ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 24-28 เมษายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่เลขหลักเดียวภายในสิ้นปีนี้ คณะรัฐมนตรีฮังการีจึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายมาตรการตรึงราคาสินค้าอาหารพื้นฐานในระดับราคาค้าปลีก ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ได้แก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำตาลทรายนม UHT ไขมันต่ำ 2.8% เนื้อหมูส่วนสะโพก และเนื้อไก่ส่วนอก ปีก และหลัง รวมถึงไข่ไก่ขนาดกลางและมันฝรั่ง ในระดับราคาค้าปลีกประจำวันที่ 30 กันยายน 2565 ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม รัฐบาลฮังการีจะขอความร่วมมือให้ร้านค้าปลีกที่มีสาขาและซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในประเทศ ยกเว้นร้านขายของชำอิสระขนาดเล็กในชุมชน จัดแคมเปญลดราคาสินค้าอาหารพื้นฐาน 20 ประเภท เช่น เนื้อสัตว์ปีก ชีส ขนมปัง ขนมอบ ผัก ผลไม้ เป็นต้น โดยรัฐบาลจะประกาศรายละเอียดประเภทสินค้าอีกครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยกำหนดให้ในแต่ละสัปดาห์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต้องลดราคาขายของสินค้าอย่างน้อย 1 รายการ จากประเภทสินค้าทั้งหมด 20 ประเภทสินค้า โดยการดำเนินการทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ
อัปเดต: เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์รัฐกิจจานุเบกษาฮังการีได้เผยแพร่รัฐกฤษฎีกาฉบับที่ 162/2023 ว่าด้วยการบังคับจัดทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอันสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน จนถึง 30 กันยายน 2566 ดังต่อไปนี้
- เนื้อสัตว์ปีก
- เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อสัตว์บกประเภทอื่นๆ
- เนื้อปลาและปลากระป๋อง
- ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
- นม ครีม และสารทดแทนนม
- โยเกิร์ตและของหมักดองอื่นๆ
- ผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ
- ชีส
- เนยและมาการีน
- ไขมันประเภทอื่นๆ (ทั้งจากพืชและสัตว์)
- ขนมปัง
- ขนมอบ เบเกอรี่
- พาสต้าชนิดแห้ง ข้าว และธัญพืชอื่นๆ
- แป้ง น้ำตาล และผลิตภัณฑ์แป้งแปรรูป
- ผักสด
- ผลไม้สด
- น้ำผักผลไม้
- อาหารสำเร็จรูป เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส
- กาแฟและชา
- น้ำแร่และน้ำอัดลม
ในประเด็นการปกป้องภาคการเกษตรในท้องถิ่นในประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะโรคระบาดและภัยแล้งมาหลายปี รัฐบาลฮังการีเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานช่วงเกษตรกร และสั่งระงับการนำเข้าสินค้าอาหารจากยูเครนที่มีราคาถูกกว่าผลิตผลทางการเกษตรของฮังการี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปกลาง เช่น โปแลนด์ และสโลวาเกีย โดยขยายขอบเขตสินค้าการเกษตรของยูเครนที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศเพื่อการจำหน่ายในตลาดชั่วคราว จนกว่าสหภาพยุโรปจะแก้ปัญหาสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำได้ ได้แก่ ธัญพืช เมล็ดพืชน้ำมัน น้ำผึ้ง ไวน์ ขนมปัง น้ำตาล เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการนำเข้าเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางประเทศอื่น ฮังการียังคงอนุญาตให้ขนส่งสินค้าผ่านแดนได้
อนึ่ง นับตั้งแต่มีการบรรลุข้อตกลงระเบียงทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำกับตุรกีและสหประชาชาติ ที่เปิดโอกาสให้ยูเครนกลับมาส่งออกธัญพืชของตนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 หลังการขนส่งสินค้าหยุดชะงักลงจากภาวะสงคราม สินค้าการเกษตรของยูเครนที่มีราคาถูกกว่าของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็ไปตกค้างอยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง เนื่องจากปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ สินค้าระบายออกไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อระดับราคาของสินค้าอาหารในตลาดภูมิภาคยุโรป
ด้านนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งชาติฮังการี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืน (Overnight Rate) ระหว่างธนาคารพาณิชย์ลง 450 bps จาก 25% มาสู่ระดับ 20.5% โดยก่อนหน้านี้ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติฮังการี นาย Barnabas Virág แถลงว่า ธนาคารแห่งชาติฮังการีกำลังพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืมเงินและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ยังมองว่า ยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 13% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง และเงินสกุลโฟรินท์ที่กำลังแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนเมษายน
ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
การขยายเวลาตรึงราคาสินค้าอาหารต่อครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นปัจจัยบวกในการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านราคาสินค้า แต่ในแง่หนึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจฮังการีในเชิงมหภาค กล่าวคือ แม้รัฐบาลฮังการีจะตั้งเป้าหมายเพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในตัวเลขหลักเดียวภายในสิ้นปีนี้ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ ที่ต้นทุนสินค้าที่แท้จริงสูงกว่าราคาที่ตรึงไว้มาก นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าในท้องตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท รวมทั้ง เป็นโอกาสในการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อชดเชยกำไรที่หายไปจากสินค้าอาหารพื้นฐาน ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขายสินค้าในหมวดสินค้าอาหาร 20 ประเภทนี้ (ประเภทสินค้าทั้ง 20 ประเภทนี้ รัฐบาลจะประกาศเป็นทางการอีกครั้ง) ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากราคาสินค้าสูงกว่าราคาที่รัฐบาลตรึงราคาไว้
การระงับนำเข้าสินค้าเกษตรของยูเครน และแนวโน้มเงินสกุลโฟรินท์ที่เริ่มแข็งค่าขึ้น ทำให้สินค้านำเข้าราคาถูกลง อาจเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารและธัญพืชมายังฮังการี ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสินค้าของตนได้มาตรฐานสหภาพยุโรป ก่อนจะติดต่อหาคู่ค้าในประเทศ และต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดภูมิภาคยุโรปกลาง เพื่อปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ที่มาของข้อมูล: Magyarország Kormány, Mandiner, Pénzcentrum