เมื่อวันอังคารที่ 22 เมษายน 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จีน และอีกหลายประเทศ โดยสาเหตุของการปรับลดมาจากผลกระทบทางภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อัตราภาษีอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 100 ปี พร้อมเตือนว่าความตึงเครียดทางการค้าที่ยกระดับขึ้นนี้จะยิ่งฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอีก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานการปรับปรุงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ซึ่งจัดทำขึ้นภายในเวลาเพียง 10 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าเกือบทั้งหมด และกำหนดอัตราภาษีที่สูงขึ้นกับหลายประเทศ (ซึ่งขณะนี้ถูกชะลอการดำเนินการอยู่)
IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 ลง 0.5 จุด มาอยู่ที่ 2.8% และในปี 2026 ลดลง 0.3 จุด เหลือ 3% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคม 2025 ว่าจะเติบโตที่ 3.3% ในทั้งสองปี โดย IMF ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกน่าจะลดลงช้ากว่าที่เคยคาดไว้ในเดือนมกราคม 2025 เนื่องจากผลกระทบของภาษี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกจะอยู่ที่ 4.3% ในปี 2025 และ 3.6% ในปี 2026 พร้อมทั้ง มีการปรับเพิ่มตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
IMF เรียกรายงานฉบับนี้ว่าเป็น “การคาดการณ์อ้างอิง” ซึ่งอ้างอิงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2568 โดยเน้นย้ำถึงความซับซ้อนและความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่งของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน นาย Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ระบบเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินมา 80 ปี กำลังถูกรีเซตใหม่”
IMF กล่าวว่าความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายในอนาคตที่อยู่ในระดับสูงมากจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก นาย Gourinchas ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “มันรุนแรงมาก และส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก เราเห็นการเติบโตที่ลดลงในสหรัฐฯ ยุโรป จีน และในอีกหลายประเทศทั่วโลก หากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ทวีความรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้เงื่อนไขทางการเงินตึงตัวมากขึ้น ผลกระทบทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้โอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้ลดลง แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์ลดลง อย่างไรก็ดี ขณะนี้การปรับตัวของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราและการปรับพอร์ตการลงทุนในที่เกิดขึ้นในตลาดแลกเปลี่ยนยังอยู่ในลักษณะปกติและยังไม่เห็นการตื่นตระหนกในตลาด จึงยังไม่กังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศในขณะนี้ คาดว่าจะต้องมีปัจจัยมากกว่านี้จึงจะส่งผลรุนแรงต่อระบบการเงินระหว่างประเทศ”
อย่างไรก็ดี IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีจะอยู่ที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตช่วงปี 2000–2019 ที่อยู่ที่ 3.7% และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญ นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการค้าโลกลง 1.5 จุด เหลือเพียง 1.7% ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตในปี 2024 สะท้อนให้เห็นถึงการแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น
นาย Gourinchas กล่าวว่าการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างรุนแรงส่งผลให้การค้าทวิภาคีระหว่างสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกลดลงอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของการค้าโลก การค้าระหว่างประเทศจะยังดำเนินต่อไป แต่จะมีต้นทุนสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพลดลง พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสับสนและความไม่แน่นอนว่าควรลงทุนหรือจัดหาสินค้าและชิ้นส่วนจากที่ใด ดังนั้น การคืนความชัดเจนและความคาดการณ์ได้ให้กับระบบการค้าไม่ว่าจะในรูปแบบใดถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง
IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2025 ลง 0.9 จุด เหลือ 1.8% ซึ่งลดลง 1% จากการเติบโต 2.8% ในปี 2024 และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปี 2026 ลดลง 0.4 จุด เหลือ 1.7% โดยให้เหตุผลของการปรับลดว่ามาจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายและความตึงเครียดทางการค้า IMF ยังไม่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 25% เป็น 37% IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ จะสูงถึง 3% ในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ในเดือนมกราคม 2025 1 จุด สาเหตุหลักมาจากภาษีศุลกากรและความแข็งแกร่งของภาคบริการ นั่นหมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องระมัดระวังอย่างมากในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงได้รับผลกระทบทางจิตใจจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดโควิด-19
ประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ อย่างแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรหลายรายการของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ถูกปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเศรษฐกิจแคนาดาคาดว่าจะเติบโตเพียง 1.4% ในปี 2025 และ 1.6% ในปี 2026 จากเดิมที่ IMF เคยคาดไว้ที่ 2% ทั้งสองปี
ส่วนเม็กซิโกคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากภาษี โดยเศรษฐกิจจะหดตัว 0.3% ในปี 2025 ลดลงถึง 1.7 จุดจากการคาดการณ์ในเดือนมกราคม ก่อนจะกลับมาเติบโตที่ 1.4% ในปี 2026
ยุโรปและเอเชีย
IMF คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะเติบโตเพียง 0.8% ในปี 2025 และ 1.2% ในปี 2026 โดยทั้งสองตัวเลขต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ในเดือนมกราคม 2025 ที่ 0.2 จุด โดยสเปนเป็นข้อยกเว้นที่ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเป็น 2.5% ในปี 2025 เนื่องมาจากตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและการปรับขึ้นค่าแรง
สำหรับเยอรมนี IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตลง 0.3 จุด เหลือ 0% ในปี 2025 และลดลง 0.2 จุด เหลือ 0.9% ในปี 2026 ในส่วนของสหราชอาณาจักร IMF คาดว่าจะเติบโต 1.1% ในปี 2025 ลดลง 0.5 จุดจากที่คาดไว้ก่อนหน้า และจะสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.4% ในปี 2026 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่ประกาศล่าสุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอลง
IMF คาดว่าผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าและภาษีจะฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโตลดลง 0.5 จุดในปี 2025 เหลือเพียง 0.6% ส่วนจีน IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเหลือ 4% ทั้งในปี 2025 และ 2026 โดยปรับลดลง 0.6 และ 0.5 จุด ตามลำดับ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคม
นาย Gourinchas กล่าวว่าผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่มีต่อจีน ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมากนั้นจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงไปประมาณ 1.3 จุด ในปี 2025 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากเนื่องจากได้รับการชดเชยบางส่วนจากมาตรการทางการคลังที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก