การบินไทยกลับมาบินตรงเส้นทางกรุงออสโล – กรุงเทพฯ

สายการบินไทยกลับมาเปิดเส้นทางเที่ยวบินตรงกรุงออสโล – กรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังหยุดไปกว่า 4 ปี โดยเริ่มเส้นทางบินตรงนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป ด้วยเครื่องบิน Boeing 777
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางยอดนิยม ไม่เพียงแต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ที่เดินทางไปประเทศไทย และที่อื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางยอดนิยมสำหรับนักเดินทางจากทั้งชาวไทย และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย ที่พบว่านอร์เวย์เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดและแปลกใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางการขนส่งปลา และอาหารทะเลที่สำคัญ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของนอร์เวย์
นอกจากสายการบินไทยแล้ว ยังมีสายการบิน Norse Atlantic ที่ให้บริการบินตรงเส้นทางกรุงออสโล-กรุงเทพฯ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นเส้นทางการบินของบริษัทฯ ที่บินไปยังทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก โดยเปิดทำการบินสัปดาห์ละสองครั้ง ในวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ และยังมีแผนการเพิ่มเที่ยวบินเป็นสัปดาห์ละสามครั้งในอนาคต
สายการบิน Norse Atlantic เป็นสายการบิน low cost น้องใหม่ของนอร์เวย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 และเริ่มเปิดทำการบินครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ในเส้นทางระหว่างกรุงออสโล-นครนิวยอร์ก เที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นเส้นทางระหว่างทวีปยุโรปกับสหรัฐอเมริกา

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. โคเปนเฮเกน:
• ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างประเทศไทย – นอร์เวย์มีมูลค่า 791.78 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังตลาดนอร์เวย์ 324.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.18 และไทยนำเข้าสินค้าจากนอร์เวย์รวมมูลค่า 466.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 32
• สินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทยไปนอร์เวย์ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.50 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.63 แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 518.57 และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ มูลค่า 9.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.39
• สินค้านำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทยจากนอร์เวย์ ได้แก่ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค มูลค่า 226 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10 ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ มูลค่า 100.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง ร้อยละ 42 สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.6 เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มูลค่า 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 และ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน มูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5
• จากการที่นอร์เวย์จะมีเส้นทางการบินตรงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสายการบิน คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันได้เพิ่มมากขึ้น ในสินค้าผัก และผลไม้สดจากไทย และกลุ่มสินค้าปลา และอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศรองจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
• การเปิดเส้นทางบินตรงนอกจากจะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความต้องการ และการเปิดรับสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มจากไทยของชาวนอร์เวย์ได้เพิ่มขึ้นด้วยจากประสบการณ์ในการเดินทางไปประเทศไทย
• ทั้งนี้ ประชากรนอร์เวย์มีรายได้เฉลี่ย 2.18 ล้านบาท/คน/ปี ชาวนอร์เวย์เปิดรับสินค้าจากต่างประเทศที่มี ความโดดเด่นที่ไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่น และสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดนี้ด้วย การจัดหาใบรับรองอื่นๆ ด้านลดผลกระทบสังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลสามารถสร้างความได้เปรียบทางการค้าได้ ใบรับรองที่ผู้นำเข้าตลาดนอร์เวย์ยอมรับ เช่น Debio ตราเครื่องหมายเกษตรอินทรีย์สำหรับสินค้าอาหาร และ Nordic swan (Nordic Ecolabel) ตราเครื่องหมายเกษตรอินทรีย์สำหรับสินค้าไม่ใช่อาหาร เป็นต้น

de_DEGerman