1. สถานการณ์ทั่วไป
-หลังการยกเลิกมาตราการล็อกดาวน์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่างปี 2564-2565 เป็นปีแห่งการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นปกติ ซึ่งเป็นสองปีที่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มการค้าที่พุ่งสูงจนสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาด ส่วนปี 2566 เริ่มต้นด้วยการค่อยๆชะลอตัวในทุกห่วงโซ่อุปทาน ทั้งการผลิต ตลาดภายในประเทศ และการส่งออก ฯลฯ อย่างที่บริษัทเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งคาดการณ์และอดที่จะวิตกกังวลไม่ได้ เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเชิงลบที่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจของทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่หายากขึ้นและไม่สามารถควบคุมให้เกิดความแน่นอนได้ และการดำเนินการตามนโยบายการเงินที่เข้มงวดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหภาพยุโรป รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่สร้างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงในระยะเวลาอันสั้น และกำลังฉุดเศรษฐกิจของอิตาลีให้ประสบกับความยากลำบาก สงครามปะทุในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้บริษัทต่างๆในห่วงโซ่อุปทานต้องขึ้นราคาระหว่าง 15% ถึง 25% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนได้แก่พลังงานและวัตถุดิบ ซึ่งอิตาลียังต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ
-คำสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ชะลอตัวลง แต่อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ภาคธุรกิจยังจะได้รับประโยชน์จากสัญญาระยะยาวที่ลงนามเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นแนวโน้มของบริษัทต่างๆคาดว่าจะยังคงเป็นบวก จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 450 ราย สมาพันธ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์แห่งชาติอิตาลี (FederlegnoArredo) ประมาณการว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จะยังคงเติบโตได้ประมาณ 5% ในปีนี้ จากการส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดในประเทศอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการหมดระยะเวลาการใช้โบนัสในภาคก่อสร้างและโบนัสเฟอร์นิเจอร์ที่เสนอโดยรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการก่อสร้าง ภายในสิ้นปี 2566 จะมีการปรับระบบการทำงานในกระบวนการต่างๆ และตลาดของการบริโภคที่สมดุลมากขึ้น การลงทุนจะมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตดังที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาซึ่งตลาดมีความต้องการสูง แต่ปัจจุบันการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมมุ่งเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและนโยบายความยั่งยืน
-การลงทุนในตลาดต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการโรคระบาดครั้งใหญ่และสงครามในยูเครนที่อิตาลีจำเป็นต้องวางแผนการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ใหม่ โดยทำการศึกษาวิจัยตลาดเพื่อทำความเข้าใจว่าตลาดใดสามารถเข้ามาแทนที่ตลาดรัสเซีย ซึ่งในปี 2556 เป็นประเทศคู่ส่งออกอันดับที่ 4 ของอิตาลี และในปี 2565 ก็หลุดออกจากสิบอันดับแรก อย่างไรก็ตาม มีเบาะแสบางอย่างปรากฏชัดเจนแล้ว เช่น การเติบโตของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่า 1.9 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +25.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 แซงหน้าเยอรมนี และเป็นอันดับสองในการจัดอันดับการส่งออก หรือการเข้าสู่สิบอันดับแรกของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
-ความสำเร็จของการค้าในตลาดต่างประเทศเนื่องจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากทั่วโลก เฉพาะในภาคส่วนนี้ อิตาลีสามารถแซงหน้าคู่แข่งรายอื่นๆในตลาดที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นหัวหอกของตลาดโลกที่มีมูลค่าเกิน 5 หมื่นล้านยูโรในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตต่อไปในระยะกลาง-ยาว สร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการชาวอิตาลีในการขับเคลื่อนไปสู่ตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ตลาดเกิดใหม่ ที่ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงดีไซน์แตกต่าง และสามารถตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนสำหรับกลุ่มผู้ซื้อคนรุ่นใหม่
2. สถานการณ์ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์
2.1 ตลาดเฟอร์นิเจอร์โลก
– ในปี 2565 มูลค่าการค้าเฟอร์นิเจอร์โลกมีมูลค่า 530 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น (+12%) เมื่อเทียบกับปี 2564
– ในปี 2564 มีมูลค่าการค้า 470 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น +14% เมื่อเทียบกับปี 2563
– ส่วนในปี 2566 คาดว่าน่าจะมีมูลค่าประมาณ 560 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2565
– ภายในปี 2570 การเติบโตของการค้าเฟอร์นิเจอร์โลกคาดว่าจะมีมูลค่า 690 พันล้านยูโร
2.2 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ยุโรป
ยุโรปมีจำนวนผู้บริโภครวมกันมากกว่า 530 ล้านคน ในปี 2565 มีมูลค่าการค้าเฟอร์นิเจอร์เกือบ 120 พันล้านยูโร ประกอบด้วยบริษัทผู้ประกอบการประมาณ 130,000 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ไม่เน้นการผลิตปริมาณมากเหมือนประเทศผู้ผลิตในเอเชีย แต่เน้นสินค้าคุณภาพสูงสำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง จึงเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ อิตาลีเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำในสหภาพยุโรป (แซงหน้าเยอรมนีแล้ว) เนื่องจากอิตาลีมีชื่อเสียงมากในด้านการออกแบบที่นำหน้าและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และอิตาลีเป็นผู้ผลิตอันดับที่สี่ของยุโรป รองจากสวีเดน (ยี่ห้อ IKEA ที่มีสาขามากมายทั่วโลก) สเปน และโปแลนด์
2.3 ตลาดเฟอร์นิเจอร์อิตาลี
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีบริษัทประมาณ 21,750 แห่ง มีคนทำงานมากกว่า 140,300 คน (เพิ่มขึ้น +1.5% เมื่อเทียบกับปี 2564)
ในปี 2565 มีมูลค่าการค้าประมาณ 29 พันล้านยูโร (เพิ่มขึ้น +12.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มการตลาดดี ได้แก่ ภาคการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร เช่น ประตู หน้าต่าง และพื้นไม้ แบ่งเป็นยอดขายในตลาดภายในประเทศ ที่มีมูลค่า 13.6 พันล้านยูโร (+9.2%) และการส่งออกมูลค่า 16.1 พันล้านยูโร (+13.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ซึ่งคิดเป็น 37% ของรายได้ในห่วงโซ่อุปทาน การส่งออกภาคเฟอร์นิเจอร์มีการเติบโตที่สำคัญที่สุดไปยังสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 2.1 พันล้านยูโร (+11.21%) ตามมาด้วยฝรั่งเศส มีมูลค่า 2.6 พันล้านยูโร (+0.78%) และเยอรมนี มีมูลค่า 1.5 พันล้านยูโร (-2,43%)
3. ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
3.1 ความตื่นตัวด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การใช้วัสดุจึงมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ปลอดสารพิษ รีไซเคิลได้ และได้รับการรับรองการกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย และมุมมองต่อความยั่งยืนส่งผลต่ออายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์ จึงต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสามารถนำกลับมาตกแต่งใหม่ (refurbishment) ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบตามธรรมชาติมากมายที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และพัฒนาให้เป็นสินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการได้ โดยเฉพาะในอิตาลีและยุโรปที่กำลังรณรงค์อย่างจริงจังด้านสิ่งแวดล้อม และการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่เหลือจากการเกษตรและอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่นำนวัตกรรมการออกแบบมาเพิ่มมูลค่า ทำให้สินค้าที่นำมาแสดงน่าสนใจ มีประโยชน์ใช้สอย และน่าจะสามารถเจาะตลาดได้ดีอีกด้วย
3.2 การผลิตสินค้าตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และอย่างยั่งยืน (Sustainability) ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ จะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับและเลือกซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อดี พร้อมขานรับและมีแนวโน้มการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3.3 ผู้ประกอบการสามารถนำทักษะด้านการออกแบบที่อิตาลีมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาเป็นข้อมูลในการพัฒนารูปแบบสินค้า ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอิตาลี/ยุโรปต่อไป
3.4 การเข้าร่วมงานหรือเข้าชมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน Salone del Mobile.Milano จะสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ทางการค้า เนื่องจากงานแสดงสินค้าดังกล่าว เป็นงานใหญ่ระดับโลกที่กลายเป็นจุดนัดพบทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ดีไซน์เนอร์ นักธุรกิจคนกลาง ผู้สื่อข่าว และผู้ซื้อและผู้ขายจากทั่วโลก ทั้งในประเทศอิตาลีและจากต่างประเทศ รวมถึงการอัพเดทข้อมูล แนวโน้มสินค้า และความก้าวหน้าของตลาดได้อย่างเจาะลึก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปต่อยอดทางการค้า วางแผนการทำงาน รวมถึงตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ผู้ประกอบการไทยสามารถจึงควรใช้โอกาสนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างช่องทางการค้าเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดอิตาลี/ยุโรป รวมถึงเสาะหาผู้ซื้อจากทั่วโลกที่ใช้งานนี้ในการพบปะ หาคู่ค้าและเจรจาธุรกิจ
Internationales Handelsförderungsbüro in Mailand
สิงหาคม 2566
Abteilung für internationale Handelsförderung (Hauptsitz)
563 Nonthaburi Road, Bang Kra Sor, Ampheo Muang, Nonthaburi 11000, Thailand
Telefon: +66 2507 7999
E-Mail: saraban@ditp.go.th
User Online : 1 | Visitors : 6435421
Copyright © 2023
Abteilung für internationale Handelsförderung