“ในช่วง 2 วันระหว่างเทศกาล Prime Day บริษัท Amazon สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากถึง 375 ล้านชิ้น”
บริษัท Amazon ผู้ประกอบการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดทั้งสิ้นร้อยละ 37.8 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมดในสหรัฐฯ รายงานยอดจำหน่ายสินค้าช่วงเทศกาล Prime Day เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาลเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยเทศกาล Prime Day เป็นช่วงการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าสำหรับลูกค้ากลุ่มที่เป็นสมาชิกของบริษัทหรือ Prime Member (มีค่าสมาชิกรายปี 139 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อรับบริการจัดส่งสินค้าฟรีแบบด่วนพิเศษ) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 เพื่อฉลองครบรอบการก่อตั้งบริษัท 20 ปี และจัดต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปีนี้จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วันระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2566 ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันสูงมากไม่แพ้เทศกาล Black Friday และ Cyber Monday
โดยปีนี้บริษัท Amazon รายงานว่า สามารถจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้มากถึง 375 ล้านชิ้น เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สามารถจำหน่ายได้ราว 300 ล้านชิ้นหรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25
ทั้งนี้ บริษัท Adobe Analytics ผู้เก็บข้อมูลสถิติทางการตลาดยังได้รายงานยอดจำหน่ายสินค้าของบริษัท Amazon ในช่วงเทศกาลวันแรกเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในวันที่สองเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มการขยายตัวของยอดจำหน่ายดังกล่าวส่งผลทำราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ก่อนเปิดตลาดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาด้วย
นอกจากนี้ บริษัท Numerator ผู้เก็บข้อมูลสถิติการค้าในตลาดยังรายงานว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมียอดเฉลี่ยในการสั่งซื้อสินค้าช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 52.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งในปีที่ผ่านมาเป็น 54.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งในปีนี้ด้วย
อีกทั้ง บริษัท Amazon ยังได้รายงานว่า การจัดเทศกาลลดราคาในปีนี้ช่วยให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่เคยมีการจัดเทศกาลมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าของใช้ในบ้าน และสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางซึ่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในปีนี้
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันไปสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัทพ์สมาร์ทโฟนมาก ขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.8 ของยอดสั่งซื้อทั้งหมดเปรียบเทียบกับร้อยละ 41.5 เมื่อปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังพบว่า ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อสินค้าแบบจ่ายชำระเงินทีหลัง (Buy Now Pay Later หรือ BNPL) เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 927 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของยอดจำหน่ายทั้งหมดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมเลือกจ่ายชำระเงินทีหลัง ได้แก่ สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
Mr. Vivek Pandya ตำแหน่งหัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัท Adobe Digital Insights กล่าวว่า ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนทางเศรษฐกิจในตลาดมีส่วนสำคัญทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันเลือกใช้บริการจ่ายชำระเงินค่าสินค้าทีหลังในช่วงเทศกาลดังกล่าวเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการเงิน อีกทั้ง ยังคาดว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเลือกใช้บริการดังกล่าวมากขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปีที่กำลังจะมาถึงด้วย
โดยรวมกลุ่มสินค้าที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเทศกาลดังกล่าว คือ ของใช้สำหรับนักเรียนและสำนักงาน (ร้อยละ 76) รองลงมา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ร้อยละ 52) ของเล่น (ร้อยละ 27) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 24) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 12) ตามลำดับ
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ปัจจุบันตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ผู้บริโภคต่างหันไปเลือกใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวเนื่องจาก 1) ปัจจัยด้านความหลากหลายของสินค้า 2) ปัจจัยด้านความสะดวกสบายในการเลือกซื้อ 3) ปัจจัยด้านโปรโมชั่นและราคาที่แข่งขันได้ 4) ปัจจัยด้านความสะดวกในการเปลี่ยนและคืนสินค้า และ 5) ปัจจัยด้านบริการจัดส่งที่รวดเร็ว ทำให้ตลาดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทั้งสิ้น 4.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9.40 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 16.55 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR) อีกทั้ง ยังคาดว่าตลาดค้าปลีกสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.44 ต่อปีอีกด้วย
แม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาในระบบการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีพฤติกรรมชะลอการเลือกซื้อสินค้าลงพอสมควรในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่สองชาวอเมริกันกลับเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและหันกลับไปใช้จ่ายเลือกซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นในขณะที่การเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กลับมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการปรับตัวลดลงของภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3 น่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิจารณาชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในตลาด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันหลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูงทุกปี
แนวโน้มดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดค้าปลีกในช่วงเทศกาลปลายปีที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคในตลาดให้ความสนใจเลือกซื้อในช่วงดังกล่าว เช่น สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเครื่องสำอาง สินค้าเครื่องประดับ และสินค้าของเล่น เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดจะเริ่มสั่งซื้อสินค้าอย่างน้อย 3 – 6 เดือนล่วงหน้าก่อนจะถึงช่วงเทศกาลเพื่อให้มีสินค้าพร้อมจำหน่าย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาเร่งหาโอกาสในการเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ารายสำคัญในตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีช่องทางค้าปลีก (Online Market Platforms) หลากหลายช่องทางในตลาดที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทั้ง ช่องทางการค้าออนไลน์แบบมีค่าใช้จ่าย ให้บริการทั้งการวางจำหน่ายสินค้า (Product Listing) และบริการจัดการสินค้าคงคลังแบบครบวงจร เช่น www.amazon.com www.ebay.com www.etsy.com และ www.walmart.com เป็นต้น รวมถึงช่องทางการค้าออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น www.thaitrade.com ซึ่งเป็นหนึ่งในการบริการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ารายสำคัญในตลาดเป้าหมายทั่วโลก
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จึงอาจจะพิจารณาเลือกใช้บริการช่องทางการค้าออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสมกับกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเสนอขายสินค้าและเจรจาการค้ากับคู่ค้ารายสำคัญเพิ่มเติมจากช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม (Conventional Channel)
“ตัวอย่างช่องทางการค้าออนไลน์ที่นิยมในตลาด”
ที่มา: TechCrunch
******************************
Büro für internationale Handelsförderung in Chicago