ขนาดตลาดอาหารทานเล่นของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2568 จะมีขนาดตลาดสูงถึงหลักแสนล้านหยวน โดยมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงทั้งแบรนด์จีนและต่างชาติ ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าอุตสาหกรรมอาหารทานเล่นของจีนมีโครงสร้างกระจายตัว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำของต่างชาติครองส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าบริษัทท้องถิ่น เนื่องจากอาหารทานเล่นแนวตะวันตกมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน เมื่อเข้าสู่ตลาดจีนจึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต คุกกี้ ไอศกรีม และมันฝรั่งทอด เป็นต้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารทานเล่นแบบจีนมีอัตราการเติบโตที่เร็ว เช่น เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ฯลฯ

 

การแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารทานเล่นในจีน

ตลาดอุตสาหกรรมอาหารทานเล่นมีคู่แข่งซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ โดยแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีส่วนแบ่งในตลาดที่สูง และยังมีจุดแข็งในการแข่งขันเฉพาะตัว โดยแต่ละแบรนด์สร้างการรับรู้ผ่านการโฆษณา และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมทั้งความร่วมมือ/ร่วมทุนกับต่างชาติ

 

ตัวอย่างอาหารทางเล่นแบรนด์จีนที่เป็นที่นิยม

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

BESTORE ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง มีความหลากหลาย เช่น ผลไม้อบแห้ง ถั่ว มันฝรั่ง ฯลฯ ช่องทางทั้งออนไลน์และหน้าร้านออฟไลน์จำนวนมาก โดยเน้นการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

Three Squirrels เน้นอาหารทานเล่นประเภทถั่วเป็นหลัก โดดเด่นในการขายผ่านทางออนไลน์ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม Douyin

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

Be&Cheery เน้นอาหารทานเล่นประเภทถั่วเป็นหลัก เป็นคู่แข่งของ Three Squirrels

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

Qiaqia เน้นสินค้าเมล็ดแตงโม แบรนด์มีกลุ่มลูกค้าที่มั่นคง ให้ความสำคัญกับการค้าปลีกและค้าส่ง

 

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

Yanker shop อาหารทานเล่นสไตล์จีน เช่น เนื้อหม่าล่า ฯลฯ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยายช่องทางขายทั้งหน้าร้านออฟไลน์ และออนไลน์ทาง DOUYIN

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

LYFEN เน้นร้านค้าออฟไลน์เป็นหลัก มีหน้าร้านจำนวนมาก บริหารการกระจายสินค้า และมีพรีเซ็นเตอร์ชื่อดัง

 

ช่องทางการจำหน่าย

การขายแบบ Omni-channel โดยช่องทางหลัก คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ครองสัดส่วนร้อยละ 44 และร้านค้าแบบดั้งเดิม (ร้านชำ ร้านสะดวกซื้อที่ใช่แฟรนไชน์) สัดส่วนร้อยละ 32  ร้านค้าอีคอมเมิร์ซ สัดส่วนร้อยละ 14 ร้านสะดวกซื้อ สัดส่วนร้อยละ 9 และช่องทางอื่นๆ ครองสัดส่วนร้อยละ 1 อย่างไรก็ดี แนวโน้มช่องทางจำหน่ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าแบบดั้งเดิม มีส่วนแบ่งการตลาดลดลง ขณะที่ช่องทางอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในส่วนการค้าออนไลน์ทางแอพลิเคชัน Douyin ครองส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 54.5 และมีการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โดยสินค้าที่ขายดี คือ อาหารทานเล่นประเภทเนื้อ ทั้งนี้ ในส่วนร้านสะดวกซื้ออาศัยทำเลที่ตั้งอยู่ในชุมชนและเปิดตลอดทั้งวัน และมีสินค้าหลายประเภท จึงเป็นข้อได้เปรียบจึงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เทร็นด์ของอาหารทานเล่นจีน ในปี 2568

  1. เทร็นด์การบริโภค
  • ความโปร่งใสของส่วนผสม  ผู้บริโภคต้องการข้อมูลในฉลากที่ระบุคุณลักษณะพิเศษอย่างชัดเจน อาทิ ไม่มีสารเติมแต่ง น้ำตาลต่ำ เกลือต่ำ เป็นต้น รวมถึงอาหารทานเล่นจากพืช อาทิ แผ่นกรอบโปรตีนจากถั่วลั่นเตา และผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงและไขมันต่ำอย่างอกไก่แห้ง
  • เพิ่มคุณสมบัติพิเศษขึ้น อาทิ การเติมโปรไบโอติก คอลลาเจน และไฟเบอร์ และคุณสมบัติอื่นๆ เช่น อาหารทานเล่นที่มีเมลาโทนินช่วยเรื่องการนอนหลับ แท่งเสริมพลังงาน  และความงาม เป็นต้น
  • การบริโภคที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุที่ย่อยสลายได้ และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดขายสำหรับตลาดคนรุ่นใหม่
  • คุณค่าทางอารมณ์ เช่น อาหารทานเล่นคลายเครียด รวมถึงความพิเศษของวัตถุดิบ เช่น ทุเรียนอบแห้งจากอาเซียน อิทผลัมจากตะวันออกกลาง เข้ามาสู่ตลาดผ่านทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
  1. กลยุทธ์การแข่งขันของแบรนด์
  • การจับมือกับแบรนด์อื่น โดยร่วมกับ IP ยอดนิยม เช่น แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ เพื่อกระตุ้นยอดขายในระยะสั้น และเข้าถึงลูกค้าใหม่
  • ปรับโฉมแบรนด์ดั้งเดิม ให้มีความทันสมัย รวมทั้งการขยายแบรนด์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสินค้าใหม่ เช่น ฟรีชดราย
  • การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน  แบรนด์ชั้นนำจะสร้างฐานวัตถุดิบเอง เพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพ เช่น แบรนด์ Three Squirrels ที่มีแหล่งเพาะปลูกถั่วของตนเอง
  1. กลยุทธ์ราคาตามระดับตลาด
  • ขยายตลาดไฮเอนด์ การใช้วัตถุดิบนำเข้าแบบพรีเมี่ยม เช่น ช็อกโกแลตเบลเยียม มัทฉะญี่ปุ่น โดยสินค้าไฮเอนด์จะตั้งราคาได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปร้อยละ 30-50
  • ลิมิติดอิดิชัน (limited edition) หรือรสชาติตามฤดูกาล เช่น มันฝรั่งรสซากุระ จะตั้งราคาได้สูง
  • สงครามราคาในตลาดชนบท การเจาะตลาดเมืองรองระดับ 3-4 โดยเน้นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กราคาต่ำ เช่น สินค้าขนาดเล็กที่มีราคาต่ำกว่า 10 หยวน เป็นต้น
  • ใช้เทคโนโลยีช่วยปรับราคาให้เหมาะสม ใช้ BiG Data ปรับราคาแบบเรียลไทม์ (real time) ตามสต็อก ตามเทศกาล เช่น การลดราคาสินค้าที่ใกล้หมดอายุ เป็นต้น
  1. ช่องทางการค้าให้ครอบคลุม
  • Live e-commerce สร้างเนื้อหาที่น่าสนใจระหว่างการไลฟ์สดที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค จะทำให้ดึงดูดคนเข้ามาดูและนานมากขึ้น
  • โซเชียลคอมเมิร์ซเจาะตลาดชนบท เช่น การสร้างกลุ่ม/แอพลิเคชันในวีแชทในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเน้นอาหารทานเล่นขนาดครอบครัวเป็นหลัก
  • อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยใช้แพลตฟอร์ม Temu หรือ SHEIN ในการผลักดันอาหารทานเล่นแบรนด์จีนออกสู่ตลาดประเทศ
  • การซื้อออนไลน์แบบจัดส่งทันที ภายใน 30 นาที ซึ่งขนมข้าวพอง และไอศกรีม มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
  • ปรับโครงสร้างช่องทางออฟไลน์ เช่น ร้าน BUSY FOR YOU ที่มีสินค้ามากกว่า 2,000 รายการ ในร้านเดียว และขายราคาต่ำ

ตามติดเทร็นด์วงการอาหารทานเล่นจีน

  1. กลยุทธ์อื่นๆ
  • รสชาติ ความสมดุลระหว่างสุขภาพกับรสชาติ เพื่อเลี่ยงกับดักดีต่อสุขภาพแต่รสชาติแย่
  • ผู้จัดจำหน่าย วางตำแหน่งร้านในชุมชน เพื่อกระจายสินค้าในท้องถิ่น
  • ห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรองรับการสั่งซื้อขนาดเล็กหรือความต้องการส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

 

 ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

อุตสาหกรรมอาหารทานเล่นจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น แบรนด์จีนและแบรนด์ต่างประเทศจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์แบบพรีเมี่ยมและความคุ้มค่า และการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดอาหารทานเล่นในจีนจึงต้องมีความเข้าใจเทร็นด์ผู้บริโภค กลยุทธ์การแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการขยายตลาด ทั้งนี้ อาหารทานเล่นของไทย หรือใช้วัตถุดิบของไทย ยังมีความต้องการและเป็นที่ยอมรับในตลาดจีน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช/ผลไม้เฉพาะท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งเอกลักษณ์ด้านรสชาติที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ โดยต้องมีการกำหนดราคาที่เหมาะสมกับระดับตลาด และปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียของจีนอย่างสม่ำเสมอ

 

แหล่งที่มา :

https://t.10jqka.com.cn/pid_422893949.shtml

https://www.chinairn.com/hyzx/20250211/111321580.shtml

thThai