จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเปรู (Automotive Association of Peru: AAP) ยอดจำหน่ายยานพาหนะขนาดเล็กในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยานพาหนะ minor vehicles (มอร์เตอร์ไซด์ รถสามล้อ) มีแนวโน้มขยายตัวลดลง
• ยานพาหนะ minor vehicles มียอดจำหน่ายลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยแบรนด์ Honda เป็นแบรนด์หลักในตลาดยานพาหนะ minor vehicles มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 23.6 รองลงไปคือ Wanzin (ร้อยละ 13), Bajaj (ร้อยละ 9.4), Ronco (ร้อยละ 6.4), Zongshen (ร้อยละ 3) ตามลำดับ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการที่ลดลงของยานพาหนะ minor vehicles คือ ความต้องการบริการจัดส่งสินค้าและอาหารในเปรูมีปริมาณลดลง อย่างไรก็ดี ยอดการจำหน่ายยานพาหนะดังกล่าวในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สูงกว่ายอดการจำหน่ายฯ ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19)
• ยานพาหนะขนาดเล็ก (รถยนต์ รถยนต์เอนกประสงค์ ปิกอัพ station wagon ฯลฯ) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี AAP คาดการณ์ว่ายอดการจำหน่ายฯ จะเริ่มคงที่ในเดือนมิถุนายน 2566 แบรนด์ Toyota เป็นแบรนด์หลักในตลาดยานพาหนะขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 22.2 รองลงไปคือ Hyundai (ร้อยละ 9.3), Kia (ร้อยละ 9.1), Chevrolet (ร้อยละ 6.8), Changan (ร้อยละ 5.4), DFSK (ร้อยละ 4.7) ตามลำดับ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของยานพาหนะขนาดเล็ก ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปทานรถยนต์ทั่วโลก การส่งเสริมการขายของบริษัทรถยนต์ การอำนวยความสะดวกด้านแหล่งเงินทุนในการซื้อรถยนต์
• ยานพาหนะขนาดใหญ่ มียอดการจำหน่ายลดลงอย่างมาก โดยในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 ยอดการจำหน่ายหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้ ยอดการจำหน่ายรถโดยสารและรถแทรกเตอร์ลดลงร้อยละ 26.1 และ 17.6 ตามลำดับ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการที่ลดลงของยานพาหนะขนาดใหญ่ ได้แก่ สถานการณ์ความไม่สงบทางสังคมและการเมืองในประเทศ ซึ่งนำไปสู่ภาวะถดถอยทางทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในเปรูลดลงถึงร้อยละ 12 โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การเกษตรกรรม และบางส่วนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมยานยนต์ในเปรูมีทิศทางไปยังการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจและมีความต้องการเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles: PHEV) โดย AAP คาดการณ์ว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ในปี 2567 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูมีจำนวน 2,004 คัน มีปริมาณเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มียอดจำหน่ายจำนวน 1,798 คัน แบรนด์ที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายสูงที่สุด ได้แก่ Toyota- Corolla Cross/ Rav 4 มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 21.9 รองลงไป คือ Geely- Okavango/ Azkarra (ร้อยละ 20.3) Audi- A4/Q5 (ร้อยละ 10.6) Suzuki- Ertiga/Swift (ร้อยละ 9.8), Mercedes- GLC/GLE (ร้อยละ 9.7) ตามลำดับ
จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว AAP คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ จะขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดรุ่นต่าง ๆ ไปยังเปรูเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เปรูนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากกว่า 100 รุ่น จากแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 40 แบรนด์ และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เปรูจะนำเข้าฯ เพิ่มเติม ได้แก่ Nissan- E-power, Nissan Kick และ Chevrolet-Bolt อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โคลอมเบีย ที่มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าเปรูถึง 7 เท่า
รัฐบาลเปรูมีความพยายามในการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา สภาสูงของเปรูได้พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการนำเข้ายานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงชิ้นส่วน อะไหล่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนจะลดอัตราภาษีนำเข้าจากอัตราร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 13 เป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาลดภาษีจากการขายยานาพาหนะดังกล่าว อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีรายได้ และภาษียานพาหนะ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยกระทรวงเศรษฐกิจของเปรูไม่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการลดอัตราภาษีดังกล่าวมิได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีทิศทางบวก จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มสนใจการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเหมืองแร่ในเปรู เริ่มการปรับเปลี่ยนการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยบริษัท BYD ของจีน มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ในเปรู และในส่วนของการอำนวยความสะดวกด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนได้ดำเนินการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าภายในประเทศ รวมจำนวนกว่า 47 แห่ง ใน 23 จังหวัด
บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.
จากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศหันมาใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ มีความแตกต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ และปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า คือ นโยบายส่งเสริมของภาครัฐประเทศต่าง ๆ (การปรับลดภาษี การให้เงินอุดหนุน) การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนแบตเตอรี่และการผลิตส่วนอื่น ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าที่กระจายอย่างทั่วถึง ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยในส่วนของเปรู การเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ยังคงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเปรูเริ่มมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดในปี 2558 ซึ่งมีจำนวนรวม 74 คัน และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจนถึงปีนี้ มีจำนวนประมาณ 2,000 คัน
สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเปรู นอกจากนี้ AAP คาดการณ์ว่ายอดการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเปรูภายในสิ้นปี 2566 จะมีจำนวนรวม 6,000 คัน และภายในสิ้นปี 2574 จะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในเปรู จำนวนรวมกว่า 500,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนรถยนต์รวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี เปรูยังมีการใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) จำนวนมาก และจากยอดจำหน่ายยานพาหนะขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยยังคงมีโอกาสในการส่งออกสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ และอุปกรณ์ไปยังเปรู ในขณะที่ยานพาหนะขนาดใหญ่ แม้จะมีแนวโน้มของยอดจำหน่ายลดลง แต่ยานพาหนะดังกล่าวยังคงต้องการการบำรุงรักษา
ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสจากขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและความต้องการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเปลี่ยน/ต่อยอดจากฐานการผลิตที่มีอยู่เดิม จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่มีอยู่ได้ นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์ การพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ เป็นต้น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จไฟ อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบพกพา บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น
_________________________________
Internationales Handelsförderungsbüro in Santiago
กรกฎาคม 2566