นายปราโบโว ซูเบียนโต สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย วาระปี 2024-2029

นายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) และ กิบราน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประจำปี 2024-2029 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2024 ในการประชุมสมัชชาประชาชน (MPR) ที่กรุงจาการ์ตา นายอาหมัด มูซานี ประธาน MPR จากพรรคเกรินดรา (Gerinda) ของปราโบโว กล่าวก่อนพิธีว่า ขั้นตอนการสาบานตนจะปฏิบัติตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญปี 1945

พิธีสาบานตนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถือเป็นการเริ่มต้นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายปราโบโว หลังจากที่เขาได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่สามของเขา หลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับอดีตประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วิโดโด ถึงสองครั้งในปี 2014 และ 2019

ในสุนทรพจน์เปิดตัวเมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต สัญญาว่าจะทำให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองในด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าในการสร้างชาติที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

“เราไม่สามารถพึ่งพาแหล่งอาหารภายนอกได้ ในช่วงเวลาวิกฤต ในช่วงเวลาฉุกเฉิน ไม่มีใครจะยอมให้เราซื้อสินค้า ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องบรรลุความมั่นคงทางอาหารโดยเร็วที่สุด” นายปราโบโวกล่าวในสุนทรพจน์ที่เผ็ดร้อนยาวนานถึงหนึ่งชั่วโมง นายปราโบโวมั่นใจในแผนดังกล่าว โดยกล่าวว่า หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแล้ว อินโดนีเซียจะสามารถบรรลุความพอเพียงด้านอาหารได้ภายใน 4-5 ปีเป็นอย่างช้า “อันที่จริงแล้ว เราจะพร้อมที่จะกลายเป็นแหล่งอาหารของโลก” เขากล่าวเสริม

นายปราโบโวยังได้พูดถึงนโยบายต่างประเทศระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ โดยกล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เสรีและแข็งขันต่อไป “เราไม่ต้องการเข้าร่วมสนธิสัญญาทางทหารใดๆ อินโดนีเซียจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านที่ดี” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม นายปราโบโวกล่าวว่า อินโดนีเซียจะยืนหยัดต่อต้าน “ลัทธิล่าอาณานิคม การกดขี่ การเหยียดเชื้อชาติ และการแบ่งแยกสีผิว” อย่างมีหลักการ และเขายังแสดงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อีกด้วย

ในขณะนี้ที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้ว นายปราโบโวได้เรียกร้องให้ทุกคนสามัคคีกัน โดยกล่าวว่า “มีเพียงความสามัคคีและความร่วมมือเท่านั้นที่จะทำให้อินโดนีเซียบรรลุความเป้าหมายในการเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองได้”

ประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อเย็นวันอาทิตย์

“ผมเรียกคณะรัฐมนตรีนี้ว่าคณะรัฐมนตรีชุด ‘แดงและขาว’” ปราโบโวกล่าว คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีรัฐมนตรี 48 คน ซึ่งใหญ่กว่าคณะรัฐมนตรีชุดก่อนของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด

รายชื่อรัฐมนตรีใน คณะรัฐมนตรีแดงและขาวได้แก่:

  1. รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมืองและความมั่นคง นาย Budi Gunawan
  2. รัฐมนตรีประสานงานด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน การย้ายถิ่นฐาน และกิจการชุมชน นาย Yusril Ihza Mahendra
  3. รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ นาย Airlangga Hartarto
  4. รัฐมนตรีประสานงานด้านอาหาร นาย Zulkifli Hasan
  5. รัฐมนตรีประสานงานด้านการพัฒนามนุษย์และวัฒนธรรม นาย Pratikno
  6. รัฐมนตรีประสานงานด้านการพัฒนาชุมชน นาย Muhaimin Iskandar
  7. รัฐมนตรีประสานงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาภูมิภาค นาย Agus Harimurti Yudhoyono
  8. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง นาย Prasetyo Hadi
  9. รัฐมนตรีกลาโหม นาย Sjafrie Sjamsoeddin
  10. รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นาย Tito Karnavian11. รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นาย Sugiono
    12. รัฐมนตรีกระทรวงศาสนา นาย Nasaruddin Umar
    13. รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมาย นาย Supratman Andi Agtas
    14. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชน นาย Natalius Pigai
    15. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและราชทัณฑ์ นาย Agus Andrianto
    16. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาง Sri Mulyani
    17. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นาย Abdul Mu'ti
    18. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นาย Satrio Sumantri Brodjonegoro
    19. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นาย Fadli Zon
    20. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นาย Budi Gunadi Sadikin
    21. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม นาย Saifullah Yusuf
    22. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นาย Yassierli
    23. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจัดหาผู้อพยพ นาย Abdul Kadir Karding
    24. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นาย Agus Gumiwang Kartasasmita

    25. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า นาย Budi Santoso
    26. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ นาย Bahlil Lahadalia
    27. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการนาย Raden Dodi Hanggodo
    28. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะสาธารณะ นาย Maruarar Sirait
    29. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมู่บ้านและการพัฒนาภูมิภาคด้อยโอกาส นาย Yandri Susanto
    30. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการย้ายถิ่นฐาน นาย Iftitah Suryanegara
    31. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นาย Dudy Purwagandhi
    32. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัล นาง Meutya Hafid
    33. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นาย Amran Sulaiman
    34. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้ นาย Raja Juli Antoni
    35. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง นาย Sakti Wahyu Trenggono
    36. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการเกษตรและการวางผังเมือง นาย Nusron Wahid
    37. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนการพัฒนาแห่งชาติ นาย Rachmat Pambudy
    38. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเสริมอำนาจให้กลไกของรัฐและการปฏิรูประบบราชการ นาง Rini
    Widiantini
    39. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ นาย Erick Thohir
    40. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประชากรและการพัฒนาการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ นาย Wihaji
    41. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม/หัวหน้าหน่วยงานควบคุมสิ่งแวดล้อม นาย Hanif Faisol
    42. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำ/หัวหน้าคณะกรรมการการลงทุน
    นาย Rosan Roeslani
    43. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ นาย Budi Arie
    44. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นาย Maman Abdurrahman
    45. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว นาง Widianti Putri
    46. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์/หัวหน้าหน่วยงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นาย Teuku Riefky Harsya
    47. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเสริมพลังสตรีและการคุ้มครองเด็ก นาง Arifatul Choiri Fauzi
    48. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬานาย Dito Ariotedjo

ความคิดเห็นของสำนักงาน:

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของอินโดนีเซียประกอบด้วยนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล 7 พรรค ที่สนับสนุนชัยชนะของปราโบโวในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และบุคคลที่เป็นพันธมิตรกับคณะของคณะรัฐมนตรีของอดีตประธานาธิบดีโจโควิโดโด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เพื่อดำรงตำแหน่งต่อไปภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีปราโบโว การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะสานต่อนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโจโควิโดโดต่อไป โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

การที่นายปราโบโว ซูเบียนโตเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียถือเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ของอินโดนีเซีย โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโวให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงเป้าหมายที่จะเป็น “นิคมอาหารโลก” (World Food Estate) ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าคนใหม่คือ นายบูดี ซานโตโซ (Budi Santoso) ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในกระทรวงการค้าคือเลขาธิการกระทรวงการค้าในสมัยของนายซุลกิฟลี ฮะซัน (Zulkifi Hasan) ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการค้า นายบูดียังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการของ Food SOE Holding, ID FOOD ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง SOE หมายเลข SK 174/MBU/07/2023 และเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศอีกด้วย รัฐบาลใหม่มีแนวทางให้นายบูดี ซานโตโซ ควบคุมการไหลเวียนของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคที่กำลังถูกจับตามองในขณะนี้ รวมทั้งการกำจัดสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมายและสินค้านำเข้าที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าของอินโดนีเซีย คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าคนใหม่จะสามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าภายในประเทศ เพื่อส่งออกและขยายตลาดใหม่ๆ ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่กำลังขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่มุ่งเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังวางตำแหน่งตัวเองให้พร้อมสำหรับการเติบโต ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกูฏระเบียบที่จะเกิดขึ้นเพื่อรักษาตลาดและขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับอินโดนีเซียอย่างยั่งยืนต่อไป

de_DEGerman