังจีนโดยตรง” โดยขณะนี้ อินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเจรจาเพื่อเปิดตลาดส่งออกทุเรียนไปยังจีน ทั้งนี้ เขากล่าวกับ             The Jakarta Post เมื่อวันพฤหัสบดีว่า กระบวนการเข้าถึงตลาดจีนยังคงต้องผ่านการลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับการส่งออกทุเรียนในรูปแบบแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในเดือนหน้า

อินโดนีเซียเตรียมพร้อมส่งออกทุเรียนสด หลังตลาดจีนเติบโตต่อเนื่อง สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) เตรียมดำเนินการตรวจสอบสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุในจังหวัดสุลาเวสีกลางช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การจัดทำระเบียบการส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน นายลิเฟอร์ดี ลุกมาน กล่าวกับ The Jakarta Post ขณะที่ตลาดทุเรียนในจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อินโดนีเซียกำลังเสริมศักยภาพของตนให้เป็นผู้ส่งออกที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยในปี 2566 อินโดนีเซียมีผลผลิตทุเรียนสูงถึง 1.83 ล้านตัน สะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุเรียนซึ่งได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งผลไม้” เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคนี้ โดยมีเกาะบอร์เนียวเป็นแหล่งกำเนิดหลัก

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดทุเรียนโลก โดยในปี 2566 ไทยมีสัดส่วนการผลิตถึง 63% ของปริมาณทุเรียนโลกทั้งหมด ในปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 859,183 ตัน ลดลง 13% จากปริมาณ 991,577 ตันในปี 2566 ขณะที่มูลค่าการส่งออกลดลงจาก 4.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามรายงานของ Bangkok Post แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญมองว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพในการแข่งขันกับไทยในตลาดจีน แต่ก็ยังคงเผชิญกับ อุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกหลักได้

ความท้าทายของอินโดนีเซียในตลาดทุเรียนจีน ท่ามกลางการแข่งขันจากไทยและเวียดนาม ซีกิต ปูรูวันโต (Sigit Puruwanto) ผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนและหัวหน้าชุมชน Durian Traveler Indonesia ระบุว่า “อินโดนีเซียอยู่ไกลจากจีนพอสมควร” ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออกทุเรียนสด เนื่องจากทุเรียนมีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 5 วัน ก่อนสุกเต็มที่ ประเทศที่อยู่ใกล้จีนมากกว่า จึงมีข้อได้เปรียบด้านระยะทางและระยะเวลาขนส่ง หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของอินโดนีเซียคือ เวียดนาม ซึ่งมี ทำเลที่ตั้งใกล้จีน ทำให้การส่งออกทุเรียนสดสะดวกและรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ เวียดนามยังสามารถปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง (Montong) ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดจีน เดิมทีพันธุ์หมอนทองมาจากไทย แต่ปัจจุบันได้รับการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายในเวียดนาม นายซีกิต ปูรูวันโต (Sigit Puruwanto) อธิบายว่า ทุเรียนหมอนทองเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในตลาดจีน เนื่องจากมีเนื้อสีเหลืองขนาดใหญ่ และมีรสชาติหวานถูกปากผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม แม้อินโดนีเซียจะมีศักยภาพในการขยายตลาดทุเรียน แต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวและน้ำตาลมากกว่า ทำให้โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมทุเรียนยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ถึงแม้ว่าการสนับสนุนจากภาครัฐยังมีจำกัด แต่ในบางภูมิภาคของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ จังหวัดสุลาเวสีกลาง ได้เริ่มปลูกและส่งออกทุเรียนมงทองไปยังจีนแล้ว นายซีกิต ปูรูวันโต (Sigit Puruwanto) แสดงความหวังว่า หากมีการลงทุนด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานอย่างเหมาะสม อุตสาหกรรมทุเรียนของอินโดนีเซียอาจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันไทยและเวียดนามยังคงครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนโลกเป็นหลัก

ความคิดเห็นของสำนักงาน

อินโดนีเซียเร่งขยายการส่งออกทุเรียนไปยังจีน หลังไทยเผชิญปัญหาการปนเปื้อนสาร Basic Yellow 2 (BY2) ด้วยศักยภาพการผลิตทุเรียนของอินโดนีเซียที่สูงถึง 1.83 ล้านตันในปี 2566 อินโดนีเซียจึงดำเนินการเจรจากับจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันข้อตกลงด้านการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามภายในเดือนหน้า อีกทั้งยังเตรียมรับการตรวจสอบโรงบรรจุสินค้าในจังหวัดสุลาเวสีกลาง (Central Sulawesi) จากศุลกากรจีน (GACC) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนของอินโดนีเซียไปจีน ยังคงเผชิญกับอุปสรรคด้านโลจิสติกส์รวมถึงความรู้ด้านการเก็บรักษา ส่งผลให้ทุเรียนสดมีอายุการเก็บรักษาเพียง 5 วัน ทำให้แข่งขันกับไทยและเวียดนามได้ยาก ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านนี้ รวมถึงระยะทางที่ใกล้กับจีนมากกว่า อินโดนีเซียจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเก็บรักษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออก

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกหลักในการส่งออกทุเรียนไปทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 63 ของการค้าทุเรียนโลก ปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 859,183 ตัน มูลค่า 3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13 จาก 991,577 ตัน มูลค่า 4,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนหน้า สถานการณ์ดังกล่าวมีผลจากการปนเปื้อนสาร ส่งผลให้จีนเพิ่มมาตรการด้านคุณภาพสินค้าอย่างเข้มงวดต่อการนำเข้าทุเรียนจากไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์และการเก็บรักษา แต่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาและการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น เพื่อคงสถานะความเป็นผู้นำในตลาดทุเรียนโลก เหนือกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสามารถในการผลิตทุเรียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

thThai