ชาวแอฟริกาตะวันออกต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียนในขณะที่รัฐบาลลดการใช้จ่าย และเพิ่มอัตราภาษี

ประชากรในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกกำลังเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการรัดเข็มขัดประหยัดเงินในการดำรงชีวิตในขณะที่รัฐบาลพยายามลดค่าใช้จ่ายและหารายได้จากการปรับขึ้นอัตราภาษีท่ามกลางการใช้เงินทุนในประเทศอย่างจำกัดเชื่อมโยงกับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้จากการจัดเก็บภาษีในประเทศที่ลดลง คาดว่าการลดค่าใช้จ่ายและมาตรการภาษีใหม่จะประกาศใช้ในปีงบประมาณ ๒๐๒๓/๒๔ ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ รัฐบาลมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับนโยบายการคลังให้เป็นปกติ หลังจากเศรษฐกิจขาลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมถึงการลดหย่อนภาษี และความเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เรียกได้ว่ารัฐบาลกำลังมีหนี้สินมากมายแต่ต้องกำหนดมาตรการใหม่เพื่อลดหนี้สินหรือการรวมบัฐชีเพื่อลดการขาดดุล โดยมีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจว่า สิ่งเหล่านี้จะยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทางด้านผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคนี้คือ การจำกัดด้านเงินทุนเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมถึงการสูญเสียการเข้าถึงตลาดภายนอก และผลเสียจากความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องอาหารและราคาเชื้อเพลิงได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในการระดมทุนเข้ามาในประเทศ เนื่องจากความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและเงินกู้จากต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการช่วยเหลือจากจีนรวมทั้งแหล่งทุนแหล่งใหม่ๆ ที่ชะลอตัวลงมาก ในขณะที่ต้นทุนการจัดหาเงินภายในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ด้วยสภาวะขาดแคลนเงินทุนในประเทศเช่นนี้ ทำให้หลายคนมีความกังวลว่ารัฐบาลจะไม่สามารถปกป้องประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุดได้ ทั้งยังต้องแบ่งเงินทุนในประเทศที่มีไว้เพื่อพัฒนาสิ่งสำคัญ อย่างเช่น การพัฒนาสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ไปใช้ในการอื่นด้วย ซึ่งล้วนเป็นการจำกัดการเติบโตของประเทศในภูมิภาคนี้

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว การจัดการหนี้สาธารณะ หรือการลดค่าใช้จ่ายสาธารณะ ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทั้ง ๙ ประเทศ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกได้วางแผนที่จะจัดการเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ข้อมูลอ้างอิงจาก OXFAM – Oxford Committee for Famine Relief (เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานแบบไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์หลักในการต่อสู้เพื่อความยากจนและความไม่เป็นธรรม มีเครือข่ายทำงานกว่า ๙๐ ประเทศ ทั่วโลก) แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๙ ทั้ง ๙ ประเทศ ได้วางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายสาธารณะต่อปีลง ๔.๗ พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ประชากรในภูมิภาคไม่ต้องต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มให้มีเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายด้านสุขภาพ สาธารณสุขขึ้นอีกด้วย

ทีนี้ลองมาดูการจัดการอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP กันบ้าง ความท้าทายที่รัฐบาลต้องเจอกับการจัดการด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคคือ จะทำอย่างไรให้มาตรการรัดเข็มขัดไม่เผชิญกับแรงกดดันและการต่อต้านจากสาธารณชนในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงยังคงเป็นเงาตามตัวอยู่เช่นนี้ โดยนักการเมืองอาจลังเลที่จะสนับสนุนการขึ้นภาษีด้วยกลัวว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนถึงแม้ว่าการปรับขึ้นภาษีจะมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและความมั่นคงยังยืนทางการเงินของรัฐบาล นอกจากกลัวขาดเสียงสนับสนุนแล้วยังมีความกังวลว่า การขึ้นภาษีอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการลงทุนที่น้อยลง ลดการสร้างงาน และนำไปสู่การชะลอตัวของการเติบโต อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ที่สูงของภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่สูงกว่าอัตราหนี้สินต่อรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะอยู่ที่ร้อยละ ๕๐ ตามคำแนะนำของ IMF สำหรับประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศในกลุ่มสมาชิก EAC

การบรรเทาหนี้สินและการจัดการทรัพยากรในประเทศมีความสำคัญทั้งต่อปัจจุบันและส่งผลทีดีในอนาคต หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องเพิ่มรายได้โดยการควบคุมการทุจริตและหลีกเลี่ยงภาษี มีมาตรฐานที่สูงในเรื่องความโปร่งใสของงบประมาณประเทศ เปิดเผยข้อตกลงการให้กู้ยืม และการยืมต่อสาธารณะ อีกทั้ง IMF ยังจำเป็นต้องขยายกระบวนการบรรเทาหนี้ทั้งปัจจุบันและหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง ตัวอย่าง เช่น กรอบการทำงานของกลุ่ม G-๒๐ เป็นตัวอย่างของกระบวนการที่สามารถขยายให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่ง IMF ควรปรับปรุงขอบข่ายการทำงานด้านหนี้สินเพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถเตรียมพร้อมได้ดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่วิกฤตหนี้สิน

ประเทศเคนยา และบุรุนดี มีสถานะเงินกู้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม EAC โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ ๖๒.๓ และ ๖๖.๕ ตามลำดับ ส่วนรวันดานั้นสูงกว่าประมาณร้อยละ ๖๘ ของ GDP แต่ทาง IMF มีความเห็นว่า เป็นความเสี่ยงปานกลางเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่าหนี้สินในปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากผล กระทบที่ยืดเยื้อของการระบาดใหญ่จากโควิด-๑๙ ซึ่งบีบให้รัฐบาลต้องเพิ่มความกังวลเรื่องวิกฤตการใช้จ่ายเพื่อควบคุมวิกฤตด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และยิ่งไปกว่าโรคระบาดคือการคอรัปชั่นและการวางแผนโครงสร้างสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรซึ่งเชื่อมโยงกับความล้มเหลวในการติดตามผลตอบแทนจากกลุ่มผู้ลงทุน ทำให้ประเทศต่างๆ ยากที่จะจ่ายเงินคืนได้ เนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐส่วนมากแล้วสร้างความขาดทุนมากกว่ากำไร ทำให้ยากต่อการชำระหนี้ รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคต้องใช้งบประมาณที่มีเพิ่มขึ้นไปกับการชำระหนี้แทนการนำมาพัฒนาประชากรในประเทศ กว่าร้อยละ ๑๐ ของรายได้จากการส่งออกและรายได้หลักในภูมิภาคถูกใช้ไปกับการชำระหนี้ ตัวอย่างเช่น เคนยาใช้จ่ายร้อยละ ๒๒.๖ ของรายได้จากการส่งออกไปกับภาระหนี้สิน ตามมาด้วยบุรุนดี (ร้อยละ ๑๔) รวันดา (ร้อยละ ๑๒.๖) ยูกันดา (ร้อยละ ๑๒.๒) และแทนซาเนีย (ร้อยละ ๘.๔)

ความเห็นสคต.

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศต่างๆในแอฟริกาตะวันออก สะท้อนให้เห็นว่า ทุกประเทศต่างมีความยากลำบาก ทั้งในเรื่องงบประมาณ การเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน การหารายได้จากการท่องเที่ยว ปัญหาโรค covid ปัญหาหนี้สาธารณะ เป็นต้น

ทำให้ประเทศเหล่านี้ ล้วนมีปัญหาการอ่อนเงินของค่าเงินท้องถิ่น เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง หรือ เข้าง่ายๆคือหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ดี แอฟริกาตะวันออกยังเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสและมีความมั่นคงทางการเมืองดีกว่าแอฟริกาตะวันตก ดังนั้น แม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง ก็ยังเชื่อว่า ประเทศเหล่านี้จะคงมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจต่อไปในปี 2023

ในส่วนของไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงในหลายด้าน ผู้ส่งออกที่มีการทำธุรกิจในแอฟริกาควรติดตามสถานการณ์ด้านการค้าและการลงทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : The EastAfrican

thThai