ยอดหนี้ต่างประเทศของเคนยาพุ่งสูงขึ้นถึง ๓๔๔.๔ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (๒.๕๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ ๑๓๓.๕๕ เคนยาชิลลิ่งต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ
อ้างถึงข้อมูลจากธนาคารกลางเคนยา (CBK) แสดงให้เห็นว่ายอดหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๖ อยู่ที่ ๓๗.๖๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ (๔.๗ ล้านล้านเคนยาชิลลิ่ง) โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนฉลี่ยอยูที่ ๑๒๔.๔ เคนยาชิลลิ่งต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่าตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันยอดหนี้ได้สูงเกินจากเดิมเป็น ๕.๐๓ ล้านล้าน เคนยาชิลลิ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมบางส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศสูงขึ้น เห็นได้จากการชำระหนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการคลังของเคนยาได้ชำระหนี้เป็นจำนวน ๖๙๔ ล้านล้านเคนยาชิลลิ่ง (๕.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง ๒๗ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (๒๐๑ ล้านเหรียญสหรัฐ) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นผลพวงมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเคนยาชิลลิ่งซึ่งทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนอกจากการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว การอ่อนค่าลงของสกุลเงินท้องถิ่นยังนำมาซึ่งต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอย่าง เชื้อเพลิง ปุ๋ย และเครื่องจักร ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นจนสร้างแรงกดดันให้กับประชาชนในรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเนื่องจากขาดสภาพคล่องในตลาดเงินในประเทศและต่างประเทศและต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการกู้ยืมและชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ทางธนาคารโลก (World Bank) เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับความสามารถของหลายประเทศรวมทั้งประเทศในแถบภูมิภาคที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาในการกู้เงินใหม่ผ่านหุ้นกู้ที่ออกขายในตลาดยูโร (Eurobond) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหลังจากต้องเผชิญกับความยากลำบากที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกก่อให้เกิดการกู้ยืมที่มียอดสูงระลอกใหม่ ประเทศเคนยาเองก็กำลังเตรียมถอน Eurobond ที่เปิดตัวไปด้วยมูลค่า ๒๖๔ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (๑.๙๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมิถุนายนปีหน้า
ภาระหนี้สินเงินกู้จากต่างประเทศนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยที่ประเทศนั้นๆ ต้องทำการปลดหนี้บางส่วนแม้ว่าจะทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ก็ตาม (Refinance – การก่อหนี้ใหม่เพื่อชดใช้หนี้เก่า) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเคนยาได้จ่ายเงินจำนวน ๓.๓ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (๒๔๗ ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับค่าการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐาน (SGR) การชำระหนี้เหล่านี้ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเคนยาลดลงเป็นประวัติการ เกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ จึงทำให้ประเทศเผชิญกับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน
การหันมาพึ่งพาเงินกู้ราคาถูกจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เงินกู้ต่างประเทศส่วนใหญ่ของเคนยาเป็นการกู้แบบพหุพาคีกับสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา โดยเงินกู้ก้อนใหญ่เป็นเงินกู้แบบมีเงื่อนไขพิเศษ ด้วยภาวะการตึงตัวของตลาดโลก ประเทศจึงถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาเงินกู้ราคาถูกโดยเฉพาะจากธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าธนาคารโลกจะให้เงินกู้กับเคนยาเพิ่มอีก ๑๓๒.๓ พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (๙๘๙ ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยผ่านการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนา (มีเงื่อนไขพิเศษ) ซึ่งเป็นการเพิ่มเงินทุนให้ประเทศ ทางกระทรวงการคลังเคนยากล่าวว่าอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเคนยาชิลลิ่งจะมีเสถียรภาพมากขึ้นเพราะการไหลเข้าของเงินโอน และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่คลายตัวลง
ความเห็นของ สคต.
สถานการณ์ดังกล่าวเรื่องหนี้สินของเคนยานั้น ดูจะเป็นปัจจัยลบที่มีต่อภาคการนำเข้าของเคนยา เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้น และการจะหาเงิน USD ในตลาดก็จะหาได้ยากขึ้น ทำให้อาจส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของเคนยาชะลอตัวลง ซึ่ง สคต.จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อกำลังชื้อของผู้นำเข้าที่อาจจะเป็นคู่ค้าของไทย
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : The EastAfrican