สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์

 

 

ประธานาธิบดี Donald J. Trump ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนภาษีตอบโต้ ซึ่งจะใช้กับคู่ค้าทุกประเทศของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวว่า อัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกกับจากฟิลิปปินส์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวไม่มากนัก

นาย Ralph G. Recto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ แถลงว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก จึงมีความยืดหยุ่นต่อสงครามการค้า แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากการลดลงของการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

นาง Cristina A. Roque รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ อาจจะเป็นโอกาสสำหรับฟิลิปปินส์ เนื่องจากคู่แข่งในภูมิภาคจะต้องเผชิญกับภาษีที่สูงกว่า ฟิลิปปินส์มองเห็นโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ โดยแสดงความต้องการในการเข้าพบหน่วยงานของสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งอัตราภาษีใหม่ยังทำให้ฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าส่งออกบางประเภทที่สามารถแข่งขันได้ดีกว่า เช่น มะพร้าว เนื่องจากฟิลิปปินส์มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ทองแดง ยา ทองคำ และแร่ธาตุบางชนิดที่ไม่มีในสหรัฐฯ แต่สินค้าเกษตรและอาหารจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว ซึ่งมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าของสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันได้ และประเด็นสำคัญสำหรับสหรัฐฯ คือ การปรับตัวให้เข้าถึงเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าที่จะหารือกับสหรัฐฯ เพื่อขยายตลาดสำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์แช่แข็ง และถั่วเหลือง ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี

เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าทุกประเทศร้อยละ 10 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน และจะเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นเป็นรายประเทศกับคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศต่างๆ จะต้องจ่ายค่าภาษีเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลอินโฟกราฟิกจากทำเนียบขาว ฟิลิปปินส์จะได้รับการปรับภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราลดลงร้อยละ 17 เนื่องจากฟิลิปปินส์เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 34 อย่างไรก็ตาม เอกสารภาคผนวกของคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ที่ปรับใหม่จะอยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในทันทีว่าเหตุใดข้อมูลในอินโฟกราฟิกและเอกสารภาคผนวกที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทำเนียบขาวจึงมีความแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ได้อ้างถึงแถลงการณ์ อัตราภาษีที่ฟิลิปปินส์จะได้รับอยู่ที่ร้อยละ 17 โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราภาษีตอบโต้ ดังนี้ กัมพูชามีอัตราภาษีสูงที่สุดที่ร้อยละ 49 รองลงมาคือ ลาวร้อยละ 48 เวียดนามร้อยละ 46 เมียนมาร้อยละ 45 ไทยร้อยละ 37 อินโดนีเซียร้อยละ 32 มาเลเซียร้อยละ 24 บรูไนร้อยละ 24 และสิงคโปร์มีอัตราภาษีต่ำสุดที่ร้อยละ 10

นาง Clarissa A. Castro ปลัดสำนักงาน Presidential Communications กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีที่ร้อยละ 17 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับสองในภูมิภาคนี้ ยังคงมองว่าเป็นไปในทางที่ดี ซึ่งนาย Francisco P. Tiu Laurel, Jr. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า ฟิลิปปินส์สามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้ นาย Frederick D. Go ผู้ช่วยพิเศษประธานาธิบดีด้านการลงทุนและกิจการเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ กล่าวว่า นักลงทุนบางรายอาจย้ายฐานการผลิตมายังฟิลิปปินส์ เนื่องจากภาษีต่ำกว่าสำหรับการส่งออกจากฟิลิปปินส์ไปยังสหรัฐฯ

นาย Allan B. Gepty ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับฟิลิปปินส์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและการปรับการลงทุนในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม นาย Olu Sonola หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของ Fitch Ratings กล่าวว่า มาตรการขึ้นภาษีที่เข้มงวดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย โดยหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากอัตราภาษีนี้ยังคงอยู่เป็นระยะเวลานาน การเพิ่มขึ้นของภาษีอาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าที่ผลิตในฟิลิปปินส์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ

นาย George N. Manzano อดีตกรรมาธิการคณะกรรมการภาษีศุลกากรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ โดยนาย Robert M. Young ประธานสมาคมผู้ซื้อต่างชาติของฟิลิปปินส์ (Foreign Buyers Association of the Philippines) กล่าวว่า ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นกับราคาขายสินค้าในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาการส่งออก เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงหรืออาจไม่มีความต้องการเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะได้รับประโยชน์จากการขึ้นภาษีที่สูงกว่าของประเทศอื่นๆ แต่ฟิลิปปินส์มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ทำให้ราคาขายของฟิลิปปินส์สูงกว่าเวียดนาม อินเดียและกัมพูชา ดังนั้นสินค้าฟิลิปปินส์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ลดภาษีสำหรับสินค้าสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีตอบโต้ รัฐบาลฟิลิปปินส์และภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการสำรวจและพัฒนาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ

ในปี 2567 ฟิลิปปินส์ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกทั้งหมด มีมูลค่า 12.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 6.43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งนาย John Paolo R. Rivera นักวิจัยอาวุโสของสถาบันฟิลิปปินส์เพื่อการศึกษาด้านการพัฒนา (PIDS) กล่าวว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี รวมถึงสินค้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสิ่งทอที่อาศัยข้อตกลงการให้สิทธิพิเศษทางการค้า อาจเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร เช่น น้ำมันมะพร้าว ผลไม้แปรรูป และอาหารทะเล อาจได้รับผลกระทบจากความอ่อนไหวต่อราคาในตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์อาจไม่รุนแรงในทันที แต่หากสงครามทางภาษียืดเยื้ออาจทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุน และการเติบโตของการส่งออกลดลงได้ โดยเฉพาะหากภาระต้นทุนที่สูงขึ้นถูกส่งต่อให้ผู้บริโภค อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานงบประมาณการพัฒนาของฟิลิปปินส์ได้ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ร้อยละ 6 – 8 ในปีนี้ และคาดการณ์ว่าการส่งออกและการนำเข้าจะเติบโตที่ร้อยละ 6 และร้อยละ 5 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายงาน ANZ Research ระบุว่า ภาษีแบบตอบโต้อาจมีผลกระทบไม่มากนักต่อฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากทั้งสามประเทศมีการพึ่งพาการส่งออกน้อยลง ซึ่งภาษีดังกล่าวยังสามารถเจรจาให้ลดลงได้ ขึ้นอยู่กับการลดลงของการเกินดุลการค้าทวิภาคีกับสหรัฐฯ ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ มีมูลค่า 23.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 14.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการขาดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์อยู่ที่ 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 จากปีก่อน

นาง Bianca Pearl R. Sykimte ผู้อำนวยการสำนักงานการตลาดส่งออก กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และตลาดหลักอื่นๆ นอกจากนี้ นาง Ma. Teresita Jocson-Agoncillo ผู้อำนวยการบริหารสหพันธ์ผู้ส่งออกฟิลิปปินส์ (Philippine Exporters Confederation) กล่าวว่า ภาษีแบบตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บเพิ่มเติมจากอัตราภาษีเครื่องนุ่งห่มของการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ไดรับความอนุเคราะหยิ่ง (MFN) อย่างไรก็ตาม ควรรอให้ฝ่ายสหรัฐฯ เผยแพร่แนวทางปฏิบัติ เนื่องจากภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอัตรา MFN บวกกับร้อยละ 17 แม้ว่าฟิลิปปินส์จะยังคงมีข้อได้เปรียบจากอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศคู่ค้าในภูมิภาคอาเซียน แต่ภาษีศุลกากรดังกล่าวก็ยังส่งผลกระทบต่อการจัดหาสินค้าทั่วโลกและการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทาน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld

 

บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็น

·       การประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของแผนภาษีตอบโต้ที่มุ่งหวังให้ประเทศคู่ค้าจ่ายภาษีเพื่อเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องนุ่งห่มซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ยังมีข้อได้เปรียบจากการมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าประเทศไทยในบางประเภทสินค้า เช่น มะพร้าว ซึ่งสามารถแข่งขันได้ดีกว่า ดังนั้น ฟิลิปปินส์ควรหารือกับสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์แช่แข็ง และถั่วเหลือง ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี นอกจากนี้ ควรมองหาตลาดใหม่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ รวมถึงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และภาคเอกชนในการส่งเสริมการปรับตัวและพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

·       การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อฟิลิปปินส์อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ โดยผู้ส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าของไทยไปยังฟิลิปปินส์อาจชะลอตัว และความสามารถในการแข่งขันในตลาดฟิลิปปินส์ลดลง ในขณะที่ผู้นำเข้าไทยที่นำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์อาจต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้า ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีอัตราภาษีศุลกากรต่ำกว่าประเทศไทย แต่การขึ้นราคาสินค้าจากปัจจัยภาษีอาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสถานการณ์การค้าผันผวน อย่างไรก็ตาม หากฟิลิปปินส์สามารถจัดการกับการเพิ่มภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเปิดโอกาสให้ไทยขยายการค้ากับฟิลิปปินส์ในสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันได้ เช่น ผลไม้แปรรูป หรือเครื่องจักรจากฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ไทยควรรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างฐานการตลาดในภูมิภาค และควรเจรจาข้อตกลงการค้าเพื่อเพิ่มสิทธิพิเศษและลดภาระภาษีการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงมองหาตลาดใหม่และการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ภาษี และข้อกำหนดต่างๆ ในตลาดหลัก การปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการค้าระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ในอนาคต

—————————————

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

เมษายน 2568

thThai