เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา บรรยากาศ ณ ย่าน Eastern Suburb Memory ใจกลางนครเฉิงตู เต็มไปด้วยความคึกคักและกลิ่นอายของวัฒนธรรมนานาชาติ กับงาน “ถนนวัฒนธรรมยุโรป 2568” (European Culture Street 2025) ที่ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากชาวจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ งานในปีนี้จัดขึ้นโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศจีน (Delegation of the European Union to China) เพื่อเปิดเทศกาล Chengdu-European Culture Season อย่างเป็นทางการ และเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพยุโรปและจีน
งานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “All Imaginable Ways of Dialogue” สะท้อนถึงความตั้งใจในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมที่ผสมผสานศิลปะ ดนตรี อาหาร และเทคโนโลยีไว้อย่างลงตัว โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 และในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ซึ่งได้รวบรวมกิจกรรมหลากหลายกว่า 11 รายการ ทั้งนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจากตะวันตก
งาน European Culture Street 2568 ยก “ยุโรป” มาไว้กลางนครเฉิงตู
|
กิจกรรมภายในงานครอบคลุมทั้งในมิติของวัฒนธรรม การศึกษา และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ โซนนิทรรศการจาก 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งรวมทั้งสิ้น 29 บูธ ได้นำเสนอวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ และองค์ประกอบที่สะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ ผ่านรูปแบบนิทรรศการเชิงโต้ตอบ (Interactive Exhibition) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสและมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ทั้งจากการเยี่ยมชมและการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบูธ
![]() (ภาพและแหล่งที่มา : Xinhua) |
หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยม คือ “พาสปอร์ตจำลอง” ซึ่งออกแบบให้คล้ายหนังสือเดินทางสำหรับการ “เดินทางรอบยุโรป” ภายในพื้นที่จัดงาน ผู้เข้าร่วมสามารถสะสมตราประทับจากแต่ละบูธเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยกิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าชมเกิดความสนใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ กิจกรรมที่จัดในแต่ละบูธมีความหลากหลาย อาทิ การตอบคำถามความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ การชิมอาหารยุโรปต้นตำรับจากหลายประเทศ เช่น ชีส ไส้กรอก หรือเครื่องดื่มท้องถิ่นฯลฯ การทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น การระบายสีลวดลายพื้นเมือง และการสาธิตงานฝีมือแบบดั้งเดิม เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้เข้าชมงานยังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของสหภาพยุโรป (EU) และเครือข่ายสถาบันวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก (EUNIC) รายชื่อประเทศที่เข้าร่วมประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน งานถนนวัฒนธรรมยุโรปในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ยังสะท้อนถึงมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและจีน ซึ่งมีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
(ภาพและแหล่งที่มา : Chengdu Discovery และ se.people.cn) |
การแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติจากประเทศสมาชิก EU
เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณใจกลาง Eastern Suburb Memory โดยตลอดทั้งวันมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง การแสดงแต่ละชุดถ่ายทอดความหลากหลายของวัฒนธรรมยุโรปทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และ อัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ การแสดงบนเวที อาทิ ละครเวทีเยาวชน China-Greece Youth Drama ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมผ่านมุมมองของเยาวชน ดนตรีพื้นบ้านจากประเทศเนเธอร์แลนด์ การแสดงแจ๊สและดนตรีร่วมสมัยจากเดนมาร์กและเบลเยียม โอเปร่าคลาสสิกจากประเทศอิตาลี การบรรเลงดนตรีคลาสสิกจากศิลปินเยอรมนี เช็ก และสเปน การแสดง Dream Remix จากโรมาเนียและเยอรมนี ที่ได้ถ่ายทอดแนวคิด ความฝันร่วมกันของโลกยุคใหม่ ผ่านการเต้นร่วมสมัยและภาพวิดีโอมัลติมีเดีย
ภายในงานครั้งนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย บูธวัฒนธรรมแบบ immersive จากทั้ง 27 ประเทศสมาชิก EU การแสดงดนตรีและการเต้นรำทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย การลิ้มลองอาหารยุโรปต้นตำรับจากหลากหลายประเทศ กิจกรรม AI Photography กับแลนด์มาร์กยุโรปเสมือนจริง รวมถึงกิจกรรมเชิงบูรณาการแลกเปลี่ยนความรู้ ภายในงานยังมีการแจกของรางวัลที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของผู้จัดงานในการส่งเสริมประเด็นด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมโลก
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
การจัดงาน European Culture Street 2025 ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศจีน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้ Soft Power ในการส่งเสริมภาพลักษณ์และความเข้าใจระหว่างประเทศ โดยสามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผ่านกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม อาหาร ดนตรี และนวัตกรรมร่วมสมัย ควบคู่กับการนำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายและสอดคล้องกับค่านิยมสากล แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Soft Power ในการขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และการสื่อสารภาพลักษณ์ของภูมิภาคยุโรปในระดับโลก ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่สามารถนำมาศึกษาและปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตลอดจนมีต้นทุนของอำนาจละมุนหรือ Soft Power ที่ทรงพลังจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับ Soft Power ของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ขับเคลื่อนชาติ” โดยผสานองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้ Soft Power ไทยในเวทีโลก กรอบการดำเนินงาน “Soft Power 11 ด้าน” ครอบคลุมทุกมิติของวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่วัฒนธรรมด้านอาหารไทยอันเลื่องชื่อซึ่งติดอันดับโลก ไปจนถึงมวยไทยที่ผสานศาสตร์การต่อสู้กับปรัชญาการใช้ชีวิต รวมถึงด้านศิลปะการแสดงและเทศกาลต่างๆ ของไทยอย่างเทศกาลมหาสงกรานต์ หรืองานลอยกระทงที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ในส่วนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างภาพยนตร์และซีรีส์ของไทยได้กลายเป็นกระแสหลักในหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีนที่ให้การตอบรับอย่างล้นหลามทำให้ดารานักแสดงของไทยจำนวนไม่น้อยเป็นที่นิยมในตลาดจีน
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมในตลาดจีน โดยใช้ความนิยมในอาหารไทย ซีรีส์ และดนตรีไทยเป็นสะพานเชื่อมไปยังผู้บริโภคชาวจีน เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการบริโภคในสองมิติทั้งการซื้อหาสินค้าเชิงวัฒนธรรม (Cultural Products) และการเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์จริงผ่านการท่องเที่ยวในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากกระแสนิยมไทยเพื่อนำเสนอสินค้า/บริการแก่ผู้บริโภคในตลาดจีน โดยแทรกซึมค่านิยมไทยอย่างเป็นธรรมชาติ สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคจีนยุคใหม่ โดยยังคงรักษาสมดุลระหว่างการนำเสนอเอกลักษณ์ดั้งเดิมกับการปรับตัวให้ทันยุคสมัย เพื่อให้ Soft Power ไทยไม่เพียงเป็นกระแสชั่วคราว แต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
เมษายน 2568
แหล่งข้อมูล :
https://news.qq.com/rain/a/20250412A07OTK00?suid=&media_id=
https://sc.chinadaily.com.cn/a/202504/12/WS67fa2f15a310e29a7c4a8bca.html