การที่สหรัฐอเมริกาประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) สูงถึงร้อยละ 46 ต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนาม โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ได้สร้างความตกใจและความวิตกกังวลอย่างมากในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำภาคธุรกิจ ซึ่งต่างเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการส่งออกและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามโดยรวม
นาย Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท VinaCapital เปิดเผยว่าการประกาศภาษีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในระดับอัตราภาษีที่สูงถึงร้อยละ 46 ซึ่งอาจทำให้เวียดนามไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 8 ได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราภาษีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ VinaCapital ใช้เป็นฐานในการประเมินผลกระทบล่วงหน้า นาย Michael Kokalari ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราภาษีในระดับดังกล่าวอาจย้อนกลับไปกระทบผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้
ที่มาของอัตราภาษีดังกล่าวมาจากการประเมินของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งสหรัฐฯ (US Council of Economic Advisors: CEA) ซึ่งอ้างว่าเวียดนามเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 90 โดยอิงจากการคำนวณตัวเลขดุลการค้าอย่างง่าย อย่างไรก็ตาม สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ออกมาโต้แย้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังเวียดนามต้องเสียภาษีไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้ รายงานจาก Bloomberg และแหล่งข่าวอื่น ๆ ยังระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราภาษีนำเข้าของเวียดนามสูงกว่าของสหรัฐฯ เพียง 7 จุดร้อยละ (percentage points) เท่านั้น และหากพิจารณาจากมูลค่าการค้าจริง อัตราภาษีที่แท้จริงของทั้งสองประเทศก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
นาย Kokalari วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มใช้ตัวเลขดุลการค้าแบบดิบเป็นพื้นฐานในการกำหนดกลยุทธ์การเจรจาการค้า ซึ่งอาจสร้างผลกระทบมากกว่าผลดี และทำให้เวียดนามต้องเร่งเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันทางการค้า เขายังเสนอว่า เวียดนามสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas: LNG) จากสหรัฐฯ ได้สูงถึง 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ผ่านการใช้เรือในโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (floating storage regasification units (FSRUs) ships) ซึ่งเป็นทางเลือกชั่วคราวระหว่างรอโครงสร้างพื้นฐานถาวรในการรับก๊าซ
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่า อัตราภาษีร้อยละ 46 อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจรจาโดยคาดว่าจะมีการหารืออย่างเข้มข้นระหว่างสองประเทศในช่วงสัปดาห์ถัดไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความแน่ชัดว่าอัตราภาษีสุดท้ายจะเป็นเท่าใด โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจลดลงมาอยู่ที่ราวร้อยละ 25 ซึ่งถึงแม้จะต่ำลง แต่ก็ยังเป็นภาระหนักต่อเศรษฐกิจเวียดนาม
ผลกระทบของการประกาศภาษีในครั้งนี้ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม โดยดัชนี VN-Index ร่วงลงเกือบร้อยละ 7 จากการเทขายหุ้นแบบกระจาย แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษี เช่น บริษัท FPT ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ยังถูกขายจนราคาร่วงแตะเพดานล่างรายวันในขณะเดียวกัน ค่าเงินเวียดนามด่ง (VND) อ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อย โดยลดลงไม่ถึงร้อยละ 1 ในวันเกิดเหตุการณ์ และลดลงไม่ถึงร้อยละ 2 ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปที่มักจะเห็นค่าเงินของประเทศที่ถูกขึ้นภาษีอ่อนค่าราวครึ่งหนึ่งของอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม การปรับฐานของตลาดในระยะสั้นนี้อาจเปิดโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษี
อุตสาหกรรมหลักของเวียดนามที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า อาหารทะเล และเฟอร์นิเจอร์ ต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีใหม่นี้ โดยนาย Pham Xuan Hong ประธานสมาคมสิ่งทอ เสื้อผ้า ปัก และถักแห่งนครโฮจิมินห์ (The Ho Chi Minh City Textile, Garment, Embroidery and Knitting Association: Agtek) เปิดเผยว่า ตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนาม ปัจจุบันภาษีอยู่ที่ร้อยละ 16 และหากเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 46 จะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างสิ้นเชิง เขาจึงหวังว่ารัฐบาลเวียดนามจะสามารถเจรจาลดอัตราภาษีดังกล่าวลงได้ ในระหว่างนี้ ภาคธุรกิจก็เตรียมรับมือด้วยการกระจายความเสี่ยง โดยขยายตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ
สำหรับภาคการเกษตร นาย Nguyen Dinh Tung รองประธานสมาคมผลไม้และผักเวียดนาม และผู้อำนวยการบริษัท Vina T&T Group ระบุว่า สินค้าเกษตรเวียดนามส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เสียภาษีน้อย ยกเว้นทุเรียนแช่แข็งที่ปัจจุบันเสียภาษีอยู่ที่ร้อยละ 16 หากมีการขึ้นภาษีเพิ่มเติม จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และอาจทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันไปใช้สินค้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น ไทย แทน
อุตสาหกรรมไม้ของเวียดนามก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยนาย Ngo Sy Hoai รองประธานและเลขาธิการสมาคมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้เวียดนาม กล่าวว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรม และหวังว่าการเจรจาอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อหาทางออกที่ลดผลกระทบดังกล่าว
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับความปั่นป่วนครั้งใหญ่เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ เวียดนามกลายเป็นประเทศแรก ๆ ที่ตกอยู่ในเป้าหมาย เนื่องจากมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก
ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ CNBC ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอสูตรคำนวณภาษีในรูปแบบใหม่ที่สะท้อนความไม่สมดุลทางการค้าอย่างชัดเจน โดยใช้สูตร ภาษี (%) = ดุลการค้าเกินดุล / มูลค่านำเข้ารวม กรณีของเวียดนาม ซึ่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 136,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 13,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกิดดุลการค้าเกินดุลถึง 123,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้ารวม สหรัฐฯ จึงประกาศใช้ภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามในอัตราร้อยละ 46 (ครึ่งหนึ่งของอัตราที่คำนวณได้เต็มที่) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 สูตรดังกล่าวแม้จะไม่สอดคล้องกับระบบภาษีศุลกากรระหว่างประเทศทั่วไป แต่สะท้อนถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจภายในของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ
การบังคับใช้ภาษีดังกล่าวส่งผลทันทีต่อราคาสินค้าเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เมื่อราคาสูงขึ้น ความต้องการย่อมลดลง ทำให้คำสั่งซื้อมีแนวโน้มชะลอตัวหรือเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศคู่ค้าที่มีต้นทุนภาษีต่ำกว่า บริษัท Dragon Capital ชี้ว่า ความต้องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อาจหดตัวถึงร้อยละ 7.33 หรือประมาณ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเวียดนามโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความเปราะบางและต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการสูญเสียตลาดหลักในระยะเวลาอันสั้น
ท่ามกลางกระแสแรงกดดันทางการค้า เวียดนามได้ขานรับสถานการณ์อย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นาย Ho Duc Phoc รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้พบหารือกับนาย Scott Bessent รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนาย Howard Lutnick รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือประเด็นเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้แทนพิเศษของนาย To Lam เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยเวียดนามแสดงความมุ่งมั่นต่อความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านกับสหรัฐฯ พร้อมยืนยันเจตจำนงในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าให้มีความสมดุล กลมกลืน และยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเริ่มต้นเจรจาจัดทำความตกลงการค้าแบบต่างตอบแทน (a reciprocal trade agreement) ซึ่งรวมถึงการจัดการด้านภาษี
รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ย้ำว่าเวียดนามพร้อมเข้าสู่การเจรจาโดยเร็ว เพื่อบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ยืนยันการแต่งตั้งตนเองเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของสหรัฐฯ และแสดงความมั่นใจในความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ ด้านการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เวียดนามได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเริ่มต้นเจรจาทวิภาคีซึ่งสอดคล้องกับกรอบความร่วมมือระหว่างสองประเทศในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมทั้งยังยืนยันนโยบายของเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ ควบคู่กับการบูรณาการระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเรียกร้องความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตลอดกระบวนการเจรจา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐตอบรับด้วยความยินดี โดยย้ำว่าเวียดนามเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยไม่ละทิ้งหลักการค้าที่ยุติธรรม
ภารกิจพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีเวียดนามในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินตามทิศทางยุทธศาสตร์ที่วางไว้จากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนาย นาย To Lam เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีแบบตอบโต้เพียงสองวัน และสะท้อนถึงความพยายามอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลเวียดนามในการดำเนินการตามผลลัพธ์ดังกล่าว โดยตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เวียดนามจะจัดตั้งคณะเจรจาในวันที่ 11 เมษายน 2568 เพื่อเริ่มต้นเจรจากับคณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ร่วมกันให้เร็วที่สุด
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
ภายหลังการประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ซึ่งเลื่อนการบังคับใช้ภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน ยกเว้นสินค้าจากจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Decoupling เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง ต่างได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อาเซียนจึงจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดพิเศษผ่านระบบทางไกลในวันเดียวกัน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้สนับสนุนแนวทางที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นผลลัพธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ กระจายห่วงโซ่อุปทาน และใช้ประโยชน์สูงสุดจากความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ รวมถึงการยกระดับ ATIGA ควบคู่ไปกับการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และยั่งยืน โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง ทั้งยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เปิดการเจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลในระยะยาว พร้อมเสนอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ เช่น TIFA และ E3 Work Plan และเห็นชอบต่อการจัดตั้งคณะทำงานด้านภูมิเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Geoeconomics Task Force) เพื่อติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน
ในระดับทวิภาคี นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ขับเคลื่อนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างจริงจัง โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเป็นหัวหน้าคณะเจรจา พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างพันธมิตรทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือกับกว่า 60 ตลาด และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ถึง 17 ฉบับ ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส สำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เสริมสร้างความยั่งยืน และกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดิม โดยเฉพาะผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ การกระจายผลิตภัณฑ์และตลาดส่งออก และการปรับห่วงโซ่อุปทานในภาพรวม นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณากลไกสร้างสมดุลทางการค้า อาทิ การจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เวียดนามมีความต้องการสูง เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเครื่องบิน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี ทบทวนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจต่างชาติในระยะยาว
ไทยควรใช้โอกาสเชิงยุทธศาสตร์จากแนวทางของเวียดนาม ในการเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากจีน พร้อมเสนอบทบาทไทยเป็นฐานผลิตเสริมในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการส่งเสริม Joint Venture กับบริษัทเวียดนามที่ได้รับสิทธิประโยชน์ เพื่อเข้าถึงตลาดและแรงจูงใจร่วมกัน อีกทั้งควรเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุน SME ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านนโยบายระหว่างประเทศ และปรับกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้เวทีความร่วมมือ เช่น ASEAN Geoeconomics Task Force และ TIFA เป็นเครื่องมือสร้างพลังเจรจาร่วมในการรักษาฐานการส่งออกไปยังสหรัฐฯ