“ความนิยมร้านอาหารไทยแบบ Fine Dining และ Street Food ของผู้บริโภคชาวอเมริกันขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
ศูนย์วิจัย Pew Research Center ในสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลตลาดอุตสาหกรรมร้านอาหารในสหรัฐฯ พบว่า ร้านอาหารเอเชียมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยมีสัดส่วนร้านอาหารเอเชียในสหรัฐฯ ทั้งสิ้นร้อยละ 12 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าจำนวนประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ
ในกลุ่มอาหารเอเชียทั้งหมดในสหรัฐฯ อาหารไทยถือเป็นอาหารเอเชียที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 (ร้อยละ 11) รองจากอาหารจีน (ร้อยละ 39) ร้านอาหารญี่ปุ่น (ร้อยละ 28) ตามลำดับ ทั้งนี้ หากนำสัดส่วนตลาดอาหารทั้งสามชาติมารวมกันจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71 หรือหากจะเทียบง่ายๆ ก็คือในจำนวนร้านอาหารเอเชีย 10 ร้านในสหรัฐฯ จะเป็นร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น หรือไทยถึง 7 ร้าน ในขณะที่เมื่อนำจำนวนประชากรทั้ง 3 ชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มารวมเข้าด้วยกันจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 33 ของจำนวนประชากรเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ เท่านั้น
ร้านอาหารจีน เป็นร้านอาหารเอเชียเชื้อชาติแรกที่เปิดดำเนินกิจการในสหรัฐฯ ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 19 ในช่วงปี ค.ศ. 1849 (ประมาณ 174 ปี) ที่เกิดการขุดทองทางฝั่งตะวันตกในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันคุ้นชินกับวัฒนกรรมอาหารจีนมาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงสามารถพบเห็นร้านอาหารจีนเปิดดำเนินกิจการกระจายทั่วสหรัฐฯ ปัจจุบันร้านอาหารจีนเป็นร้านอาหารเอเชียที่มีสัดส่วนมากที่สุดในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 39 ของร้านอาหารเอเชียทั้งหมด
ร้านอาหารญี่ปุ่น เป็นที่นิยมและเปิดกิจการอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนประชากรอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นไม่มากนักในสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ เท่านั้น
โดยร้าน Kawafuku เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรกเปิดดำเนินกิจการจำหน่ายซูชิในสหรัฐฯ ตั้งที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี ค.ศ. 1966 (ประมาณ 57 ปี) โดยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดดำเนินกิจการอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน และเป็นร้านอาหารเอเชียที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในสหรัฐฯ
ร้านอาหารไทย เป็นอาหารเอเชียที่ชาวอเมริกันรู้จักและนิยมรับประทาน โดยร้าน Chada เป็นร้านอาหารไทยร้านแรกที่เปิดกิจการในสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่เมือง Denver รัฐโคโรลาโด เมื่อปี ค.ศ. 1960 (ประมาณ 63 ปี) จนทำให้อุตสาหกรรมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของร้านอาหารเอเชียในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารเอเชียชาติอื่นที่เปิดดำเนินกิจการในสหรัฐฯ ได้แก่ ร้านอาหารอินเดีย (ร้อยละ 7) ร้านอาหารเวียดนาม (ร้อยละ 7) ร้านอาหารเกาหลี (ร้อยละ 6) ร้านอาหารฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1) ร้านอาหารปากีสถาน (ร้อยละ 1) ร้านอาหารมองโกเลีย (น้อยกว่าร้อยละ 1) และร้านอาหารพม่า (น้อยกว่าร้อยละ 1) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนประชากรเชื้อสายอินเดียและฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากคิดเป็นสัดส่วนรวมถึงเกือบร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรเชื้อสายเอเชียทั้งหมดในสหรัฐฯ แต่กลับพบว่าจำนวนร้านชาติดังกล่าวกลับยังมีสัดส่วนในตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนัก
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังได้นำเสนอข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
- ใน 50 รัฐของสหรัฐฯ มีร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น และไทยกระจายตัวครอบคลุมทั้งหมด
- ร้านอาหารจีนมีสัดส่วนกระจายตัวครอบคลุม ร้อยละ 70 ของเขต (County) ทั้งหมดในสหรัฐฯ ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นร้อยละ 45 และ ร้านอาหารไทย ร้อยละ 33 ตามลำดับ
- ร้านอาหารเอเชียในสหรัฐฯ ที่จำหน่ายอาหารเอเชียมากกว่าหนึ่งชาติมีสัดส่วนร้อยละ 9 ได้แก่
-
- ร้านอาหารจีน – ญี่ปุ่น (ร้อยละ 36)
- ร้านอาหารจีน – ไทย (ร้อยละ 18)
- ร้านอาหารญี่ปุ่น – ไทย(ร้อยละ 15)
- ร้านอาหารญี่ปุ่น – เกาหลี (ร้อยละ 10)
-
- รัฐที่มีจำนวนประชากรเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ 1. รัฐแคลิฟอร์เนีย (ร้อยละ 48) 2. รัฐนิวยอร์ก (ร้อยละ 8.49) 3. รัฐเท็กซัส (ร้อยละ 7.46) 4. รัฐนิวเจอร์ซี (ร้อยละ 4.28) และ 5. รัฐวอชิงตัน (ร้อยละ 3.85) โดยมีสัดส่วนร้านอาหารเอเชียที่เปิดกิจการในรัฐดังกล่าวรวมทั้งสิ้น ร้อยละ 45
- กว่าร้อยละ 15 ของร้านอาหารทั้งหมดในรัฐฮาวาย รัฐแคลิฟฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน รัฐเนวาดา และรัฐนิวยอร์กมีอาหารเมนูเอเชียให้บริการภายในร้านด้วย
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
อุตสาหกรรมธุรกิจบริการร้านอาหารในสหรัฐฯ เป็นอุตสาหกรรมที่บทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการขยายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 ที่ส่งผลทำให้กิจการหลายแห่งจำเป็นต้องปิดกิจการลงจากเดิมที่มีจำนวนร้านอาหารกว่า 1 ล้านแห่งทั่วสหรัฐฯ ก่อนการแพร่ระบาดลดลงเหลือเพียง 660,936 แห่งในปี 2564 ก็ตาม
แม้ว่าสหรัฐฯ จะกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน แต่ธุรกิจบริการร้านอาหารกลับยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงมีพฤติกรรมนิยมเลือกออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ข้อมูลจากสมาคมร้านอาหารแห่งชาติสหรัฐฯ (National Restaurant Association หรือ NRA) คาดว่า อุตสาหกรรมธุรกิจบริการร้านอาหารสหรัฐฯ จะมีมูลค่าตลาดขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
สำหรับกลุ่มกิจการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ปัจจัยด้านความนิยมของอาหารไทยในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงวัตถุดิบการปรุงอาหารไทย เช่น เช่น ข้าวหอมมะลิ ซอสปรุงรส เครื่องแกง น้ำปลา ผักและผลไม้กระป๋อง และเส้นก๋วยเตี๋ยว ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังความต้องการบริโภคเป็นมูลค่าสูง อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของไทย ดังนั้น การให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยในต่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดอาหารของโลกตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก (Thailand Kitchen of the World) ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ทั้งสิ้นประมาณ 5,400 ร้านกระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากคิดเฉพาะในเขตพื้นที่ดูแลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโกมี จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ร้าน(ร้อยละ 18.12) คิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 2.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเฉพาะที่แสดงถึง อัตลักษณ์อาหารไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ กะทิกระป๋อง เครื่องแกง ซอสปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยว ชาไทย กาแฟไทย และสมุนไพรต่างๆ จากไทยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยเป็นมูลค่าสูงในแต่ละปี
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลทำให้สหรัฐฯ ลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาตามแนวโน้มตลาดภายในประเทศแต่โดยรวมคาดว่าปัจจัยด้านตลาดการจ้างงานและการบริโภคภาคประชาชนของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบริการร้านอาหารสหรัฐฯ ขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมใช้จ่ายเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีเป็นมูลค่าสูงซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยในตลาดสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้
ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารไทยมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันและจะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยเพื่อสนับสนุน อุตสาหกรรมในอนาคต
“ตัวอย่างกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT ในเขตพื้นที่ดูแล
สคต. ชิคาโก ผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับ @chicagoffodiegirl”
ที่มา: สำนักวิจัย Pew Research Center
******************************
Büro für internationale Handelsförderung in Chicago