ตัวเลขเงินเฟ้อของอินเดียสะท้อนการปรับตัวลงของค่าครองชีพ โดยเฉพาะราคาผักซึ่งเป็นสินค้าที่คนอินเดียจำนวนมากบริโภคเป็นอาหารมังสวิรัติ อย่างไรก็ดี นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นสินค้าที่กำลังมีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มสินค้าที่มีส่วนกำหนดระดับเงินเฟ้อในอินเดีย ด้วยสัดส่วนประมาณ 4.4% ของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของคนอินเดีย
อินเดียเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยสามารถผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผลผลิตทั่วโลก คนอินเดียจึงมีนมสดไว้สำหรับบริโภคถึงประมาณ 394 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียบริโภคนมวันละประมาณ 240 มิลลิลิตรเท่านั้น นมที่เหลือจึงนำไปผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศและการส่งออก ในช่วงหลังภาวะโควิด-19 อินเดียส่งออกนมไปยังต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกัน รำข้าวและธัญพืชที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ก็มีราคาเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศร้อนผิดปกติที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก ในขณะที่ โคและกระบือในอินเดียให้ปริมาณนมลดลงจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วง COVID-19 ประกอบกับการระบาดของโรคลัมปีสกินด้วย ทำให้การรวบรวมนมจากเกษตรกรรายย่อยทำได้ยากขึ้นและส่งผลให้ราคาขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน นมสดในอินเดียมีราคาลิตรละประมาณ 0.7 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว สมาคม Indian Dairy Association คาดว่าราคานมจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากในช่วงฤดูร้อน คนอินเดียมักจะบริโภคโยเกิร์ตและไอศกรีมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้นมในอุตสาหกรรม ในขณะที่ ในเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ จะมีเทศกาลต่างๆ ของชาวฮินดูซึ่งต้องการนมไปใช้เพื่อการบูชาและทำขนมหวาน ทำให้เกิดความต้องการใช้เนย และ เนยใส (Ghee) ในการประกอบอาหารเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงนี้จะมีปริมาณนมออกมาในตลาดมากก็ตาม
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
แม้ว่านมในอินเดียจะประสบกับภาวะราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในทางตอนใต้ของอินเดีย อาทิ รัฐเกรละ กรณาฏกะ และ ทมิฬนาฑู ซึ่งสามารถผลิตนมได้น้อยกว่ารัฐทางตอนเหนือ อย่างไรก็ตาม การนำเข้านมจากต่างประเทศยังทำได้เฉพาะในไอยามจำเป็นและต้องมีการขออนุญาตก่อนเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในอินเดีย สำหรับโอกาสของผู้ส่งออกไทยยังคงมีในส่วนของผลิตภัณฑ์จากนมที่ไทยมีการส่งออกไปอินเดียอยู่แล้ว ได้แก่ เวย์โปรตีน และ ไอศกรีม โดยเฉพาะไอศกรีมที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งมาตลอดหลายปี และยังสามารถเติมเต็มความหลากหลายในตลาด ได้อีก โดยอาจนำผลไม้ มะพร้าว และถั่วต่างๆ รวมทั้งเครื่องเทศและขนมไทย อาทิ ลอดช่อง ซาหริ่ม และถั่วดำ เข้าไปผสมผสาน ตลอดจนร้านไอศกรีมแฟรนไชส์ ทั้งนี้ ผู้นำเข้าอินเดียสามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-อินเดียได้ด้วย