ตลาดเครื่องประดับจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเครื่องประดับไข่มุกได้ขยายกลุ่มฐานลูกค้ากว้างขึ้น จากเดิมที่สวมใส่แพร่หลายในกลุ่มสตรีวัยกลางคน ไปเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น และตลาดมีการสร้างสรรค์งานออกแบบเครื่องประดับไข่มุกที่หลากหลายและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับไข่มุกในจีนขยายตัว และยอดขายในตลาดที่ร้อนแรงผลักดันราคาไข่มุกให้สูงขึ้น
- สถานการณ์ตลาดไข่มุกยังคงร้อนแรงและขนาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เดิมภาพลักษณ์ที่สง่างามของเครื่องประดับไข่มุกจำกัดสำหรับสตรีวัยกลางคน – สูงวัย ในปี 2561 ไข่มุกครองสัดส่วนยอดขายเครื่องประดับของจีนเพียงร้อยละ 1 แต่ในปี 2563 และปี 2567 ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 7 และร้อยละ 10 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 พบว่าขนาดตลาดไข่มุกของจีนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ต่อปี โดยในปี 2566 ขนาดตลาดไข่มุกของจีนมีมูลค่า 35,000 ล้านหยวน (175,000 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 และสัดส่วนการค้าทางช่องทางออนไลน์สูงขึ้น กล่าวได้ว่าการค้าอีคอมเมิร์ซมีส่วนสำคัญที่เร่งการพัฒนาของอุตสาหกรรมไข่มุกให้เติบโตเร็วยิ่งขึ้น เห็นได้จากสถิติยอดขายไข่มุกผ่านแพลตฟอร์ม เช่น เทศกาลลดราคา 11.11 ของปี 2566 ของแพลตฟอร์ม TMALL มียอดการซื้อขายไข่มุกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 450 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และช่วงวันแม่และเทศกาล 520 (วันแห่งความรักของจีน) มียอดขายไข่มุกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้บริโภคอายุระหว่าง 25 – 30 ปี สั่งซื้อไข่มุกระหว่างการไลฟ์สดทางแพลตฟอร์ม DOUYIN สูงกว่าร้อยละ 50 ปัจจุบันการไลฟ์สดกลายเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญในการขายไข่มุก ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ และรูปแบบการไลฟ์สดออนไลน์ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งซื้อ/ตัดสินใจซื้อได้เร็ว ส่วนในช่วงต้นปี 2567 พบว่ามีการพูดถึงมีการโพสต์เกี่ยวกับไข่มุกบนแพลตฟอร์มเสี่ยวหงซูมากถึง 7.17 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ แต่ปี 2566 เป็นต้นมา พบว่าราคาไข่มุกระดับ Hi-end ได้ขยับเพิ่มขึ้นกว่า 0.5 – 1 เท่า เช่น สร้อยไข่มุก AKOYA ของญี่ปุ่น ขนาด 8 – 8.5 มิลลิเมตร จากเมื่อ 2 ปีที่แล้วราคาไม่เกิน 18,000 หยวน (90,000 บาท) ปีนี้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 30,000 หยวน (150,000 บาท) ขยับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70, สร้อยไข่มุกออสเตรเลียสีขาว ขนาด 10 -12 มิลลิเมตร จากราคา ประมาณ 100,000 – 150,000 หยวน (500,000 – 750,000 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 หยวน (1.5 ล้านบาท) และ ไข่มุกดำจากตาฮิติราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
- แหล่งผลิตไข่มุกของจีนมีผลผลิตลดลงทุกปี
จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตไข่มุกหลัก โดยเมืองจูจี้ มณฑลเจ้อเจียง เป็นแหล่งผลิตไข่มุกขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และตำบลซานเซี่ยหู เป็นตลาดการค้าไข่มุกน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณผลผลิตไข่มุกน้ำจืดคิดเป็นร้อยละ 73 ของโลก และคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตไข่มุกน้ำจืดของจีน และในปี 2566 การส่งออกไข่มุกของจีนร้อยละ 71.3 ส่งออกจากมณฑลเจ้อเจียง อย่างไรก็ดี แม้ว่าความต้องการตลาดจะสูงขึ้น แต่พบว่าตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ปริมาณการผลิตไข่มุกของจีนกลับลดลง จาก 1.2 ล้านกิโลกรัม เหลือ 700,000 กิโลกรัม เนื่องจากอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงหอยมุก ทั้งมุกน้ำเค็มใช้ระยะเวลานานและได้ผลผลิตน้อย ส่วนมุกน้ำจืดต้องใช้สารเลี้ยงจำนวนมากซึ่งส่งผลให้น้ำเป็นมลพิษ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงได้ออกนโยบายที่ควบคุมและจำกัดการเพาะเลี้ยงไข่มุกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงทำให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานจึงต้องปิดตัวลง ส่งให้ปริมาณการผลิตไข่มุกลดลงตามไปด้วย
- จีนมีการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก และสัดส่วนนำเข้าจากไทยค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไข่มุกของจีนในปี 2566 มีมูลค่ารวม 101 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,737 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -21.71 (YoY) แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,813 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -12.5 (YoY) และการนำเข้า 52 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,927 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -28.77 (YoY) ทั้งนี้ โครงสร้างการนำเข้าไข่มุกของจีนในปี 2566 ค่อนข้างกระจายตัวมากขึ้น ไม่ผูกขาดกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเป็นพิเศษเหมือนช่วงก่อนหน้า
ที่มา: Global Trade Atlas
ไทยเป็นประเทศคู่ค้า 1 ใน 5 อันดับแรกที่จีนมีการนำเข้าไข่มุกทุกปี ทั้งนี้ การนำเข้าไข่มุกของจีนจากไทย (HS Code 7101) ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้มีแนวโน้มค่อนข้างดี โดยในปี 2564 จีนนำเข้าไข่มุก (HS Code 7101) จากไทยเป็นมูลค่า 5.99 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ +96.67) ในปี 2565 มูลค่า 8.66 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ +44.42) และ ในปี 2566 มูลค่า 7.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ -8.50) โดยจากสถิติการนำเข้าไข่มุกของจีนจากไทยจะขึ้นลงในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมการนำเข้าไข่มุกของจีน แต่หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาด (%Share) จะพบว่าส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี 2564 – 2566 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.4, 11.9, 15.2 ตามลำดับ และในไตรมาสแรกของปี 2567 จีนนำเข้าไข่มุกจากไทยมูลค่า 4.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 371.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 48.65
ที่มา: Global Trade Atlas
- ตลาดยังคงเป็นธุรกิจแบบครอบครัว
ที่น่าสนใจก็คือ เบื้องหลังความนิยมไข่มุก กลับพบว่ารูปแบบธุรกิจเป็นแบบครอบครัว กระบวนการของไข่มุกตั้งแต่ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ต้องใช้แรงงานคน ไม่สามารถดำเนินการผลิตด้วยแม่พิมพ์เดียวกัน จึงไม่เหมาะที่จะทำในรูปแบบของธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดเล็กมักจะมีบทบาทใกล้ชิดกับผู้บริโภคในการให้ข้อมูล ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับผลิตภัณฑ์อย่างเป็นมืออาชีพ อาทิ มาตรฐานการคัดกรองไข่มุก และการประเมินมูลค่า เป็นต้น อุตสาหรรมไข่มุกของตำบลซานเซี่ยหูจึงเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง และยังคงเป็นรูปแบบธุรกิจครอบครัว
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจีนจะเป็นแหล่งผลิตไข่มุกที่สำคัญของโลก แต่กลับยังไม่ปรากฏว่าแบรนด์จีนเป็นที่นิยมในระดับสากล จึงต้องมีการพัฒนาที่มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต อาทิ ในด้านการแปรรูป การฟอกสี และการใช้ยา เป็นต้น สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมไข่มุกของจีนมีข้อได้เปรียบในด้านแหล่งผลิต ขนาดตลาด และแนวโน้มความต้องการการบริโภค หากอนาคตมีการยกระดับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง เชื่อว่าคุณภาพของไข่มุกจีนจะดียิ่งขึ้น และสามารถสร้างแบรนด์ในระดับสากลได้
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
เครื่องประดับไข่มุกกลายเป็นเครื่องประดับที่สาวจีนหยิบมาสวมใส่ตามกระแสแฟชั่นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ต่างได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ด้วยกระแสการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและขนาดตลาดไข่มุกของจีนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เครื่องประดับไข่มุกจึงนับเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการวงการเครื่องประดับไทย ทั้งนี้ อาจพิจารณาทำการตลาดของจีนโดยการกำหนดช่วงเวลาในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายให้ตรงกับช่วงเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ของจีน อาทิ วันแห่งความรัก วันแม่ ฯลฯ ตามกระแสความนิยมการส่งมอบของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีนที่เติบโตสูงขึ้น และพัฒนาคุณภาพและการออกแบบให้มีความหลากหลายให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงการลงทุนการประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้มากในช่องทางสื่อโซเชียลออนไลน์ของจีน เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคจีนได้เร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว