ผลิตภัณฑ์หินเทียมจัดเป็นสินค้ายอดนิยมติดอันดับ 1 ใน 5 Benchtop ที่ถูกนำมาใช้ในห้องครัวมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากในปี 2566 Safe Work Australia ได้ผลักดันให้ภาคครัวเรือนออสเตรเลียเลิกใช้ผลิตภัณฑ์หินเทียม ซึ่งเป็นสาเหตุให้อัตราการป่วยเป็นโรคซิลิโคสิสของแรงงานแร่ใยหินในภาคอุตสาหกรรมหินสังเคราะห์ออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น มีผลให้ผลิตภัณฑ์หินเทียมถูกห้ามใช้ จัดหาและผลิตในออสเตรเลียตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 และกำหนดให้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2567 ผู้รับเหมาที่ต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับหินเทียมต้องขอใบอนุญาตก่อนดำเนินการ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงและก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ในออสเตรเลียยุติการใช้ผลิตภัณฑ์หินเทียมลง และตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 รัฐบาลออสเตรเลียสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์หินเทียม (Engineered stone) ประเภท Bench tops, Slabs และ Panels เพื่อปกป้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากโรคซิลิโคสิสที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 32.1 ล้านเหรียญออสเตรเลียให้แก่ Australian Border Force ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความเข้มงวดด้านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หินเทียมเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์หินเทียมส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ปี 2566 ออสเตรเลียมีการนำเข้าของทำด้วยซีเมนต์ คอนกรีตหรือทำด้วยหินเทียม (พิกัด 681099) มีมูลค่าเฉลี่ย 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สินค้าร้อยละ 60 นำเข้าจากจีน รองลงมาคือ อิสราเอล สเปน เวียดนามและอินโดนีเซียมีการนำเข้าลดลงเกือบทุกประเทศยกเว้นสินค้าจากอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 สำหรับการนำเข้าจากไทยแม้ว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจะมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมด แต่ในปี 2566 การนำเข้าของทำด้วยซีเมนต์ คอนกรีตหรือทำด้วยหินเทียมจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ร้อยละ 205 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) การประกาศห้ามใช้ จัดหา (Supply) และผลิตหินเทียมในออสเตรเลียที่มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 ถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกของทำด้วยซีเมนต์ คอนกรีตหรือทำด้วยหินเทียมจากไทยมีผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2567 ลดลงร้อยละ 53.6 ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าหินเทียมได้จากเว็บไซต์ www.safeworkaustralia.gov.au/esban
………………………………………………………………………………….
Königlich Thail. Generalkonsulat, Büro für internationale Handelsförderung in Sydney-Stadt
ที่มา;
www.ministers.dewr.gov.au
www.news.com.au