การใช้ความคิดสร้างสรรค์จาก AI (ChatGPT) และ Sci-Fi (science fiction) ในการผลิตสินค้าไอศกรีมกำลังเป็นความฮ็อตฮิตในตลาดจีนช่วงฤดูร้อนของปีนี้ เพื่อดึงดูดความอยากรับประทานของผู้บริโภควัยหนุ่มสาวชาวจีน  อย่างเช่น แบรนด์ Chicecream หรือ Zhongxuegao ของจีนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ซีรี่ส์ใหม่ เรียกว่า “Sa’Saa” ซึ่งเป็นชุดผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่เกี่ยวกับ AI โดยมีราคาค้าปลีกอยู่ที่ 3.5 หยวน และมีรสชาติให้เลือก 4 อย่าง ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วเขียว นม และโกโก้  ทั้งนี้ บริษัท Chicecream ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ได้ใช้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยี AI ในกระบวนการการผลิตไอศกรีม โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อ เลือกรสชาติ จนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบไอศกรีม Sa’Saa กับไอศกรีมแบบดั้งเดิม ปรากฏว่าไอศกรีม Sa’Saa ไม่มีรสของนมและสัมผัสในช่องปากเท่ากับ/เหมือนกับไอศกรีมดั้งเดิม โดยไอศกรีม Sa’Saa จะเป็นรสแบบน้ำแข็งที่ปรุงรสมากกว่า ซึ่งสามารถส่งต่อประสบการณ์ที่เย็นสบายและสนุกสนานในช่วง   ฤดูร้อนให้แก่ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวชาวจีนได้

จับตามองแทรนด์ไอศกรีมในตลาดจีนช่วงฤดูร้อนปีนี้
Chicecream ไอศกรีมรูปไข่

นอกจากนี้ Chicecream ได้เปิดตัวไอศกรีมไฮเอนด์ที่เป็นรูปไข่ โดยใช้วัตถุดิบนมและไข่มากขึ้นในการผลิตเพื่อเพิ่มรสชาตินมๆครีมๆมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้มีราคาประมาณ 15-20 หยวน ทั้งนี้ Lin Sheng ผู้ก่อตั้งบริษัท Chicecream กล่าวว่า ไอศกรีมกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในร้านอาหารไฮเอนด์ ร้านคาเฟ่ และบาร์ในจีน และปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นที่เลือกซื้อไอศกรีมกลับบ้านไปเป็นของว่าง

นอกจากการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว  บริษัท Chicecream กำลังขยายช่องทางการจำหน่ายแบบออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกขนาดเล็ก  ซึ่ง Lin Sheng ให้ข้อมูลว่า รายได้จากการค้าปลีกออฟไลน์ของบริษัทฯ แซงหน้ารายได้ทางออนไลน์ภายในปี 2565  ปัจจุบัน Chicecream มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่อำเภอซู่เฉิง มณฑลอานฮุย และมีกำลังการผลิตไอศกรีมมากกว่า 200 ล้านชิ้นต่อปี

นอกจากบริษัท Chicecream แล้ว ไอศกรีมแบรนด์ “Qixuan” ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ภายใต้ Yili Group ได้สร้างความร่วมมือกับนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ยอดนิยมเรื่อง The Three-Body Problem โดยมีเป้าหมายกลุ่มลูกค้า คือ บรรดาแฟนๆของหนังสือนวนิยายดังกล่าว

Zhu Danpeng ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์อาหารและเครื่องดื่มในมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า อุตสาหกรรมไอศกรีมของจีนกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นในท้องตลาด ทั้งนี้ ไอศกรีมได้กลายมาเป็น snack หรืออาหารว่างที่สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี  ไม่ใช่เป็นเพียงของกินเล่นเฉพาะในช่วงฤดูร้อนสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความคิดเห็นของ สคต.

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกไอศกรีมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของ Mintel Group ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2564 ขนาด/มูลค่าตลาดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมชนิดบรรจุซองของจีนสูงถึง 46,100 ล้านหยวน (ประมาณ 230,500 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในช่วงปี 2562-2564 ราคาเฉลี่ยของไอศกรีม (แต่ละ 100 กรัม) ที่เปิดตัวใหม่ในตลาดจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มูลค่าค้าปลีกของสินค้าดังกล่าวมีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Mintel Group ยังให้ข้อมูลเสริมว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไอศกรีมใหม่ในตลาดจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความนิยมบริโภคไอศกรีมที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน ทั้งนี้ ไอศกรีมที่ทำจากนมเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยคิดเป็นร้อยละ 95 ของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดของจีนในปี 2564  ส่วนไอศกรีมรสผลไม้และรสหวานแบบดั้งเดิมยังคงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการเปิดตัวไอศกรีมใหม่ของจีนในช่วงระหว่างปี 2560-2564 นอกจากนี้ ตามข้อมูลวิจัยของ Mintel Group ยังพบว่า ส่วนประกอบและสารสกัดรสชาติต่างๆ อย่างเช่น ดอกไม้ กาแฟ ชา และส้ม มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในบรรดาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Roolee Lu นักวิเคราะห์/วิจัยของ Mintel Group กล่าวว่า แบรนด์ต่างๆ ควรพัฒนาไอศกรีมที่มีรสชาติที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการแสวงหารสชาติแปลกใหม่ นอกจากนี้ แบรนด์ยังควรให้ความสำคัญกับเทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีนด้วย โดยผลิตภัณฑ์ควรพิจารณาที่ใช้ส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพและเป็นธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไอศกรีมและกระตุ้นการบริโภคต่อไป

————————————————–

แหล่งข้อมูล : https://global.chinadaily.com.cn/a/202304/29/WS644c90a4a310b6054fad07c7.html

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

thThai