รายงานตลาดเชิงลึก ธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

 

  1. มูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) และบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute: GWI) ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ของฟิลิปปินส์มีขนาดกว่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือ 355 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน) คิดเป็นร้อยละ 10.14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอันดับ 22 ของโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรมย่อยภายในเศรษฐกิจสุขภาพของฟิลิปปินส์พบว่า ภาคส่วนการดูแลส่วนบุคคล (Personal Care) เช่น ซาลอน เสริมสวย เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว ฯลฯ มีมูลค่ามากที่สุดคิดเป็น 2.318 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น      ร้อยละ 56.54 รองลงมาได้แก่ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการและการลดน้ำหนัก มูลค่า 6.72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 16.39) การสาธารณสุข การป้องกันและการแพทย์ส่วนบุคคล มูลค่า 3.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 8.93) การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มูลค่า 2.44 พันเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.95) และการแพทย์แผนโบราณและแพทย์ทางเลือก มูลค่า 2.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.34) ตามลำดับ ดังแสดงในแผนภูมิที่ 1

แผนภูมิที่ 1 เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ของฟิลิปปินส์ในปี 2565

ในช่วงปี 2563 – 2565 เศรษฐกิจสุขภาพของฟิลิปปินส์มีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 8.9 ต่อปี สูงกว่าการขยายตัวของ GDP ในภาพรวม และเมื่อพิจารณาการเติบโตของอุตสาหกรรมย่อยภายใต้เศรษฐกิจสุขภาพ พบว่าบางอุตสาหกรรมย่อยมีการเติบโตที่ค่อนข้างโดดเด่น อาทิ การสาธารณสุข การป้องกันและการแพทย์ส่วนบุคคล มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 44 ต่อปี การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย      ร้อยละ 79 และสปา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 45.4 ต่อปี ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 มูลค่าตลาดของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ในฟิลิปปินส์ปี 2563 – 2565 แยกตามอุตสาหกรรมย่อย

มูลค่า: พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาคส่วน ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 % Change 2563-2565
สินค้าและบริการ personal care 21.47 23.08 23.18 3.9
อาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก 6.46 6.74 6.72 2.0
การสาธารณสุข การป้องกันโรค และยาเพื่อบำรุงสุขภาพส่วนบุคคล 1.76 3.34 3.66 44.0
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 0.75 0.66 2.44 79.9
การแพทย์แผนโบราณและแพทย์ทางเลือก 1.99 2.15 2.19 5.0
กิจกรรมทางกาย 1.51 1.57 1.77 8.1
สุขภาพจิต 0.50 0.61 0.70 18.7
สปา 0.23 0.29 0.49 45.4
สุขภาพในที่ทำงาน 0.16 0.17 0.19 3.6
อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ 0.10 0.13 0.17 31.5
น้ำพุร้อน/น้ำแร่ 0.04 0.05 0.08 37.9
รวม 34.59 38.29 40.98 8.9

 

  1. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ในภาพรวม

2.1 สถิติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ข้อมูลการสำรวจธุรกิจและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ประจำปี (Annual Survey of Philippine Business and Industry: ASPBI) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในปี 2563 ฟิลิปปินส์มี
สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมทั้งหมด 7,217 แห่งทั่วประเทศ ลดลงจากร้อยละ 3.7 จากปี 2562 ที่มีสถานประกอบการ 7,494 แห่ง และเมื่อพิจารณากิจกรรมย่อยในอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า คลินิกแพทย์และทันตแพทย์มีจำนวนสถานประกอบการมากที่สุด จำนวน 5,146 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71.3 ของสถานประกอบการทั้งหมด รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาล จำนวน 1,240 แห่ง (ร้อยละ 17.2) และกิจกรรมทางบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก จำนวน 311 แห่ง (ร้อยละ 4.3) ตามลำดับ ดังแผนภูมิที่ 2

 

แผนภูมิที่ 2 จำนวนสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมของฟิลิปปินส์ปี 2563

 

เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคพบว่า เขตนครหลวงแห่งชาติ (National Capital Region: NCR)          มีจำนวนสถานประกอบการมากที่สุด จำนวน 2,279 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 31.6 ของสถานประกอบการทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เขต CALABARZON จำนวน 1,158 แห่ง (ร้อยละ 16) และเขตลูซอนกลาง 801 แห่ง         (ร้อยละ 11.1) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานประกอบการบริการสุขภาพส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา     และบริเวณโดยรอบเป็นหลัก ขณะที่การจ้างงานพบว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมมีการจ้างงานจำนวน 218,465 ตำแหน่ง ซึ่งอยู่ในกิจกรรมโรงพยาบาลจำนวน 159,733 ตำแหน่ง รองลงมาได้แก่ คลินิกแพทย์และทันตแพทย์ (45,153 ตำแหน่ง) และกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก (6,452 ตำแหน่ง) ดังแสดงในแผนภูมิที่ 3

แผนภูมิที่ 3 การจ้างงานของอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมของฟิลิปปินส์

สำหรับการจ่ายค่าแรงพบว่า ในปี 2563 มีมูลค่า 5.35 หมื่นล้านเปโซ หรือเฉลี่ยคิดเป็น 248,120 เปโซต่อคนต่อปี โดยกิจกรรมบริการสังคมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ไม่มีที่พักมีการจ่ายค่าแรงพนักงานมากที่สุดเฉลี่ย 386,110 เปโซต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาลเฉลี่ย 258,640 เปโซต่อปีต่อคน และคลินิกแพทย์และทันตแพทย์เฉลี่ย 219,780 เปโซต่อปีต่อคน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า มีการจ่ายค่าแรงพนักงานที่แตกต่างกัน โดยเขต NCR มีการจ่ายค่าแรงเฉลี่ย 344,030 เปโซต่อคนต่อปี ขณะที่เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนามีการจ่ายเพียง 133,340      เปโซต่อคนต่อปีเท่านั้น และเมื่อพิจารณาในแง่มิติของรายได้พบว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมมีรายได้ทั้งหมด 2.52 แสนล้านเปโซ โดยเขต NCR เขต CALABARZON และเขตลูซอนกลางมีรายได้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 68.4 ของรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมดังกล่าว และกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดได้แก่ โรงพยาบาล มูลค่า 1.80 แสนล้านเปโซ หรือคิดเป็นร้อยละ 71.3 รองลงมาได้แก่ คลินิกแพทย์และทันตแพทย์ มูลค่า 5.43 หมื่นล้านเปโซ (ร้อยละ 21.5) และกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก มูลค่า 1.34 หมื่นล้าน     เปโซ (ร้อยละ 5.3) ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบว่าอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมยังได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบของการช่วยเหลือทางการเงินและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นมูลค่า 3.15 แสนล้านเปโซ โดยโรงพยาบาลได้รับการอุดหนุนมากที่สุดมูลค่า 2.16 แสนล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 68.7 ตามด้วยคลินิกแพทย์และทันตแพทย์ มูลค่า 83.61 ล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 26.6

2.2 ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์เป็นการให้บริการร่วมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล
โดยโรงพยาบาลของรัฐมุ่งเน้นในการให้บริการเชิงป้องกันและการรักษาเบื้องต้น รวมไปถึงการให้ความรู้        กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพโดยแบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 3 ระดับได้แก่ โรงพยาบาลระดับประเทศ โรงพยาบาลระดับเขตหรือชนบท และสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชน ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับปอด และ     โรคกระดูก โดยโรงพยาบาลเอกชนจะแบ่งออกเป็น โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทาง โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป และคลินิกเอกชน โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแล คือ Health Facilities & Services Regulatory Bureau (HFSRB) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (DOH)

ทั้งนี้ ระบบการให้บริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ค่อนข้างมีความซับซ้อน มีหลายขั้นตอน และมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นค่อนข้างมาก โดยในส่วนของรัฐบาลกลางจะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกำกับหลัก ทำหน้าที่พัฒนาและอนุมัติมาตรฐานคุณภาพและระเบียบวิธีปฏิบัติงานทางคลินิก รวมถึงรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตของสถานบริการสุขภาพ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ในขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารจัดการและงบประมาณในระบบท้องถิ่น      ของตนโดยหน่วยงานท้องถิ่นในระดับจังหวัดมีหน้าที่ในการให้บริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ในส่วนของหน่วยงานท้องถิ่นระดับเมืองหรือเทศบาล มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ บริการเชิงส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพ รวมถึงการปฐมพยาบาลฉุกเฉินเบื้องต้น

สำหรับระบบการให้บริการสุขภาพของภาคเอกชนของฟิลิปปินส์จะมีผู้ให้บริการทั้งที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรหลายพันแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการที่เก็บค่าธรรมเนียม ณ จุดบริการ นอกจากนี้

ภาคเอกชนยังมีบทบาทในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะในการศัลยกรรมต้นทุนต่ำหรือบริการด้าน     ทันตกรรม ผู้ให้บริการภาคเอกชนยังสามารถแบ่งเป็นผู้ให้บริการแบบเป็นทางการ (Formal) และไม่เป็นทางการ (Informal) โดยผู้ให้บริการภาคเอกชนแบบเป็นทางการ อาทิ โรงพยาบาล คลินิก ห้องปฏิบัติการ   ผดุงครรภ์ ร้านขายยา บริษัทผู้ผลิตยา บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยทางการแพทย์สำหรับผู้ให้บริการภาคเอกชนแบบไม่เป็นทางการ อาทิ กลุ่มแพทย์ทางเลือกหรือหมอตำแยซึ่งไม่ได้              รับการรับรองจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมการแพทย์ฟิลิปปินส์             (The Philippine Medical Association) และสมาคมพยาบาลฟิลิปปินส์ (The Philippine Nurses Association)   ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมมาตรฐานและความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบอาชีพด้านสุขภาพด้วย

ในปี 2562 ฟิลิปปินส์มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ Republic Act 11223 หรือ Universal Health Care (UHC) Law ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ (OFW) สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ภายใต้หน่วยงาน PhilHealth โดยในปัจจุบันพระราชบัญญัติ UHC ยังกำหนดให้ชาวฟิลิปปินส์
ทุกคนอยู่ภายใต้โครงการดังกล่าวอัตโนมัติ ภายใต้การรับผิดชอบของหน่วยงาน PhilHealth ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของแพ็คเกจสุขภาพของภาครัฐ โดยงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบสุขภาพได้มาจากการเก็บภาษีบาป (Sin Tax) ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณให้กับระบบสุขภาพท้องถิ่นและโครงสร้างพื้นฐานทางสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และเมื่อพิจารณาระบบการเงินของประกันสุขภาพในฟิลิปปินส์จะพบว่า PhilHealth ได้เบี้ยประกันจากทั้งประชาชนทั่วไป บริษัทและรัฐบาล โดยเมื่อประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพ PhilHealth จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย                ซึ่งจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 30-70 และจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ผู้เข้ารับบริการต้องรับผิดชอบด้วยตนเองในบางส่วน อย่างไรก็ตาม การเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ทั้งหมดได้กลายเป็นปัญหาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยประชาชนบางส่วนจำเป็นต้องเลือกทำประกันสุขภาพกับเอกชนควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังมีการลงทุนจากภาคเอกชนจำนวนมากตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาลใหม่ การควบรวมโรงพยาบาลขนาดเล็ก และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาล โดยกลุ่มเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มหลักในการผลักดัน      การพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น และความพยายามในการผลักดันการพัฒนาโรงพยาบาลให้ทันสมัยของโรงพยาบาลเอกชนกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ          ด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีความพยายามค้นหาอุปกรณ์    ที่ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคคนไข้ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ยังมาจากการผลักดัน      และการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว            เชิงการแพทย์ที่แข่งขันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบสำคัญในด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการทางการแพทย์ที่ถูกกว่าหลายประเทศและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี

2.3 ความท้าทายของระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ดังนี้

(1) การขาดแคลนบุคลากร

บุคลากรด้านสุขภาพที่ทำงานในระบบสาธารณสุขฟิลิปปินส์ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ
พยาบาล (ประมาณ 90,000 คน) รองลงมาได้แก่ แพทย์ (ประมาณ 40,000 คน) ผดุงครรภ์ (ประมาณ 43,000 คน) และนักเทคนิคการแพทย์ (ประมาณ 13,000 คน) ทั้งนี้ สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรของฟิลิปปินส์        เฉลี่ยอยู่ที่แพทย์ 6 คนต่อประชาชน 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่าประเทศอื่นๆ       ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเพียงเขต NCR เพียงเขตเดียวเท่านั้น          ที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่แพทย์ 10 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ขณะที่จำนวนพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12-13 คนต่อประชากร 10,000 คน              ใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์        เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุข คือ ภาวะสมองไหล เนื่องจากบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีความสามารถของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มักเลือกออกไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากได้ผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมบริการสุขภาพขาดแคลนแรงงานไปด้วย

(2) การขาดแคลนทรัพยากรในการบำบัดและรักษาผู้ติดยาเสพติด

ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์มีการทำสงครามเพื่อปราบปรามยาเสพติดที่เข้มข้น
ส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมหรือสังหารจำนวนมาก โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมาก        เริ่มเข้าสู่ศูนย์บำบัดยาเสพติดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าศูนย์บำบัดยาเสพติดในฟิลิปปินส์มีจำนวนไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาความหนาแน่นจนไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ต้องการบำบัดได้

(3) การตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่ล่าช้า

    คุณภาพของบริการรถพยาบาลและรถฉุกเฉินมีความแตกต่างกันอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่มีกฎหมาย/กฎระเบียบเกี่ยวกับบริการฉุกเฉินโดยเฉพาะ ทำให้บริการ           รถฉุกเฉินมักมีความล่าช้า และการรักษาก่อนถึงโรงพยาบาลในบางครั้งไม่เพียงพอหรือไม่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ขณะที่รถพยาบาลของภาคเอกชนมักมีบุคลากรและอุปกรณ์ที่ดีกว่าและสามารถให้บริการได้เร็วกว่า

(4) ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานบริการของรัฐและเอกชน

สถานบริการสุขภาพของภาคเอกชนในฟิลิปปินส์มักมีความสะอาด ใหม่และสะดวกสบายกว่า    สถานบริการสุขภาพของภาครัฐเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ รวมทั้งการใช้เวลาในการรอเพื่อรับบริการน้อยกว่า ซึ่งคล้ายกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์พบว่ามีการมีการพึ่งพาผู้ให้บริการภาคเอกชนค่อนข้างมาก โดยกว่าร้อยละ 30 ของประชากรฟิลิปปินส์ใช้บริการสถานบริการของภาคเอกชนเป็นหลัก และโรงพยาบาลกว่าร้อยละ 60 ในฟิลิปปินส์
เป็นของเอกชน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ก็ยังดำเนินการโดยภาคเอกชนเป็นหลักเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเฉพาะทางจำนวนมาก

 

  1. ทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์
    • ทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพของคนฟิลิปปินส์

3.1.1 ชาวฟิลิปปินส์มีความเชื่อในแนวคิด “ความสมดุล” (Timbang) ซึ่งเป็นแนวคิดในการดูแลตนเองรวมถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวฟิลิปปินส์ด้วย โดยภายใต้แนวคิดดังกล่าว สุขภาพเป็นเรื่องของความสมดุลภายในร่างกาย หากเกิดการเจ็บป่วยหรือความเครียดจะเป็นผลมาจากความไม่สมดุล ตัวอย่างความเชื่อของชาวฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวข้องกับ Timbang มีดังนี้

  • การเปลี่ยนจากความร้อนไปเป็นความเย็นโดยฉับพลัน ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย
  • สภาพแวดล้อมที่อบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพให้สมดุล
  • ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เย็นในช่วงเช้า
  • ร่างกายที่ร้อนจัดเกินไป มักสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
  • ไขมันทำให้เกิดความอบอุ่นในร่างกาย และช่วยปกป้องพลังงานที่สำคัญในร่างกาย
  • ความไม่สมดุลจากการวิตกกังวลและการทำงานหนักเกินไปทำให้เกิดความเครียดและ การเจ็บป่วย
  • การควบคุมอารมณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคืนความสมดุล
    • ชาวฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักมีพฤติกรรมจัดการกับอาการป่วยด้วยการช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว และความเชื่อในพระเจ้า โดยการรักษาหรืออาการที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์
  • ครอบครัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาของชาวฟิลิปปินส์อย่างมาก โดยผู้ป่วยมักเชื่อความต้องการครอบครัวมากกว่าความต้องการของตนเองซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นกลุ่มและความกลมเกลียวของชาวฟิลิปปินส์
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักมีพฤติกรรมในการสังเกตอาการและหาสาเหตุของอาการป่วยก่อนที่จะประเมินความเสี่ยงต่อร่างกายหรือก่อนเข้ารับการรักษาอย่างเป็นทางการ รวมถึงมักพิจารณาภาระทางการเงินและจิตใจของสมาชิกในครอบครัว
  • ชาวฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาแบบโบราณหรือการแพทย์ทางเลือก การพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือผู้นำทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับโรคหรือการเจ็บป่วย
  • ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์มักนิยมใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อศึกษาข้อมูล หรืออ่านรีวิวการรักษาของโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่จะเข้าไปใช้บริการอีกด้วย

3.1.3 ชาวฟิลิปปินส์มักให้คุณค่าและแนวคิดในวัฒนธรรมเมื่อมีการเจ็บป่วยมีหลายอย่าง อาทิ

  • ความอดทน (Tiyaga) – ความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
  • ความยืดหยุ่น (Lakas ng loob)
  • ความตลกขบขัน (Tatawanan ang problema) – ความสามารถในการทำให้เรื่องร้ายเป็นเรื่องตลก
  • การยอมรับในโชคชะตา (Bahala na) – แนวคิดว่าการเจ็บป่วยหรือการทรมานเป็น สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และถูกกำหนดมาแล้วโดยพระเจ้า ซึ่งคนไข้ สมาชิกครอบครัว หรือแพทย์ไม่ควร เข้าไปรบกวน
  • การทำตามความต้องการของกลุ่มหรือส่วนรวม (Pakikisama)
    • นอกจากการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ชาวฟิลิปปินส์ยังมีแนวคิดและพฤติกรรมในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตที่ต่างไปกับการดูแลสุขภาพกาย ดังนี้
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต ทำให้หลีกเลี่ยงการไปพบผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากกลัวว่าสังคมจะมองว่าเป็นคนสติฟั่นเฟือน และให้ความสำคัญกับการเงิน ทำให้การให้ความสำคัญกับการหาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาลดน้อยลง
  • หากมีปัญหาสุขภาพจิต ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนมักเลือกปรึกษาครอบครัว เพื่อน หรือหมอพื้นบ้านและผู้นำจิตวิญญาณในท้องถิ่นก่อน
  • การใช้บริการสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากโดยเฉพาะในช่วงเวลาทำการทั่วไป เนื่องจากต้องมีสมาชิกในครอบครัวไปด้วย
  • ชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่าการเจ็บป่วยทางจิตสะท้อนถึงจิตวิญญาณที่อ่อนแอ และอาจเป็นผลจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ

3.2 พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์

ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่า การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา     ทำให้ชาวฟิลิปปินส์หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยมีการออกกำลังกายและทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพจิต โดยในปี 2566 พบว่าร้อยละ 55 ของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ระบุว่า ตนเองออกกำลังกายสม่ำเสมอ และร้อยละ 68 ระบุว่า รับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเป็นประจำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง    รวมทั้งปัจจุบันผู้บริโภคฟิลิปปินส์ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมสุขภาพมากขึ้น เช่น การใช้แอปพลิเคชันหรือ Smart watch เพื่อติดตามพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง โดยมีผู้ที่ใส่เครื่องมือดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง       ร้อยละ 17 รวมทั้งผู้บริโภคกว่าร้อยละ 25 ยังนิยมเยี่ยมชมเว็บไซต์ทางการแพทย์หรือสุขภาพเป็นประจำอีกด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่าผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากยังให้ความสำคัญกับการรับประทาน                                       โดยร้อยละ 50 มีการติดตามการควบคุมอาหารที่ตนเองรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ขณะที่ร้อยละ 23 พยายามลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 62 พยายามหาอาหารที่มีคุณสมบัติด้านสุขภาพและโภชนาการโดยร้อยละ 84 มองว่าสามารถจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณสมบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2565 สาเหตุการเสียชีวิตสามอันดับแรกในฟิลิปปินส์พบว่า        ยังมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ คือ โรคหัวใจขาดเลือด (ร้อยละ 18.4) เนื้องอก (ร้อยละ 10.2) และโรคหลอดเลือดสมอง (ร้อยละ10.2) ตามลำดับ

สำหรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในด้านความเครียดพบว่าชาวฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 76 ระบุว่าต้องการที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และร้อยละ 46 ระบุว่าการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้มีระดับความเครียดมากขึ้น   อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 79 มีความเชื่อว่าความเชื่อทางศาสนามีผลสำคัญต่อชีวิตมาก และ          ร้อยละ 52 เลือกใช้สมุนไพรเพื่อจัดการกับความเครียด

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์ในแต่ละ Generation ที่แตกต่างกัน ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 พฤติกรรมดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์ในแต่ละ Generation

Baby boomers Millennials
· ร้อยละ 22 เข้าร่วมกิจกรรมกีฬาอย่างจริงจัง

· ร้อยละ 30 พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์

· ร้อยละ 29 เข้าร่วมกิจกรรมลดความเครียดอย่างน้อยทุกสัปดาห์

· ร้อยละ 50 นั่งสมาธิเพื่อลดความเครียด ร้อยละ 59 ใช้สมุนไพร และร้อยละ 37 เล่นโยคะ

 

· ร้อยละ 74 เดินหรือปีนเขาเพื่อออกกำลังกาย

· ร้อยละ 50 มีการติดตามและควบคุมอาหารที่รับประทานอย่างจริงจัง

· ร้อยละ 30 มองว่าอาหารที่ไม่ใช่ GMO เป็นอาหารที่มีอิทธิพลต่อการซื้อมาก

· ร้อยละ 73 มองว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคคือผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี

 

Gen Z Gen X
· ร้อยละ 43 เคยใช้เครื่องมือช่วยในการนอนหลับ และร้อยละ 18 เคยใช้บริการที่ปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อจัดการกับความเครียด

· ร้อยละ 25 มีการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบทีมและกีฬาเดี่ยว

· ร้อยละ 48 เชื่อถือในฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็นมังสวิรัติหรือวีแกน

· ร้อยละ 59 มองหาส่วนประกอบในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

·ร้อยละ 69 มองว่าผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากที่เขียนว่า “Natural” หมายถึงไม่มีสารเคมี

·ร้อยละ 35 ปั่นจักรยานสม่ำเสมอ

·ร้อยละ 80 รับประทานอาหารเสริมหรือวิตามิน
ทุกสัปดาห์

·ร้อยละ 41 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ทำจากธรรมชาติ

 

3.3 พฤติกรรมผู้บริโภคที่เกี่ยวกับสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์

โดยทั่วไปลูกค้าของสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์มักเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและ       เป็นตลาดที่ต้องการความทันสมัยและแปลกใหม่ แต่ก็ยังต้องแฝงความเป็นเอกลักษณ์ของการให้บริการใน     ระดับคุณภาพ ทั้งนี้ ตลาดสถานบริการความงามและสปาสามารถแบ่งตามรสนิยมของการใช้บริการ ดังนี้

(1) ผู้ใช้บริการแบบผิวเผิน (Periphery Consumers) โดยผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักคาดหวังการบริการที่ทำให้รู้สึกดีเป็นพิเศษและดูมีความงามเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวในเรื่องราคาค่าบริการ โดยเฉพาะถ้าเป็นบริการใหม่ที่ยังไม่มีการลองใช้มาก่อนและไม่มีผลลัพธ์ให้เห็นชัดเจนต่อภาพลักษณ์ภายนอก (appearance) ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักไม่ได้ต้องการการบริการที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด แต่ต้องการได้รับการบริการที่เป็นไปตามสัญญาที่ผู้ให้บริการตกลงไว้

(2) ผู้ใช้บริการระดับกลาง (MidLevel Consumers) ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือการบำบัดที่แปลกใหม่ (exotic treatments) ได้มากกว่า เช่น การขัดตัวด้วยขุยมะพร้าว การขัดผิวด้วยน้ำผึ้ง การพอกผิวด้วยอะโวคาโดสด ฯลฯ และพร้อมที่จะใช้บริการที่เป็น         ลักษณะแพ็คเกจครึ่งวันหรือเต็มวัน และลูกค้ากลุ่มนี้มักมองว่าการใช้บริการสถานบริการความงามหรือสปา     ไม่เพียงแค่เพื่อผลต่อสุขภาพทางกายหรือภาพลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ทำ         เพื่อความสบายใจอีกด้วย

(3) ผู้ใช้บริการเป็นหลัก (Core Spa Consumers) ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักใช้บริการสถานบริการความงามและสปาเป็นกิจวัตร โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะชื่นชอบการทำสปา (spa treatment) หรือกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ดังนั้น จึงต้องการสถานบริการความงามหรือสปาที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงพนักงานที่มีพื้นฐานทางจิตใจที่เข้าใจลูกค้า อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ยังสัดส่วนค่อนข้างน้อยของกลุ่มผู้ใช้บริการสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ กลุ่มอายุลูกค้าที่ใช้บริการสถานบริการความงามและสปาส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ คือ กลุ่มคนอายุประมาณ 44 – 61 ปี แต่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ใช้บริการที่มีอายุน้อยกว่าช่วงอายุดังกล่าวเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจ หรือชาวต่างชาติที่เกษียณอายุและย้ายถิ่นฐานมายังฟิลิปปินส์ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น Boracay และ Cebu โดยกลุ่มลูกค้าดังกล่าวส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมและทัศนคติ ดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับตัวเอง (Self-focused)
  • มองโลกในแง่ดี
  • ใจร้อนและมักจะสนใจกับอะไรได้ไม่นาน
  • โอนอ่อน และชอบให้ตามใจ
  • ต้องการทางเลือกที่ทำให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมได้
  • คาดหวังที่จะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษ
  • ไม่ชอบที่จะต้องตกลงในรายละเอียด หรือถกเถียงความไม่พึงพอใจใด แต่ต้องการใช้บริการกับผู้ประกอบการที่ทำให้โปรโมชันหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องง่ายๆ
  • ไม่ต้องใช้ความพยายามในการเลือกซื้อบริการ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • สนใจกับการอธิบายคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่าจะทำให้รู้สึกเป็นอย่างไร
  • ราคาไม่สำคัญเท่ากับความหรูหราและความรู้สึกดีในการรับบริการ
  • ชอบการเปรียบเทียบแข่งขันให้เขาได้มีสิทธิในการพูดโอ้อวด
  • มีความเป็นไปได้สูงที่จะสนใจซื้อ Treatments และผลิตภัณฑ์ไปฝากครอบครัวหรือเพื่อนๆ
  • ไม่ยอมรับความแก่ชรา

 

  1. ธุรกิจโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์

          4.1 ประเภทโรงพยาบาล อุตสาหกรรมโรงพยาบาลของฟิลิปปินส์มีความซับซ้อนและเป็นส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลหลายประเภทตั้งแต่โรงพยาบาลที่รัฐให้งบประมาณสนับสนุนและศูนย์การแพทย์เอกชน โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และศูนย์บริการสุขภาพชุมชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

4.1.1 โรงพยาบาลรัฐ เป็นที่พึ่งสำคัญของผู้ที่มีรายได้น้อย โดยโรงพยาบาลรัฐมีการบริหารจัดการ       โดยรัฐบาลให้บริการในราคาที่จับต้องได้ หรือไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีสิทธิรักษา สำหรับโรงพยาบาลรัฐ          ที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ คือ โรงพยาบาล Philippine General Hospital (PGH) ที่ให้การรักษาแบบตติยภูมิ       และเป็นศูนย์ส่งต่อ รวมทั้งยังมีระบบการรักษาที่ครบวงจรและมีบทบาทในการศึกษาและการวิจัยทางการแพทย์

4.1.2 โรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลที่แสวงหากำไรและให้บริการลูกค้าที่ต้องการระดับบริการที่สูงขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงและมีสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย               โดยโรงพยาบาลเอกชนในฟิลิปปินส์มักให้บริการที่หลากหลายกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ เช่น โรงพยาบาล St. Luke’s Medical Center ซึ่งมีชื่อเสียง         ในด้านอุปกรณ์เครื่องมือการรักษา บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือการรักษามะเร็ง และการรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีสาขาในเมือง Quezon และเมือง Taguig (BGC) นอกจากนี้               ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งและเป็นคู่แข่งสำคัญ คือ โรงพยาบาล Makati Medical Center ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง Makati โดยให้บริการรักษาโรคหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด          โรคระบบประสาท โรคมะเร็ง ศัลยกรรม และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในประเทศฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นองค์กรสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อให้การรับรองคุณภาพแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกเพียงแค่ 5 แห่ง              โดยมีรายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 โรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ที่ได้รับการรับรองจาก Joint Commission International (JCI)

ชื่อสถานบริการ รายละเอียด รูปภาพ
St. Luke’s Medical Center มี 2 สาขา คือ Quezon City และ BGC เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านบริการทางการแพทย์และมีเครื่องมือที่ครบครันทันสมัย โดยให้บริการการรักษาหลายอย่างตั้งแต่ศูนย์เฉพาะทางอย่างสถาบันมะเร็ง    และหัวใจ ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้สูง ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ (Expat) และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

 

Makati Medical Center เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Makati โดยให้บริการการรักษาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาท โรคมะเร็ง ศัลยกรรม และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงและชาวต่างชาติ
Asian Hospital and Medical Center เป็นโรงพยาบาลภายใต้การบริหารของ Metro Pacific Hospital Group ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุด             ในฟิลิปปินส์ มีแพทย์มากกว่า 1,400 คน และสามารถรักษาโรคเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนหลายโรค รวมทั้งทั้งยังมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งและหลอดเลือด
The Medical City เป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์การแพทย์หลายสาขา เช่น Pasig , Iloilo, Pampanga และ Guam โดยสาขาที่ได้รับการรับรองจาก JCI ตั้งอยู่ที่เมือง Pasig มีบริการการรักษาเฉพาะทางหลายอย่าง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการมีทั้งจากในและต่างประเทศ

4.1.3 โรงพยาบาลเฉพาะทาง เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาโรคเฉพาะทางโรคใดโรคหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหรือต้องการความรู้เฉพาะทางในการรักษา โดยโรงพยาบาลเฉพาะทางในฟิลิปปินส์     มีหลายด้านตั้งแต่โรคหัวใจและระบบทางเดินโลหิต    กระดูก สุขภาพจิต กุมารเวช และมะเร็ง เช่น Lung Center of the Philippines มีความเชี่ยวชาญในระบบทางเดินหายใจ มีบริการตั้งแต่การทดสอบปอด การส่องกล้องหลอดลม และการรักษาวัณโรค

4.1.4 โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่สำคัญและมักมีเครือข่ายร่วมกับโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย โดยโรงพยาบาลดังกล่าวมักใช้เป็นสถานที่ในการสอนหรือฝึกหัดนักศึกษาแพทย์ รวมถึงการพัฒนานโยบายและวิธีการรักษาที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยที่สำคัญในฟิลิปปินส์ เช่น โรงพยาบาล University of Santo Tomas Hospital มีบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายควบคู่ไปกับโปรแกรมทางวิชาการและความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

4.1.5 โรงพยาบาลชุมชนหรือศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน             ในฟิลิปปินส์ ให้บริการชุมชนและยาพื้นฐาน เวชศาสตร์    เชิงป้องกัน สุขภาพสำหรับแม่และเด็ก และการรักษาฉุกเฉินแก่ประชาชน โดยโรงพยาบาลชุมชนถือเป็นส่วนสำคัญ       ในระบบส่งเสริมสุขภาพโดยเฉพาะในชนบทที่การบริการสุขภาพยังค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ การให้บริการของโรงพยาบาลชุมชนมักจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง หากมีความจำเป็น

4.2 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์

โดยทั่วไป อัตราค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน        โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

4.2.1 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ ตัวอย่างอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ แสดงในตารางที่ 4

ตารางที่ 4 อัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Bicol Sanitarium

รายการ ค่าบริการ (เปโซ)
ค่าปรึกษาแพทย์ (Consultation fee) 50 – 100
ค่าตรวจในห้องปฏิบัติการ (Laboratory test) 65-500
ค่า X-Ray 150 – 300
ค่าอัลตร้าซาวด์ 500 – 1,300
ค่า CT-Scan 5,000 – 21,000
ค่าบริการทางทันตแพทย์ 50-250
ค่าห้องพัก 0-1,200 เปโซต่อคืน (สำหรับผู้ที่ใช้ PhilHealth)

4.2.2 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ตัวอย่างอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน แสดงในตารางที่ 5

ตารางที่ 5 อัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Makati Medical Center 

รายการ ค่าบริการ (เปโซ)
ค่าปรึกษาแพทย์ของผู้ป่วยนอก (outpatient consultation – general medicine) 500 – 2,500
ค่าตรวจการแพ้ของผิวหนัง (ALLERGY SKIN TEST) 12,000 – 15,000
ค่า X-Ray ฟัน 400-500
ค่าอัลตร้าซาวด์หน้าอก 3,975 – 5,000
ค่า PET CT-Scan 75,500 – 148,240
การถอนฟัน 3,500 – 7,500
ค่าห้องพัก 1,810 – 6,700 เปโซต่อคืน

หมายเหตุ : สามารถตรวจสอบอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Makati Medical Center ได้ที่ https://www.makatimed.net.ph/price-list/

4.2.3 อัตราเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ รายได้เฉลี่ยของบุคลากรทางการแพทย์          ในฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 6

ตารางที่ 6 รายได้เฉลี่ยของบุคลากรทางการแพทย์ในฟิลิปปินส์

บุคลากร รายได้ต่อปี (เปโซ)
แพทย์ 483,500
พยาบาล 163,055
นักเทคนิคการแพทย์ 178,458
เภสัชกร 237,000
นักจัดการข้อมูลทางสุขภาพ 325,000
เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า 205,659

 

  1. ธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

          5.1 ภาพรวมของอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

     ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เนื่องจากความต้องการการศัลยกรรมและการเสริมความงามเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การชะลอวัยแบบไม่ผ่าตัดจนถึงการผ่าตัดซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

(1) ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกและความอยู่ดีกินดี     มากขึ้น โดยอยากมีผิวพรรณที่ไร้ริ้วรอยและมีใบหน้าที่อ่อนวัยซึ่งเป็นผลจากกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย (Influencer) และผู้ที่มีชื่อเสียง (Celebrity) ในแวดวงสังคมของฟิลิปปินส์ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มองเห็นความงามในอุดมคติ เช่น ผิวขาว ไร้ริ้วรอย ฯลฯ และต้องการเข้าคลินิกเสริมความงามเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความงามดังกล่าว นอกจากนี้ คลินิกเสริมความงามต่างๆ ยังใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์/โซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริการของคลินิกเสริมความงามอีกด้วย

(2) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงาม โดยมีอุปกรณ์และเทคนิคการเสริมความงามที่ทันสมัยทำให้การเสริมความงามมีความปลอดภัยและได้ผลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เริ่มเชื่อถือและมั่นใจในการใช้บริการคลินิกเสริมความงามมากขึ้น

(3) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในฟิลิปปินส์มีส่วนทำให้คลินิกเสริมความงามเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากฟิลิปปินส์มีบริการเสริมความงามที่มีคุณภาพและมีราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

5.2 ตลาดเป้าหมาย

ตลาดเป้าหมายสำคัญของธุรกิจคลินิกเสริมความงาม           ในฟิลิปปินส์มีความหลากหลายทั้งกลุ่มอายุ อาชีพ และวิถีชีวิตที่ต่าง      มองหาบริการและการรักษาด้านความงาม โดยตลาดเป้าหมายสำคัญได้แก่

  • กลุ่มวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อและต้องการความสวยความงามเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง สำหรับบริการที่ได้รับความนิยมในการใช้บริการในคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ เช่น การรักษาสิว การเลเซอร์ขน และการฉีดฟิลเลอร์ ฯลฯ
  • กลุ่มคนทำงาน เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวต้องเผชิญกับภาระหน้าที่ที่ต้องมีความรับผิดชอบมากและยังต้องการที่จะรักษาความอ่อนวัยของตนเองทำให้มีความนิยมใช้บริการเสริมความงาม เช่น ทรีตเมนต์หน้า การรักษาเพื่อลดริ้วรอยแห่งวัย การดูแลรูปร่างและการฟื้นฟูกล้ามเนื้อในระดับเซลล์
  • กลุ่มผู้ที่กำลังจะเป็นเจ้าสาวและผู้ที่กำลังเตรียมตัวสำหรับงานพิเศษต่างๆ เป็นกลุ่มที่มักมองหาบริการเสริมความงามที่เป็นแพ็คเกจ เช่น แพ็คเกจ Pre-wedding ที่มุ่งเน้นให้ผิวไม่มีริ้วรอย หรือมีลักษณะที่ต้องการก่อนวันสำคัญ โดยคลินิกเสริมความงามจะมีบริการหลายอย่าง อาทิ การลองแต่งหน้าเจ้าสาว การรักษาผิวพรรณ โปรแกรมลดน้ำหนัก และการเสริมความงามด้านทันตกรรม
  • ผู้ใหญ่ที่สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวมีความหวังหรือความต้องการที่จะนำความอ่อนวัยกลับมา ทำให้มักเลือกใช้บริการเสริมความงามอย่างเช่น การฉีดโบท็อกซ์ หรือ การทำศัลยกรรมยกหน้า/ดึงหน้า (Facelift)

จากตัวอย่างของกลุ่มเป้าหมายจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและการพัฒนารูปลักษณ์ภายนอกโดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ผู้ใหญ่ช่วงต้นที่กำลังพัฒนาตนเองไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการชะลอวัยทำให้อุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย

5.3 ประเภทของบริการในคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

คลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์มีบริการที่หลากหลายและสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความชอบผู้บริโภคหลายกลุ่มตั้งแต่การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดจนถึงผ่าตัด โดยบริการเสริมความงามหนึ่ง    ที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก คือ การรักษาและบำรุงผิวหน้าตั้งแต่การทำความสะอาดหน้า ขัดผิว รวมไปถึง       การนวดหน้าด้วยผลิตภัณฑ์พิเศษที่ใช้ในการรักษาอาการเฉพาะอย่าง เช่น สิวหรือริ้วรอย และคลินิกเสริมความงามบางแห่งยังมีบริการบำรุงหน้าขั้นสูงอาทิ การลอกผิวด้วยสารเคมีหรือการกรอผิวเพื่อรักษาความอ่อนเยาว์ รวมทั้งยังมีการบริการกำจัดขนด้วยเลเซอร์หรือการแวกซ์ซึ่งทำให้ได้ผลนานกว่าวิธีแบบดั้งเดิมอีกด้วยนอกจากนี้ คลินิกเสริมความงามหลายแห่งยังมีบริการกระชับสัดส่วนซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อกระชับร่างกายด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัดโดยมีเทคนิคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสลายไขมันด้วยความเย็น (Coolsculpting)      การทำทรีตเมนต์ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Energy Treatments) หรือการดูดไขมันด้วยเลเซอร์ (Laser Liposuction) ที่ช่วยสลายไขมันได้ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง แขน และขา โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีคลินิกเสริมความงามหลายแห่งให้มีบริการฉีดหน้า เช่น โบท็อกซ์ หรือฟิลเตอร์        เพื่อลดริ้วรอยและกระชับใบหน้า รวมถึงมีช่างแต่งหน้าให้บริการสำหรับแต่งหน้าผู้มาใช้บริการในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานรับปริญญา ฯลฯ

ตัวอย่างประเภทบริการและราคาของบริการเสริมความงามในฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 7

ตารางที่ 7 ตัวอย่างประเภทบริการและราคาของบริการเสริมความงามในฟิลิปปินส์

ประเภทบริการ ราคา (เปโซ)
เสริมจมูก 35,000– 80,000
ทำตาสองชั้นบน (deep set) 35,000
เสริมคางด้วยซิลิโคน 70,000
เสริมแก้ม (ดมยาสลบ / IV) 100,000 – 120,000
ยกคิ้ว (ยาชาเฉพาะที่) 40,000
ดึงหน้า (ยาชาเฉพาะที่) 100,000
ผ่าตัดหูใหญ่ที่ยื่นออกมา 50,000
ดูดไขมันคาง (ยาชาเฉพาะที่) 40,000
ดูดไขมันหน้าท้อง, สะโพก, หลัง 150,000
ดูดไขมันต้นขา 100,000 ขึ้นไป
เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน 150,000 – 200,000
ยกกระชับหน้าอก (mastopexy) 140,000
เสริมก้นด้วยซิลิโคน 180,000
ผ่าตัดแก้ไขหนังตาตก 35,000
ตัดไฝ 10,000 – 15,000
แก้ไขแผลเป็น 10,000 – 20,000
โบท็อกซ์ (Allergan brand) 350 ต่อยูนิต
ฟิลเลอร์ (Restylane / Juvederm) 20,000 – 25,000 ต่อ 1 ml
ลดขนาดริมฝีปาก 30,000 – 35,000
ทำลักยิ้ม 30,000 สำหรับทั้งสองข้าง
ลดขนาดคาง (ดมยาสลบ) 150,000
ผ่าตัดหน้าท้อง / ยกกระชับหน้าท้อง 150,000 – 210,000
ผ่าตัดกระชับช่องคลอด 50,000

ที่มา : https://royalaesthetics.ph/plastic-cosmetic-surgery/

 

5.4 การแข่งขันในอุตสาหกรรม

การแข่งขันในอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าสู่ตลาดและมีการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์นิยมใช้กันค่อนข้างมาก และประสบความสำเร็จในการช่วงชิงลูกค้า ดังนี้

  • การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การมุ่งเน้นการรักษาผิว การลดเลือนริ้วรอย การลดไขมันส่วนเกินตามร่างกาย ฯลฯ
  • การบริการลูกค้าเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โดยคลินิกเสริมความงามจะให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและไว้ใจ รวมทั้งกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่และบริการหลังการขาย รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
  • การส่งเสริมการตลาดโดยคลินิกเสริมความงามจำนวนมากในฟิลิปปินส์นิยมใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและการโฆษณาออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงยังเป็นช่องทางในการให้สร้างการรับรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริมความงามประเภทต่างๆ ตลอดจนใช้ช่องทาง ในการบอกเล่า/รีวิวเรื่องราวของผู้มาใช้บริการที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวตนใหม่
  • การยกระดับเครื่องมืออุปกรณ์และการลงทุนในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้คลินิกเสริม ความงามสามารถแข่งขันได้อย่างโดดเด่นและยั่งยืน

สำหรับแบรนด์คลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นในตลาดฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 8

ตารางที่ 8 แบรนด์คลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นในตลาดฟิลิปปินส์

ชื่อสถานบริการ รายละเอียด รูปภาพ
Belo Medical Group ก่อตั้งโดย Dr. Vicki Belo เป็นคลินิกเสริมความงามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ โดยให้บริการด้านเสริมความงามหลากหลายตั้งแต่เลเซอร์ การบำรุงผิว และการผ่าตัดศัลยกรรม
The Aivee Clinic มีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงและลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและโด่งดังในฟิลิปปินส์ มีบริการตั้งแต่การบำรุงผิวหน้าให้อ่อนเยาว์ การกระชับสัดส่วนร่างกาย การปลูกผม และการบำรุงรักษาผิวหนัง
Skin Philosophie Medical Aesthetic & Lifestyle Solutions บริหารโดย Dr. Kyla Talens มีบริการเฉพาะบุคคลเพื่อให้เห็นผลที่เป็นธรรมชาติและเน้นบริการตั้งแต่การฉีดหน้า การเลเซอร์ รวมถึงการบำรุงรักษาผิว
Dermclinic มีหลายสาขา และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านผิวหนัง เช่น การรักษาสิว การลอกผิว รวมถึงการฟื้นฟูผิวให้อ่อนเยาว์
Marie France เป็นคลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นด้านการกระชับสัดส่วนของร่างกายและการลดน้ำหนัก โดยมีบริการตั้งแต่การจัดการน้ำหนัก การกระชับผิวหนัง และการลดเซลลูไลท์ในร่างกาย
  1. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

6.1 การลงทุนของชาวต่างชาติและสิทธิประโยชน์ในการลงทุน 

ฟิลิปปินส์ไม่มีข้อห้ามสำหรับชาวต่างชาติในการลงทุนในสถานบริการสุขภาพตามรายการธุรกิจที่ห้ามชาวต่างชาติลงทุน (Foreign Negative List) ภายใต้กฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติ (RA 7042) ยกเว้นร้านซาวน่าและอาบอบนวด ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุนได้สูงสุดร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจระดับ SME ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือกรณีที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือ           มีการจ้างงานเกิน 50 คน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้สูงสุดเพียงร้อยละ 40

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของฟิลิปปินส์ (BOI) ยังได้ให้สิทธิพิเศษ     ในการลงทุนโดยสถานบริการสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลอยู่ในรายการ Investment Priorities List ที่สามารถขอยื่นสิทธิพิเศษจาก BOI ได้ โดยมีสิทธิพิเศษ ดังนี้

(1) ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้

  • 6 ปีสำหรับโครงการที่มีสถานะ Pioneer Status และสำหรับโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ด้อยพัฒนา (Least developed area: LDA) โดยโครงการที่มีสถานะ Pioneer Status หมายถึงโครงการ ที่เป็นนวัตกรรมใหม่และไม่เคยมีการผลิตเชิงพาณิชย์มาก่อนในฟิลิปปินส์ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตร     ที่ทำให้ฟิลิปปินส์พึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ หรือเป็นโครงการเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก
  • 4 ปีสำหรับโครงการใหม่ที่มีสถานะ Non-Pioneer Status
  • 3 ปีสำหรับโครงการขยาย/การปรับปรุง

(2) การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับอุปกรณ์ทุน อะไหล่ และอุปกรณ์เสริมที่นำเข้า

(3) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการขนถ่ายและภาษีการส่งออก อากร ค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมต่างๆ

(4) เครดิตภาษีสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า

(5) การนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทโดยไม่ต้องเสียภาษีและอากร

(6) การหักค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ธุรกิจของชาวต่างชาติ (หมายถึงธุรกิจที่มีสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าร้อยละ 40) จะต้องมีสถานะเป็น Pioneer Status เท่านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของ BOI ได้

6.2 การเริ่มต้นธุรกิจโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพ

(1) จดทะเบียนจองชื่อและจัดตั้งบริษัทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ (Security Exchange Commission: SEC)

(2) ดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจการตั้งอยู่ ได้แก่ ใบอนุญาต Barangay clearance ใบอนุญาต Mayor’s permit และใบอนุญาตประกอบการ (Business Permit to Operate)

(3) จดทะเบียนกับกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ (Bureau of Internal Revenue)

(4) ดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากร ได้แก่ ประกันสังคม (SSS), Philhealth และ Pag-ibig fund

(5) จดทะเบียนกับ Bureau of Health Facilities and Services Accreditation กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลจะต้องมีการจดทะเบียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

(5.1) Certificate of Need (CON) – เอกสารที่ระบุถึงความจำเป็นในการสร้างโรงพยาบาล โดยจำเป็นต้องใช้เมื่อขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งต้องขอเอกสารดังกล่าวกับหน่วยงาน Center for Health and Development (CHD) ในท้องที่ที่กิจการตั้งอยู่

(5.2) Department of Health-Permit to Construct (DOH-PTC) ใบอนุญาตของกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ โดยใช้สำหรับการก่อสร้าง   สถานบริการสุขภาพใหม่ที่กำหนด หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลงแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องใช้ประกอบการขอใบอนุญาตประกอบการ (License to Operate) ด้วย

       สำหรับการขอ DOH-PTC จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่างตั้งแต่เอกสารที่จดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) หรือ Security Exchange Commission (SEC) แบบแปลนของสถานที่ก่อสร้าง และเอกสาร CON ตามข้อ 5.1 ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และต้องยื่นเอกสารกับหน่วยงาน Bureau of Health Facilities and Services เพื่อดำเนินการตรวจสอบและประเมินแบบแปลนหรือเอกสาร ทั้งนี้ มาตรฐานของแบบของโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2016-0042.pdf

(5.3) License to Operate เป็นใบอนุญาตที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้บุคคล หน่วยงาน หรือนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ เป็นเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจการตามกฎหมาย โดยสามารถขอใบอนุญาตดังกล่าวได้ที่ Bureau of Health Facilities and Services

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดของการขอใบอนุญาตต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2012-0012.pdf

6.3 มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสุขภาพ

     ตามกฎหมาย Administrative order 2012-0012 เรื่อง Rules and Regulations Governing the New Classification of Hospitals and other Health Facilities in the Philippines สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในด้านต่างๆ ได้แก่

(1) บุคลากร – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องมีจำนวนบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ต้องมีแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

      (2) สถานบริการ – สถานบริการต้องมีพื้นที่ที่เพียงพอ ปลอดภัยและทำให้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมีใบ DOH-PTC ในการออกแบบและวางแผนการก่อสร้างด้วย

(3) อุปกรณ์และเครื่องมือ – สถานบริการสุขภาพต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่เพียงพอต่อ
การให้บริการและสอดคล้องต่อระดับของการให้บริการ นอกจากนี้ ต้องมีแนวทางในการบำรุงรักษาและ        แผนฉุกเฉินในกรณีที่เครื่องมือและอุปกรณ์เสียหาย

(4) การส่งมอบบริการ – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องส่งมอบบริการที่มีมาตรฐานคุณภาพ    ที่สอดคล้องกับการประเมินและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ต้องมีเอกสารขั้นตอนการทำงาน (Standard Operating Procedures – SOP) ในการให้บริการ มีนโยบายในด้านคลินิกและการส่งต่อที่เป็นระบบ และต้องมีการนำเลือดมาจากศูนย์หรือสถานที่ที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ

(5) การพัฒนาคุณภาพ – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องจัดตั้งและดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

(6) การบริหารจัดการข้อมูล – สถานบริการสุขภาพต้องมีระบบในการสื่อสาร การบันทึก
และการรายงานข้อมูลของบุคลากรและผู้มารับบริการ

(7) การจัดการสิ่งแวดล้อม – สถานบริการสุขภาพต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับ          ผู้มารับบริการ เจ้าหน้าที่ และสาธารณะ ทั้งนี้ ต้องมีมาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับระบบระบายอากาศ แสง ความสะอาด ความปลอดภัย มีมาตรการเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสถานที่ การจัดการน้ำเสีย        ขยะ และสารพิษ ตามกฎระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2012-0012.pdf

          6.4 กฎระเบียบเกี่ยวกับคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

               คลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินกิจการอย่างถูกกฎหมาย โดยจะต้องมีการจดทะเบียนคลินิกคล้ายกับโรงพยาบาล มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

(1) จดทะเบียนจองชื่อและจัดตั้งบริษัทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ (Security Exchange Commission: SEC)

(2) ดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจการตั้งอยู่ ได้แก่ ใบอนุญาต Barangay clearance ใบอนุญาต Mayor’s permit และใบอนุญาตประกอบการ (Business Permit to Operate)

(3) จดทะเบียนกับกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ (Bureau of Internal Revenue)

(4) ดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากร ได้แก่ ประกันสังคม (SSS), Philhealth และ Pag-ibig fund

(5) จดทะเบียนกับ Bureau of Health Facilities and Services Accreditation กระทรวงสาธารณสุข ตามกฎหมาย Administrative Order No. 183s., 2004 – Rules and Regulations Governing the Licensure and Regulations of the Ambulatory Surgical Clinics โดยต้องขอเอกสาร ได้แก่

(5.1) Permit to Construct (PTC) เป็นใบอนุญาตของกระทรวงสาธารณสุขในการก่อสร้างคลินิก โดยต้องใช้สำหรับการก่อสร้างสถานบริการสุขภาพใหม่ที่กำหนด หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลง          แบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องใช้ในการขอใบอนุญาตประกอบการ License to Operate ด้วย นอกจากนี้ การขอ PTC จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่เอกสารที่จดทะเบียนธุรกิจกับ DTI หรือ SEC แบบแปลนของสถานที่ก่อสร้าง และต้องยื่นเอกสารกับ Bureau of Health Facilities and Services เพื่อให้ตรวจสอบและประเมินแบบแปลนหรือเอกสาร

(5.2) License to Operate เป็นใบอนุญาตที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้คลินิกเสริม      ความงามและเป็นเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจการตามกฎหมาย โดยสามารถขอใบอนุญาตดังกล่าวได้ที่ หน่วยงาน Bureau of Health Facilities and Services ทั้งนี้ การขอใบอนุญาตดังกล่าวต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่างตั้งแต่ใบสมัคร สัญญากับโรงพยาบาลใกล้เคียงในกรณีที่มีการส่งต่อ ใบรับรองความปลอดภัยด้านอัคคีภัย รายการบริการของคลินิก รายชื่อบุคลากร รายชื่ออุปกรณ์ สัญญาเช่า และหนังสือแสดงเจตจำนงว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/ambulatory-surgical-clinics/ และ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-183-s-04.pdf

 

  1. ส่วนประสมทางการตลาดของธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

จากข้อมูลตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคของธุรกิจบริการสุขภาพและเสริมความงามในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาด (7P) ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจนี้ได้ ดังแสดงในตารางที่ 9

ตารางที่ 9 ส่วนประสมทางการตลาด (7P) สำหรับธุรกิจบริการสุขภาพในฟิลิปปินส์

ส่วนประสมทางการตลาด รายละเอียด
ผลิตภัณฑ์ (Product) – กำหนดบริการที่ชัดเจนและสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีขององค์กร

– สำหรับโรงพยาบาลสามารถเลือกให้บริการการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีความต้องการและมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าบริการทางการแพทย์ทั่วไป

– สำหรับคลินิกหรือสถานบริการเสริมความงาม ควรมีบริการเฉพาะทาง     และจุดขายเฉพาะของคลินิก เช่น ผิวหนัง การกระชับสัดส่วน ฯลฯ

ราคา (Price) – การตั้งราคาควรคำนึงถึงความสามารถทางการเงินของตลาดเป้าหมาย    เป็นหลัก เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง สามารถตั้งราคาสูงได้

– การตั้งราคาต้องมีความชัดเจนซึ่งอาจพิจารณาทำเป็นแพ็คเกจ หรือควรมีการแสดงราคาที่ชัดเจนซึ่งอาจเป็นการประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์หรือที่    สถานประกอบการ

สถานที่ (Place) – สถานบริการสุขภาพประเภทโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับพรีเมียมควรตั้งอยู่ในพื้นที่ Prime Area เช่น เมือง Makati, BGC, Alabang ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาศัยของกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง

– ทำเลของคลินิก/สถานบริการสุขภาพประเภทสถานบริการความงาม      ควรอยู่ในเขตเมืองที่เป็นแหล่งชุมชนหรือห้างสรรพสินค้า

การส่งเสริมทางการตลาด (Promotion) – สถานบริการสุขภาพควรมีการส่งเสริมทางการตลาด สำหรับโรงพยาบาล อาจทำการส่งเสริมทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการรักษาโรค ขณะที่คลินิก/สถานเสริมความงามสามารถทำการตลาดได้ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่การใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ (Tiktok, Facebook, Youtube) การแจกใบปลิว การออกบูธ รวมไปถึงการจัดโปรโมชันในช่วงเวลาต่างๆ
บุคลากร (People) – ควรจ้างบุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และแรงงานที่มีทักษะในการดูแล รวมทั้งมีทัศนคติที่ดี

– ควรมีการฝึกอบกรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบในการดูแลบุคลากรโดยเฉพาะในเรื่องใบประกอบวิชาชีพในสถานบริการสุขภาพประเภทโรงพยาบาล

– ควรมีกลยุทธ์การรักษาบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาอัตราหมุนเวียนบุคลากรสูง

กระบวนการ (Process) – สถานบริการดูแลสุขภาพควรมีกระบวนการในการรับผู้ป่วยและการดูแลผู้สูงอายุที่ชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว

– สถานบริการดูแลสุขภาพควรมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับมาตรฐาน    ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย

– สถานบริการสุขภาพควรมีการปรับปรุงกระบวนการให้เข้ากับสถานการณ์และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

– สถานบริการสุขภาพต้องมีกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยและลูกค้า           ที่คำนึงถึงประสบการณ์ลูกค้าโดยให้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการรับบริการตั้งแต่การจองเพื่อเข้ารับบริการ การรับบริการ และขั้นตอนหลังการรับบริการ

สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ (Physical evidence) – สภาพแวดล้อมของสถานบริการสุขภาพต้องมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน

– อาจมีการแสดงประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

 

  1. การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการสุขภาพในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจบริการสุขภาพไทยในฟิลิปปินส์ (SWOT) ได้ ดังแสดงในตารางที่ 10

ตารางที่ 10 การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามไทยในฟิลิปปินส์

มิติ รายละเอียด
จุดแข็ง (Strengths) 1. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสามารถทาง
การแข่งขันและมีผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารโรงพยาบาลและคลินิก/สถานเสริมความงามมาอย่างยาวนานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล2. คนไทยมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงและใกล้ชิดกับคนฟิลิปปินส์ และสามารถ  เข้าใจคนฟิลิปปินส์ได้ดี

3. บุคลากรด้านสุขภาพของไทยมีชื่อเสียงที่ดีในระดับโลก

จุดอ่อน (Weaknesses) 1. ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการลงทุนและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพหรือคลินิกเสริมความงามในต่างประเทศที่ค่อนข้างจำกัด

2. ผู้ประกอบการไทยมีเครือข่ายในการประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจในช่วงแรก

3. ผู้ประกอบการไทยยังมองไม่เห็นโอกาสของการลงทุนในฟิลิปปินส์

โอกาส (Opportunities) 1. เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์  มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อในการหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย

2. รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนด้านสถานบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

3. สถานบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์โดยรวมยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับประเทศไทย

4. ฟิลิปปินส์มีบุคลากรด้านสุขภาพจำนวนมาก และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี รวมถึงมีค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ

ความเสี่ยง (Threats) 1. ผู้เล่นในธุรกิจบริการสุขภาพหลายรายในฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ที่ยาวนาน และมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง

2. กฎหมาย/กฎระเบียบในการจัดตั้งและการดำเนินเกี่ยวกับธุรกิจบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน

3. ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในฟิลิปปินส์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดต้นทุนสูง

4. บุคลากรด้านสุขภาพจำนวนมากมีแนวคิดที่จะอยากย้ายไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้มีอัตราการหมุนเวียนของพนักงานที่สูงซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนในการฝึกอบรมหรือพัฒนาบุคลากร

 

  1. ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามของไทย ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์

9.1 ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงาม      ในฟิลิปปินส์ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน การขาดประสบการณ์และเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งทางธุรกิจ และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อาจทำให้วิธีการลงทุนทางตรงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีความเสี่ยง ดังนั้น        ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณามองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ไว้ใจและเชื่อใจได้ในการร่วมลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง      รวมทั้งสามารถอาศัยความรู้และประสบการณ์ของพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจในฟิลิปปินส์ได้

9.2 สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี โดยผู้ประกอบการไทยให้สิทธิผู้ประกอบการฟิลิปปินส์  ในการใช้แบรนด์ ระบบมาตรฐานต่างๆ รวมถึงรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการคลินิกเสริมความงาม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้เกี่ยวกับตลาดท้องถิ่นของแฟรนไชส์ในการพัฒนาและขยายธุรกิจต่อไปได้

9.3 ผู้ประกอบการไทยควรร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในการทำกิจกรรมทางการตลาดและ                การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยควรเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างประสิทธิภาพในประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ อาจพิจารณาใช้การประชาสัมพันธ์ช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้ป้ายโฆษณา และการใช้สื่อโทรทัศน์ ฯลฯ

9.4 การดำเนินธุรกิจบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพทั้งในด้านสิ่งก่อสร้าง บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการดำเนินงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องตรวจสอบและเข้าใจกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ       ก่อนก่อตั้งกิจการและระหว่างดำเนินกิจการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง

———————————————-

Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila

Abteilung für internationale Handelsförderung

มิถุนายน 2567

  1. มูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) และบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute: GWI) ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ของฟิลิปปินส์มีขนาดกว่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือ 355 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน) คิดเป็นร้อยละ 10.14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอันดับ 22 ของโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรมย่อยภายในเศรษฐกิจสุขภาพของฟิลิปปินส์พบว่า ภาคส่วนการดูแลส่วนบุคคล (Personal Care) เช่น ซาลอน เสริมสวย เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว ฯลฯ มีมูลค่ามากที่สุดคิดเป็น 2.318 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น      ร้อยละ 56.54 รองลงมาได้แก่ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการและการลดน้ำหนัก มูลค่า 6.72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 16.39) การสาธารณสุข การป้องกันและการแพทย์ส่วนบุคคล มูลค่า 3.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 8.93) การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มูลค่า 2.44 พันเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.95) และการแพทย์แผนโบราณและแพทย์ทางเลือก มูลค่า 2.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.34) ตามลำดับ ดังแสดงในแผนภูมิที่ 1

แผนภูมิที่ 1 เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ของฟิลิปปินส์ในปี 2565

ในช่วงปี 2563 – 2565 เศรษฐกิจสุขภาพของฟิลิปปินส์มีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 8.9 ต่อปี สูงกว่าการขยายตัวของ GDP ในภาพรวม และเมื่อพิจารณาการเติบโตของอุตสาหกรรมย่อยภายใต้เศรษฐกิจสุขภาพ พบว่าบางอุตสาหกรรมย่อยมีการเติบโตที่ค่อนข้างโดดเด่น อาทิ การสาธารณสุข การป้องกันและการแพทย์ส่วนบุคคล มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 44 ต่อปี การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย      ร้อยละ 79 และสปา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 45.4 ต่อปี ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 มูลค่าตลาดของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ในฟิลิปปินส์ปี 2563 – 2565 แยกตามอุตสาหกรรมย่อย

มูลค่า: พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาคส่วน ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 % Change 2563-2565
สินค้าและบริการ personal care 21.47 23.08 23.18 3.9
อาหารสุขภาพและการลดน้ำหนัก 6.46 6.74 6.72 2.0
การสาธารณสุข การป้องกันโรค และยาเพื่อบำรุงสุขภาพส่วนบุคคล 1.76 3.34 3.66 44.0
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 0.75 0.66 2.44 79.9
การแพทย์แผนโบราณและแพทย์ทางเลือก 1.99 2.15 2.19 5.0
กิจกรรมทางกาย 1.51 1.57 1.77 8.1
สุขภาพจิต 0.50 0.61 0.70 18.7
สปา 0.23 0.29 0.49 45.4
สุขภาพในที่ทำงาน 0.16 0.17 0.19 3.6
อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ 0.10 0.13 0.17 31.5
น้ำพุร้อน/น้ำแร่ 0.04 0.05 0.08 37.9
รวม 34.59 38.29 40.98 8.9

 

  1. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ในภาพรวม

2.1 สถิติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ข้อมูลการสำรวจธุรกิจและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ประจำปี (Annual Survey of Philippine Business and Industry: ASPBI) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในปี 2563 ฟิลิปปินส์มี
สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมทั้งหมด 7,217 แห่งทั่วประเทศ ลดลงจากร้อยละ 3.7 จากปี 2562 ที่มีสถานประกอบการ 7,494 แห่ง และเมื่อพิจารณากิจกรรมย่อยในอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า คลินิกแพทย์และทันตแพทย์มีจำนวนสถานประกอบการมากที่สุด จำนวน 5,146 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71.3 ของสถานประกอบการทั้งหมด รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาล จำนวน 1,240 แห่ง (ร้อยละ 17.2) และกิจกรรมทางบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก จำนวน 311 แห่ง (ร้อยละ 4.3) ตามลำดับ ดังแผนภูมิที่ 2

 

แผนภูมิที่ 2 จำนวนสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมของฟิลิปปินส์ปี 2563

 

เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคพบว่า เขตนครหลวงแห่งชาติ (National Capital Region: NCR) มีจำนวนสถานประกอบการมากที่สุด จำนวน 2,279 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 31.6 ของสถานประกอบการทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เขต CALABARZON จำนวน 1,158 แห่ง (ร้อยละ 16) และเขตลูซอนกลาง 801 แห่ง (ร้อยละ 11.1) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานประกอบการบริการสุขภาพส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลาและบริเวณโดยรอบเป็นหลัก ขณะที่การจ้างงานพบว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมมีการจ้างงานจำนวน 218,465 ตำแหน่ง ซึ่งอยู่ในกิจกรรมโรงพยาบาลจำนวน 159,733 ตำแหน่ง รองลงมาได้แก่ คลินิกแพทย์และทันตแพทย์ (45,153 ตำแหน่ง) และกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก (6,452 ตำแหน่ง) ดังแสดงในแผนภูมิที่ 3

แผนภูมิที่ 3 การจ้างงานของอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมของฟิลิปปินส์

สำหรับการจ่ายค่าแรงพบว่า ในปี 2563 มีมูลค่า 5.35 หมื่นล้านเปโซ หรือเฉลี่ยคิดเป็น 248,120 เปโซต่อคนต่อปี โดยกิจกรรมบริการสังคมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ไม่มีที่พักมีการจ่ายค่าแรงพนักงานมากที่สุดเฉลี่ย 386,110 เปโซต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาลเฉลี่ย 258,640 เปโซต่อปีต่อคน และคลินิกแพทย์และทันตแพทย์เฉลี่ย 219,780 เปโซต่อปีต่อคน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า มีการจ่ายค่าแรงพนักงานที่แตกต่างกัน โดยเขต NCR มีการจ่ายค่าแรงเฉลี่ย 344,030 เปโซต่อคนต่อปี ขณะที่เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนามีการจ่ายเพียง 133,340 เปโซต่อคนต่อปีเท่านั้น และเมื่อพิจารณาในแง่มิติของรายได้พบว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมมีรายได้ทั้งหมด 2.52 แสนล้านเปโซ โดยเขต NCR เขต CALABARZON และเขตลูซอนกลางมีรายได้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 68.4 ของรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมดังกล่าว และกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดได้แก่ โรงพยาบาล มูลค่า 1.80 แสนล้านเปโซ หรือคิดเป็นร้อยละ 71.3 รองลงมาได้แก่ คลินิกแพทย์และทันตแพทย์ มูลค่า 5.43 หมื่นล้านเปโซ (ร้อยละ 21.5) และกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่ไม่มีที่พัก มูลค่า 1.34 หมื่นล้าน เปโซ (ร้อยละ 5.3) ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบว่าอุตสาหกรรมสุขภาพและบริการสังคมยังได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบของการช่วยเหลือทางการเงินและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นมูลค่า 3.15 แสนล้านเปโซ โดยโรงพยาบาลได้รับการอุดหนุนมากที่สุดมูลค่า 2.16 แสนล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 68.7 ตามด้วยคลินิกแพทย์และทันตแพทย์ มูลค่า 83.61 ล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 26.6

2.2 ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์เป็นการให้บริการร่วมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลโดยโรงพยาบาลของรัฐมุ่งเน้นในการให้บริการเชิงป้องกันและการรักษาเบื้องต้น รวมไปถึงการให้ความรู้ กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพโดยแบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 3 ระดับได้แก่ โรงพยาบาลระดับประเทศ โรงพยาบาลระดับเขตหรือชนบท และสถานีอนามัยหรือศูนย์สุขภาพชุมชน ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับปอด และ โรคกระดูก โดยโรงพยาบาลเอกชนจะแบ่งออกเป็น โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทาง โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป และคลินิกเอกชน โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแล คือ Health Facilities & Services Regulatory Bureau (HFSRB) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (DOH)

ทั้งนี้ ระบบการให้บริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ค่อนข้างมีความซับซ้อน มีหลายขั้นตอน และมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นค่อนข้างมาก โดยในส่วนของรัฐบาลกลางจะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกำกับหลัก ทำหน้าที่พัฒนาและอนุมัติมาตรฐานคุณภาพและระเบียบวิธีปฏิบัติงานทางคลินิก รวมถึงรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตของสถานบริการสุขภาพ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ในขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารจัดการและงบประมาณในระบบท้องถิ่นของตนโดยหน่วยงานท้องถิ่นในระดับจังหวัดมีหน้าที่ในการให้บริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ในส่วนของหน่วยงานท้องถิ่นระดับเมืองหรือเทศบาล มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ บริการเชิงส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพ รวมถึงการปฐมพยาบาลฉุกเฉินเบื้องต้น

สำหรับระบบการให้บริการสุขภาพของภาคเอกชนของฟิลิปปินส์จะมีผู้ให้บริการทั้งที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรหลายพันแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการที่เก็บค่าธรรมเนียม ณ จุดบริการ นอกจากนี้

ภาคเอกชนยังมีบทบาทในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะในการศัลยกรรมต้นทุนต่ำหรือบริการด้านทันตกรรม ผู้ให้บริการภาคเอกชนยังสามารถแบ่งเป็นผู้ให้บริการแบบเป็นทางการ (Formal) และไม่เป็นทางการ (Informal) โดยผู้ให้บริการภาคเอกชนแบบเป็นทางการ อาทิ โรงพยาบาล คลินิก ห้องปฏิบัติการ   ผดุงครรภ์ ร้านขายยา บริษัทผู้ผลิตยา บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยทางการแพทย์สำหรับผู้ให้บริการภาคเอกชนแบบไม่เป็นทางการ อาทิ กลุ่มแพทย์ทางเลือกหรือหมอตำแยซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมการแพทย์ฟิลิปปินส์             (The Philippine Medical Association) และสมาคมพยาบาลฟิลิปปินส์ (The Philippine Nurses Association)   ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมมาตรฐานและความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบอาชีพด้านสุขภาพด้วย

ในปี 2562 ฟิลิปปินส์มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ Republic Act 11223 หรือ Universal Health Care (UHC) Law ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ (OFW) สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ภายใต้หน่วยงาน PhilHealth โดยในปัจจุบันพระราชบัญญัติ UHC ยังกำหนดให้ชาวฟิลิปปินส์
ทุกคนอยู่ภายใต้โครงการดังกล่าวอัตโนมัติ ภายใต้การรับผิดชอบของหน่วยงาน PhilHealth ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของแพ็คเกจสุขภาพของภาครัฐ โดยงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบสุขภาพได้มาจากการเก็บภาษีบาป (Sin Tax) ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณให้กับระบบสุขภาพท้องถิ่นและโครงสร้างพื้นฐานทางสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และเมื่อพิจารณาระบบการเงินของประกันสุขภาพในฟิลิปปินส์จะพบว่า PhilHealth ได้เบี้ยประกันจากทั้งประชาชนทั่วไป บริษัทและรัฐบาล โดยเมื่อประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพ PhilHealth จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย         ซึ่งจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 30-70 และจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ผู้เข้ารับบริการต้องรับผิดชอบด้วยตนเองในบางส่วน อย่างไรก็ตาม การเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ทั้งหมดได้กลายเป็นปัญหาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยประชาชนบางส่วนจำเป็นต้องเลือกทำประกันสุขภาพกับเอกชนควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังมีการลงทุนจากภาคเอกชนจำนวนมากตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาลใหม่ การควบรวมโรงพยาบาลขนาดเล็ก และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาล โดยกลุ่มเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มหลักในการผลักดัน การพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น และความพยายามในการผลักดันการพัฒนาโรงพยาบาลให้ทันสมัยของโรงพยาบาลเอกชนกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีความพยายามค้นหาอุปกรณ์    ที่ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคคนไข้ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ยังมาจากการผลักดัน และการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่แข่งขันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบสำคัญในด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการทางการแพทย์ที่ถูกกว่าหลายประเทศและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี

2.3 ความท้าทายของระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์

ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ดังนี้

(1) การขาดแคลนบุคลากร

บุคลากรด้านสุขภาพที่ทำงานในระบบสาธารณสุขฟิลิปปินส์ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ
พยาบาล (ประมาณ 90,000 คน) รองลงมาได้แก่ แพทย์ (ประมาณ 40,000 คน) ผดุงครรภ์ (ประมาณ 43,000 คน) และนักเทคนิคการแพทย์ (ประมาณ 13,000 คน) ทั้งนี้ สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรของฟิลิปปินส์เฉลี่ยอยู่ที่แพทย์ 6 คนต่อประชาชน 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเพียงเขต NCR เพียงเขตเดียวเท่านั้นที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่แพทย์ 10 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ขณะที่จำนวนพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12-13 คนต่อประชากร 10,000 คนใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์        เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุข คือ ภาวะสมองไหล เนื่องจากบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีความสามารถของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มักเลือกออกไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากได้ผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมบริการสุขภาพขาดแคลนแรงงานไปด้วย

(2) การขาดแคลนทรัพยากรในการบำบัดและรักษาผู้ติดยาเสพติด

ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์มีการทำสงครามเพื่อปราบปรามยาเสพติดที่เข้มข้น
ส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมหรือสังหารจำนวนมาก โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มเข้าสู่ศูนย์บำบัดยาเสพติดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าศูนย์บำบัดยาเสพติดในฟิลิปปินส์มีจำนวนไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาความหนาแน่นจนไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ต้องการบำบัดได้

(3) การตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่ล่าช้า

    คุณภาพของบริการรถพยาบาลและรถฉุกเฉินมีความแตกต่างกันอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่มีกฎหมาย/กฎระเบียบเกี่ยวกับบริการฉุกเฉินโดยเฉพาะ ทำให้บริการรถฉุกเฉินมักมีความล่าช้า และการรักษาก่อนถึงโรงพยาบาลในบางครั้งไม่เพียงพอหรือไม่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ขณะที่รถพยาบาลของภาคเอกชนมักมีบุคลากรและอุปกรณ์ที่ดีกว่าและสามารถให้บริการได้เร็วกว่า

(4) ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานบริการของรัฐและเอกชน

สถานบริการสุขภาพของภาคเอกชนในฟิลิปปินส์มักมีความสะอาด ใหม่และสะดวกสบายกว่าสถานบริการสุขภาพของภาครัฐเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ รวมทั้งการใช้เวลาในการรอเพื่อรับบริการน้อยกว่า ซึ่งคล้ายกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ระบบบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์พบว่ามีการมีการพึ่งพาผู้ให้บริการภาคเอกชนค่อนข้างมาก โดยกว่าร้อยละ 30 ของประชากรฟิลิปปินส์ใช้บริการสถานบริการของภาคเอกชนเป็นหลัก และโรงพยาบาลกว่าร้อยละ 60 ในฟิลิปปินส์เป็นของเอกชน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ก็ยังดำเนินการโดยภาคเอกชนเป็นหลักเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเฉพาะทางจำนวนมาก

 

  1. ทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์
    • ทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพของคนฟิลิปปินส์

3.1.1 ชาวฟิลิปปินส์มีความเชื่อในแนวคิด “ความสมดุล” (Timbang) ซึ่งเป็นแนวคิดในการดูแลตนเองรวมถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวฟิลิปปินส์ด้วย โดยภายใต้แนวคิดดังกล่าว สุขภาพเป็นเรื่องของความสมดุลภายในร่างกาย หากเกิดการเจ็บป่วยหรือความเครียดจะเป็นผลมาจากความไม่สมดุล ตัวอย่างความเชื่อของชาวฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวข้องกับ Timbang มีดังนี้

  • การเปลี่ยนจากความร้อนไปเป็นความเย็นโดยฉับพลัน ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย
  • สภาพแวดล้อมที่อบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพให้สมดุล
  • ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เย็นในช่วงเช้า
  • ร่างกายที่ร้อนจัดเกินไป มักสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
  • ไขมันทำให้เกิดความอบอุ่นในร่างกาย และช่วยปกป้องพลังงานที่สำคัญในร่างกาย
  • ความไม่สมดุลจากการวิตกกังวลและการทำงานหนักเกินไปทำให้เกิดความเครียดและ การเจ็บป่วย
  • การควบคุมอารมณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคืนความสมดุล
    • ชาวฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักมีพฤติกรรมจัดการกับอาการป่วยด้วยการช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว และความเชื่อในพระเจ้า โดยการรักษาหรืออาการที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์
  • ครอบครัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาของชาวฟิลิปปินส์อย่างมาก โดยผู้ป่วยมักเชื่อความต้องการครอบครัวมากกว่าความต้องการของตนเองซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นกลุ่มและความกลมเกลียวของชาวฟิลิปปินส์
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักมีพฤติกรรมในการสังเกตอาการและหาสาเหตุของอาการป่วยก่อนที่จะประเมินความเสี่ยงต่อร่างกายหรือก่อนเข้ารับการรักษาอย่างเป็นทางการ รวมถึงมักพิจารณาภาระทางการเงินและจิตใจของสมาชิกในครอบครัว
  • ชาวฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาแบบโบราณหรือการแพทย์ทางเลือก การพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือผู้นำทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับโรคหรือการเจ็บป่วย
  • ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์มักนิยมใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อศึกษาข้อมูล หรืออ่านรีวิวการรักษาของโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่จะเข้าไปใช้บริการอีกด้วย

3.1.3 ชาวฟิลิปปินส์มักให้คุณค่าและแนวคิดในวัฒนธรรมเมื่อมีการเจ็บป่วยมีหลายอย่าง อาทิ

  • ความอดทน (Tiyaga) – ความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
  • ความยืดหยุ่น (Lakas ng loob)
  • ความตลกขบขัน (Tatawanan ang problema) – ความสามารถในการทำให้เรื่องร้ายเป็นเรื่องตลก
  • การยอมรับในโชคชะตา (Bahala na) – แนวคิดว่าการเจ็บป่วยหรือการทรมานเป็น สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และถูกกำหนดมาแล้วโดยพระเจ้า ซึ่งคนไข้ สมาชิกครอบครัว หรือแพทย์ไม่ควร เข้าไปรบกวน
  • การทำตามความต้องการของกลุ่มหรือส่วนรวม (Pakikisama)
    • นอกจากการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ชาวฟิลิปปินส์ยังมีแนวคิดและพฤติกรรมในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตที่ต่างไปกับการดูแลสุขภาพกาย ดังนี้
  • ชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต ทำให้หลีกเลี่ยงการไปพบผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากกลัวว่าสังคมจะมองว่าเป็นคนสติฟั่นเฟือน และให้ความสำคัญกับการเงิน ทำให้การให้ความสำคัญกับการหาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาลดน้อยลง
  • หากมีปัญหาสุขภาพจิต ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนมักเลือกปรึกษาครอบครัว เพื่อน หรือหมอพื้นบ้านและผู้นำจิตวิญญาณในท้องถิ่นก่อน
  • การใช้บริการสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากโดยเฉพาะในช่วงเวลาทำการทั่วไป เนื่องจากต้องมีสมาชิกในครอบครัวไปด้วย
  • ชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่าการเจ็บป่วยทางจิตสะท้อนถึงจิตวิญญาณที่อ่อนแอ และอาจเป็นผลจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ

3.2 พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์

ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุว่า การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ชาวฟิลิปปินส์หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยมีการออกกำลังกายและทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสุขภาพจิต โดยในปี 2566 พบว่าร้อยละ 55 ของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ระบุว่า ตนเองออกกำลังกายสม่ำเสมอ และร้อยละ 68 ระบุว่า รับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเป็นประจำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง    รวมทั้งปัจจุบันผู้บริโภคฟิลิปปินส์ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมสุขภาพมากขึ้น เช่น การใช้แอปพลิเคชันหรือ Smart watch เพื่อติดตามพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง โดยมีผู้ที่ใส่เครื่องมือดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 รวมทั้งผู้บริโภคกว่าร้อยละ 25 ยังนิยมเยี่ยมชมเว็บไซต์ทางการแพทย์หรือสุขภาพเป็นประจำอีกด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่าผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากยังให้ความสำคัญกับการรับประทานโดยร้อยละ 50 มีการติดตามการควบคุมอาหารที่ตนเองรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ขณะที่ร้อยละ 23 พยายามลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 62 พยายามหาอาหารที่มีคุณสมบัติด้านสุขภาพและโภชนาการโดยร้อยละ 84 มองว่าสามารถจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณสมบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2565 สาเหตุการเสียชีวิตสามอันดับแรกในฟิลิปปินส์พบว่ายังมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ คือ โรคหัวใจขาดเลือด (ร้อยละ 18.4) เนื้องอก (ร้อยละ 10.2) และโรคหลอดเลือดสมอง (ร้อยละ10.2) ตามลำดับ

สำหรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในด้านความเครียดพบว่าชาวฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 76 ระบุว่าต้องการที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และร้อยละ 46 ระบุว่าการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้มีระดับความเครียดมากขึ้น   อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 79 มีความเชื่อว่าความเชื่อทางศาสนามีผลสำคัญต่อชีวิตมาก และร้อยละ 52 เลือกใช้สมุนไพรเพื่อจัดการกับความเครียด

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์ในแต่ละ Generation ที่แตกต่างกัน ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 พฤติกรรมดูแลสุขภาพของชาวฟิลิปปินส์ในแต่ละ Generation

Baby boomers Millennials
· ร้อยละ 22 เข้าร่วมกิจกรรมกีฬาอย่างจริงจัง

· ร้อยละ 30 พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์

· ร้อยละ 29 เข้าร่วมกิจกรรมลดความเครียดอย่างน้อยทุกสัปดาห์

· ร้อยละ 50 นั่งสมาธิเพื่อลดความเครียด ร้อยละ 59 ใช้สมุนไพร และร้อยละ 37 เล่นโยคะ

 

· ร้อยละ 74 เดินหรือปีนเขาเพื่อออกกำลังกาย

· ร้อยละ 50 มีการติดตามและควบคุมอาหารที่รับประทานอย่างจริงจัง

· ร้อยละ 30 มองว่าอาหารที่ไม่ใช่ GMO เป็นอาหารที่มีอิทธิพลต่อการซื้อมาก

· ร้อยละ 73 มองว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคคือผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี

 

Gen Z Gen X
· ร้อยละ 43 เคยใช้เครื่องมือช่วยในการนอนหลับ และร้อยละ 18 เคยใช้บริการที่ปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อจัดการกับความเครียด

· ร้อยละ 25 มีการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบทีมและกีฬาเดี่ยว

· ร้อยละ 48 เชื่อถือในฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็นมังสวิรัติหรือวีแกน

· ร้อยละ 59 มองหาส่วนประกอบในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

·ร้อยละ 69 มองว่าผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากที่เขียนว่า “Natural” หมายถึงไม่มีสารเคมี

·ร้อยละ 35 ปั่นจักรยานสม่ำเสมอ

·ร้อยละ 80 รับประทานอาหารเสริมหรือวิตามิน
ทุกสัปดาห์

·ร้อยละ 41 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ทำจากธรรมชาติ

 

3.3 พฤติกรรมผู้บริโภคที่เกี่ยวกับสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์

โดยทั่วไปลูกค้าของสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์มักเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและเป็นตลาดที่ต้องการความทันสมัยและแปลกใหม่ แต่ก็ยังต้องแฝงความเป็นเอกลักษณ์ของการให้บริการในระดับคุณภาพ ทั้งนี้ ตลาดสถานบริการความงามและสปาสามารถแบ่งตามรสนิยมของการใช้บริการ ดังนี้

(1) ผู้ใช้บริการแบบผิวเผิน (Periphery Consumers) โดยผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักคาดหวังการบริการที่ทำให้รู้สึกดีเป็นพิเศษและดูมีความงามเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวในเรื่องราคาค่าบริการ โดยเฉพาะถ้าเป็นบริการใหม่ที่ยังไม่มีการลองใช้มาก่อนและไม่มีผลลัพธ์ให้เห็นชัดเจนต่อภาพลักษณ์ภายนอก (appearance) ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักไม่ได้ต้องการการบริการที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด แต่ต้องการได้รับการบริการที่เป็นไปตามสัญญาที่ผู้ให้บริการตกลงไว้

(2) ผู้ใช้บริการระดับกลาง (MidLevel Consumers) ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือการบำบัดที่แปลกใหม่ (exotic treatments) ได้มากกว่า เช่น การขัดตัวด้วยขุยมะพร้าว การขัดผิวด้วยน้ำผึ้ง การพอกผิวด้วยอะโวคาโดสด ฯลฯ และพร้อมที่จะใช้บริการที่เป็นลักษณะแพ็คเกจครึ่งวันหรือเต็มวัน และลูกค้ากลุ่มนี้มักมองว่าการใช้บริการสถานบริการความงามหรือสปาไม่เพียงแค่เพื่อผลต่อสุขภาพทางกายหรือภาพลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสบายใจอีกด้วย

(3) ผู้ใช้บริการเป็นหลัก (Core Spa Consumers) ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มักใช้บริการสถานบริการความงามและสปาเป็นกิจวัตร โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะชื่นชอบการทำสปา (spa treatment) หรือกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ดังนั้น จึงต้องการสถานบริการความงามหรือสปาที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงพนักงานที่มีพื้นฐานทางจิตใจที่เข้าใจลูกค้า อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ยังสัดส่วนค่อนข้างน้อยของกลุ่มผู้ใช้บริการสถานบริการความงามและสปาในฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ กลุ่มอายุลูกค้าที่ใช้บริการสถานบริการความงามและสปาส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ คือ กลุ่มคนอายุประมาณ 44 – 61 ปี แต่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ใช้บริการที่มีอายุน้อยกว่าช่วงอายุดังกล่าวเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจ หรือชาวต่างชาติที่เกษียณอายุและย้ายถิ่นฐานมายังฟิลิปปินส์ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น Boracay และ Cebu โดยกลุ่มลูกค้าดังกล่าวส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมและทัศนคติ ดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับตัวเอง (Self-focused)
  • มองโลกในแง่ดี
  • ใจร้อนและมักจะสนใจกับอะไรได้ไม่นาน
  • โอนอ่อน และชอบให้ตามใจ
  • ต้องการทางเลือกที่ทำให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมได้
  • คาดหวังที่จะได้รับการปฏิบัติที่พิเศษ
  • ไม่ชอบที่จะต้องตกลงในรายละเอียด หรือถกเถียงความไม่พึงพอใจใด แต่ต้องการใช้บริการกับผู้ประกอบการที่ทำให้โปรโมชันหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องง่ายๆ
  • ไม่ต้องใช้ความพยายามในการเลือกซื้อบริการ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • สนใจกับการอธิบายคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่าจะทำให้รู้สึกเป็นอย่างไร
  • ราคาไม่สำคัญเท่ากับความหรูหราและความรู้สึกดีในการรับบริการ
  • ชอบการเปรียบเทียบแข่งขันให้เขาได้มีสิทธิในการพูดโอ้อวด
  • มีความเป็นไปได้สูงที่จะสนใจซื้อ Treatments และผลิตภัณฑ์ไปฝากครอบครัวหรือเพื่อนๆ
  • ไม่ยอมรับความแก่ชรา

 

  1. ธุรกิจโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์

          4.1 ประเภทโรงพยาบาล อุตสาหกรรมโรงพยาบาลของฟิลิปปินส์มีความซับซ้อนและเป็นส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลหลายประเภทตั้งแต่โรงพยาบาลที่รัฐให้งบประมาณสนับสนุนและศูนย์การแพทย์เอกชน โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และศูนย์บริการสุขภาพชุมชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

4.1.1 โรงพยาบาลรัฐ เป็นที่พึ่งสำคัญของผู้ที่มีรายได้น้อย โดยโรงพยาบาลรัฐมีการบริหารจัดการโดยรัฐบาลให้บริการในราคาที่จับต้องได้ หรือไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีสิทธิรักษา สำหรับโรงพยาบาลรัฐที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ คือ โรงพยาบาล Philippine General Hospital (PGH) ที่ให้การรักษาแบบตติยภูมิ และเป็นศูนย์ส่งต่อ รวมทั้งยังมีระบบการรักษาที่ครบวงจรและมีบทบาทในการศึกษาและการวิจัยทางการแพทย์

4.1.2 โรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลที่แสวงหากำไรและให้บริการลูกค้าที่ต้องการระดับบริการที่สูงขึ้น รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงและมีสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายโดยโรงพยาบาลเอกชนในฟิลิปปินส์มักให้บริการที่หลากหลายกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ เช่น โรงพยาบาล St. Luke’s Medical Center ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านอุปกรณ์เครื่องมือการรักษา บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือการรักษามะเร็ง และการรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีสาขาในเมือง Quezon และเมือง Taguig (BGC) นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งและเป็นคู่แข่งสำคัญ คือ โรงพยาบาล Makati Medical Center ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง Makati โดยให้บริการรักษาโรคหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคระบบประสาท โรคมะเร็ง ศัลยกรรม และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในประเทศฟิลิปปินส์มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นองค์กรสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อให้การรับรองคุณภาพแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกเพียงแค่ 5 แห่ง              โดยมีรายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 โรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ที่ได้รับการรับรองจาก Joint Commission International (JCI)

ชื่อสถานบริการ รายละเอียด รูปภาพ
St. Luke’s Medical Center มี 2 สาขา คือ Quezon City และ BGC เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านบริการทางการแพทย์และมีเครื่องมือที่ครบครันทันสมัย โดยให้บริการการรักษาหลายอย่างตั้งแต่ศูนย์เฉพาะทางอย่างสถาบันมะเร็ง    และหัวใจ ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้สูง ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ (Expat) และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

 

Makati Medical Center เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Makati โดยให้บริการการรักษาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาท โรคมะเร็ง ศัลยกรรม และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงและชาวต่างชาติ
Asian Hospital and Medical Center เป็นโรงพยาบาลภายใต้การบริหารของ Metro Pacific Hospital Group ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุด             ในฟิลิปปินส์ มีแพทย์มากกว่า 1,400 คน และสามารถรักษาโรคเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนหลายโรค รวมทั้งทั้งยังมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งและหลอดเลือด
The Medical City เป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์การแพทย์หลายสาขา เช่น Pasig , Iloilo, Pampanga และ Guam โดยสาขาที่ได้รับการรับรองจาก JCI ตั้งอยู่ที่เมือง Pasig มีบริการการรักษาเฉพาะทางหลายอย่าง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการมีทั้งจากในและต่างประเทศ

4.1.3 โรงพยาบาลเฉพาะทาง เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาโรคเฉพาะทางโรคใดโรคหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหรือต้องการความรู้เฉพาะทางในการรักษา โดยโรงพยาบาลเฉพาะทางในฟิลิปปินส์มีหลายด้านตั้งแต่โรคหัวใจและระบบทางเดินโลหิต    กระดูก สุขภาพจิต กุมารเวช และมะเร็ง เช่น Lung Center of the Philippines มีความเชี่ยวชาญในระบบทางเดินหายใจ มีบริการตั้งแต่การทดสอบปอด การส่องกล้องหลอดลม และการรักษาวัณโรค

4.1.4 โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่สำคัญและมักมีเครือข่ายร่วมกับโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย โดยโรงพยาบาลดังกล่าวมักใช้เป็นสถานที่ในการสอนหรือฝึกหัดนักศึกษาแพทย์ รวมถึงการพัฒนานโยบายและวิธีการรักษาที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยที่สำคัญในฟิลิปปินส์ เช่น โรงพยาบาล University of Santo Tomas Hospital มีบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายควบคู่ไปกับโปรแกรมทางวิชาการและความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

4.1.5 โรงพยาบาลชุมชนหรือศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในฟิลิปปินส์ ให้บริการชุมชนและยาพื้นฐาน เวชศาสตร์    เชิงป้องกัน สุขภาพสำหรับแม่และเด็ก และการรักษาฉุกเฉินแก่ประชาชน โดยโรงพยาบาลชุมชนถือเป็นส่วนสำคัญ       ในระบบส่งเสริมสุขภาพโดยเฉพาะในชนบทที่การบริการสุขภาพยังค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ การให้บริการของโรงพยาบาลชุมชนมักจะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง หากมีความจำเป็น

4.2 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์

โดยทั่วไปอัตราค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนโดยมีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

4.2.1 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ ตัวอย่างอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ แสดงในตารางที่ 4

ตารางที่ 4 อัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Bicol Sanitarium

รายการ ค่าบริการ (เปโซ)
ค่าปรึกษาแพทย์ (Consultation fee) 50 – 100
ค่าตรวจในห้องปฏิบัติการ (Laboratory test) 65-500
ค่า X-Ray 150 – 300
ค่าอัลตร้าซาวด์ 500 – 1,300
ค่า CT-Scan 5,000 – 21,000
ค่าบริการทางทันตแพทย์ 50-250
ค่าห้องพัก 0-1,200 เปโซต่อคืน (สำหรับผู้ที่ใช้ PhilHealth)

4.2.2 อัตราราคาการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ตัวอย่างอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน แสดงในตารางที่ 5

ตารางที่ 5 อัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Makati Medical Center 

รายการ ค่าบริการ (เปโซ)
ค่าปรึกษาแพทย์ของผู้ป่วยนอก (outpatient consultation – general medicine) 500 – 2,500
ค่าตรวจการแพ้ของผิวหนัง (ALLERGY SKIN TEST) 12,000 – 15,000
ค่า X-Ray ฟัน 400-500
ค่าอัลตร้าซาวด์หน้าอก 3,975 – 5,000
ค่า PET CT-Scan 75,500 – 148,240
การถอนฟัน 3,500 – 7,500
ค่าห้องพัก 1,810 – 6,700 เปโซต่อคืน

หมายเหตุ : สามารถตรวจสอบอัตราการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล Makati Medical Center ได้ที่ https://www.makatimed.net.ph/price-list/

4.2.3 อัตราเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ รายได้เฉลี่ยของบุคลากรทางการแพทย์ในฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 6

ตารางที่ 6 รายได้เฉลี่ยของบุคลากรทางการแพทย์ในฟิลิปปินส์

บุคลากร รายได้ต่อปี (เปโซ)
แพทย์ 483,500
พยาบาล 163,055
นักเทคนิคการแพทย์ 178,458
เภสัชกร 237,000
นักจัดการข้อมูลทางสุขภาพ 325,000
เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า 205,659

 

  1. ธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

          5.1 ภาพรวมของอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

     ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เนื่องจากความต้องการการศัลยกรรมและการเสริมความงามเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การชะลอวัยแบบไม่ผ่าตัดจนถึงการผ่าตัดซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้

(1) ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกและความอยู่ดีกินดี     มากขึ้น โดยอยากมีผิวพรรณที่ไร้ริ้วรอยและมีใบหน้าที่อ่อนวัยซึ่งเป็นผลจากกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย (Influencer) และผู้ที่มีชื่อเสียง (Celebrity) ในแวดวงสังคมของฟิลิปปินส์ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มองเห็นความงามในอุดมคติ เช่น ผิวขาว ไร้ริ้วรอย ฯลฯ และต้องการเข้าคลินิกเสริมความงามเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความงามดังกล่าว นอกจากนี้ คลินิกเสริมความงามต่างๆ ยังใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์/โซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริการของคลินิกเสริมความงามอีกด้วย

(2) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงาม โดยมีอุปกรณ์และเทคนิคการเสริมความงามที่ทันสมัยทำให้การเสริมความงามมีความปลอดภัยและได้ผลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เริ่มเชื่อถือและมั่นใจในการใช้บริการคลินิกเสริมความงามมากขึ้น

(3) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในฟิลิปปินส์มีส่วนทำให้คลินิกเสริมความงามเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากฟิลิปปินส์มีบริการเสริมความงามที่มีคุณภาพและมีราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

5.2 ตลาดเป้าหมาย

ตลาดเป้าหมายสำคัญของธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์มีความหลากหลายทั้งกลุ่มอายุ อาชีพ และวิถีชีวิตที่ต่างมองหาบริการและการรักษาด้านความงาม โดยตลาดเป้าหมายสำคัญได้แก่

  • กลุ่มวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อและต้องการความสวยความงามเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง สำหรับบริการที่ได้รับความนิยมในการใช้บริการในคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ เช่น การรักษาสิว การเลเซอร์ขน และการฉีดฟิลเลอร์ ฯลฯ
  • กลุ่มคนทำงาน เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวต้องเผชิญกับภาระหน้าที่ที่ต้องมีความรับผิดชอบมากและยังต้องการที่จะรักษาความอ่อนวัยของตนเองทำให้มีความนิยมใช้บริการเสริมความงาม เช่น ทรีตเมนต์หน้า การรักษาเพื่อลดริ้วรอยแห่งวัย การดูแลรูปร่างและการฟื้นฟูกล้ามเนื้อในระดับเซลล์
  • กลุ่มผู้ที่กำลังจะเป็นเจ้าสาวและผู้ที่กำลังเตรียมตัวสำหรับงานพิเศษต่างๆ เป็นกลุ่มที่มักมองหาบริการเสริมความงามที่เป็นแพ็คเกจ เช่น แพ็คเกจ Pre-wedding ที่มุ่งเน้นให้ผิวไม่มีริ้วรอย หรือมีลักษณะที่ต้องการก่อนวันสำคัญ โดยคลินิกเสริมความงามจะมีบริการหลายอย่าง อาทิ การลองแต่งหน้าเจ้าสาว การรักษาผิวพรรณ โปรแกรมลดน้ำหนัก และการเสริมความงามด้านทันตกรรม
  • ผู้ใหญ่ที่สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวมีความหวังหรือความต้องการที่จะนำความอ่อนวัยกลับมา ทำให้มักเลือกใช้บริการเสริมความงามอย่างเช่น การฉีดโบท็อกซ์ หรือ การทำศัลยกรรมยกหน้า/ดึงหน้า (Facelift)

จากตัวอย่างของกลุ่มเป้าหมายจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและการพัฒนารูปลักษณ์ภายนอกโดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ผู้ใหญ่ช่วงต้นที่กำลังพัฒนาตนเองไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการชะลอวัยทำให้อุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย

5.3 ประเภทของบริการในคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

คลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์มีบริการที่หลากหลายและสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความชอบผู้บริโภคหลายกลุ่มตั้งแต่การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดจนถึงผ่าตัด โดยบริการเสริมความงามหนึ่งที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก คือ การรักษาและบำรุงผิวหน้าตั้งแต่การทำความสะอาดหน้า ขัดผิว รวมไปถึง การนวดหน้าด้วยผลิตภัณฑ์พิเศษที่ใช้ในการรักษาอาการเฉพาะอย่าง เช่น สิวหรือริ้วรอย และคลินิกเสริมความงามบางแห่งยังมีบริการบำรุงหน้าขั้นสูงอาทิ การลอกผิวด้วยสารเคมีหรือการกรอผิวเพื่อรักษาความอ่อนเยาว์ รวมทั้งยังมีการบริการกำจัดขนด้วยเลเซอร์หรือการแวกซ์ซึ่งทำให้ได้ผลนานกว่าวิธีแบบดั้งเดิมอีกด้วยนอกจากนี้ คลินิกเสริมความงามหลายแห่งยังมีบริการกระชับสัดส่วนซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อกระชับร่างกายด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัดโดยมีเทคนิคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสลายไขมันด้วยความเย็น (Coolsculpting) การทำทรีตเมนต์ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Energy Treatments) หรือการดูดไขมันด้วยเลเซอร์ (Laser Liposuction) ที่ช่วยสลายไขมันได้ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง แขน และขา โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีคลินิกเสริมความงามหลายแห่งให้มีบริการฉีดหน้า เช่น โบท็อกซ์ หรือฟิลเตอร์ พื่อลดริ้วรอยและกระชับใบหน้า รวมถึงมีช่างแต่งหน้าให้บริการสำหรับแต่งหน้าผู้มาใช้บริการในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานรับปริญญา ฯลฯ

ตัวอย่างประเภทบริการและราคาของบริการเสริมความงามในฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 7

ตารางที่ 7 ตัวอย่างประเภทบริการและราคาของบริการเสริมความงามในฟิลิปปินส์

ประเภทบริการ ราคา (เปโซ)
เสริมจมูก 35,000– 80,000
ทำตาสองชั้นบน (deep set) 35,000
เสริมคางด้วยซิลิโคน 70,000
เสริมแก้ม (ดมยาสลบ / IV) 100,000 – 120,000
ยกคิ้ว (ยาชาเฉพาะที่) 40,000
ดึงหน้า (ยาชาเฉพาะที่) 100,000
ผ่าตัดหูใหญ่ที่ยื่นออกมา 50,000
ดูดไขมันคาง (ยาชาเฉพาะที่) 40,000
ดูดไขมันหน้าท้อง, สะโพก, หลัง 150,000
ดูดไขมันต้นขา 100,000 ขึ้นไป
เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน 150,000 – 200,000
ยกกระชับหน้าอก (mastopexy) 140,000
เสริมก้นด้วยซิลิโคน 180,000
ผ่าตัดแก้ไขหนังตาตก 35,000
ตัดไฝ 10,000 – 15,000
แก้ไขแผลเป็น 10,000 – 20,000
โบท็อกซ์ (Allergan brand) 350 ต่อยูนิต
ฟิลเลอร์ (Restylane / Juvederm) 20,000 – 25,000 ต่อ 1 ml
ลดขนาดริมฝีปาก 30,000 – 35,000
ทำลักยิ้ม 30,000 สำหรับทั้งสองข้าง
ลดขนาดคาง (ดมยาสลบ) 150,000
ผ่าตัดหน้าท้อง / ยกกระชับหน้าท้อง 150,000 – 210,000
ผ่าตัดกระชับช่องคลอด 50,000

ที่มา : https://royalaesthetics.ph/plastic-cosmetic-surgery/

 

5.4 การแข่งขันในอุตสาหกรรม

การแข่งขันในอุตสาหกรรมคลินิกเสริมความงามของฟิลิปปินส์ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าสู่ตลาดและมีการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์นิยมใช้กันค่อนข้างมาก และประสบความสำเร็จในการช่วงชิงลูกค้า ดังนี้

  • การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การมุ่งเน้นการรักษาผิว การลดเลือนริ้วรอย การลดไขมันส่วนเกินตามร่างกาย ฯลฯ
  • การบริการลูกค้าเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โดยคลินิกเสริมความงามจะให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและไว้ใจ รวมทั้งกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่และบริการหลังการขาย รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
  • การส่งเสริมการตลาดโดยคลินิกเสริมความงามจำนวนมากในฟิลิปปินส์นิยมใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและการโฆษณาออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงยังเป็นช่องทางในการให้สร้างการรับรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริมความงามประเภทต่างๆ ตลอดจนใช้ช่องทาง ในการบอกเล่า/รีวิวเรื่องราวของผู้มาใช้บริการที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวตนใหม่
  • การยกระดับเครื่องมืออุปกรณ์และการลงทุนในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้คลินิกเสริม ความงามสามารถแข่งขันได้อย่างโดดเด่นและยั่งยืน

สำหรับแบรนด์คลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นในตลาดฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่ 8

ตารางที่ 8 แบรนด์คลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นในตลาดฟิลิปปินส์

ชื่อสถานบริการ รายละเอียด รูปภาพ
Belo Medical Group ก่อตั้งโดย Dr. Vicki Belo เป็นคลินิกเสริมความงามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ โดยให้บริการด้านเสริมความงามหลากหลายตั้งแต่เลเซอร์ การบำรุงผิว และการผ่าตัดศัลยกรรม
The Aivee Clinic มีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงและลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและโด่งดังในฟิลิปปินส์ มีบริการตั้งแต่การบำรุงผิวหน้าให้อ่อนเยาว์ การกระชับสัดส่วนร่างกาย การปลูกผม และการบำรุงรักษาผิวหนัง
Skin Philosophie Medical Aesthetic & Lifestyle Solutions บริหารโดย Dr. Kyla Talens มีบริการเฉพาะบุคคลเพื่อให้เห็นผลที่เป็นธรรมชาติและเน้นบริการตั้งแต่การฉีดหน้า การเลเซอร์ รวมถึงการบำรุงรักษาผิว
Dermclinic มีหลายสาขา และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านผิวหนัง เช่น การรักษาสิว การลอกผิว รวมถึงการฟื้นฟูผิวให้อ่อนเยาว์
Marie France เป็นคลินิกเสริมความงามที่มีความโดดเด่นด้านการกระชับสัดส่วนของร่างกายและการลดน้ำหนัก โดยมีบริการตั้งแต่การจัดการน้ำหนัก การกระชับผิวหนัง และการลดเซลลูไลท์ในร่างกาย
  1. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

6.1 การลงทุนของชาวต่างชาติและสิทธิประโยชน์ในการลงทุน 

ฟิลิปปินส์ไม่มีข้อห้ามสำหรับชาวต่างชาติในการลงทุนในสถานบริการสุขภาพตามรายการธุรกิจที่ห้ามชาวต่างชาติลงทุน (Foreign Negative List) ภายใต้กฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติ (RA 7042) ยกเว้นร้านซาวน่าและอาบอบนวด ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุนได้สูงสุดร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจระดับ SME ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือกรณีที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีการจ้างงานเกิน 50 คน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้สูงสุดเพียงร้อยละ 40

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของฟิลิปปินส์ (BOI) ยังได้ให้สิทธิพิเศษในการลงทุนโดยสถานบริการสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลอยู่ในรายการ Investment Priorities List ที่สามารถขอยื่นสิทธิพิเศษจาก BOI ได้โดยมีสิทธิพิเศษ ดังนี้

(1) ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้

  • 6 ปีสำหรับโครงการที่มีสถานะ Pioneer Status และสำหรับโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ด้อยพัฒนา (Least developed area: LDA) โดยโครงการที่มีสถานะ Pioneer Status หมายถึงโครงการ ที่เป็นนวัตกรรมใหม่และไม่เคยมีการผลิตเชิงพาณิชย์มาก่อนในฟิลิปปินส์ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทำให้ฟิลิปปินส์พึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ หรือเป็นโครงการเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก
  • 4 ปีสำหรับโครงการใหม่ที่มีสถานะ Non-Pioneer Status
  • 3 ปีสำหรับโครงการขยาย/การปรับปรุง

(2) การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับอุปกรณ์ทุน อะไหล่ และอุปกรณ์เสริมที่นำเข้า

(3) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการขนถ่ายและภาษีการส่งออก อากร ค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมต่างๆ

(4) เครดิตภาษีสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า

(5) การนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทโดยไม่ต้องเสียภาษีและอากร

(6) การหักค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ธุรกิจของชาวต่างชาติ (หมายถึงธุรกิจที่มีสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าร้อยละ 40) จะต้องมีสถานะเป็น Pioneer Status เท่านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของ BOI ได้

6.2 การเริ่มต้นธุรกิจโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพ

(1) จดทะเบียนจองชื่อและจัดตั้งบริษัทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ (Security Exchange Commission: SEC)

(2) ดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจการตั้งอยู่ ได้แก่ ใบอนุญาต Barangay clearance ใบอนุญาต Mayor’s permit และใบอนุญาตประกอบการ (Business Permit to Operate)

(3) จดทะเบียนกับกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ (Bureau of Internal Revenue)

(4) ดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากร ได้แก่ ประกันสังคม (SSS), Philhealth และ Pag-ibig fund

(5) จดทะเบียนกับ Bureau of Health Facilities and Services Accreditation กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลจะต้องมีการจดทะเบียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

(5.1) Certificate of Need (CON) – เอกสารที่ระบุถึงความจำเป็นในการสร้างโรงพยาบาล โดยจำเป็นต้องใช้เมื่อขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งต้องขอเอกสารดังกล่าวกับหน่วยงาน Center for Health and Development (CHD) ในท้องที่ที่กิจการตั้งอยู่

(5.2) Department of Health-Permit to Construct (DOH-PTC) ใบอนุญาตของกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ โดยใช้สำหรับการก่อสร้าง   สถานบริการสุขภาพใหม่ที่กำหนด หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลงแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องใช้ประกอบการขอใบอนุญาตประกอบการ (License to Operate) ด้วย

       สำหรับการขอ DOH-PTC จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่างตั้งแต่เอกสารที่จดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) หรือ Security Exchange Commission (SEC) แบบแปลนของสถานที่ก่อสร้าง และเอกสาร CON ตามข้อ 5.1 ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และต้องยื่นเอกสารกับหน่วยงาน Bureau of Health Facilities and Services เพื่อดำเนินการตรวจสอบและประเมินแบบแปลนหรือเอกสาร ทั้งนี้ มาตรฐานของแบบของโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2016-0042.pdf

(5.3) License to Operate เป็นใบอนุญาตที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้บุคคล หน่วยงาน หรือนิติบุคคลเพื่อดำเนินกิจการโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ เป็นเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจการตามกฎหมาย โดยสามารถขอใบอนุญาตดังกล่าวได้ที่ Bureau of Health Facilities and Services

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดของการขอใบอนุญาตต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2012-0012.pdf

6.3 มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสุขภาพ

     ตามกฎหมาย Administrative order 2012-0012 เรื่อง Rules and Regulations Governing the New Classification of Hospitals and other Health Facilities in the Philippines สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในด้านต่างๆ ได้แก่

(1) บุคลากร – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องมีจำนวนบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ต้องมีแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

      (2) สถานบริการ – สถานบริการต้องมีพื้นที่ที่เพียงพอ ปลอดภัยและทำให้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมีใบ DOH-PTC ในการออกแบบและวางแผนการก่อสร้างด้วย

(3) อุปกรณ์และเครื่องมือ – สถานบริการสุขภาพต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่เพียงพอต่อ
การให้บริการและสอดคล้องต่อระดับของการให้บริการ นอกจากนี้ ต้องมีแนวทางในการบำรุงรักษาและแผนฉุกเฉินในกรณีที่เครื่องมือและอุปกรณ์เสียหาย

(4) การส่งมอบบริการ – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องส่งมอบบริการที่มีมาตรฐานคุณภาพ  ที่สอดคล้องกับการประเมินและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ต้องมีเอกสารขั้นตอนการทำงาน (Standard Operating Procedures – SOP) ในการให้บริการ มีนโยบายในด้านคลินิกและการส่งต่อที่เป็นระบบ และต้องมีการนำเลือดมาจากศูนย์หรือสถานที่ที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ

(5) การพัฒนาคุณภาพ – สถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องจัดตั้งและดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

(6) การบริหารจัดการข้อมูล – สถานบริการสุขภาพต้องมีระบบในการสื่อสาร การบันทึก
และการรายงานข้อมูลของบุคลากรและผู้มารับบริการ

(7) การจัดการสิ่งแวดล้อม – สถานบริการสุขภาพต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้มารับบริการ เจ้าหน้าที่ และสาธารณะ ทั้งนี้ ต้องมีมาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับระบบระบายอากาศ แสง ความสะอาด ความปลอดภัย มีมาตรการเกี่ยวกับการบำรุงรักษาสถานที่ การจัดการน้ำเสียขยะ และสารพิษ ตามกฎระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-2012-0012.pdf

          6.4 กฎระเบียบเกี่ยวกับคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

               คลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินกิจการอย่างถูกกฎหมาย โดยจะต้องมีการจดทะเบียนคลินิกคล้ายกับโรงพยาบาล มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

(1) จดทะเบียนจองชื่อและจัดตั้งบริษัทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ (Security Exchange Commission: SEC)

(2) ดำเนินการด้านเอกสารกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจการตั้งอยู่ ได้แก่ ใบอนุญาต Barangay clearance ใบอนุญาต Mayor’s permit และใบอนุญาตประกอบการ (Business Permit to Operate)

(3) จดทะเบียนกับกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ (Bureau of Internal Revenue)

(4) ดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากร ได้แก่ ประกันสังคม (SSS), Philhealth และ Pag-ibig fund

(5) จดทะเบียนกับ Bureau of Health Facilities and Services Accreditation กระทรวงสาธารณสุข ตามกฎหมาย Administrative Order No. 183s., 2004 – Rules and Regulations Governing the Licensure and Regulations of the Ambulatory Surgical Clinics โดยต้องขอเอกสาร ได้แก่

(5.1) Permit to Construct (PTC) เป็นใบอนุญาตของกระทรวงสาธารณสุขในการก่อสร้างคลินิก โดยต้องใช้สำหรับการก่อสร้างสถานบริการสุขภาพใหม่ที่กำหนด หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลงแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องใช้ในการขอใบอนุญาตประกอบการ License to Operate ด้วย นอกจากนี้ การขอ PTC จำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่เอกสารที่จดทะเบียนธุรกิจกับ DTI หรือ SEC แบบแปลนของสถานที่ก่อสร้าง และต้องยื่นเอกสารกับ Bureau of Health Facilities and Services เพื่อให้ตรวจสอบและประเมินแบบแปลนหรือเอกสาร

(5.2) License to Operate เป็นใบอนุญาตที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้คลินิกเสริม      ความงามและเป็นเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจการตามกฎหมาย โดยสามารถขอใบอนุญาตดังกล่าวได้ที่ หน่วยงาน Bureau of Health Facilities and Services ทั้งนี้ การขอใบอนุญาตดังกล่าวต้องใช้เอกสารประกอบหลายอย่างตั้งแต่ใบสมัคร สัญญากับโรงพยาบาลใกล้เคียงในกรณีที่มีการส่งต่อ ใบรับรองความปลอดภัยด้านอัคคีภัย รายการบริการของคลินิก รายชื่อบุคลากร รายชื่ออุปกรณ์ สัญญาเช่า และหนังสือแสดงเจตจำนงว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://hfsrb.doh.gov.ph/ambulatory-surgical-clinics/ และ https://hfsrb.doh.gov.ph/wp-content/uploads/2021/05/AO-183-s-04.pdf

 

  1. ส่วนประสมทางการตลาดของธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

จากข้อมูลตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคของธุรกิจบริการสุขภาพและเสริมความงามในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาด (7P) ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจนี้ได้ ดังแสดงในตารางที่ 9

ตารางที่ 9 ส่วนประสมทางการตลาด (7P) สำหรับธุรกิจบริการสุขภาพในฟิลิปปินส์

ส่วนประสมทางการตลาด รายละเอียด
ผลิตภัณฑ์ (Product) – กำหนดบริการที่ชัดเจนและสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีขององค์กร

– สำหรับโรงพยาบาลสามารถเลือกให้บริการการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีความต้องการและมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าบริการทางการแพทย์ทั่วไป

– สำหรับคลินิกหรือสถานบริการเสริมความงาม ควรมีบริการเฉพาะทาง     และจุดขายเฉพาะของคลินิก เช่น ผิวหนัง การกระชับสัดส่วน ฯลฯ

ราคา (Price) – การตั้งราคาควรคำนึงถึงความสามารถทางการเงินของตลาดเป้าหมาย    เป็นหลัก เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง สามารถตั้งราคาสูงได้

– การตั้งราคาต้องมีความชัดเจนซึ่งอาจพิจารณาทำเป็นแพ็คเกจ หรือควรมีการแสดงราคาที่ชัดเจนซึ่งอาจเป็นการประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์หรือที่    สถานประกอบการ

สถานที่ (Place) – สถานบริการสุขภาพประเภทโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับพรีเมียมควรตั้งอยู่ในพื้นที่ Prime Area เช่น เมือง Makati, BGC, Alabang ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาศัยของกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง

– ทำเลของคลินิก/สถานบริการสุขภาพประเภทสถานบริการความงาม      ควรอยู่ในเขตเมืองที่เป็นแหล่งชุมชนหรือห้างสรรพสินค้า

การส่งเสริมทางการตลาด (Promotion) – สถานบริการสุขภาพควรมีการส่งเสริมทางการตลาด สำหรับโรงพยาบาล อาจทำการส่งเสริมทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการรักษาโรค ขณะที่คลินิก/สถานเสริมความงามสามารถทำการตลาดได้ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่การใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ (Tiktok, Facebook, Youtube) การแจกใบปลิว การออกบูธ รวมไปถึงการจัดโปรโมชันในช่วงเวลาต่างๆ
บุคลากร (People) – ควรจ้างบุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และแรงงานที่มีทักษะในการดูแล รวมทั้งมีทัศนคติที่ดี

– ควรมีการฝึกอบกรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบในการดูแลบุคลากรโดยเฉพาะในเรื่องใบประกอบวิชาชีพในสถานบริการสุขภาพประเภทโรงพยาบาล

– ควรมีกลยุทธ์การรักษาบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาอัตราหมุนเวียนบุคลากรสูง

กระบวนการ (Process) – สถานบริการดูแลสุขภาพควรมีกระบวนการในการรับผู้ป่วยและการดูแลผู้สูงอายุที่ชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว

– สถานบริการดูแลสุขภาพควรมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับมาตรฐาน    ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย

– สถานบริการสุขภาพควรมีการปรับปรุงกระบวนการให้เข้ากับสถานการณ์และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

– สถานบริการสุขภาพต้องมีกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยและลูกค้า           ที่คำนึงถึงประสบการณ์ลูกค้าโดยให้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการรับบริการตั้งแต่การจองเพื่อเข้ารับบริการ การรับบริการ และขั้นตอนหลังการรับบริการ

สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ (Physical evidence) – สภาพแวดล้อมของสถานบริการสุขภาพต้องมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน

– อาจมีการแสดงประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

 

  1. การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์

จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการสุขภาพในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจบริการสุขภาพไทยในฟิลิปปินส์ (SWOT) ได้ ดังแสดงในตารางที่ 10

ตารางที่ 10 การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามไทยในฟิลิปปินส์

มิติ รายละเอียด
จุดแข็ง (Strengths) 1. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสามารถทาง
การแข่งขันและมีผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารโรงพยาบาลและคลินิก/สถานเสริมความงามมาอย่างยาวนานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล2. คนไทยมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงและใกล้ชิดกับคนฟิลิปปินส์ และสามารถ  เข้าใจคนฟิลิปปินส์ได้ดี

3. บุคลากรด้านสุขภาพของไทยมีชื่อเสียงที่ดีในระดับโลก

จุดอ่อน (Weaknesses) 1. ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการลงทุนและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพหรือคลินิกเสริมความงามในต่างประเทศที่ค่อนข้างจำกัด

2. ผู้ประกอบการไทยมีเครือข่ายในการประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจในช่วงแรก

3. ผู้ประกอบการไทยยังมองไม่เห็นโอกาสของการลงทุนในฟิลิปปินส์

โอกาส (Opportunities) 1. เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์  มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อในการหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย

2. รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนด้านสถานบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

3. สถานบริการสุขภาพของฟิลิปปินส์โดยรวมยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับประเทศไทย

4. ฟิลิปปินส์มีบุคลากรด้านสุขภาพจำนวนมาก และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี รวมถึงมีค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ

ความเสี่ยง (Threats) 1. ผู้เล่นในธุรกิจบริการสุขภาพหลายรายในฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ที่ยาวนาน และมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง

2. กฎหมาย/กฎระเบียบในการจัดตั้งและการดำเนินเกี่ยวกับธุรกิจบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน

3. ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในฟิลิปปินส์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดต้นทุนสูง

4. บุคลากรด้านสุขภาพจำนวนมากมีแนวคิดที่จะอยากย้ายไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้มีอัตราการหมุนเวียนของพนักงานที่สูงซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนในการฝึกอบรมหรือพัฒนาบุคลากร

 

  1. ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามของไทย ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์

9.1 ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจสถานบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงาม      ในฟิลิปปินส์ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน การขาดประสบการณ์และเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งทางธุรกิจ และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อาจทำให้วิธีการลงทุนทางตรงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณามองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ไว้ใจและเชื่อใจได้ในการร่วมลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง      รวมทั้งสามารถอาศัยความรู้และประสบการณ์ของพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจในฟิลิปปินส์ได้

9.2 สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจคลินิกเสริมความงามในฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี โดยผู้ประกอบการไทยให้สิทธิผู้ประกอบการฟิลิปปินส์  ในการใช้แบรนด์ ระบบมาตรฐานต่างๆ รวมถึงรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการคลินิกเสริมความงาม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้เกี่ยวกับตลาดท้องถิ่นของแฟรนไชส์ในการพัฒนาและขยายธุรกิจต่อไปได้

9.3 ผู้ประกอบการไทยควรร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในการทำกิจกรรมทางการตลาดและ การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยควรเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างประสิทธิภาพในประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ อาจพิจารณาใช้การประชาสัมพันธ์ช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้ป้ายโฆษณา และการใช้สื่อโทรทัศน์ ฯลฯ

9.4 การดำเนินธุรกิจบริการสุขภาพและคลินิกเสริมความงามจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพทั้งในด้านสิ่งก่อสร้าง บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการดำเนินงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องตรวจสอบและเข้าใจกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบก่อนก่อตั้งกิจการและระหว่างดำเนินกิจการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง

———————————————-

Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila

Abteilung für internationale Handelsförderung

มิถุนายน 2567

de_DEGerman