บทนํา:

บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 174 ล้านคน จำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นสตรี ซึ่งตามประเพณี วัฒนธรรมและตามความเชื่อหรือโดยเผ่าพันธุ์ของผู้คนภูมิภาคนี้ เชื่อว่าการสวมใส่เครื่องประดับของสตรีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การสวมใส่เครื่องประดับหรือการประดับเครื่องประดับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของสตรีบังกลาเทศ ไม่เพียงแต่การครอบครองสำหรับการตกแต่งร่างกายเท่านั้น แต่การใช้เครื่องประดับเพื่อแสดงสถานะทางสังคม และครอบครองเพื่อแสดงความมั่นคงในฐานะของทรัพย์สินด้วย ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากในการแสวงหาเครื่องประดับบางอย่างที่ผลิตจากโลหะมีค่าหรือหินมีค่ามาประดับร่างกาย ความต้องการเครื่องประดับจึงเพิ่มขึ้นทุกวันตามการเติบโตของจำนวนประชากร ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในรายงานฉบับนี้จะกล่าวถึงภาพรวมของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ประกอบไปด้วย ทองคำ เงิน โลหะมีค่า หินมีค่า อัตราภาษีและรายชื่อผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า

ความต้องการในท้องถิ่น
ปัจจุบันมีร้านขายเครื่องประดับ 25,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้คนที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่เจ้าของร้าน ลูกจ้างร้านค้า พนักงานตกแต่งเครื่องประดับ และพนักงานขายประมาณ 4.4 ล้านคน  ผู้ผลิตในประเทศส่วนใหญ่เน้นการผลิตเครื่องประดับที่มีส่วนประกอบเป็นทองคําและเงิน  ประมาณการว่าบังกลาเทศมีความต้องการทองคําสูงถึง 40 ตันต่อปี (ที่มา: Dhaka Tribune วันที่ 4 มิถุนายน 2565) ทองคำส่วนใหญ่ในบังกลาเทศได้มาจากการลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะจากอินเดีย ตะวันออกกลางและอีกส่วนมาจากการรีไซเคิลเครื่องประดับทองคำเก่า
การส่งออก:
บังกลาเทศมีการส่งออกเครื่องประดับไปยังตลาดต่างประเทศน้อย เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น เทคโนโลยีการผลิต การขึ้นรูป รูปแบบอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างล้าสมัย โดยทั่วไปบังกลาเทศส่งออกเศษทองคำและเศษโลหะมีค่าหรือโลหะหุ้มด้วยโลหะมีค่า
การนําเข้า:
ข้อจํากัดสําคัญที่สุดของอุตสาหกรรมอัญมณีในบังกลาเทศที่ต้องเผชิญ คือ การมีข้อจำกัดในการนำเข้า ซึ่งถูกห้ามการนําเข้าจนกระทั่งถึงปี 2561 รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับทองคำภายใต้ชื่อ กฎหมายว่าด้วยทองคํา พ.ศ. 2561 (The Gold Policy 2018) ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ มีการอนุญาตให้นําเข้าทองคําภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด เพื่อแก้ไขการลักลอบนำเข้าทองคำจากผู้ลักลอบนําเข้ามืออาชีพในคราบของผู้โดยสารจากตะวันออกกลางที่ลักลอบนำเข้ามาอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่บังกลาเทศได้รับเอกราช ภายใต้กฎหมายนี้ส่งผลให้มีสถิติปริมาณการนําเข้าเป็นทางการครั้งแรกในปีงบประมาณ 2560-2561 (กรกฎาคม-มิถุนายน) และในปีถัดๆ มาหลังจากนั้น
กฎหมายและระเบียบ
ตามกฎหมายและระเบียบการนําเข้าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำเข้าทองคำและเงิน ดังนี้
– ทอง: ทองคําแท่งและเครื่องประดับทอง สามารถนําเข้าได้ตามกฎหมายว่าด้วยทองคํา 2561
– เงิน: เงินสามารถนําเข้าได้ภายใต้การปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พ.ศ. 2490 (Foreign Exchange Regulation Act, 1947)
การนําเข้าทองคําและเงินจากต่างประเทศไปบังกลาเทศ ผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากธนาคารกลางของบังกลาเทศ และได้อนุญาตเป็นการทั่วไปให้ผู้โดยสารขาเข้า (โดยไม่คํานึงถึงสถานะถิ่นที่อยู่) ในการนําทองคําหรือเงิน ทองคําแท่ง/เงินแท่งเข้ามาในบังกลาเทศ โดยต้องไม่เกินปริมาณที่กําหนดตามบทบัญญัติว่าด้วยการนำสินค้าติดตัวซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2512
ภายใต้กฎหมายนี้ผู้โดยสารระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้นำทองคำติดตัวเข้ามาได้น้ำหนักไม่เกิน 234 กรัมซึ่งเทียบเท่ากับ 20 bhoris ของทองคำแท่ง และต้องจ่ายภาษี 2,000 ตากาต่อหนึ่ง bhori (ประมาณ 11.66 กรัม) ของทองคําที่นําเข้ามา ในทางกลับกันผู้โดยสารสามารถนําเครื่องประดับทองติดตัวโดยปลอดภาษีออกไปจากบังกลาเทศได้ 100 กรัม แต่นับจำนวนแล้วต้องไม่เกิน 12 ชิ้น
(หมายเหตุ อนุทวีปเอเชียใต้ (เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล) ใช้หน่วยการวัดหน่วยใดหน่วยหนึ่งใน 3 หน่วย ได้แก่: Tolas, Boris หรือ Voris/Bhoris
         อย่างไรก็ตาม ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พ.ศ. 2490 ไม่มีข้อห้ามในการนําเข้าเครื่องประดับหรือหินมีค่าและอัญมณีอื่น ๆ ผู้นําเข้าจะต้องจ่ายอากรและภาษีที่รัฐบาลกําหนดในการนําเข้า
กฎหมายว่าด้วยทองคํา พ.ศ. 2563:
รัฐบาลบังกลาเทศออกกฎหมายว่าด้วยทองคํา พ.ศ. 2563 (แก้ไข) สําหรับการนําเข้าทองคําสําเร็จรูปในรูปแบบของทองคําแท่งและเครื่องประดับสําเร็จรูป แต่ไม่ใช่การนําเข้าแร่ทองคํา ต่อมาในปี 2564 ได้แก้ไขบทบัญญัติบางประการและอนุญาตให้นําเข้าแร่ทองคําและทองคําที่ยังไม่ขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับด้วย กระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศจึงได้ออกมาตรฐานการปฏิบัติงาน (the Standard Operating Procedure- SOP) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 สําหรับการจัดตั้งและดําเนินกิจการโรงงานแปรรูปทองคําดิบ ผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุญาตการจัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตและทําการตลาดทองคําแท่งและเหรียญทองเกรดต่างๆ และตามกฎหมายนี้รัฐบาลบังกลาเทศกำหนดให้ธนาคารกลางบังกลาเทศเป็นผู้ออกใบอนุญาต
อัตราภาษีนําเข้า:  ตามเอกสารแนบ
รายละเอียดประเภทภาษีบังกลาเทศ ศึกษาได้จากเวปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ https://www.ditp.go.th/post/181484
ข้อมูลการตลาด
1. การออกแบบ: 
ผลิตภัณฑ์อัญมณีในบังกลาเทศส่วนใหญ่ทําจากทองคําหรือเงิน แต่การออกแบบเครื่องประดับยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ที่เป็นที่นิยมในท้องถิ่น ซึ่งมีการนำอัญมณีและโลหะมีค่ามาผสมกันเป็นรูปแบบต่างๆ กัน  เช่น ดอกไม้ กลีบดอกไม้ ใบไม้ ไม้เลี้อย เถาวัลย์ ถักทอขึ้นรูปจากเส้นทองคำที่ขึ้นรูปหรือรีดเป็นแผ่นหรือเป็นเส้นเล็กๆ ประดับด้วยหินมีค่าเป็นรูปแบบตามจินตนาการ ใช้ในการประดับในงานพิธีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ส่วนใหญ่เป็นการแต่งงาน สำหรับประดับร่างกายตามส่วนต่างๆ เช่น ข้อมือ แขน จมูก หน้าผาก คอ หู และศรีษะ เป็นต้น ดังนั้น รูปแบบเครื่องประดับเหล่านี้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ได้ทั้งหมด นี่คือเหตุผลที่เครื่องประดับและอัญมณีจํานวนมากมีการนำเขามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องประดับที่เป็นรูปแบบศิลปะมุสลิม
2. บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก: 
ไม่มีข้อกำหนดพิเศษในการบรรจุและการติดฉลากเครื่องประดับในบังกลาเทศ ผู้ค้าปลีกบางรายทำบรรจุภัณฑ์ใส่เครื่องประดับเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างการจดจำให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการขาย
3. ช่องทางการจัดจําหน่าย: 
การจัดจำหน่ายเครื่องประดับในบังกลาเทศ เจ้าของร้านค้าจะเป็นผู้สั่งการให้โรงงานผลิตสินค้าตามรูปแบบที่ต้องการและนำมาจำหน่ายให้ลูกค้า โรงงานผลิตส่วนหนึ่งออกแบบเครื่องประดับและฝากขายกับร้านค้า
4. เครื่องหมายการค้า
ในบังกลาเทศ การซื้อขายเครื่องประดับนิยมการพึ่งพาชื่อเสียงของผู้ขายที่มีประวัติการซื้อขายมายาวนาน โดยผู้บริโภคไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามากนัก
5. กิจกรรมส่งเสริมการขาย 
มีกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องประดับบ้างในบังกลาเทศแต่มีไม่บ่อยมากนัก ส่วนใหญ่ผู้ขายจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในร้านค้าของตนเอง และนิยมโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ การใช้โปสเตอร์แสดงภาพนางแบบที่สวมใส่เครื่องประดับ กิจกรรมส่งเสริมการขายส่วนใหญ่จัดขึ้นในเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามวัฒนธรรมมุสลิม
6. อุปสงค์/กําลังซื้อ
ความต้องการเครื่องประดับเพิ่มขึ้นทุกวัน ในฐานะที่เป็นประเพณีและวัฒนธรรมผู้หญิงของบังกลาเทศที่จะต้องสวมเครื่องประดับเงินและทอง ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เครื่องประดับที่ผลิตเลียนแบบและใช้วัสดุเทียมเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น
7. พฤติกรรมผู้บริโภค
การสวมใส่เครื่องประดับเป็นวัฒนธรรมและประเพณีของผู้หญิงบังกลาเทศ ดังนั้นในทุกโอกาสพิเศษ เช่น ในพิธีการแต่งงานและเทศกาล ผู้บริโภคจะไม่สนใจราคาเครื่องประดับ แต่จะพยายามหามาสวมใส่ โดยอาจต้องกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อหา ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวที่ยากจน เครื่องประดับทองและเงินจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในทุกชนชั้นของสังคม
8. สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจ
แนวโน้มธุรกิจของธุรกิจอัญมณีมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น เครื่องประดับท้องถิ่นอาจตอบสนองความต้องการของตลาดบางส่วนได้ แต่มีแนวโน้มว่า ความต้องการเครื่องประดับที่มีการออกแบบและประดับด้วยวัสดุที่หลากหลาย ได้รับความนิยมของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการผ่อนคลายของกฎระเบียบทำให้โอกาสทางการค้าของสินค้านี้ในบังกลาเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการขยายตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจ
9. แหล่งที่มาของสินค้าการนําเข้า
บังกลาเทศนำเข้าผลิตภัณฑ์อัญมณีจาก จีน เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน สหราชอาณาจักร ประเทศไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
10. สมาคมการค้า
โดยกฎหมายบังกลาเทศ ผู้ประกอบกิจการค้าต่างๆ จะต้องเป็นสมาชิกผู้ประกอบการสินค้านั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีในบังกลาเทศจึงสังกัดภายใต้กลุ่มสมาคมผู้ค้าอัญมณีแห่งบังกลาเทศ (BAJUS) และสมาคมผู้ผลิตและส่งออกอัญมณี Bangladesh Jewellery Manufacturers and Exporters Association ตามลำดับ ผู้สนใจทำการค้ากับบังกลาเทศในสินค้าเครื่องประดับอาจติดต่อสมาชิกสมาคมได้ที่ https://www.bajus.org/
ตารางรายชื่อผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของบังกลาเทศ
ตามเอกสารแนบ
——————
สคต. ณ กรุงธากา
กุมภาพันธ์ 2568
thThai