เนื้อหาสาระข่าว: สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงสุดถึง 145% (ล่าสุดหลังบทความนี้ถูกเผยแพร่ ยังขึ้นไปอีกจนอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 245 สำหรับสินค้าบางรายการ) ซึ่งรวมถึงสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น ตั้งแต่เสื้อยืดราคาถูกจาก Temu ไปจนถึงสินค้าราคาสูงอย่าง รองเท้า Balenciaga ในขณะเดียวกัน จีนได้ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีเชิงรุกเช่นกัน ส่งผลให้ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นปั่นป่วนทั่วโลก
-
- การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน: แบรนด์อย่าง Shein, Temu และผู้ขายรายย่อยใน Amazon ที่พึ่งพาการผลิตราคาถูกจากจีน เผชิญภัยคุกคามต่อความอยู่รอด ร้านค้าปลีกอย่าง Five Below หยุดการขนส่ง และแบรนด์ใหญ่เช่น Steve Madden ซึ่งลดสินค้าที่ผลิตในจีนจาก 95% เหลือ 70% อาจเผชิญต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 78%
- ต้นทุนสูงขึ้น: แบรนด์ขนาดเล็กที่พึ่งพาการผลิตที่ยืดหยุ่นของจีนมีทางเลือกน้อย เนื่องจากประเทศอื่นมีต้นทุนสูงหรือข้อจำกัดด้านปริมาณสั่งซื้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคสูงขึ้นและยอดขายลดลง
- ช่องโหว่ De Minimis: การยกเลิกสิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ามูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ de minimis ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800 เหรียญสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี (ยกเลิกเฉพาะสินค้าจากจีนตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม) จะกระทบแบรนด์ที่ขายตรงถึงผู้บริโภคอย่างหนัก ทำให้ต้องขึ้นราคาหรือย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนามหรือตุรกี แต่ Shein และ Temu เผชิญความท้าทายในการกระจายฐานการผลิตเนื่องจากพึ่งพาจีนเป็นหลัก
- ความเสี่ยงในตลาดจีน: แบรนด์สหรัฐฯ ที่ขายในจีน ซึ่งเป็นตลาดเติบโตสำคัญ เผชิญความเสี่ยงจากการคว่ำบาตรของผู้บริโภค (แม้ยังไม่มีสัญญาณ) และแรงกดดันจากรัฐบาล เช่น กรณี PVH (เจ้าของแบรนด์ Calvin Klein และ Tommy Hilfiger) ถูกจีนขึ้นบัญชี “องค์กรที่เชื่อถือไม่ได้” จากแถลงการณ์เกี่ยวกับฝ้ายซินเจียง
- ความไม่แน่นอน: แบรนด์ต่าง ๆ กำลังปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานและกลยุทธ์การกำหนดราคาท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะเวลาของภาษีและการขยายวงของความขัดแย้ง บางรายใช้เครื่องมือเช่น Clear ของ Swap เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่
“Clear” เป็นฟีเจอร์หนึ่งในซอฟต์แวร์ของบริษัท Swap ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซที่ให้บริการซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์สำหรับแบรนด์ที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง 20-100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 660-3,300 ล้านบาท) โดยการทำงานของ Clear นั้น จะช่วยคำนวณอัตราภาษีที่ถูกต้อง รวมถึงยังช่วยเตรียมเอกสารให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ในระยะนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปๆ มาๆ อยู่บ่อยครั้ง ระบบนี้จะช่วยให้แบรนด์ (ผู้ใช้บริการซอฟต์แวร์นี้) ปฏิบัติตามข้อกำหนดศุลกากรและกฎระเบียบที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมีการยกเลิก de minimis สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2025 และอาจขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในอนาคต |
อุตสาหกรรมแฟชั่นติดอยู่ในความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยไม่มีแนวโน้มการแก้ไขที่ชัดเจน ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วหรือเสี่ยงต่อความสูญเสียครั้งใหญ่
บทวิเคราะห์: การที่สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราสูงถึงร้อยละ 145 (และล่าสุดเพิ่มเป็นร้อยละ 245) ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินค้าแฟชั่นจากจีน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ เผชิญต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้นจากภาษีร้อยละ 245 ทำให้แบรนด์ต้องขึ้นราคา ปรับห่วงโซ่อุปทาน หรืออาจมียอดขายลดลง โดยเฉพาะแบรนด์อย่าง Shein และ Temu ที่พึ่งพาสินค้าราคาถูกจากจีน เท่าที่ตรวจสอบดู ยังไม่พบว่าสินค้าใดที่จะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรมากถึงร้อยละ 245 จริงๆ แต่โดยสรุปแล้ว อัตราดังกล่าวมาจากการรวมภาษีพื้นฐาน, ภาษีมาตรา 301, ภาษีตอบโต้ร้อยละ 125 และภาษีพิเศษสำหรับสินค้าบางประเภท ซึ่งอาจต้องตรวจสอบรหัสสินค้าอย่างเฉพาะเจาะจง
หันมาสนใจของไทยเองบ้างเพื่อความเข้าใจอย่างชัดเจน ขอเริ่มจากฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดก่อน ซึ่งในขณะนี้ สหรัฐฯ มีแผนจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร ประเภทภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่ต่างกันสำหรับแต่ละประเภทสินค้า หากเป็นสินค้าที่แต่เดิมไม่เคยมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Base Tariff) มาก่อนก็จะไม่ต้องบวกรายการนี้เข้าไป แต่สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับสินค้าในแต่ละประเภท ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย จะถูกเรียกเก็บภาษี ดังนี้
ตารางคำนวณภาษีนำเข้าสินค้าแฟชั่นจากไทยมายังสหรัฐฯ | |||
รายการภาษี / ค่าธรรมเนียม | อัตรา | สถานะ | หมายเหตุ |
ภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Base Tariff) | 11% – 19% | ใช้งานอยู่ | แล้วแต่ประเภทสินค้า (เช่น เสื้อถัก ทอ รองเท้า ฯลฯ) |
ภาษีทั่วไปใหม่ (Universal Tariff) | 10% | ใช้งานอยู่(เริ่ม 5 เม.ย.) | เก็บจากทุกประเทศ (ยกเว้นแคนาดา-เม็กซิโก) |
ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) | *36% | จะมีผล 8 ก.ค. 2025 | บวกเพิ่มเฉพาะไทย เมื่อครบ 90 วันหลังประกาศ |
MPF (Merchandise Processing Fee) | 0.3464% | ใช้งานอยู่ | คิดจากมูลค่า CIF ขั้นต่ำ $27.23, สูงสุด $528.33 |
HMF (Harbor Maintenance Fee) | 0.125% | ใช้งานอยู่ | คิดเฉพาะสินค้าที่เข้าทางเรือ |
* หากบังคับใช้ตามกำหนดโดยไม่มีเหตุใดๆ ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง
มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหรัฐอเมริกาในปี 2025 คาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 365.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12.5 ล้านล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ) ตามข้อมูลจาก Statista สำหรับตลาดเครื่องแต่งกาย คาดว่าตลาดนี้จะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 2.11% จนถึงปี 2028 อาศัยข้อมูลจาก แหล่งข้อมูลชั้นนำได้แก่ Statista, Forbes, McKinsey, AAFA และ FashionUnited ตลาดของอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนตามแหล่งที่มาของสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นของสหรัฐอเมริกาในปี 2025 มีดังนี้
-
- การนำเข้า: อุตสาหกรรมแฟชั่นของสหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชีย สินค้าเสื้อผ้าที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ประมาณ ร้อยละ 97-98 เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยแหล่งที่มาหลัก ได้แก่ จีน, เวียดนาม, บังกลาเทศ, อินเดีย, อินโดนีเซีย และเม็กซิโก โดยจีนเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 70 ของสินค้าเสื้อผ้าที่นำเข้า ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม มีบทบาทสำคัญในบางแบรนด์ เช่น Nike ซึ่งจัดหาสินค้าจากเวียดนามเป็นส่วนใหญ่เพื่อลดการพึ่งพาจีน
- การผลิตภายในประเทศ: การผลิตเสื้อผ้าภายในสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 2-3 ของสินค้าแฟชั่นที่จำหน่ายในประเทศ โดยมักเน้นสินค้าระดับพรีเมียมหรือสินค้าที่ต้องการการควบคุมคุณภาพสูง แต่มีต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า เช่น เสื้อยืดที่ผลิตในสหรัฐฯ อาจมีราคา 10-20 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 2-5 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับสินค้าจากจีน
- แนวโน้มการจัดหาในปี 2025: ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญกับแหล่งผลิตใกล้ตลาด (nearshoring) และแหล่งผลิตในประเทศที่เป็นพันธมิตรกัน (Friendshoring) เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางการค้าและภาษี ซึ่งแนวโน้มนี้อาจเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่มาจากประเทศในอเมริกาเหนือ เช่น เม็กซิโก หรือประเทศในอเมริกากลาง
- ความยั่งยืนและแหล่งที่มาทางเลือก: ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีความต้องการสินค้าที่ยั่งยืนและผลิตอย่างมีจริยธรรมมากขึ้น ส่งผลให้บางแบรนด์หันมาใช้ วัสดุรีไซเคิล, ผ้าฝ้ายออร์แกนิก หรือผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น และนอกจากนี้ยังมีตลาดแฟชั่นมือสองคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 8 ของรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายในปี 2025 เทียบกับร้อยละ 6 ในปัจจุบัน ซึ่งอาจลดการพึ่งพาการผลิตใหม่
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแฟชั่นของสหรัฐฯ ในปี 2025 พึ่งพาการนำเข้าจากจีนและประเทศในเอเชียเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 97-98 โดยการผลิตภายในประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2-3 แนวโน้มในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแหล่งผลิตใกล้ตลาดและแหล่งผลิตในประเทศที่เป็นพันธมิตรกัน รวมไปถึงแหล่งผลิตที่มีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ข่าวดีสำหรับสินค้าไทยก็คือ de minimis ยังไม่ได้ถูกยกเลิก แต่เริ่มต้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2025 เป็นต้นไป สินค้าทุกชิ้นจากจีนและฮ่องกง ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใด จะต้องเสียภาษีศุลกากรตามอัตราที่กำหนดและต้องผ่านขั้นตอนการนำเข้าทั้งแบบทางการหรือไม่เป็นทางการ โดยสินค้าจากจีนและฮ่องกงจะต้องเสียภาษีเพิ่มร้อยละ 125 นอกเหนือจากภาษีตามมาตรา 301 ที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการขนส่งทางไปรษณีย์จากจีนและฮ่องกง จะต้องเสียภาษี 25 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น (เพิ่มเป็น 50 เหรียญสหรัฐหลังวันที่ 1 มิถุนายน 2025) หรือเสียภาษีตามอัตราส่วน (Ad Valorem Rate) ร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้า แล้วแต่มูลค่าใดสูงกว่าจะใช้อัตรานั้น
สำหรับสินค้าจากประเทศอื่นๆ กติกาเรื่อง de minimis ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เช่นเดิม โดยสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถเข้าสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและมีขั้นตอนศุลกากรน้อยที่สุด แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแผนจะยกเลิก de minimis สำหรับทุกประเทศในอนาคต เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการจัดการขั้นตอนศุลกากรและเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2025 มีการพิจารณายกเลิกการยกเว้นสำหรับแคนาดาและเม็กซิโกชั่วคราว แต่การดำเนินการดังกล่าวถูกระงับและยังคงอยู่ในสถานะรอดำเนินการ การยกเลิกสำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกงเป็นผลจากความกังวลเรื่องดุลการค้า ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากช่องว่างนี้โดยบริษัทอีคอมเมิร์ซ เช่น Temu และ Shein และการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย เช่น สารตั้งต้นของยาเสพติดเฟนทานิล
ส่วนสินค้าที่ผลิตในแหล่งอื่นๆ แล้วส่งมาทางช่องทางปกติที่มีมูลค่าต่อการส่งแต่ละครั้งเกิน 800 เหรียญสหรัฐ และถูกส่งออกมาจากท่าเรือหรือท่าอากาศยานหลังอัตราภาษีพื้นฐานร้อยละ 10 เริ่มบังคับใช้แล้วนั้น สรุปได้ว่าจะถูกเรียกเก็บกันทั่วหน้า ดังนั้น เชื่อว่าจะยังไม่มีผลต่อระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ตราบเท่าที่อัตราต่างตอบแทนยังไม่ถูกนำมาบังคับใช้ (ขณะนี้เลื่อนไป 90 วัน) ถือเป็นโอกาสที่ผู้ซื้อจะเร่งสั่งให้สินค้าต้องรีบส่งเข้ามาในสหรัฐน โดยเร็ว และก็ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า ถึงเวลาแล้วจะมีการชะลอต่อไปอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นั่นคือ สหรัฐฯ มีรายได้เข้าสู่รัฐเพิ่มขึ้นจากการเรียกเก็บภาษีพื้นฐานร้อยละ 10 ครั้งนี้จากทั่วโลกไปบ้างแล้ว
และก่อนจะถึงเวลา 90 วันที่เลื่อนไป นานาประเทศต่างก็เข้าแถวกันมาขอเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อคู่เจรจาจากประเทศเล็กๆ ต้องมาเจรจาต่อรองกับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ แบบตัวต่อตัว ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ใหญ่กว่าย่อมถือไพ่เหนือกว่า จะอย่างไรคงเลี่ยงความเสียเปรียบไม่ได้แน่นอน คงได้แต่เพียงหวังว่าคู่เจรจาที่ตัวเล็กกว่าอย่างประเทศไทยจะไม่ต้องสละสิ่งใดที่สำคัญๆ ที่มีผลร้ายแรงต่อประเทศไทยทั้งในระยะยาวและสั้น หรือที่จะทำให้ต้องเลือกข้างในภาวะที่โลกมีการแบ่งขั้วเช่นนี้ สินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีอยู่แล้วในอัตราที่แตกต่างกันไปใน แต่ละหมวด แต่ละประเภท อย่างสินค้าแฟชั่นคงไม่อาจเลี่ยงผลกระทบไม่มากก็น้อย
มุมมองเชิงบวกของสถานการณ์ขณะนี้ ก็น่าจะมีเพียงโอกาสที่สินค้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถแข่งขันกับบรรดาแหล่งผลิตคู่แข่งในนานาประเทศ จะมาเติมช่องว่างที่สินค้าจีนอาจจะค่อยๆ หายไปจากตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถเป็นแหล่งผลิตทดแทนจีนในส่วนที่หดหายไปได้เสียทั้งหมด ทั้งนี้ก็ด้วยระดับของศักยภาพในการผลิตของจีน ความยืดหยุ่นในเรื่องปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำ ฯลฯ แต่เฉพาะในส่วนแบ่งของตลาดที่แหล่งสินค้าอื่นๆ สามารถผลิตมาทดแทนจีนได้นั้น ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีแต่จะอีกยาวนานเท่าใด ไม่อาจคาดเดาได้ แต่จากองค์ประกอบและเงื่อนไขต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ เชื่อว่า การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯและจีน ไม่น่าจะจบลงได้ด้วยการกลับมามีสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเช่นที่เคยเป็นมาก่อนเกิดสงครามการค้าเป็นแน่ เหตุการณ์ในขณะนี้อาจเป็นสัญญาณแห่งการสิ้นสุดยุคการค้าไร้พรมแดนหรือโลกาภิวัตน์อย่างที่เราเคยรู้จักก็เป็นได้ สำหรับนักการตลาดระดับโลก อาจถึงเวลาที่ต้องสร้างสมดุลของตลาดตนเองและตลาดในต่างประเทศให้เหมาะสมขึ้น หรือหากโลกาภิวัตน์ยังเดินต่อไปได้ ก็อาจเป็นโลกาภิวัตน์ที่ถูกแบ่งขั้วแยกออกจากกัน อย่างน้อยก็จนกว่าองค์การการค้าโลกจะกลับมาทำงานทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิผลได้อีกครั้ง
อีกประเด็นที่สำคัญมาก นั่นคือ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ และจีน บรรดาผู้ผลิตสินค้าจีนอาจพยายามปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดต่างๆ โดยอาจมีการย้ายฐานการผลิต จัดตั้งบริษัทลูกนอกประเทศตน หรืออาจถึงขั้นสวมสิทธิ์แปลงสัญชาติเพื่อระบายสินค้าของตน ผ่านประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจนำภัยร้ายแรงมาสู่ประเทศที่เป็นแหล่งระบายสินค้าให้นั้นได้ ดังนั้น เพื่อปกป้องสถานะของประเทศไทย เราคนไทยพึงจะต้องระมัดระวังอย่าให้ตนและองค์กรของตนต้องตกเป็นเครื่องมือแลกกับผลประโยชน์อันไม่ยั่งยืนในกรณีเช่นนี้ อีกทั้งควรจะต้องคอยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ ช่วยกันป้องกัน เพื่อปกป้องและรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือของประเทศไทยให้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป
*********************************************************
ที่มา: BoF เรื่อง: “Explainer: What the US-China Trade War Means for Fashion” โดย: Marc Bain, Malique Morris สคต. ไมอามี /วันที่ 17 เมษายน 2568