ปัญหาการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานอาหารในช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 คือเงื่อนไขสำคัญที่เปิดโอกาสให้แก่ข้าวหอมมะลิสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจค้าข้าวและกระจายข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯหลายรายค้นพบเป็นครั้งแรกว่า สหรัฐฯผลิตข้าวหอมมะลิ (jasmine rice) ได้เอง และเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นกับข้าวหอมมะลิ (jasmine rice) ที่ผลิตได้ในสหรัฐฯในฐานะทางเลือกของข้าวหอมมะลินำเข้าจากประเทศไทย

 

สหรัฐฯเชื่อว่า ปัจจุบันตลาดข้าวหอมมะลิสหรัฐฯมีศักยภาพสูงมากสำหรับเกษตรกรข้าวสหรัฐฯ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่า การนำเข้าข้าวจากประเทศไทยในระหว่างปี 2018/2019 และ 2019/2020 เติบโตเกือบร้อยละ 29 และปี 2020 ร้อยละ 80-85 ของข้าวนำเข้าจากประเทศไทยเป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง

 

เกษตรกรข้าวหอมมะลิรายหนึ่งในรัฐหลุยเซียน่าที่เคยได้รับเลือกเป็น “2022 Rice Farmer of the Year” และปลูกข้าวหอมให้แก่แบรนด์ Jazzmen Rice สหรัฐฯกับความพยายามเข้าสู่ตลาดข้าวหอมมะลิมาตั้งแต่ปี 2011 ระบุว่า ในระยะแรกเขาแบ่งพื้นที่นาไม่กี่เอเคอร์สำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ละปีที่ผ่านไปจำนวนพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึง 1,100 เอเคอร์ (2,782 ไร่) ในปี 2022 ในปี 2023 เขาตัดสินใจเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็น 1,800 เอเคอร์ (4,553 ไร่) เพราะเขาเชื่อมั่นว่าจะให้ราคาสูงกว่าข้าวขาว เกษตรกรข้าวอีกรายหนึ่งระบุว่าในปีนี้เขาใช้พื้นที่ 20,000 เอเคอร์ (50,586 ไร่) ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าในปีก่อนหน้าถึงสิบเท่าตัว

 

แม้ว่าเกษตรกรข้าวสหรัฐฯที่หันมาปลูกข้าวหอมมะลิอย่างจริงจังแต่ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวหอมมะลิเป็นพืชหมุนเวียน แต่เกษตรกรข้าวสหรัฐฯจำนวนมากเริ่มเห็นโอกาสของการปลูกข้าวหอมมะลิป้อนตลาดสหรัฐฯ เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนเข้าสู่การปลูกข้าวหอมมะลิเป็นไปอย่างล่าช้าในสหรัฐฯ คือ โดยปกติแล้วเกษตรกรข้าวสหรัฐฯเน้นปริมาณผลผลิตที่มากและให้ราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตต่ำกว่าข้าวขาว เกษตรกรสหรัฐฯที่หันไปปลูกข้าวหอมมะลิเพิ่มมากขึ้นให้ความเห็นว่า โอกาสการเติบโตของการปลูกข้าวหอมมะลิสหรัฐฯจะเกิดขึ้นได้อย่างถาวรต่อเมื่อ เกษตรกรข้าวสหรัฐฯเปลี่ยนวิธีคิดเป็นการเน้นไปที่การบริหารจัดการกับความเสี่ยง หนึ่งในนั้นคือการล็อกราคาข้าวก่อนที่จะลงมือปลูกข้าว และมุ่งผลิตข้าวคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้าวพรีเมี่ยมของตลาดข้าวหอมมะลิสหรัฐฯ

เกษตรกรข้าวสหรัฐฯที่หันไปปลูกข้าวหอมมะลิให้ความเห็นว่า ปัญหาของข้าวสหรัฐฯปัจจุบันคือ คุณภาพข้าวที่ลดลงมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน และการเกษตรสหรัฐฯอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนแต่ในขณะเดียวกันก็กำหนดกฎระเบียบจำนวนมากและมีความเข้มงวดสูง เกษตรกรข้าวหอมมะลิสหรัฐฯเชื่อว่า การเข้าสู่ตลาดข้าวหอมมะลิหมายถึงการเริ่มต้นของโอกาสที่สหรัฐฯจะได้ชื่อเสียงกลับคืนมาในฐานะผู้ผลิตข้าวคุณภาพ นอกจากนี้ ข้อดีของข้าวหอมมะลิคือ เป็นข้าวที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ชัดเจน ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ข้าวแต่ละถุงที่ซื้อมาจะคุณลักษณะไปในทางเดียวกัน ข้าวที่หุงออกมาจะเหมือนกันทุกครั้ง และมีกลิ่นหอมที่ผู้บริโภคต้องการ

ที่มา: FarmProgress: “Aromatics have the sweet smell of quality rice”, by Pam Caraway, August 4, 2023

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น สคต ลอสแอนเจลิส

สหรัฐฯกับความพยายามเข้าสู่ตลาดข้าวหอมมะลิ

สหรัฐฯให้ความสำคัญสูงต่อการเกษตรข้าว มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวหลายแห่ง เพื่อพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาข้าวหอมมะลิที่ศูนย์พัฒนาข้าวในรัฐอาร์คันซอร์ แคลิฟอร์เนีย และหลุยเซียน่า และที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวที่แคลิฟอร์เนียที่สหรัฐฯค้นพบข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ Calaroma-201 หรือ Experimental 15Y84 ที่สหรัฐฯเชื่อว่าใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทยมากที่สุด และใช้เป็นต้นแบบผลิตข้าวเลียนแบบข้าวหอมมะลิไทย

 

สหรัฐฯเริ่มต้นแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ Calaroma-201 ให้เกษตรกรที่สนใจมาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อทดลองปลูกมานานกว่า 3 ปีแล้ว พบว่ามีศักยภาพสูงที่จะให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 9,450 ปอนด์ (5 ตัน) ต่อเอเคอร์ และเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการอากาศร้อนจึงกำหนดให้ปลูกเฉพาะในแคลิฟอร์เนียเท่านั้น

 

สหรัฐฯกับความพยายามเข้าสู่ตลาดข้าวหอมมะลิ

สหรัฐฯปลูกข้าวหอมในรัฐอาร์คันซอร์ แคลิฟอร์เนีย หลุยเซียน่า มิสซูรี่ และเท๊กซัส แต่ละมลรัฐผลิตข้าวหอมมะลิคนละสายพันธุ์แตกต่างกันออกไป แม้ว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำไม่สามารถเทียบได้กับข้าวหอมมะลินำเข้าจากไทย และไม่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคสหรัฐฯเชื้อสายเอเซียที่คุ้นเคยกับข้าวหอมมะลิไทย แต่สหรัฐฯยังคงตั้งเป้าที่จะผลิต ข้าว หอมมะลิอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยใช้กลยุทธเน้นผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เน้นเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคกลุ่ม mainstream สหรัฐฯโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในรัฐผลิตข้าว ด้วยการทำบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่เกิน 5 ปอนด์ และทำความพยายามเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมร้านอาหาร ซึ่งในปี 2019 USA Rice องค์กรส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการค้าข้าวสหรัฐฯได้จัดทำแคมเปญส่งเสริมการใช้ข้าวหอมสหรัฐฯในอุตสาหกรรมร้านอาหารด้วยการจัดส่งข้าวหอมมะลิสหรัฐฯในถุงขนาด 5 ปอนด์ให้แก่ร้านอาหารมากกว่า 100 แห่งทั่วสหรัฐฯฟรี เพื่อให้ใช้ทดลองนำไปปรุงอาหาร

 

ปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิสหรัฐฯวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกแต่ในจำนวนน้อยมีไม่กี่แบรนด์เมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯที่มีวางจำหน่ายหลายร้อยแบรนด์ และมีราคาค้าปลีกที่โดยเฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย แบรนด์ข้าวหอมมะลิ (ข้าวขาว) สหรัฐฯที่วางจำหน่ายในตลาดค้าปลีก คือ

สหรัฐฯกับความพยายามเข้าสู่ตลาดข้าวหอมมะลิ

สคต ลอสแอนเจลิสเชื่อว่า ข้าวหอมสหรัฐฯยังไม่มีศักยภาพสูงพอที่จะแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ แต่ข้าวหอมสหรัฐฯมีความเหนือกว่าในเรื่อง การสนับสนุนต่างๆที่เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ทั้งทางด้านวิชาการและด้านการเงินจากภาครัฐ มีการทำงานเพื่อส่งเสริมสินค้าในลักษณะทำงานต่อเนื่องร่วมกันเป็นทีมที่มีเป้าหมายเดียวกัน ตั้งแต่การพัฒนาหาสายพันธุ์ใหม่ๆที่ดีกว่าเก่าเพื่อนำไปผลิตตลอดไปจนถึงการค้า เกือบทั้งสิ้นของข้าวหอมสหรัฐฯเป็นการขายออกจากนาข้าว

Overseas Trade Promotion Office in Los Angeles

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

de_DEGerman