1. ความเป็นมาและศักยภาพของตลาดภาพยนตร์และละครในฟิลิปปินส์
ภาพยนตร์และละครถือกำเนิดขึ้นในฟิลิปปินส์สามารถย้อนกลับไปในยุคแรกๆของการสร้างภาพยนตร์ ในปี 1897 เมื่อเจ้าของโรงละครชาวสเปนได้นำภาพเคลื่อนไหวนำเข้า (Imported Moving Pictures) มาฉาย ต่อมาเริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 นับเป็นช่วงปีแห่งการค้นพบและก่อตั้งของภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ในฐานะสื่อใหม่ในการแสดงงานศิลปะ โดยบทและการแสดงตัวละครในภาพยนตร์มาจากการแสดงละครยอดนิยมและวรรณกรรมฟิลิปปินส์ และในช่วงทศวรรษที่ 1940 ภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ได้นำจิตสำนึกแห่งความเป็นจริง (Consciousness of reality) มาใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทำให้ภาพยนตร์ชาตินิยม (Nationalistic films) ได้รับความนิยม และแนวคิดของภาพยนตร์ในยุคดังกล่าวประกอบด้วยสงครามและความกล้าหาญเป็นหลักและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จกับผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 นับเป็นยุคทองยุคแรกของภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (The First Gloden Age of Philippine Cinema) โดยมีภาพยนตร์ที่มีความเป็นศิลปะและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมีการปรับปรุงเทคนิคด้านภาพยนตร์ อย่างมีนัยสำคัญในหมู่ผู้สร้างภาพยนตร์ และระบบสตูดิโอก่อให้เกิดกิจกรรมที่บ้าคลั่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีการสร้างภาพยนตร์จำนวนมากเป็นประจำทุกปี และผู้มีพรสวรรค์ในท้องถิ่นหลายรายเริ่มได้รับการยอมรับในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรที่ 1960 ศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นในปีก่อนๆ ได้เสื่อมถอยลง และในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ถือเป็นปีแห่งความวุ่นวายสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงบวกและเชิงลบ นอกจากนี้ ภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น ตะวันตก ดราม่า และตลกได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในด้านคุณภาพของภาพ เสียง และการเขียนบท ทำให้เกิดการมาถึงของภาพยนตร์ทางเลือกหรือภาพยนตร์อิสระในฟิลิปปินส์ และในช่วงทศวรรษที่ 1990 ภาพยนตร์แนวดราม่า โรแมนติก คอมเมดี้ วัยรุ่น แอ็คชั่น ตลก และภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครรายแรกสุดของเอเชีย และมีอัตราการเข้าชมในระดับสูงสุดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 131 ล้านคนในปี 1996 เป็น 63 ล้านคนในปี 2004 และจากอัตราการผลิตภาพยนตร์ที่สูงถึง 350 เรื่องต่อปีในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 200 เรื่องต่อปีในช่วงทศวรรษที่ 1980 กลับลดลงในช่วงปี 2006 ถึง 2007 อย่างไรก็ตามช่วงศตวรรษ ที่ 21 ถือเป็นการกำเนิดใหม่ของการสร้างภาพยนตร์อิสระผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และภาพยนตร์หลายเรื่องได้รับการยอมรับ ทั่วประเทศอีกครั้ง
ภาพยนตร์และละครนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตชาวฟิลิปปินส์โดยทั่วไป รวมถึงเป็นสื่อที่สะท้อนความเป็น ตัวตนและวิถีการใช้ชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์กลับมาฟื้นตัวเพื่อเข้าสู่ ยุคทองอีกครั้งจากในอดีตที่ฟิลิปปินส์เคยเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในระดับเอเชีย แม้ว่าในบางยุคสมัยจะมีปัจจัยลบบางประการที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงที่ผ่านมาภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์มีการขยายตัวทั้งในด้านรายได้และความหลากหลายของสื่อ เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์มีรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้ (Disposable income) มากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะช่วงที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประกอบกับชาวฟิลิปปินส์มีนิสัยรักสนุกและชอบความบันเทิงเป็นทุนเดิม ทำให้การใช้จ่ายในด้านความบันเทิง รวมถึงการชมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือละครเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ ในระยะหลังความบันเทิงบนช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและกลายเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับตัวแพลตฟอร์มและผู้ผลิตภาพยนตร์และละครได้มากขึ้น อาทิ Over-the-top (OTP) Platform และในด้านความหลากหลายของสื่อพบว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์หลุดจากแนวเรื่องเดิมๆ ไปสู่โครงเรื่อง (Plot) ที่สร้างสรรค์และทำการตลาดได้ดีมากขึ้นทั้งแนวแฟนตาซี สยองขวัญ ตลกขำขัน และแนวอื่นๆ ทำให้ผู้ชม ชาวฟิลิปปินส์หันมาชมสื่อท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วยจากเดิมที่นิยมภาพยนตร์และละครจากตะวันตกมากกว่า
ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากภาพยนตร์และละครจากตะวันตกและในท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ที่ได้รับความนิยมแล้ว ชาวฟิลิปปินส์ยังนิยมและชื่นชอบภาพยนตร์และละครจากเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งมีฐานแฟนคลับในฟิลิปปินส์จำนวนมาก รวมถึงภาพยนตร์และละครของไทยหลายเรื่องก็เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน โดยมีการนำมาฉายทั้งในโรงภาพยนตร์และสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ รวมทั้ง OTT Platform ส่งผลให้ภาพยนตร์และละครของไทย รวมถึงศิลปินไทยกลายเป็นที่รู้จักของผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ในวงกว้าง ทั้งนี้ ตลาดฟิลิปปินส์นับเป็นลูกค้าอันดับต้นๆ ของคอนเทนต์ภาพยนตร์และละครของไทยในตลาดต่างประเทศ สำหรับแนวภาพยนตร์และละครของไทยที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์มีหลากหลายแนวทั้ง โรแมนติก แอคชั่น ดราม่า สยองขวัญและวัยรุ่น เช่น ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม บางระจัน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ และละครโทรทัศน์เรื่อง คลื่นชีวิต สองหัวใจนี้เพื่อเธอ บัลลังก์ดอกไม้ และลิขิตรัก The Crown Princess เป็นต้น นอกจากนี้ ในระยะหลัง ภาพยนตร์หรือละคร รวมถึงซีรี่ส์แนว Boys’ Love (BL) ของไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฟิลิปปินส์และมีฐานแฟนคลับ อย่างหนาแน่น ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของไทยประสบความสำเร็จและเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยในการรุกตลาดฟิลิปปินส์ได้เป็นอย่างดี
2. พฤติกรรมผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการชมภาพยนตร์และละคร
โดยทั่วไปชาวฟิลิปปินส์มีนิสัยรักสนุกและชอบใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อความบันเทิงโดยภาพยนตร์และละครถือเป็นตัวเลือกด้านความบันเทิงแรกๆ ที่ชาวฟิลิปปินส์เลือกโดยเฉพาะการดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์และการดูละครผ่านทางโทรทัศน์ รวมทั้งผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งนี้ ตามรายงานของ Euromonitor International ระบุเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคฟิลิปปินส์ในด้านการบริโภคสื่อบันเทิงว่าร้อยละ 86 ของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์รับชมละครหรือภาพยนตร์ที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ ละครั้ง (หากเป็นกลุ่ม Millennials สัดส่วนจะเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 88) และผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เกือบร้อยละ 20 ไปเดินทางไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์อย่างน้อยเดือนละครั้งซึ่งมากกว่าการไปพิพิธภัณฑ์หรือแกลอรีศิลปะการชมกีฬาที่สนามแข่งขัน และ การไปดูคอนเสิร์ตหรือละครเวที นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 17 มีความตั้งใจที่จะใช้จ่ายในการไปชมภาพยนตร์ต่อครั้งมากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ที่นิยมไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์บ่อยครั้งมากที่สุดพบว่าเป็นกลุ่ม Millennial รองลงมาได้แก่ กลุ่ม Gen Z กลุ่ม Gen X และ Baby boomer ตามลำดับ
ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ในการบริโภคสื่อมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยเริ่มตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1990 ที่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ดูละครผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก และมีอัตราการเป็นเจ้าของโทรทัศน์ทั่วประเทศกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากจากเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ยังมีการดูภาพยนตร์และละครผ่านวิดีโอ (ภายหลังมีการพัฒนาเป็น DVD) ในครัวเรือน ห้องรับรองลูกค้าของธุรกิจร้านค้าต่างๆ หรือรถโดยสารประจำทางอีกด้วย ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2000 โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวฟิลิปปินส์ในการบริโภคสื่อ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของสมาร์ทโฟนในระยะหลัง โดยได้รับความนิยมในกลุ่มคนชนชั้นกลางก่อนจะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ที่มีรายได้น้อย-ปานกลางยังใช้อินเทอร์เน็ตผ่านร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และ Wi-fi สาธารณะตามสถานที่ต่างๆ ในการบริโภคสื่ออีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่าร้อยละ 49 ของชาวฟิลิปปินส์มีการใช้บริการ Video streaming เช่น youtube หรือ netflix เกือบทุกวัน และร้อยละ 75 ใช้บริการดังกล่าว อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งกลุ่มคนที่มีการใช้บริการ video streaming มากที่สุด คือ กลุ่ม Generation X ตามด้วยกลุ่ม Millennials, Baby boomer และ Generation Z ตามลำดับ
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีการบริโภคสื่อภาพยนตร์และละครผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นโดยกว่าร้อยละ 90 ของชาวฟิลิปปินส์ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Wearesocial ระบุว่า ชาวฟิลิปปินส์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 70.5 ใช้เพื่อชมวิดีโอ ละครหรือภาพยนตร์ และกว่าร้อยละ 44.9 ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อการหาดิจิทัล คอนเทนต์ต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของชาวฟิลิปปินส์พบว่า ผูกติดกับวัฒนธรรมบันเทิงค่อนข้างมากโดยมีผู้คนในวงการบันเทิงจำนวนมากที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงผู้ชมโดยทั่วไป และชาวฟิลิปปินส์เองมีการติดตามโซเชียลมีเดียของ ดารา/นักแสดงจำนวนมากด้วยเช่นกัน รวมทั้งชาวฟิลิปปินส์ยังนิยมติดตามแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียเช่น Facebook และ Instragram ของสถานีโทรทัศน์และรายการโทรทัศน์ยอดนิยม ตลอดจนใช้ติดตามคอนเทนต์ใหม่ๆ ยกตัวอย่าง Facebook page ของสถานี ABS-CBN มีผู้ติดตามกว่า 38 ล้านคน และ GMA มีผู้ติดตามกว่า 32 ล้านคน ทั้งนี้ ด้วยกระแสและความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตยังส่งผลให้โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต (CTV) ได้รับความนิยมและเป็นช่องทางสำคัญในการชมสื่อของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ โดยรายงาน Decoding the Connected Filipino Consumer ของ Magnite ระบุว่า ผู้บริโภค ชาวฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 94 ใช้โทรศัพท์มือถือในการดูวิดีโอโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่นอกจากจะมีสมาร์ทโฟนแล้วยังนิยมซื้อ Tablet และอุปกรณ์ Gadget อื่นๆ ในการรับชมภาพยนตร์และละครด้วย CTV ยังแซงหน้าโทรทัศน์แบบดั้งเดิมในการดูวิดีโอ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ยังนิยมชมภาพยนตร์หรือละครผ่านแพลตฟอร์มบันเทิงอย่าง Netflix ด้วย ซึ่งข้อมูลข้างต้น ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงผู้ชมภาพยนตร์และละครผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตนับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในตลาดฟิลิปปินส์และมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดมากกว่าการจำหน่ายภาพยนตร์หรือละครผ่านสถานีโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว
3. สถานการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์
ภาพยนตร์นับเป็นความบันเทิงสำคัญในสังคมชาวฟิลิปปินส์ โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์สร้างมูลค่ากว่า 2 พันล้านเปโซต่อปี และมีการจ้างงานกว่า 260,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ในอดีตฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของภาพยนตร์ในระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกและอยู่ในภาวะถดถอยโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 2000 จากปัจจัยลบและความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกสำหรับประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์โดยสังเขป
ตารางแสดงประวัติอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์โดยสังเขป
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ในประเทศอยู่ในสภาวะถดถอยในช่วงทศวรรษที่ 2000 เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์หันไปนิยมและชื่นชอบการดูภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่าภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากภาพยนตร์ต่างประเทศมีเทคนิคการตัดต่อและถ่ายทำที่ดีกว่า รวมทั้ง มี Plot เรื่องที่น่าสนใจ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่นของฟิลิปปินส์แข่งขันได้ยาก ประกอบกับมีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ (รวมภาษีทุกประเภทประมาณร้อยละ 52) ส่งผลให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องใช้วิธีผลิตหนังซ้ำๆ ด้วยเนื้อเรื่องแนวเดิม ส่งผลให้เกิดการขาดทุนและมีนักแสดงจำนวนมากหันไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่นหรือลงเล่นการเมืองแทน ทำให้การผลิตภาพยนตร์ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 1980 – 1996 ฟิลิปปินส์สามารถผลิตภาพยนตร์ได้มากกว่า 200 เรื่องต่อปี แต่ในปี 2006 กลับลดลงเหลือ 56 เรื่อง นอกจากจำนวนการผลิตภาพยนตร์ที่ลดลงแล้ว ยังพบว่าจำนวนครั้งของการเข้าชมภาพยนตร์ก็ลดน้อยลงจาก 131 ล้านครั้งในปี 1996 เหลือ 63 ล้านครั้งในปี 2004 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตภาพยนตร์ที่สูงขึ้น ทำให้ราคาตั๋วเข้าชมภาพยนตร์แพงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ของคนทั่วไป และยังมีอัตราสูงกว่าราคาซีดีเถื่อนกว่า 2 – 3 เท่า นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าวภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เริ่มซบเซา ขณะที่กลยุทธ์ต่างๆ ที่เคยใช้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์มะนิลา (Metro Manila Film Festival: MMFF) กลับใช้ไม่ได้ผลเท่าเดิมและมีการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายในงานเทศกาลดังกล่าวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังเข้าสู่ทศวรรษที่ 2010 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งโดยในปี 2011 มีภาพยนตร์กว่า 3 เรื่องสามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ฟิลิปปินส์ และมีการทำลายสถิติ ดังกล่าวหลายครั้งในช่วงปี 2013 และ 2014 นอกจากนี้ ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยผู้กำกับอิสระก็ประสบความสำเร็จ เช่น เรื่อง That Thing Called Tadhana ในปี 2015 ที่สร้างรายได้ภาพยนตร์อิสระสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์อย่าง Heneral Luna ก็ได้รับการตอบรับอย่างมากในปีดังกล่าวและขึ้นแท่นสู่การเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มี รายได้สูงสุดเป็นประวัติการด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ต้องประสบกับภาวะวิกฤติอีกครั้ง ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดโรงภาพยนตร์และทำให้การผลิตภาพยนตร์ต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายเดือนและทำให้ภาพยนตร์ท้องถิ่นมีรายได้ในภาพยนตร์น้อยมากในช่วงเวลาดังกล่าว
ตัวอย่างรายชื่อภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่สามารถทำรายได้มากกว่า 500 ล้านเปโซ ดังนี้
ตารางภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่ทำรายได้มากกว่า 500 ล้านเปโซ
จากตารางดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่ทำรายได้สูงส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ แนวโรแมนติกและแนวตลกเป็นหลัก ขณะที่เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ แฟนตาซี หรือแนวซุปเปอร์ฮีโรที่มีชื่อเสียงจาก Hollywood เช่น ในปี 2023 ภาพยนตร์ที่ทำรายได้ได้สูงสุดในฟิลิปปินส์ ได้แก่ 1. ‘The Little Mermaid’ (327 ล้านเปโซ) 2. ‘Avatar: The Way of Water’ (305 ล้านเปโซ) 3. ‘Guardians of the Galaxy Vol. III’ (256 ล้านเปโซ) 4. ‘Ant-Man and the Wasp: Quantumania’ (234 ล้านเปโซ) 5. ‘Insidious: The Red Door’ (201 ล้านเปโซ)
4. สถานการณ์อุตสาหกรรมละครในฟิลิปปินส์
ละครโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์ เรียกว่า Teleserye (มาจากคำว่า Tele ซึ่งหมายถึงโทรทัศน์ และ Serye หมายถึง การจัดการ/รายการ) นับเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันชาวฟิลิปปินส์ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์สามารถสร้างรายได้ได้จำนวนมากและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยละครโทรทัศน์ฟิลิปปินส์มีการสะท้อนชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ทั้งด้านความรัก ครอบครัว คุณค่า วัฒนธรรมการทุจริตคอรัปชัน ความยากจนและประเด็นอื่นๆ ในสังคม ตามยุคสมัย ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตละครในฟิลิปปินส์มีการพัฒนามากขึ้น มีเนื้อหาที่หลากหลายและซับซ้อน รวมถึงมีอิสระและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าในอดีตที่ส่วนใหญ่เน้นผลิตละครแนวดราม่าเป็นหลัก นอกจากนี้ ละครโทรทัศน์ยังมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง ในชีวิตประจำวันของชาวฟิลิปปินส์ทั้งเป็นเพื่อนยามเหงาของผู้บริโภค เป็นเครื่องสร้างความบันเทิง เป็นหัวข้อสนทนาของผู้คน รวมทั้งชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากยังรับเอาละครเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตประจำวันและกิจกรรมของครอบครัว โดยเฉพาะการชมละครผ่านทางโทรทัศน์ในขณะรับประทานอาหารหรือทำงานบ้านในช่วงเย็น เนื่องจากสถานีโทรทัศน์มักนำละครมาออกอากาศในช่วงเวลา 19.00 – 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วง Primetime 5 – 7 วันต่อสัปดาห์ โดยกลุ่มผู้ชมละครโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์เป็นกลุ่มคนหลายเพศหลายวัย และละครโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 3 เดือน – 1 ปี หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับเรตติ้ง สำหรับบริษัทผู้ผลิตละครโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์ก็มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน เช่น สถานีโทรทัศน์อย่าง ABS-CBN (ผู้ผลิตและส่งออกละครโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์) GMA, Viva Entertainment หรือบริษัทผู้ผลิตละครอิสระอื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาละครโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์เป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ คือ ABS-CBN (สถานีโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์) และ GMA โดยทั้งสองสถานีเป็นธุรกิจครอบครัวท้องถิ่นแต่เมื่อปี 2563 สถานีโทรทัศน์ ABS-CBN ได้รับคำสั่งให้หยุดทำการในสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โรดิโก ดูเตอร์เต หลังจากบุคคลในรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายเดียวกับประธานาธิบดีฯ ไม่ยอมต่อใบอนุญาตให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ทำให้ ABS-CBN ต้องปลดพนักงานกว่า 1 ใน 3 เพื่อลดต้นทุน และต้องปรับตัวไปสู่การทำดิจิทัลคอนเทนต์ รวมทั้งได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ TV5 แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากในฐานะของ ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมสื่อฟิลิปปินส์จนถึงปัจจุบัน
อุตสาหกรรมละครของฟิลิปปินส์มียุคทองหลายช่วงเช่นเดียวกับภาพยนตร์ โดยมักเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมละครมีความ โดดเด่นทั้งในด้านการกำกับ เรื่องราว การแสดง และทักษะเชิงเทคนิคอื่นๆ เช่น ในยุค 1960 มีละครโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมอย่าง John en Marsha, The Nida-Nestor Show และ Student Canteen และในยุค 2000 มีละครโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมอย่าง Encantadia, Mulawin, Super Inggo และ Da Adventures of Pedro Penduko
ต่อมาในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมาล่าสุด และความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมละครโทรทัศน์ประสบกับความท้าทายและข้อจำกัดค่อนข้างมาก แต่ก็ทำให้เกิดการผลิตละครใหม่ๆ ที่ออกจากกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ ทั้งในด้านของเนื้อหา รูปแบบ และยังทำให้ศิลปินดาราหลายคน รวมถึงผู้ผลิตหันมาสร้างละครเพื่อสังคมและสะท้อนเสียงของคนหลายกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การผลิตละครในยุคปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนท้าทายขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ และมีการสร้างบทสนทนาใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดฯ ยังนับเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคทองของละครโทรทัศน์ฟิลิปปินส์อีกช่วงหนึ่ง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวชาวฟิลิปปินส์มีการมองหากิจกรรมและคอนเทนต์ใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้นในขณะที่ต้องอยู่กักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความนิยมในการดูละครและมีละครที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น 2 Good 2 Be True และ He’s Into Her เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวบทละคร “จากศัตรูกลายเป็นคู่รัก” และยังส่งผลให้เกิดคู่นักแสดงที่มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นหลายคู่ เช่น KathNiel, DonBelle, SethDrea, KDLex, และ ShaiRu เป็นต้น และนอกจากแนวละครทั่วไปที่เป็นนิยมแล้ว ยังเกิดกระแสความนิยมละครแนว Boy’s love หรือ BL เพิ่มขึ้นอย่างมากในฟิลิปปินส์ โดยละคร/ซีรี่ส์ BL ของไทยก็เป็นหนึ่งในละคร/ซีรี่ส์ BL ที่ได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นและโด่งดังในช่วงดังกล่าวจากเดิมที่ได้รับความนิยมมากอยู่แล้วด้วยบทละครที่น่าตื่นเต้นแปลกใหม่มีการดำเนินเรื่องที่น่าติดตามทำให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละคร เช่น 2gether The Serie, Tharntype และ Theory of love เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมละครในฟิลิปปินส์มีการปรับเปลี่ยนโฉมอย่างต่อเนื่อง โดยละครไม่ได้จำกัดเฉพาะการฉายทางโทรทัศน์เท่านัน แต่มีการนำมาฉายผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายมากขึ้นตามยุคสมัย ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการนำละครมาฉายผ่าน OTT Platform ซึ่งเป็นการให้บริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตโดยชาวฟิลิปปินส์มีการใช้บริการของ OTT Platform กว่า 6.4 ล้านคน ทั้งนี้ OTT platform ยังได้ปฏิวัติวงการของอุตสาหกรรมละครด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ยกตัวอย่างละครแนวหญิงรักหญิง เช่น ละคร Sleep with me ได้รางวัล Outfest LGBTQ+ Film Festival และละคร The Broken Marriage Vow ได้รางวัล Best TV Format Adaptation ในการประกวด 2022 Content Asia Awards นอกจากนี้ OTT platform ยังทำให้ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศสามารถออกฉายได้ใน WeTV เช่น The Kangks Show ซึ่งใช้ความตลกขบขันในการทำให้ประเด็นดังกล่าวเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งยังมีละครดนตรีอย่างเรื่อง Still ในแอปพลิเคชัน Viu และ Lyric and Beat ของ iWantTFC สำหรับ OTT Platform ที่สำคัญของฟิลิปปินส์ ดังนี้
ตารางแสดง OTT Platform ที่สำคัญของฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ ปัจจุบันการผลิตละครในฟิลิปปินส์ยังมีการนำเสนอความแปลกใหม่ของธีมและเนื้อหาอื่นๆ เช่น ละครเรื่อง Legal wives ถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมมุสลิมในละครผ่านเรื่องราวของกษัตริย์ Maranao หรือ การ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง Trese ทาง Netflix ที่มีเนื้อเรื่องผูกกับนิทานพื้นบ้านและความเชื่อปรัมปราของฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังมีละครที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอรัปชันของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการรุกล้ำธรรมชาติและพื้นที่ป่า เช่น เรื่อง Darna และ Lolong ซึ่งละครดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมละครของฟิลิปปินส์ และยังทำให้มีผู้กำกับหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมละครโทรทัศน์จำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการสำรวจเรตติ้งของรายการละครโทรทัศน์ล่าสุดในฟิลิปปินส์ (ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566) พบว่า ช่องที่มีเรตติ้งสูงที่สุด คือ GMA รองลงมาได้แก่ TV5
ตารางแสดงเรตติ้งละครโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
*เรตติ้ง (ร้อยละ) (RTG) หมายถึงร้อยละของโทรทัศน์ที่เปิดดูรายการนั้นๆ
จากตารางดังกล่าวเห็นได้ว่า ละครที่ได้รับความนิยมมีหลากหลายแนวทั้งแนว Action โรแมนติก ลึกลับ และดราม่า โดยช่วงเวลาออกอากาศของละครที่ได้รับเรตติ้งสูงสุด คือ ช่วงเวลาประมาณ 20.00 – 21.00 น. นอกจากนี้ ยังมีละครหลายเรื่องที่ออกอากาศในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.30 – 17.00 น. ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นอกจากการออกอากาศละครที่ผลิตในท้องถิ่นของฟิลิปปินส์แล้ว สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ยังมีการนำละครโทรทัศน์จากต่างประเทศมาออกอากาศในฟิลิปปินส์อีกจำนวนมากเช่นกัน
ตารางแสดงตัวอย่างละคร/รายการโทรทัศน์ต่างประเทศที่มีการออกอากาศในช่องต่างๆ (เดือนธันวาคม 2566)
*หมายเหตุ ABS-CBN สามารถดูได้ในช่องเคเบิลท้องถิ่น
เมื่อพิจารณาตัวอย่างละครต่างประเทศที่มีการออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์ดังกล่าวข้างต้นพบว่า ส่วนใหญ่เป็นละครจากประเทศเกาหลีใต้เป็นหลัก รองลงมาได้แก่ ละครไทย ละครจากประเทศแถบตะวันตก และละครจีน โดยเนื้อหาละครจากแถบเอเชียส่วนใหญ่จะเป็นแนวดราม่าหรือ romantic comedy ขณะที่ละครจากแถบตะวันตกจะเป็นแนวแฟนตาซี
5. สถานการณ์ภาพยนตร์และละครไทยในประเทศฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย รวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยังสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมทั้งมีพฤติกรรมใช้จ่ายสูงและพร้อมสนับสนุนนักแสดงที่ชื่นชอบอย่างเต็มที่ โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาพยนตร์และละครของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการภาพยนตร์และละครของไทยในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และละคร รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ มายังตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่เข้าฉายและมีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ ดังนี้
1) สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (Crazy Little Thing Called Love (2010)) หรือรู้จักภายใต้ชื่อ “First love” เป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้ เกี่ยวกับการค้นพบตัวตนของเด็กผู้หญิงมัธยมและความรักที่มีต่อรุ่นพี่ผู้ชาย
2) กวน มึน โฮ (Hello Stranger 2010) ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่ตัวแสดงหลักพบกัน โดยบังเอิญในการ ไปเที่ยวเกาหลี
3) พี่มากพระโขนง (Pee Mak 2013) เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ-คอมเมดี้ และมีเรื่องราวของ แม่นาคพระโขนง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่มีชื่อเสียงของไทย
4) ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius 2017) ภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล เป็นเรื่องราว ของกลุ่มนักเรียนที่พยายามโกงข้อสอบระดับนานาชาติที่มีพลอตที่น่าตื่นเต้นและดึงดูดผู้ชมได้เป็นอย่างดี
สำหรับละครไทยก็เช่นเดียวกันมีการนำเข้ามาฉายและได้รับความนิยมในฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องโดยแนวละครไทย ที่ผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ชื่นชอบ คือ ละครรีเมค เช่น Full house Thai ซึ่งเป็นละครไทยที่รีเมคละครเกาหลีใต้ โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ละครแนวรีเมคของไทยเป็นที่ชื่นชอบในฟิลิปปินส์ เนื่องจาก ผู้ชมชาวฟิลิปปินส์มองว่าการทำละครรีเมคในแบบของไทยน่าสนใจกว่าแบบฟิลิปปินส์ที่เน้นการเลียนแบบต้นฉบับมากเกินไปจนดูขัดแย้งและไม่เป็นธรรมชาติ และอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ ชื่นชอบละครรีเมคของไทย คือ การได้เห็นวัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ ในละครรีเมค เช่น อาหารไทย งานแต่งงานแบบไทย ผสมผสานกับเรื่องราวชีวิต ความรัก และความหวังของวัยรุ่น ทั้งนี้ การใช้ละครรีเมคเพื่อจับตลาดในฟิลิปปินส์สามารถทำได้ง่ายกว่าการส่งออกละครต้นฉบับที่ไม่ใช่ละครรีเมค เนื่องจากรูปแบบเนื้อหาของละครฟิลิปปินส์กับไทยมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะแนวคิดของละครไทยเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม แต่ละครฟิลิปปินส์เชื่อในเรื่องพระเจ้าและการให้อภัย ขณะที่ละครรีเมคผู้ชมส่วนใหญ่มีความคุ้นชินกับ โครงเรื่องอยู่บ้างแล้ว
นอกจากละครรีเมคที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสละครแนวชายรักชาย (BL) หรือซีรีย์วาย ของไทยก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่นับเป็นละครกระแสหลัก โดยกลุ่มผู้ชมละครแนว BL ในฟิลิปปินส์เดิมฐานผู้ชมหลักจะเป็นกลุ่มผู้หญิง แต่ในระยะหลังละคร/ซีรีส์วายของไทยได้พัฒนารูปแบบและเนื้อหาจนกระทั่งมีผู้ติดตามกลุ่ม LGBT มากขึ้น ประกอบกับโฉมหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมซีรีส์วายในปัจจุบัน ทำให้เกิดการหลั่งไหลของฐานแฟนคลับ ชาวฟิลิปปินส์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและพบเห็นได้ชัดเจนจากหน้าเพจในกระแสโซเซียลมีเดียต่างๆที่มีการแชร์และพูดถึงเรื่องราวซีรีส์วายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของอุตสาหกรรมซีรีส์วายในฟิลิปปินส์ ซึ่งพร้อมและยอมรับการนำเสนอเนื้อหา LGBT ได้มากขึ้น ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของเว็บไซด์ Rappler ได้ระบุสาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์กลายเป็นแฟนคลับ ซีรีส์วายไทย เนื่องจากคอนเทนต์ซีรีส์วายไทยไม่สร้างปัญหาความแตกแยกทางสังคม มีเนื้อหาที่สมจริงทำให้น่าติดตาม รวมทั้งการแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงที่เข้าถึงบทบาทและเป็นธรรมชาติ
ทั้งนี้ ซีรีส์วายไทยได้เริ่มเป็นที่ยอมรับในฟิลิปปินส์ในปี 2557 จากซีรีส์ ‘Love Sick รักวุ่น วัยรุ่นแสบ’ แต่ยังได้รับ ความนิยมไม่มากนัก เนื่องจากช่องทางการรับชมที่จำกัด ต่อมาซีรีส์วายไทยก็มีการผลิตและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นจนได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสซีรีส์วายไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฟิลิปปินส์และล่าสุดในปี 2563 ซีรีส์วายไทยเรื่อง ‘2gether’ จากบริษัท GMMTV ได้เข้าฉายในฟิลิปปินส์ และสร้างปรากฏการณ์โด่งดัง อย่างมากจากแฟนละครชาวฟิลิปปินส์จำนวนหลายแสนคนทั้งจากในประเทศและทั่วโลกโดยแฟนละครได้ติดตามและตั้งตารอที่จะอัปโหลดซีรีส์ตอนใหม่บนช่องทาง YouTube ทุกคืนวันศุกร์ ซึ่งกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของซีรีส์วายเรื่อง 2gether ได้สร้างความแปลกใจให้กับกลุ่มแฟนละครเกาหลีหรือ K-Drama ในฟิลิปปินส์อีกด้วย หลังจากนั้นก็มีละคร/ซีรีส์วายไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากแนวละคร 2 ประเภทดังกล่าวแล้วที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์แล้ว บริษัทผู้ประกอบการไทยยังร่วมกับคู่ค้าฟิลิปปินส์นำเข้าคอนเทนต์ละครและภาพยนตร์ไทยใหม่ๆ เข้ามาเปิดตลาดในฟิลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีไม่แพ้กัน เช่น บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ชั้นนำอย่าง GMA ของฟิลิปปินส์นำละครไทยมาออกอากาศในฟิลิปปินส์หลายเรื่อง เช่น อกเกือบหักแอบรักคุณสามี ทองเอก เกมเสน่ห์หา พยากรณ์ซ่อนรัก ลิขิตรักข้ามดวงดาว พิศวาสฆาตเกมส์ และแฟนฉันเป็นนางเงือก เป็นต้น โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทำให้ฟิลิปปินส์เป็นลูกค้าอันดับต้นๆ ของละครไทย ในตลาดต่างประเทศ และจากกระแสความนิยมภาพยนตร์และละครไทยที่เข้ามาฉายในฟิลิปปินส์ในช่วงที่ผ่านมา ยังได้ส่งผลให้ดารา/นักแสดงไทยเป็นที่รู้จักและคลั่งไคล้จากฐานผู้ชมและแฟนคลับชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก อีกด้วย และยังทำให้ดารา/นักแสดงไทยมีโอกาสในการเข้ามาทำงานด้านอื่นๆ ในฟิลิปปินส์อีกด้วย เช่น การเป็น พรีเซนต์เตอร์สินค้า การนำดารา/นักแสดงไทยมาถ่ายทำภาพยนตร์และละครในฟิลิปปินส์ การออกอีเว้นท์ หรือการจัด Concerts และ Fan Meeting เป็นต้น โดยดารา/นักแสดงไทยที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียในฟิลิปปินส์ อาทิ มาริโอ้ เมาเร่อ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ญาญ่า อุรัสยา ณเดชน์ คูกิมิยะ วิน เมธาวิน และต่อ ธนภพ เป็นต้น
6. กฎระเบียบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครในฟิลิปปินส์
6.1 กฎระเบียบการคัดกรองภาพยนตร์และละคร
คณะกรรมการพิจารณาและจำแนกประเภทภาพยนตร์และโทรทัศน์ของฟิลิปปินส์ (Movie and Television Review and Classification Board: MTRCB) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ทบทวน และตรวจสอบเนื้อหาภาพยนตร์ ละคร โฆษณา ที่กระจายในโรงภาพยนตร์และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ โดยจะพิจารณาทั้งด้านเนื้อหาที่เป็นการนำเข้า หรือผลิตในประเทศ หรือส่งออก ทั้งนี้ คณะกรรมการ MTRCB ยังมีอำนาจตามกฎหมาย Presidential Decree ปี 1986 ในการพิจารณาเกี่ยวกับการห้ามการนำเข้า ส่งออก ผลิต ทำสำเนา กระจาย จำหน่าย ให้เช่า แสดง หรือเผยแพร่เนื้อหาภาพเคลื่อนไหว รายการโทรทัศน์ และ สื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ที่คณะกรรมการ MTRCB มองว่าขัดต่อศีลธรรม กฎหมาย ประเพณีที่ดี หรือสร้าง ความเสื่อมเสียต่อประเทศหรือคนฟิลิปปินส์ หรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรืออาชญากรรม เช่น การยกย่องอาชญากร หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ เช่น ส่งเสริมให้มีการหมิ่นศาล เป็นต้น นอกจากนี้ การจำหน่าย เผยแพร่ หรือแสดงสื่อที่ไม่ได้รับการคัดกรองจากคณะกรรมการ MTRCB นับเป็นเรื่องผิดกฎหมายดังกล่าว ด้วยเช่นเดียวกัน โดยหากพบการปฏิบัติที่ขัดกับกฎหมาย คณะกรรมการ MTRCB สามารถสั่งปิดโรงภาพยนตร์หรือธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่สื่อดังกล่าว รวมทั้งยังมีอำนาจในการใช้กฎหมายปรับหรือจำคุกได้ด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการ MTRCB ยังมีการจัดเรตติ้งสำหรับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ โดยการจัดเรตติ้งของภาพยนตร์ฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ G, PG, R-13, R-16 และ R-18 โดยรายละเอียด ของเรตติ้ง ดังนี้
ตารางแสดงเรตติ้งสำหรับภาพยนตร์ฟิลิปปินส์
หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซด์ https://midas.mtrcb.gov.ph/site/#!/mp
สำหรับรายการโทรทัศน์ มีการจัดเรตติ้งที่ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ โดยมีการจัดเรตติ้งทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ G, PG และ SPG
ตารางเรตติ้งสำหรับรายการโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์
6.2 การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์
หน่วยงานภาครัฐของฟิลิปปินส์ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ คือ สภาพัฒนาภาพยนตร์ แห่งฟิลิปปินส์ (Film Development Council of the Philippines: FDCP) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักประธานาธิบดี ทำหน้าที่จัดทำนโยบายเกี่ยวกับภาพยนตร์ เพื่อการพัฒนาทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยหน่วยงาน FDCP มีโครงการและกองทุนสนับสนุนภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ที่หลากหลาย รวมถึง มีการสนับสนุนบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมผลิตภาพยนตร์กับผู้ผลิตฟิลิปปินส์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (Film Philippines Office: FPO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ FDCP ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการจุดเดียว (One-stop service) เพื่อประสานช่วยเหลือบริษัทต่างชาติในการขอใบอนุญาต รวมถึงการกระตุ้นและสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ต่างชาติ เข้ามาถ่ายทำในฟิลิปปินส์ โดยหน่วยงาน FPO มีโครงการหลายโครงการที่มอบสิทธิพิเศษให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในฟิลิปปินส์ รวมถึงผู้ผลิตต่างชาติที่ต้องการ ร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวฟิลิปปินส์ด้วย นับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การท่องเที่ยว และการลงทุนในฟิลิปปินส์ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้การทำธุรกิจและการถ่ายทำภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์ง่ายและยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับชาวต่างชาติ ยกตัวอย่างโครงการสำคัญโครงการหนึ่งของ FPO คือ โครงการ Film Location Incentive Program (FLIP) เป็นการให้ส่วนลดเงินสด (Cash Rebate) กับบริษัทผลิตภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ คือ เป็น line producer/ post-production studio ที่ให้บริการบริษัทถ่ายทำต่างชาติ เพื่อดำเนินการด้านการผลิตละคร/ภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินคืนร้อยละ 20 (ไม่เกิน 25 ล้านเปโซ) ขึ้นอยู่กับรายละเอียดค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตที่สามารถเบิกจ่ายได้ และหากผ่านคุณสมบัติ ผู้เข้าร่วมโครงการอาจได้รับเงินคืนเพิ่มเป็นร้อยละ 25 (ไม่เกิน 30 ล้านเปโซ)
นอกจากนี้ หน่วยงาน FPO ยังมีโครงการที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติสามารถขอสิทธิประโยชน์ได้ คือ โครงการ International Co-Production Fund (ICOF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ฟิลิปปินส์เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และเป็นพันธมิตรการผลิตภาพยนตร์สำหรับชาวต่างชาติ โดยกองทุนดังกล่าว ให้การสนับสนุนเงินทุนให้กับบริษัทผู้ผลิตฟิลิปปินส์ที่ร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ ดังนี้
-
-
-
-
-
- 3 – 10 ล้านเปโซ สำหรับภาพยนตร์
- 1 – 5 ล้านเปโซ สำหรับสารคดี
- 4 – 10 ล้านเปโซ สำหรับซีรีส์ละครโทรทัศน์หรือวิดีโอ
-
-
-
-
รวมทั้งมีการให้โบนัสพิเศษ 1 ล้านเปโซให้กับบางโครงการที่ผลิตร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน และบางโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ จะได้เงินรางวัลเพิ่มเติม ดังนี้
-
-
-
-
-
- 2 ล้านเปโซ สำหรับภาพยนตร์หรือซีรีส์ละครโทรทัศน์หรือวิดีโอ
- 1 ล้านเปโซ สำหรับสารคดี
-
-
-
-
หน่วยงาน FPO ยังมีโครงการ Film Location Engagement Desk (FLEX) ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์ ในการเป็นตัวกลางในการช่วยผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งในไทยและต่างชาติ ประสานงานขอใบอนุญาตกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่ต้องใช้บริการดังกล่าว สามารถกรอกแบบฟอร์มและจัดส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงาน
7. การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครไทยในฟิลิปปินส์
จากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครไทยในฟิลิปปินส์ ดังแสดงในตาราง
ตารางจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในฟิลิปปินส์
ตารางจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของอุตสาหกรรมละครไทยในฟิลิปปินส์
8. สรุปและข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์
8.1 ภาพยนตร์และละครถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ อย่างมาก โดยในอดีตอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุด จนกระทั่งเข้าถึงยุคตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครของฟิลิปปินส์เริ่มฟื้นตัวและ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง จนเป็นที่น่าจับตามองในภูมิภาคและได้รับความนิยมและการสนับสนุนมากขึ้นจากผู้ชมชาวฟิลิปปินส์เอง
8.2 ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับความบันเทิงอย่างมากทั้งการรับชมละคร/รายการโทรทัศน์หรือการไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์และมีการใช้จ่ายในการไปชมภาพยนตร์ต่อครั้งเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มคนที่นิยมและชื่นชอบการชมละครและภาพยนตร์ละครมีความหลากหลายและอยู่ในทุกช่วงวัยตั้งแต่ Baby boomer ไปจนถึง Generation Z นอกจากนี้ ช่องทางในการชมภาพยนตร์และละครในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายมากขึ้น โดยการชมสื่อบันเทิงผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึง OTT Platform เข้ามามีบทบาทอย่างมาก
8.3 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ตะวันตกยังสามารถทำรายได้ในตลาดฟิลิปปินส์ได้มากกว่าภาพยนตร์ที่ผลิตในท้องถิ่นหรือภาพยนตร์สัญชาติอื่นๆ โดยแนวภาพยนตร์ตะวันตกที่เป็นแนวอะนิเมชัน แอคชั่น สยองขวัญ จะทำรายได้ได้ค่อนข้างดีในฟิลิปปินส์ ขณะที่แนวภาพยนตร์ท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ที่ทำรายได้ค่อนข้างมากมักเป็นแนวตลก หรือแนวรักโรแมนติก สำหรับอุตสาหกรรมละคร ชาวฟิลิปปินส์มีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับละครโทรทัศน์ (teleserye) เป็นอย่างมากโดยเฉพาะละครในช่วง primetime นอกจากนี้ ละครยังสะท้อนชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ในด้านต่างๆ ทั้งครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม สังคม การเมือง และอื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมละครฟิลิปปินส์มีการพัฒนา มีเนื้อหาที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งมีอิสระและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าในอดีตที่เน้นผลิตละครแนวดราม่าเป็นหลัก
8.4 ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย รวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยังขยายตัว ได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมทั้งมีพฤติกรรมใช้จ่ายสูงและพร้อมสนับสนุนนักแสดงที่ชื่นชอบอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการภาพยนตร์และละครของไทยในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และละคร รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ มายังตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง ที่ผ่านมามีภาพยนตร์และละครของไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งยังสามารถสร้างฐานแฟนคลับชาวฟิลิปปินส์ได้อย่างหนาแน่น
8.5 การสร้างโอกาสและขยายตลาดคอนเทนต์ภาพยนตร์และละครไทยเข้าสู่ฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและพัฒนาคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รวมทั้งควรสร้างคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาหลากหลาย น่าสนใจ และมีความเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถ สอดแทรกโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรม อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทางอ้อมผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ดังกล่าวได้อีกด้วย
8.6 ดารา/นักแสดงไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากคอนเทนต์ภาพยนตร์และละครต่างๆ ที่เข้ามาฉายในฟิลิปปินส์ถือเป็น ผู้มีอิทธิพลทางความคิด/ทางการตลาด รวมทั้งสามารถชักจูงหรือชี้นำกลุ่มผู้ติดตามและผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ได้จำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากการจ้างดารา/นักแสดงไทยที่เป็นที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์มาเป็นพรีเซนต์เตอร์ ช่วยโปรโมทสินค้าเพื่อทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้ในวงกว้างผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีในฟิลิปปินส์ เช่น Facebook Instragram Tik Tok Youtube และ Twitter เป็นต้น
———————————————–
Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila
Abteilung für internationale Handelsförderung
ธันวาคม 2566
แหล่งที่มา
https://www.ditp.go.th/contents_attach/721680/721680.pdf
https://www.esquiremag.ph/culture/movies-and-tv/why-thai-bl-series-popular-in-the-philippines-a2298-20200427-lfrm
https://mgronline.com/business/detail/9630000103815
https://www.boxofficemojo.com/year/?area=PH
https://www.statista.com/statistics/655233/philippines-top-10-movies-by-revenue/
https://amchamphilippines.glueup.com/event/is-the-philippines-the-next-global-film-production-hub-51065/
https://www.rappler.com/entertainment/series/philippine-television-entering-new-golden-age/
https://www.meltwater.com/en/blog/philippine-media
https://journals.sagepub.com/doi/epdf/10.1177/1329878X20985960
https://apjeas.apjmr.com/wp-content/uploads/2020/05/APJEAS-2020.7.2.06.pdf
https://tvradioschedules.fandom.com/wiki/ABS-CBN_Program_Schedule_(New)
https://philippinetelevision.fandom.com/wiki/Kapamilya_Channel_Program_Schedule
https://filmphilippines.com/international-co-production-fund
https://resource.tcdc.or.th/ebook/CEA.Film.Report.pdf
https://lawphil.net/statutes/presdecs/pd1985/pd_1986_1985.html\
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_highest-grossing_films_in_the_Philippines
รายงาน Consumer Values and Behaviour in the Philippines จาก Euromonitor International
Cinema and Television | Philippine Culture (wordpress.com)