สถานการณ์ตลาดคอนเทนต์ BL ไทยในประเทศญี่ปุ่น

ไฟล์บทความทางการค้า https://drive.google.com/file/d/1qSMSP1Rt5eI5j_QmtLIuFRMRg1p0VAja/view?usp=sharing

สถานการณ์ตลาดคอนเทนต์ BL ไทยในประเทศญี่ปุ่น

 

1. คอนเทนต์ BL คืออะไร

คอนเทนต์ BL หรือ Boy’s Love (เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าคอนเทนต์ Y หรือ Yaoi) นั้น

หมายถึงสื่อบันเทิงที่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย ซึ่งถูกนำเสนอออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น นิยาย, หนังสือการ์ตูน, ภาพยนตร์, แอนิเมชัน, ละคร และภาพยนตร์ท เป็นต้น แต่เดิมมีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น และถูกเผยแพร่มายังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอนเทนต์ BL ที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบละคร ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ จนถึงขั้นที่ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับของคอนเทนต์ BL

2. คอนเทนต์ BL ของไทย
คอนเทนต์ BL ที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะถูกนำเสนอออกมาใน 2 รูปแบบ ได้แก่ นิยาย และละคร ทั้งนี้ ละครแนว BL จำนวนหนึ่งจะเป็นผลงานที่ดัดแปลงมาจากนิยาย BL ที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของการส่งออกคอนเทนต์ BL ไทยไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว คอนเทนต์ BL ที่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบละครจะมีบทบาทมากกว่าและได้รับความสนใจจากผู้ชมในตลาดต่างประเทศสูงกว่า
จากความสำเร็จของละครแนว BL เรื่อง “พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (SOTUS)” ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ละครแนว BL ได้รับการยอมรับในฐานะว่าเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงกระแสหลัก ส่งผลให้บริษัทผู้สร้างละครแนว BL ในประเทศไทยมีอยู่หลายค่าย โดยจะมีผู้ผลิตละครโทรทัศน์รายใหญ่อาทิ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.), บริษัท แกรมมี เทเลวิชัน จำกัด (GMMTV) บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ จะมีค่ายผู้ผลิตอื่นๆ อีกจำนวนหลายค่าย เช่น บริษัท เฮโล โปรดักส์ชัน จำกัด, บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด บริษัท ดี ฮัพ เฮาส์ จำกัด, บริษัท ๙ หน้า โปรดักชัน จำกัด, บริษัท เทีย ไฟว์-วัน จำกัด, บริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด, บริษัท ฮอลลีวู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
บริษัท GMMTV นับเป็นบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ BL ไทยที่มีบทบาทในเวทีต่างประเทศมากที่สุดในฐานะผู้สร้างละครเรื่อง “พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (SOTUS)” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ทำให้ละครแนว BL ได้รับความนิยมในระดับกระแสหลัก และเรื่อง “เพราะเราคู่กัน (2gether)” ซึ่งเป็นผลงานละครแนว BL จากประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก จนก่อกำเนิดแนวคิดในการผลักดันให้คอนเทนต์แนว BL เป็นเครื่องมือในการสร้าง Soft Power ให้แก่ประเทศไทยในเวลาต่อมา นอกจาก GMMTV แล้ว บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างละครแนว BL ไทยในยุคบุกเบิก โดยละครเรื่อง “รักวุ่น วัยรุ่นแสบ (Love Sick)” ของค่ายก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นละครแนว BL รุ่นแรกของไทยที่วางรากฐานความนิยมให้กับละครแนว BL ของไทยในยุคต่อมา

ในประเทศญี่ปุ่นบริษัทที่มีบทบาทเกี่ยวกับการเผยแพร่และส่งเสริมคอนเทนต์แนว BL จากประเทศไทยเป็นพิเศษคือ บริษัท TV Asahi ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ทางบริษัท TV Asahi ได้ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท GMMTV ของประเทศไทย และตกลงที่จะจัดงานนำเสนอและจัดแสดงสื่อบันเทิงและศิลปินจาก GMMTV ภายใต้ชื่องาน “GMMTV Exhibition in Japan” ในปัจจุบัน ได้มีการจัดงานจัดแสดงดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง โดยงานครั้งแรก (ใช้ชื่อว่า “GMMTV Exhibition in Japan”) จัดขึ้นเมื่อปี 2564 ส่วนครั้งที่สอง (ใช้ชื่อว่า “GMMTV Exhibition in Japan 22-23”) จัดขึ้นช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2566 ในภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่นได้แก่ โตเกียว โอซากา เซ็นได นาโกยา และฟุกุโอกะ

3. ตลาดคอนเทนต์ BL ในญี่ปุ่น
จากการประเมินของแหล่งข้อมูลต่างๆ คาดว่า ตลาดคอนเทนต์ BL ในประเทศญี่ปุ่นมีขนาดเกิน 20,000 ล้านเยน (ประมาณ 4,875 ล้านบาท) ขึ้นไป และมีผู้บริโภคเป็นจำนวนเกิน 5 แสนคน บริษัท Sandias ซึ่งเป็นบริษัทด้านการตลาดโดยเน้นเฉพาะทางตลาดคอนเทนต์ BL ได้เปิดเผยข้อมูลจากแบบสำรวจที่บริษัทฯ จัดทำในช่วงปี 2564 ว่า ผู้บริโภคคอนเทนต์ BL ในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระบาดอยู่นั้น ผู้บริโภคคอนเทนต์ BL โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เงิน 13,992 เยนไปกับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภท BL ในแต่ละเดือน และใช้เงิน 162,266 เยนไปกับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภท BL ในแต่ละปี นอกจากนี้ การอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต้องอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่นั้น ยังส่งผลให้ผู้บริโภคคอนเทนต์ BL จับจ่ายใช้สอยให้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ BL สูงกว่าเดิมด้วย

ตลาดคอนเทนต์ BL ของประเทศญี่ปุ่นนั้น จะสามารถจำแนกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ตลาดสำหรับผลงาน BL เชิงพาณิชย์ (Commercial BL) ซึ่งจะเป็นผลงานต้นฉบับ (Original works) ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความคิดของตัวศิลปินเอง และมักจะได้รับการเผยแพร่ ตีพิมพ์หรือจัดจำหน่ายโดยบริษัทผู้จัดจำหน่ายหรือสำนักพิมพ์ ส่วนตลาดย่อยกลุ่มที่สองนั้น จะเป็นตลาดสำหรับผลงานดัดแปลง (Derivative works) ซึ่งจะเป็นผลงานคอนเทนต์ BL ที่ถูกสร้างโดยนำผลงานต้นฉบับอื่นๆ มาเป็นฐานโดยไม่ต้องคำนึงว่าผลงานต้นฉบับนั้นจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ BL หรือไม่ ตลาดย่อยทั้งสองกลุ่มนี้จะมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจที่บริษัท Sandias ได้ทำขึ้นในอดีตได้ระบุว่า ในหนึ่งปีนั้น ตลาดคอนเทนต์ BL เชิงพาณิชย์จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านเยน ส่วนตลาดคอนเทนต์ BL แบบผลงานดัดแปลงนั้นจะมีขนาดประมาณ 10,000 ล้านเยนต่อปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในปัจจุบันอาจจะสูงยิ่งกว่านั้นอีกก็ได้ คุณฮิราโนะ อันริ ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านการตลาดของบริษัท Sandias ได้ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคคอนเทนต์ BL ของทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ได้มีรูปแบบความสนใจที่เหมือนกันเสียทีเดียว ถึงแม้ว่าจะมีผู้บริโภคที่ติดตามที่ชื่นชอบผลงาน BL ทั้งที่เป็น BL เชิงพาณิชย์และที่เป็นผลงานดัดแปลงก็ตาม แต่ก็มีผู้บริโภคผลงาน BL จำนวนมากที่สนใจเฉพาะ BL ที่เป็นผลงานดัดแปลง แต่ได้ไม่สนใจ BL เชิงพาณิชย์เลย

ตลาดคอนเทนต์ BL ประเทศญี่ปุ่นนั้น นับว่ามีขนาดใหญ่ และนับเป็นฐานลูกค้าของผู้ผลิตคอนเทนต์ BL ประเทศไทยที่สำคัญมาก จากการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสนใจในการซื้อคอนเทนต์ BL มากที่สุด ตามด้วยไต้หวัน และเวียดนาม คอนเทนต์ BL ที่ผลิตในประเทศไทยนั้นสามารถทำรายได้ถึง 4,000 ล้านเยน โดยจะเป็นรายได้ที่มาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากถึง 1,400 ล้านเยน

4. ปัจจัยแห่งความสำเร็จของละคร BL ไทยในญี่ปุ่น ตัวอย่างจากคอนเทนต์ “เพราะเราคู่กัน (2gether)”
ท่าทีที่เปิดกว้างมากขึ้นของสังคมญี่ปุ่นต่อผลงานคอนเทนต์ BL ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้าที่ละครเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” จะออกอากาศนั้น ละครญี่ปุ่นแนว BL จะมีความนิยมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นละครที่ได้รับความนิยมแบบเฉพาะกลุ่ม ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นละครที่ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไป และมีดาราชายญี่ปุ่นชื่อดังระดับแนวหน้าของประเทศมาร่วมแสดงนำด้วย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563 ถึงแม้รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีนโยบายปิดเมือง (Lockdown) ที่เข้มงวดเทียบเท่าประเทศไทย แต่ก็จะมีการประกาศนโยบายขอความร่วมมือให้ประชาชนไม่ออกจากบ้านหากไม่จำเป็น (Stay home) และรณรงค์ให้กิจการห้างร้านและร้านกินดื่มต่างๆ ปิดให้บริการภายในเวลาไม่เกิน 20.00 น. จากการที่ผู้คนมีช่วงเวลาที่อยู่กับบ้านมากขึ้น ผู้คนจึงมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาว่างไปกับการรับชมคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น อีกทั้งมีเวลาในการลองไปรับชมคอนเทนต์ในแนวที่อยู่นอกเหนือความสนใจตามปกติของตนเองอีกด้วย คนญี่ปุ่นที่ติดตามคอนเทนต์ BL จากผู้สร้างญี่ปุ่นแต่อย่างเดียว ก็หันมาติดตามคอนเทนต์ BL จากผู้สร้างต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ความสะดวกและง่ายดายในการเข้าถึงคอนเทนต์ ในช่วงที่โลกยังคงตกอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ทาง GMMTV ได้ตัดสินใจนำคลิปวิดีโอละครเพราะเราคู่กันออกเผยแพร่ลงบน Youtube โดยไม่เก็บค่ารับชมแต่อย่างใด อีกทั้งยังเปิดให้ผู้รับชมเพิ่มคำบรรยายภาษาต่างประเทศลงไปได้ ซึ่งรวมไปถึงภาษาญี่ปุ่นด้วย ผู้ชมชาวญี่ปุ่นจึงสามารถรับชมละครเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการไปสมัครเป็นสมาชิกบริการ Video On Demand แต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถรับชมเนื้อหาของละครได้อย่างเข้าใจอีกด้วย ด้วยการเลือกเผยแพร่ละครผ่านทาง Youtube นี้เอง ละครเรื่องนี้จึงได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และมียอดจำนวนครั้งการรับชม (ยอด View) สูงเกิน 800 ล้านครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัท Content Seven ได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่ละครเรื่องนี้ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผู้ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นก็ถูกจำกัดการเข้าถึงและรับชมละครผ่านทางช่อง Youtube ของ GMMTV ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา

ความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ชื่นชอบละคร เหล่าผู้ที่ชื่นชอบและติดตามละครเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ได้อาศัย SNS โดยเน้น Twitter เป็นหลัก ในการประชาสัมพันธ์ละครกันแบบปากต่อปาก ทั้งนี้ แฟนๆ ของละคร “เพราะเราคู่กัน” จำนวนหนึ่ง จะจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “ชีทเผยแพร่ลัทธิ” (布教シート) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นหันมาสนใจในละครมากขึ้น ชีทเผยแพร่นี้ จะมีเนื้อหาเป็น infographics ที่สรุปเนื้อหาและความน่าสนใจของละครที่ผู้จัดทำต้องการสนับสนุน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ละครได้รับการฉายผ่านทาง Youtube นั้น ทางเว็บไซต์ Youtube จะมีเครื่องมือ Community Captions ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้รับชมสามารถเพิ่มคำบรรยายในภาษาต่างๆ ให้แก่คลิปวิดีโอบน Youtube ได้ ผู้ติดตามละคร “เพราะเราคู่กัน” ที่มีความรู้ทางภาษาญี่ปุ่น จึงทำคำบรรยายภาษาญี่ปุ่นให้ผู้รับชมที่เป็นชาวญี่ปุ่นได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 กันยายน 2563 ทาง Youtube ได้ประกาศยกเลิกการใช้ Community Captions ไปในที่สุด
ความใกล้ชิดระหว่างนักแสดงชาวไทยและแฟนคลับ เมื่อเปรียบเทียบกับดาราญี่ปุ่นแล้ว ดาราชาวไทยจะมีอิสระในการใช้ SNS มากกว่า โดยจะสามารถตอบความเห็นของแฟนๆ ได้โดยตรง กดปุ่มถูกใจ หรือ retweet ความเห็นของแฟนๆ ได้ ซึ่งจะต่างกับกรณีของดาราญี่ปุ่นที่ใช้ SNS ในการประชาสัมพันธ์ผลงานเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทต้นสังกัดของดารานักแสดงชาวไทย จะอนุญาตให้แฟนๆ สามารถนำภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอของดาราที่ตนเองถ่ายอัปโหลดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตได้ ตราบใดที่ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่มีลักษณะผิดกฎหมาย แฟนๆ ของดารานักแสดงชาวไทยจึงมีเนื้อหาใหม่ๆ มาให้สนทนาระหว่างกันได้ในทุกวัน
วัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ภายในละคร BL ไทย ผู้ชมชาวญี่ปุ่นจะได้รับรู้และรับทราบเกร็ดทางวัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศไทยที่ไม่อาจหาพบได้จากการไปเที่ยวเฉพาะที่สถานที่ท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น ระบบรับน้องใหม่ภายในมหาวิทยาลัย วัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย เครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัย วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านที่แตกต่างไปจากญี่ปุ่น เป็นต้น

5. ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับโอกาสจากความนิยมของคอนเทนต์ BL ไทยในประเทศญี่ปุ่น

ธุรกิจสอนภาษา ข้อมูลจากแบบสำรวจของ Tribal Media House ได้เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ละครเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ฉายนั้น ยอดทวีตแบบ Organic ในภาษาญี่ปุ่นว่า “อยากเรียนภาษาไทย” จะอยู่ที่ 4,720 ทวีต ซึ่งสูงกว่าจำนวนทวีตแบบ Organic ในหัวข้อเดียวกันเมื่อช่วงปี 2562 ที่ 1,610 ทวีตเกือบ 3 เท่าตัว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของทวีตดังกล่าวแล้ว จะพบว่าผู้ทวีตส่วนมากจะเกิดความรู้สึกอยากเรียนภาษาไทยหลังจากที่ได้ติดตามรับชมละครไทย

ธุรกิจอาหาร/ผลิตภัณฑ์อาหาร ข้อมูลจากแบบสำรวจของ Tribal Media House ได้ระบุว่า ในช่วง 2563 ที่ละครเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” ออกฉายนั้น จะมีทวีตแบบ Organic เกี่ยวกับการทำอาหารไทยรับประทานภายในบ้านอยู่ที่ 11,200 ทวีต ซึ่งสูงกว่าจำนวน 7,780 ทวีตเมื่อช่วง 2562 ในกรณีของทวีตภายใต้หัวข้อการรับประทานอาหารไทยข้างนอกบ้านนั้น ยอดทวีตแบบ Organic ในช่วง 2563 จะอยู่ที่ 9,300 ทวีต ซึ่งจะมากกว่าจำนวนยอดทวีตของ พ.ศ. 2562 ที่ 7,800 ทวีต และยอดทวีตของ 2561 ที่ 8,440 ทวีต ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าการที่จำนวนยอดทวีตภายใต้หัวข้อของการรับประทานอาหารไทยข้างนอกบ้านในช่วง 2563 นั้น จะเพิ่มไม่สูงมากเท่ากรณีของการรับประทานอาหารไทยภายในบ้านในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ บริษัท Yamamori ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งครอบคลุมไปถึง ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปแบบบรรจุ Retort Pouch และเครื่องปรุงชนิดต่างๆ นั้น ได้เปิดเผยข้อมูลให้ทราบว่า ยอดขายของผลิตภัณฑ์ “ซอสกะเพรา” ภายใต้ซีรี่ส์ผลิตภัณฑ์ Thai Cook ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 มีจำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง 4-5 เท่า ส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ซอสข้าวมันไก่ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 มีจำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง 2-2.5 เท่า

ธุรกิจเครื่องสำอาง ข้อมูลจากแบบสำรวจของ Tribal Media House ได้ระบุว่าในช่วง 2563 จำนวนยอดทวีตแบบ Organic เกี่ยวกับเครื่องสำอางไทยจะอยู่ที่ 12,010 ทวีต ซึ่งเพิ่มจากยอด 2,020 ทวีตใน 2562 ถึงเกือบ 6 เท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้ในช่วง 2563 -2564 จำนวนร้านค้าที่วางจำหน่ายเครื่องสำอางไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทางนิตยสารแฟชั่นชื่อดังอย่าง ViVi ยังได้ลงข้อมูลแนะนำเครื่องสำอางไทยไว้บนบัญชี X (ทวิตเตอร์) ของตนในวันที่ 31 มีนาคม 2564 อีกด้วย ในกรณีของเครื่องสำอางแบรนด์ “Cathy Doll” และ “Idolo” ของไทยนั้น จะมีดารานำของละคร “เพราะเราคู่กัน” ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ ส่งผลให้เป็นที่สนใจของแฟนคลับชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงก่อนวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ

ธุรกิจการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดบัญชี X “タイBLに恋したい!” @ThaiBLLovers นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับละครไทยสำหรับผู้ชมละคร BL ที่ต้องการจะเดินทางไปเที่ยวประเทศไทย อาทิ สถานที่ในประเทศไทยและอาหารไทยที่ปรากฏขึ้นในละคร BL อีกทั้งนำเสนอวัฒนธรรมไทย และจุดที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดของประเทศไทยด้วย ปัจจุบัน บัญชี X ดังกล่าวมีผู้ติดตามอยู่ที่ 22,293 คน นอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแล้ว ทางการท่องเที่ยวประเทศไทยยังได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับละคร BL ไทยอีกด้วย โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 ททท. ได้ Online Fan Meeting กับดารานำของละคร BL เรื่อง “พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง”และพบว่า

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,500 ราย มีคนจำนวนกว่า 80% ที่ไม่เคยเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยมาก่อน ต่อมาในปี 2565 ทาง ททท. ได้จัดทัวร์เยี่ยมชมสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำละคร BL ถึง 2 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ผลปรากฏว่าตั๋วสำหรับเข้าร่วมทัวร์นั้นถูกขายหมดหลังจากที่เปิดขายในเวลาเพียงไม่นาน
ธุรกิจดนตรี ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้มีการเปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลงประกอบละคร “เพราะเรา(ยัง) คู่กัน (Still 2gether)” ซึ่งเป็นเนื้อหาตอนพิเศษของ “เพราะเราคู่กัน” ผ่านทาง Youtube มิวสิกวิดีโอชิ้นนี้ สามารถสร้างยอดวิวกว่า 5 ล้านครั้งได้หลังจากที่เปิดตัวไปได้เพียงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ในงานสัมมนาสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ “Beyond Borders” จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ณ สถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ตัวแทนจากบริษัท Universal Music ได้ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน มีศิลปินไทยได้รับเชิญไปแสดงในงานดนตรีชื่อดังของญี่ปุ่นอย่างเช่นรายการ Summer Sonic ดังนั้น หากนำศิลปินเพลงไทยมามีส่วนร่วมในการเล่นดนตรีประกอบละครแนว BL มากขึ้น ก็จะมีผลเป็นการช่วยเพิ่มแฟนคลับให้แก่ศิลปินรายนั้นๆ ได้

ธุรกิจเกม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 บริษัท Mediaseek จำกัดของประเทศญี่ปุ่นได้เปิดให้บริการเกมสำหรับเล่นบนอินเตอร์เน็ตบราวเซอร์ชื่อ “BOYS MEETING From Thailand” ซึ่งจะมีการนำดาราชายจากละคร BL มาเป็นตัวละครภายในเกม (ฟลุก-ณธัช ศิริพงษ์ธร, โอห์ม-ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ, เก้า – นพเก้า เดชาพัฒนคุณ ซึ่งเป็นดาราจากละครเรื่อง “ด้ายแดง Until We Meet Again,” เฟิร์ส – ลองรัฐ นอบสำโรง และจา- พชร สวนศรี ซึ่งเป็นดาราจากละครเรื่อง “TharnType the Series” )

6. บทสรุป
ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดของคอนเทนต์ BL ตลาดคอนเทนต์ BL ประเทศญี่ปุ่นจึงมีขนาดใหญ่และนับเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะใช้คอนเทนต์ BL เป็นสินค้าสำคัญในการสร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2563 ละคร BL ไทยเรื่อง “เพราะเราคู่กัน (2gether)” ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงไปทั่วโลกซึ่งรวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย ความสำเร็จดังกล่าว ได้เป็นรากฐานให้คอนเทนต์ BL ของไทยเป็นที่รู้จักและหยั่งรากลงอย่างมั่นคงในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังชักนำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น
ถึงแม้ในปัจจุบัน คอนเทนต์ BL จากประเทศไทยจะยังคงสามารถทำรายได้ในตลาดประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่ผู้สร้างคอนเทนต์ BL ของประเทศไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับข้อท้าทายอีกหลายประการ ทั้งนี้ ความสำเร็จของคอนเทนต์ BL จากประเทศไทยได้ส่งผลให้ผู้สร้างสื่อบันเทิงจากประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ หันมาให้ความสนใจในการบุกตลาดคอนเทนต์ BL มากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับความสำเร็จในระดับโลกของละครไทยเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” แล้ว จะพบว่า มีปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จบางประการที่ไม่สามารถทำซ้ำได้อีก เพราะบริบทที่เปลี่ยนไปทั้งในทางสังคม (โรคระบาดโควิด-19), ธุรกิจ (ประเด็นเรื่อง Geo Block) และเทคโนโลยี (การยกเลิกฟังก์ชันในการใส่คำบรรยายโดยผู้รับชมทั่วไปบน Youtube)
เพราะฉะนั้น ผู้สร้างคอนเทนต์ BL จากประเทศไทยจะต้องพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพของผลงาน อีกทั้งแสวงหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ เพื่อที่จะได้คงความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต

อ้างอิงแหล่งข้อมูล
ข้อมูลภาษาไทย
– BLT Bangkok (2021, November 15), ส่องปรากฏการณ์ซีรีส์วาย Soft Power ปลุกเศรษฐกิจไทยกับอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ CEA, BLT Bangkok, https://www.bltbangkok.com/people/38083/
– 9naaproduction, Instagram, 2023, November 11, https://www.instagram.com/p/CzgmgU5B_eU/
ข้อมูลภาษาอังกฤษ
– CHAIYONG, Suwitcha (2021, November 15), Support Boy’s Love and expand our soft power, Bangkok Post, https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2215467/support-boys-love-and-expand-our-soft-power
– De Guzman, Chad (2022, August 26), Thailand’s Boys’ Love Dramas Are Changing the Way Many People View Gay Romance, TIME, https://time.com/6208817/thailand-bl-dramas-popularity/
– Koaysomboon, Top (2020, June 11), Everything you need to know about Thailand’s thriving Boys Love culture, TimeOut, https://www.timeout.com/bangkok/lgbtq/thai-boys-love-culture
– Paweepat (2022), Unexpected Soft Power: Thai BL, MEDIA & SOCIETY, https://mediaandsociety.org/unexpected-soft-power-thai-bl/
Press Release (2020, November 27), Announcement of Business Partnership with GMMTV Thailand, https://company.tv-asahi.co.jp/contents/press/0054/files/tRLI2jlNQA.pdf
ข้อมูลภาษาญี่ปุ่น
– M. (2022, June 25), タイBL流行から2年、実写BLとファンの今, Note.com, https://note.com/pink_milk/n/n9fd0e76f7294
– RAKUTEN TV NEWS (2020, December 19, Update: 2021, July 20), 【Rakuten TV年間ランキング】今年はBLがランキングを席巻!総合編, RAKUTEN TV NEWS, https://news.tv.rakuten.co.jp/2020/12/201219nenkan.html
– イシコ (2016, June 29), 世界で注目を集めるボーイズラブの市場規模, GLASS GEM POPCORN, http://www.glassgempopcorn.com/2016/06/492/
– 映画ナタリー編集部 (2021, October 27)、宮藤官九郎「長瀬智也くんしかできない役」、東京ドラマアウォードでグランプリ受賞、映画ナタリー、https://natalie.mu/eiga/news/450959
– 株式会社コンテンツセブン (2020, June 24) ,「2gether(原題:2gether The Series)」日本配給権取得のお知らせ, FAN FUN サイト, http://c7fan.com/news/2020/06/2gether.html
– 株式会社サンディアス (2021, September 9, Update: 2022, January 25), ステイホームはBL購買欲を増進?コロナ禍の腐女子”BL消費”アンケート調査2021, SANDIAS, https://sandias.jp/promotion/?p=186
– 株式会社サンディアス (2021, May 19), コロナ禍で増えた?減った? オタク女子・腐女子消費の真相, PR TIMES, https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000034.000022111.html
– カルチャー (2021, September 17), 本国観光庁も注目!タイのBLドラマが大ヒットした「裏事情」, FRIDAY DIGITAL,https://friday.kodansha.co.jp/article/204340
– ソーシャル文化研究所 (2023, September 28), タイドラマが人気! その理由をクチコミから調べてみた, TRIBAL MEDIA HOUSE, https://www.tribalmedia.co.jp/note/ugc-research-210422/
– タイBLに恋したい!(@ThaiBBLovers), Twitter, https://twitter.com/ThaiBLLovers
– 沼澤典史 (2023, August 2), 文芸誌「すばる」がBL特集で初重版!人気作品の“お約束”と踏んではいけない“地雷”とは?, DIAMOND ONLINE, https://diamond.jp/articles/-/326868
– 福井求 (2022, November 20), 日本で「タイBLドラマ」がこれだけ盛り上がるワケ, TOKYOKEIZAI ONLINE, https://toyokeizai.net/articles/-/632706
– 堀あきこ (2020, August 29), タイBLドラマ『2gether』が日本に初上陸!でもファンがガッカリなワケ,現代ビジネス, https://gendai.media/articles/-/75122?imp=0
– 宮澤かずみ (2020, October 28)、「ステイホーム」が追い風に伸長するエスニック料理市場のキーは「家でできる気分転換」、DIAMOND Chain Store ONLINE, https://diamond-rm.net/sales-promotion/66917/
– 吉田彩緒莉 (2023, November 1), タイの俳優も参加!タイBLドラマのビジネスネットワーキング・イベント詳細レポート@在京タイ王国大使館, THAILAND HYPERLINKS, https://www.thaich.net/news/20231101bl.htm
– BOYS MEETING from Thailand, https://boys-meeting.jp/
– Wikipedia, 2gether (タイのテレビドラマ), https://ja.wikipedia.org/wiki/2gether_(%E3%82%BF%E3%82%A4%E3%81%AE%E3%83%86%E3%83%AC%E3%83%93%E3%83%89%E3%83%A9%E3%83%9E)
– Wikipedia, GMMTV EXHIBITION in JAPAN, https://ja.wikipedia.org/wiki/GMMTV_EXHIBITION_in_JAPAN

de_DEGerman