- ภาพรวมตลาดในสิงคโปร์
ในปี 2567 ปริมาณการขายปลีกของเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มจะเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มเลือกบริโภคเนื้อสดเพิ่มขึ้น และลดการบริโภคอาหารแปรรูป เพราะผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่มักมีส่วนประกอบ เช่น เกลือและไขมันสูง รวมถึงสารเติมแต่งต่าง ๆ เช่น สารกันบูด อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบางกลุ่ม เนื่องจากราคาที่เอื้อมถึง ความสะดวกสบาย และความคุ้นเคย ดังนั้น สินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือก ควรได้รับการพัฒนาให้ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพ ความยั่งยืน และความสะดวกสบาย พร้อมทั้งรักษาราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ
แนวโน้มตลาดที่น่าสนใจ
1.1 อาหารทะเลแปรรูป
ในปี 2567 ความต้องการอาหารทะเลแปรรูปในสิงคโปร์คาดว่าจะคงที่ โดยได้รับแรงหนุนจากความสนใจของผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานความสะดวกสบายเข้ากับคุณสมบัติเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลากระป๋องและอาหารทะเลแช่แข็ง ยังคงได้รับความนิยม เนื่องจากผู้บริโภครับรู้ถึงประโยชน์ของอาหารทะเลในฐานะแหล่งโปรตีนสูงและเหมาะสำหรับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ นอกจากนี้ ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพให้ความสำคัญกับการบริโภคโปรตีนมากขึ้น เนื่องจากมีบทบาทในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ กระตุ้นการเผาผลาญ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปตอบโจทย์ทั้งในด้านความสะดวก รสชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรสชาติแบบดั้งเดิมหรือจากนานาชาติ
1.2 ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแปรรูปแช่เย็น
ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแปรรูปแช่เย็น เช่น อกไก่ย่างของแบรนด์เบทาโกรที่วางจำหน่ายในร้าน 7-Eleven ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความสะดวกของอาหารพร้อมรับประทาน
กลยุทธ์นี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มการมองเห็นแบรนด์ แต่ยังเสริมสร้างความภักดีของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการตัวเลือกอาหารระหว่างการเดินทาง นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อกไก่รสเนยกระเทียมของเบทาโกรได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เนื้อสัตว์แปรรูปแช่เย็นที่บรรจุในถุงเล็กยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาทำอาหารมื้อใหญ่ หรือผู้ที่มองหาอาหารโปรตีนสูงที่สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการของว่างเพื่อสุขภาพที่สามารถรับประทานได้ระหว่างมื้อ
1.3 ฉลากบนบรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์ที่แสดงข้อความเพื่อสุขภาพอย่างชัดเจน เช่น อุดมด้วยโอเมก้า 3 และ โปรตีนสูง มีแนวโน้มดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศของแบรนด์ Ayam ที่ระบุว่ามีโปรตีนและแคลเซียมสูง รวมถึงมีโอเมก้า 3 มากกว่าปลาซาร์ดีนที่จับได้ในท้องถิ่นถึง 7 เท่า แบรนด์ยังนำเสนอสูตรอาหารโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของตน เช่น ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปรุงอาหารที่มีรสชาติอร่อยและดีต่อสุขภาพได้ง่าย ในทำนองเดียวกัน แบรนด์ Dodo ของบริษัท Thong Siek Food Industry Pte Ltd ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลาทอดโซเดียมต่ำและไส้กรอกปลาสูตรเพื่อสุขภาพที่ปราศจากไนไตรต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
1.4 การค้าในร้านสะดวกซื้อ
ส่วนแบ่งค้าปลีกของร้านสะดวกซื้อของสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทะเล และโปรตีนทางเลือกโดยรวมลดลงเล็กน้อย แต่ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแปรรูปแช่เย็นยังคงมีโอกาสเติบโต เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการเดินทางในย่านธุรกิจ และจำนวนคนที่เดินทางบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลให้ร้านสะดวกซื้อและการซื้อสินค้าตามแรงกระตุ้น (Impulse Buying) ได้รับความนิยมมากขึ้น
การแข่งขันในหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็นมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกอื่น ๆ ขยายตัวเลือกอาหารพร้อมอุ่นและพร้อมรับประทานที่หลากหลาย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานด้านความสะดวกและคุณภาพในหมวดหมู่ต่างๆ
สำหรับแบรนด์ต่าง ๆ การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้แบรนด์ต้องสร้างความแตกต่างผ่านรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ สูตรอาหารเพื่อสุขภาพ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อดึงดูดความสนใจและความภักดีของผู้บริโภคตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ปีกไก่สอดไส้ข้าวเหนียวของ
แบรนด์เบทาโกร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่รวมปีกไก่ปรุงรสสอดไส้ข้าวเหนียวในตัว เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบ และต้องการอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันที
2. โอกาสทางการตลาด
2.1 เนื้อสัตว์แปรรูป/เนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็ง
ในปี 2567 ปริมาณการขายปลีกเนื้อสัตว์แปรรูปมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้บริโภคยุคใหม่ ความต้องการอาหารสำเร็จรูปที่สะดวกและรวดเร็วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื้อสัตว์แปรรูปซึ่งพร้อมรับประทานหรือต้องเตรียมเพียงเล็กน้อย สอดคล้องกับความต้องการนี้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์เช่น ไส้กรอก เนื้อสัตว์ปรุงสุก และเนื้อสัตว์แช่เย็นหรือแช่แข็ง ยังคงดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกที่สะดวกสำหรับมื้ออาหาร ความต้องการเนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็งและแช่เย็นในตลาดยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มยังเลือกซื้อเนื้อสัตว์แช่แข็งเนื่องจากมีราคาที่คุ้มค่ากว่า
นอกจากนี้ รสชาติและรูปแบบที่หลากหลายของเนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็ง ตั้งแต่ไส้กรอกแบบดั้งเดิม ไปจนถึงอาหารนานาชาติ เช่น สะเต๊ะและยากิโทริ ช่วยตอบโจทย์ประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสิงคโปร์ และมอบทางเลือกที่สะดวกสำหรับการปรุงอาหารที่บ้าน ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ยังนิยมเลียนแบบอาหารจานพิเศษจากร้านอาหารที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็ง เช่น บูลโกกิสไตล์เกาหลีและคาราอาเกะคัตสึสไตล์ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื้อแปรรูปกลุ่ม Private Label ยังคงได้รับความนิยมในตลาด เนื่องจากราคาที่จับต้องได้และความไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับราคา แต่ยังคงมองหาสินค้าที่มีคุณภาพ ยินดีที่จะเลือกผลิตภัณฑ์จากแบรนด์เหล่านี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการจัดการค่าใช้จ่าย เช่น
แบรนด์ Golden Chef ซึ่งเป็นตรา Private Label ของซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Lau Pa Sat Satay Street ซึ่งนำเสนอซาเต๊ะเนื้อและซาเต๊ะไก่ รวมถึงบูลโกกิหมูและบูลโกกิเนื้อ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาตัวเลือกอาหารที่มีรสชาติหลากหลายและคุ้มค่า
2.2 ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเลยังคงเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มในสิงคโปร์ โดยมีอัตราการเติบโตที่คงที่และปานกลาง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคาที่จับต้องได้ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเลแบรนด์ใหม่ ๆ ทั้งในช่องทางค้าปลีกและการบริการอาหาร แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น Bibigo’s Plantable Mandu เกี๊ยวมังสวิรัติ และ Nestlé Harvest Gourmet Sensational Mini Burgers มินิเบอร์เกอร์มังสวิรัติที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ถั่วเหลือง บีทรูท แครอท และลูกเกดดำ เพื่อเน้นย้ำจุดเด่นด้านความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบ
2.3 เต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้
ความต้องการเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเต้าหู้เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารจีน โดยเฉพาะแผ่นฟองเต้าหู้ทอดและแผ่นฟองเต้าหู้ม้วนแท่ง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกระแสของสุกี้ฮอทพอทและอาหารผัดหมาล่า อาหารเหล่านี้มีความหลากหลายของส่วนผสม เช่น ผัก เนื้อสัตว์ และตัวเลือกที่ทำจากเต้าหู้ ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรุงอาหารและตอบโจทย์ผู้บริโภค แผ่นฟองเต้าหู้ม้วนแท่งเป็นที่ชื่นชอบในเมนูเหล่านี้ เนื่องจากสามารถดูดซับซุปที่มีรสชาติ หรือซอสหมาล่าเซียงกัวที่เผ็ดร้อนได้ดี พร้อมเพิ่มเนื้อสัมผัสให้กับอาหาร ด้วยเหตุนี้จึงมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เต้าหู้ในรูปแบบต่าง ๆ ในร้านค้าปลีกมากขึ้น เช่น การเพิ่มแผ่นฟองเต้าหู้ทอดเป็นทางเลือกนอกเหนือจากแบบม้วนปกติ เนื่องจากมีราคาจับต้องได้และจัดเก็บได้ง่ายกว่า เช่น แบรนด์ Everbest ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดและรูปแบบบรรจุภัณฑ์หลากหลาย ทั้งแบบแยกชิ้น (มีโรลสองชิ้น) บรรจุภัณฑ์สำหรับครอบครัว และแผ่นฟองเต้าหู้ทอดเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค อีกหนึ่งจุดดึงดูดใจสำคัญของเต้าหู้คือราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งยังเป็นอาหารจากพืชที่มีไขมันต่ำและโปรตีนสูง ซึ่งตอบโจทย์แนวโน้มการดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ การเน้นการบริโภคอาหารแบบครอบคลุมยังสนับสนุนให้เต้าหู้กลายเป็นตัวเลือกสำคัญในอาหารมังสวิรัติและอาหารเจ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้ในตลาด
3. ส่วนแบ่งทางการตลาด
ในปี 2567 สินค้ากลุ่มเต้าหู้แบรนด์ Fortune มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 9.1% และแบรนด์ Unicurd อยู่ที่ 6.8% ตามมาด้วยแบรนด์อาหารทะเลแปรรูป Ayam อยู่ที่ 5.5% และแบรนด์อาหารทะเลแปรรูป Dodo อยู่ที่ 5.2%
4. กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า
ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งสามารถศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ได้ที่ www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
5. งานแสดงสินค้า
งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ได้แก่ Food&HotelAsia (FHA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://fhafnb.com/
6. ช่องทางในการกระจายสินค้า
สิงคโปร์มีช่องทางค้าที่หลากหลาย รองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ช่องทางการขายแบบดั้งเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เช่น ร้านสินค้าสุขภาพหรือไลฟ์สไตล์ ตัวอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสิงคโปร์ เช่น NTUC FAIRPRICE Cold Storge Sheng Siong Supermarket และซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทย Thai Super Market
นอกจากนี้ ช่องทางค้าปลีกออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยมีแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Lazada, Shopee และ Amazon Singapore ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและพฤติกรรมการซื้อของในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของรายชื่อผู้นำเข้า หรือช่องทางการขายที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อ สคต. ณ กรุงสิงคโปร์ ได้ที่ enquiry@thaitrade.sg
ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.
ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นจากสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ดังนั้น ผู้ผลิตควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การลดเกลือ หรือสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ และไม่มีสารกันบูด และควรมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์มีการคำนึงถึงความคุ้มค่าทางราคาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป