รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์กลางจีน CCTV (China Central Television) ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงเวลาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ (ชิวอิก) – 12 กุมภาพันธ์ (ชิวซา) 2567 เพียงแค่ 3 วัน รายได้รวมจากการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน (Box Office) ทะลุกว่า 3,700 ล้านหยวน ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 4 อันดับแรกเป็นภาพยนตร์จีน โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง “Yo-Lo” ได้รับความชื่นชอบเป็นอันดับ หนึ่งทำรายได้ Box Office สูงถึง 700 ล้านหยวน และได้รับคะแนนโหวตสูงถึง 8/10 คะแนน จากข้อมูลสถิติยังสังเก็ตได้ว่า ในช่วงตรุษจีน ผู้ชมในเมืองรองมีอัตราบริโภคสำคัญในการซื้อตั๋วเพื่อรับชมในโรงภาพยนตร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของผู้ชมทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ชมภาพยนตร์ที่มาเป็นครอบครัวมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 27 โดยช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังสังเกตุเห็นได้จาก การแชร์ Moment ของแอพพลิเคชั่น WeChat ทุกๆ 10 คนจะมี 2 – 3 คนมีแผนหรือได้พาครอบครัวไปชมภาพยนตร์ในช่วงเวลาตรุษจีน ซึ่งตลาดภาพยนตร์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นกระแสนิยมมากจนต้องจับตามอง
เมื่อเร็วนี้ สำนักงานกำกับดูแลภาพยนตร์แห่งชาติจีน (China Film Administration) เปิดเผยข้อมูลธุรกิจภาพยนตร์ประจำปี 2023 ว่ารายได้ Box Office รวมทั้งปีมีมูลค่าสูงถึง 54,915 ล้านหยวน ในส่วนนี้ รายได้ Box Office จากภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองคิดเป็น 46,005 ล้านหยวน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.77 ของรายได้ทั้งหมด และภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ Box Office ได้มากกว่า 100 ล้านหยวน มีจำนวน 73 เรื่อง ซึ่งเป็นภาพยนตร์จีนจำนวน 50 เรื่อง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ที่มีรายได้ Box Office ติด 10 อันดับแรกเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองทั้งหมด ผลการวิจัยของ Lighthouse Research Institute แสดงให้เห็นว่า ปี 2023 ที่ผ่านมาจำนวนครั้งการเข้าชมภาพยนตร์ของคนจีนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น 2.58 ครั้ง/คน/ปี (โดยเฉลี่ย) เนื่องจากตลาดจีนได้กลับฟื้นสู่ภาวะปกติจากสถานการณ์โควิดแล้ว ส่วนด้านค่าใช้จ่ายเฉลี่ยการเข้าชมภาพยนตร์คิดเป็น 109.2 หยวน/คน/ปี โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยนี้มีอัตราที่ต่ำกว่า 100 หยวน/คน/ปี ติดต่อกันมาแล้ว 3 ปี มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าปี 2024 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคงรักษาในระดับ 109 หยวน/คน/ปี เช่นเดิม
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเข้าชมภาพยนตร์ของชาวจีน
ระหว่างปี 2019-2023 (หน่วย : หยวน)
ขณะเดียวกันในปี 2023 จำนวนภาพยนตร์นำเข้าที่ฉายในหน้าจอใหญ่ (Big Screen) ครองสัดส่วนร้อยละ 14 ทั้งจำนวนภาพยนตร์ และรายได้ Box Office มีการลดลง และไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดสามารถทำรายได้ Box Office ทั้งปีทะลุ 1,000 ล้านหยวนได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ปี 2023 ภาพยนตร์แนวสอบสวน/สืบสวนมีการเติบโตทางตลาดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่ผ่านมา และได้การตอบรับทางตลาดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์แนวรักชาติ ภาพยนตร์ไซไฟ (Sci-Fi) และเรื่องความรัก ยังครองสัดส่วนมากที่สุด ในส่วนนี้ ภาพยนตร์แนวไซไฟมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาพยนตร์ความรักมีแนวโน้มลดลง ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเลือกชมภาพยนตร์ นอกจากจะพิจารณาจากเนื้อเรื่องแล้ว ยังให้ความสำคัญกับตัวนักแสดงนำในเรื่องนั้นด้วย โดยนักแสดงที่มีชื่อเสียงและมีทักษะการแสดงจะทำให้รายได้ Box Office สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ช่วงเวลา Prime Time ภาพยนตร์ที่ฉายในจอใหญ่จะเป็นวันหยุดราชการหรือวันหยุดยาวช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีน เช่น เทศกาลวันตรุษจีน วันชาติจีน ช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ วันหยุดราชการ สำหรับช่องทางการชมดูภาพยนตร์ คนจีนส่วนใหญ่เลือกซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ และยังมีบางส่วนเลือกดูทางออนไลน์ และปัจจุบันผู้ชมภาพยนตร์ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มชมภาพยนตร์ที่สำคัญชาวจีน ได้แก่ Tecent, Youku, Aiqiyi, Manggo TV, Netflix และ Amazon Prime Video เป็นต้น
ความเห็นจาก สคต.หนานหนิง
ด้วยโอกาสของธุรกิจภาพยนตร์ในตลาดจีนถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีโอกาสและมีมูลค่าสูง ซึ่งธุรกิจภาพยนตร์ไทยปัจจุบันนั้นมีศักยภาพสูงที่สามารถเจาะตลาดจีนได้ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยจะมีความแตกต่างจากภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่เข้ามาในตลาดจีน ซึ่งมักอาศัยฉากอลังการจับตาผู้ชม โดยมีการลงทุนสูงมาก แต่ภาพยนตร์ของไทยจะอาศัยความคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาแปลกใหม่ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีการผสมผสานวัฒนธรรมที่มีเอกลักษ์ของตนเองเข้าสู่สายตาของผู้ชม ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างไม่สูงมากนัก แต่ภาพยนตร์ก็มีคุณภาพไม่แพ้ภาพยนตร์จากประเทศตะวันตก จึงกลายเป็นกระแสใหม่ที่มีผู้ติดตามไม่น้อยในตลาดภาพยนตร์จีน ยกตัวอย่างภาพยนตร์ไทยเรื่อง“ฉลาดโกมโกง”ที่ประสบความสำเร็จในตลาดจีนเป็นอย่างมาก ทำให้รายได้ Box Office 271 ล้านหยวน (นำเข้าปี 2017 )
ภาพยนตร์เป็นสื่อนำสำคัญที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ค่านิยม วิถีชีวิต ตลอดจนของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านสปา สินค้าไทย ตลอดจนส่งเสริมการค้าการลงทุน ดังนั้น ธุรกิจภาพยนตร์จึงเครื่องมือสำคัญ และเป็น Soft Power ที่สำคัญของไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจต่างๆ อย่างบูรณาการ
โดยในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ทางบริษัท Minzu Cinema Co., Ltd. (โรงภาพยนตร์ชั้นนำเมืองหนานหนิง) จะมีจัดเทศกาล China-ASEAN Film Week ซึ่ง สคต. ณ เมืองหนานหนิง มีความยินดีร่วมมือในการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยให้กับบริษัท Minzu Cinema Co., Ltd. และส่งเสริมการร่วมจัดงานเทศกาลดังกล่าว ตลอดจนการบูรณาการร่วมกับทีมไทยแลนด์ เพื่อให้งานดังกล่าวมีความหลากหลายครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ Soft Power ประเทศไทยสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
********************
จัดทำโดย สคต.เมืองหนานหนิง
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
แหล่งที่มา