การส่งออกกาแฟของเวียดนามมีมูลค่า 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 5 เดือนแรก

ตามสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกกาแฟของเวียดนามคาดว่าจะมีปริมาณสูงถึง 833,000 ตัน มูลค่าประมาณ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 แต่ปริมาณลดลงร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 ราคาส่งออกกาแฟของเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 4,208 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งราคาสูงกว่าร้อยละ 11.7 ของเดือนเมษายนและสูงกว่าร้อยละ 63.6 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,428 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2566

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 เวียดนามได้เพิ่มการส่งออกสายพันธุ์กาแฟต่างๆ โดยมีโรบัสต้าเป็นสายหลักที่ส่งออก ผลผลิตประมาณ 650,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ราคาเฉลี่ยในการส่งออกกาแฟโรบัสต้าของเวียดนามอยู่ที่ 3,157 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นในหลายตลาดหลัก เช่น เยอรมนีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50.4 (3,211 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) อิตาลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2 (3,085 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) สเปนเพิ่มขึ้นร้อยละ 135.8 (3,164 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน)

จากรายงานของ Mercantile Exchange of Vietnam (MXV กล่าวว่า มีความกังวลใน 2 ประเด็นคือ ความเพียงพอต่อความต้องการตลาดโลกและราคาที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ราคาเมล็ดกาแฟสด (green bean) ในเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาซื้อกาแฟในเวียดนามอยู่ที่ 122,000 – 123,500 ด่อง/กก. (4.8 – 4.86 เหรียญสหรัฐฯ) โดยภายในไตรมาสที่สองของปี 2567 ราคากาแฟเวียดนามได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหากปริมาณของการส่งออกในเวียดนามและบราซิลไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกเร็วๆ นี้ ราคากาแฟที่ขายในประเทศก็มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอีก

ตามข้อมูลของสมาคมกาแฟ-โกโก้เวียดนาม (Vietnam Coffee – Cocoa Association: Vicofa) คาดการณ์ว่าราคากาแฟจะยังคงสูงในเดือนมิถุนายน โดยราคากาแฟในตลาดโลกยังมีความผันผวนเนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน อีกทั้งสินค้าคงคลังของเวียดนามมีเพียงประมาณ 300,000 ตัน และในฤดูเก็บเกี่ยวของปี 2567 – 2568 ที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดได้เต็มที่จึงกล่าวได้ว่าผลผลิตกาแฟเพื่อการส่งออกของเวียดนามยังมีปริมาณที่จำกัดมาก

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างการดำเนินการกับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง และการขยายตลาดการบริโภค เพื่อให้ลดผลกระทบจากผลผลิตที่ต่ำและราคากาแฟ
ในเวียดนามที่สูง ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเวียดนามรับมือกับความยากลำบากนี้ได้

 

(จาก https://en.vietnamplus.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

แม้ว่าราคากาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ปลูกกาแฟเวียดนาม แต่สำหรับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานกาแฟ ตั้งแต่กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เช่น ตัวแทนจัดซื้อ ผู้ส่งออก ผู้ค้า และผู้คั่ว ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยช่วงเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ราคากาแฟที่ซื้อในเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 50,000 ด่อง/กก. (2 เหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า
120,000 ด่อง/กก. (4.7 เหรียญสหรัฐฯ) จึงส่งผลให้เกิดความท้าทายมากมายให้กับอุตสาหกรรมกาแฟของเวียดนาม ตามสถิติของกรมศุลกากรเวียดนามในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 การส่งออกกาแฟของเวียดนามคาดว่าจะสูงถึง 95,000 ตัน มีมูลค่าถึง
400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณลดลงร้อยละ 36.5 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ สภาพอากาศในปัจจุบันของเวียนดนามที่ประสบความแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนที่น้อยลงจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลผลิตและคุณภาพของการปลูกกาแฟในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นเพราะปลูกบริเวณที่ราบสูงตอนกลางและชายฝั่งตอนกลาง-ใต้ นอกจากนี้ ต้นทุนการปลูกกาแฟจะเพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นราคา ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าแรง จึงส่งผลต่อราคาสินค้าและความสามารถในการแข่งขันของกาแฟเวียดนามในตลาดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 เวียดนามได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกกาแฟอยู่ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านวัตถุดิบ เทคนิคการผลิตและเทคโนโลยี รวมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมการเพราะปลูกกาแฟของเวียดนามมากขึ้นด้วย

de_DEGerman