สำนักงานสถิติแห่งสาธารณรัฐเช็ก ได้รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสาธารณรัฐเช็กในไตรมาสแรก ขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 ซึ่งต่างกับตัวเลขคาดการณ์ของ Reuters ที่ระบุว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 0.1 โดยเมื่อเทียบตัวเลข GDP กับช่วงเดียวกันของปี 2565 พบว่า GDP ปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.2 แต่หดตัวลงน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลข GDP ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดต่างประเทศ แต่ทว่าปัจจัยลบยังคงมีอยู่ จากการจับจ่ายลดลงของครัวเรือน
สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศแรกในยุโรปกลาง ที่รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก ซึ่งแต่ละประเทศในแถบนี้ต่างก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ที่มาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ในปลายปี 2565 ภาวะเศรษฐกิจของเช็กและฮังการี ต่างก็เผชิญกับเศรษฐกิจถดถอย ด้วยตัวเลข GDP หดตัวลงสองไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Komerci ระบุว่า ตัวเลข GDP ที่ขยายตัวขึ้นได้ร้อยละ 0.1 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้สิ้นสุดลงแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติเช็ก ไม่ได้ให้รายละเอียดของข้อมูลรายงานตัวเลขดังกล่าว แต่ระบุว่าความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ภาคครัวเรือนยังคงมีการบริโภคลดลง
สำหรับเงินเฟ้อที่ได้พุ่งสูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก ขณะนี้ดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านช่วงที่พุ่งขึ้นสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังคงสูงและธนาคารกลางยังไม่เร่งที่จะปรับลดดอกเบี้ยจนกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
สำหรับตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยังคงปรับลดลงในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยปรับลดลงจาก 48.3 มาอยู่ที่ 46.6 ในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน การลงทุนทางการเงินลดลงจากที่เคยเติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมามีการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการค้า การขนส่ง ที่พักอาศัย และธุรกิจบริการอาหาร การก่อสร้าง ข้อมูลและการสื่อสารที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จและเป็นสาขาเศรษฐกิจหลัก ของประเทศ
นักวิเคราะห์มีการคาดคะเนภาวะเศรษฐกิจจากรายงานตัวเลข GDP โดยคาดหวังว่า ตัวเลขจากรายงานดังกล่าว เป็นสัญญาณบ่งขี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจหดตัวได้สิ้นสุดลงแล้ว และนักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดว่าจะมีการบริโภคของครัวเรือนมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดจากยอดขายของธุรกิจค้าปลีกและภาคบริการ สำหรับปัจจัยลบที่มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่ได้มีผลอะไร และความรู้สึกของผู้บริโภคนั้นเริ่มปรับมาสู่ทิศทางบวกในช่วงต้นปีนี้แล้ว โดยนักวิเคราะห์จากธนาคาร Česká spořitelna ระบุว่า GDP จะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2 ขณะที่ Komerční banka’s Gürtler คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.6
ข้อเสนอแนะ/โอกาส/แนวทาง
นักวิเคราะห์ในสาธารณรัฐเช็กหลายรายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็กที่หดตัวลงในปีที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้ว จากรายงานตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ที่หดตัวลงน้อยกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ แม้ว่าในส่วนของภาคครัวเรือนจะยังคงลดการจับจ่ายใช้สอย แต่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป คาดว่าการจับจ่ายของครัวเรือนน่าจะมีมากขึ้น รวมไปถึงมาตรการของรัฐบาลในเรื่องราคาพลังงานที่ออกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกผ่อนคลายและน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับปัจจัยหลักที่หนุนให้เศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็กเริ่มเป็นไปในทิศทางบวก ที่มาจากความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศนั้น จะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ใช้ในการผลิต อาทิ กลุ่ม semi conduct ชิ้นส่วน ส่วนประกอบ ทั้งนี้ การผลิตสินค้าที่สามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้ในเรื่องราคา ยังคงมีความสำคัญในช่วงเวลานี้ ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ในตลาดเป้าหมายอย่างใกล้ชิดต่อไป และควรเตรียมแผนบริหารจัดการการส่งมอบสินค้า เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
*********************************
ที่มา : Prague Morning และ Expat.cz
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก