แนวทางการบังคับใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน Dirty 15

ทำเนียบขาวจะปรับแนวทางการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยมีแนวโน้มที่อาจจะยังไม่จัดเก็บภาษีในแต่ละภาคอุตสาหกรรม แต่คาดว่าจะใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนกับกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีสัดส่วนการขาดดุลทางค้าจำนวนมากกับสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนเป็น “วันแห่งการปลดปล่อย” ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นวันที่จะบังคับใช้สิ่งที่เรียกว่าภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับภาษีศุลกากรที่โดนเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังย้ำหลายครั้งว่าจะมีการเก็บภาษีในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ ยา และเซมิคอนดักเตอร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทำเนียบขาวจะยังคงมีแผนประกาศใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนในวันที่ 2 เมษายน แต่เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลเปิดเผยว่าภาษีที่จะเรียกเก็บเฉพาะภาคอุตสาหกรรมนั้นมีแนวโน้มจะไม่ถูกประกาศใช้ในวันดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลระบุว่าภาษีที่จะเรียกเก็บเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงการวางแผนและยังอาจมีเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม รวมถึง ภาษีต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับแผนการใช้ภาษีเหล่านี้ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
นาย Scott Bessent รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่ามาตรการภาษีต่างตอบแทนจะมุ่งเป้าไปที่ 15% ของประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ  หรือที่เรียกว่าแนวทาง “Dirty 15” กล่าวคือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก และจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากอัตราภาษีที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศเหล่านี้อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่ารายชื่อประเทศกลุ่มนี้จะคล้ายกับรายชื่อประเทศที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ระบุไว้ในประกาศของ Federal Register ว่าเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุดเมื่อปี 2024 เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย ไทย สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และแอฟริกาใต้

แนวทางการบังคับใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน Dirty 15

แม้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ แต่แนวทาง “Dirty 15” ยังถือว่าเป็นมาตรการที่เบากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางศึกษาและออกแบบภาษีต่างตอบแทนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลกลางประเมินความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าของสหรัฐฯ แทบทุกประเทศ ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวพิจารณาการจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าออกเป็นสามระดับ ได้แก่ อัตราภาษีสูง อัตราภาษีปานกลาง และอัตราภาษีต่ำ แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทำเนียบขาวได้เปลี่ยนใจจากแผนดังกล่าว และใช้วิธีการกำหนดอัตราภาษีเฉพาะสำหรับแต่ละประเทศแทน

แนวทางการบังคับใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน Dirty 15
แผนการบังคับใช้ภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของทำเนียบขาวในวันที่ 2 เมษายนนี้อาจส่งผลให้อัตราภาษีกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ สูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยเห็นมาหลายทศวรรษ แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่มีการหารือเรื่องภาษีต่างตอบแทนระบุว่า ทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์อาจทำให้ภาษีมีผลบังคับใช้ได้ทันทีในวันที่ 2 เมษายน โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเจรจายืนยันว่าในขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและแนวทางภาษียังอยู่ในระหว่างการสรุป
รัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าการประกาศขึ้นภาษีจะกระตุ้นให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบลดอัตราภาษีของประเทศตนเองหรือใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อให้สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น เช่น อินเดียที่พยายามดำเนินการเจรจาล่วงหน้าก่อนมาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ
หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียและประธานาธิบดีทรัมป์พบกันเมื่อเดือนมีนาคม 2568 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะแก้ไขข้อพิพาทด้านภาษีและทำงานร่วมกันในข้อตกลงฉบับแรกภายในฤดูใบไม้ร่วงปี 2568 โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าทั้งสองทางให้ถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
ประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวถึงอินเดียว่าเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีเฉลี่ยสูงที่สุดในบรรดาคู่ค้าหลัก ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอัตราภาษีรถยนต์สูงถึง 10% ซึ่งสูงกว่าภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ที่ 2.5% ถึง 4 เท่า
แนวทางการเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนนี้ของรัฐบาลทรัมป์เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอย่างหนักหลายสัปดาห์กับทั้งคู่ค้าต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ในภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่จากแคนาดาและเม็กซิโกระบุว่าพวกเขาได้รับแจ้งว่าแคนาดาและเม็กซิโกไม่มีทางหลีกเลี่ยงภาษีต่างตอบแทนในวันที่ 2 เมษายนนี้ได้ แต่ยังคงหวังว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะพิจารณาลดอัตราภาษีหลังจากวันดังกล่าว
ผู้บริหารภาคอุตสาหกรรมที่เจรจากับทำเนียบขาวเกี่ยวกับภาษีเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมระบุว่ามีโอกาสน้อยมากที่บางภาคส่วนจะได้รับการยกเว้น หนึ่งในผู้เจรจากล่าวว่าเขาได้รับแจ้งว่าจะมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้บริหารอุตสาหกรรมน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาไม่ต้องการให้มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับภาษี แต่ก็อาจมีบางกรณีที่จะพิจารณาเป็นพิเศษ ในขณะที่บางบริษัทยังคงพยายามขอข้อยกเว้น ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่รายหนึ่งกล่าวว่า วันที่ 2 เมษายนจะเป็นวันที่มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางภาษี
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์เคยละเว้นการเก็บภาษียานยนต์ชั่วคราวสำหรับแคนาดาและเม็กซิโก ก่อนจะขยายการละเว้นให้ครอบคลุมสินค้าทั้งหมดที่เป็นไปตามข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-แคนาดา-เม็กซิโก (USMCA) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความเสียใจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผ่อนปรนมาตรการภาษี และบอกเป็นนัยว่าแนวทางเกี่ยวกับภาษีของเขาอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอีกไม่กี่วันหรือสัปดาห์ข้างหน้า ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “เมื่อคุณให้ข้อยกเว้นกับบริษัทหนึ่ง คุณก็ต้องให้กับทุกบริษัท แต่ความยืดหยุ่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่บางครั้งก็ต้องมี”

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Wall Street Journal, Reuter
thThai