ในอินเดียไม้อัดมีความสําคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ทั้งด้านความแข็งแรงและความคุ้มค่าซึ่งถูกใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการทำประตู หน้าต่าง ฉากกั้น และกรุ ด้วยความเสถียรของโครงสร้างทําให้เหมาะสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ให้ความทนทาน และความพร้อมใช้งานในพื้นผิวที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลาดจึงได้รับอิทธิพลเชิงบวกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากร้านเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมียม รวมถึงความสามารถในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตไม้อัดดัดโค้ง นอกจากนี้ การใช้ไม้อัดที่เพิ่มขึ้นสําหรับฉากกั้นและเพดานเท็จในพื้นที่ที่อยู่อาศัยและในพื้นที่สำนักงาน ยังช่วยเสริมความต้องการของตลาดอินเดีย
รัฐบาลอินเดียมีแผนออกข้อบังคับด้านการรับรองมาตรฐาน ISI สําหรับผู้ผลิตไม้อัดทุกรายตั้งแต่ปี 2568 รวมถึงการรับรองสําหรับไม้อัดที่มีคุณสมบัติกันน้ำทนต่อสภาพอากาศและความชื้น (WBP) ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงด้านนวัตกรรม คุณภาพและความทนทานของไม้อัด ให้ความมั่นใจว่าเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
โดยคาดว่าจะลดการนําเข้าไม้อัดที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเนปาล รวมถึงแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ซึ่งขยายตัวจาก 85.83 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2019 เป็น 154.57 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2024 นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานใหม่ที่จะเริ่มกําหนดให้มีการทดสอบประสิทธิภาพการต่อต้านเชื้อราสำหรับไม้อัดทุกเกรด
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. การออกใบรับรองไม้อัด BWP (Boiling Water Proof): เริ่มตั้งแต่ปี 2568 การรับรอง ISI สําหรับไม้อัด Boiling Water Proof (BWP) จะถูกกำหนดเป็นข้อบังคับ ไม้อัด BWP จะต้องผ่านการทดสอบความทนทาน กันต่อน้ำเดือด ทําให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ถึงคุณภาพ ความแข็งแรงและความทนทานยิ่งขึ้น สินค้าจึงจะเหมาะสําหรับการใช้งานระดับไฮเอนด์ โดยปกติ ไม้อัดที่ได้รับการรับรองผ่านมาตรฐานดังกล่าวจะเหมาะสำหรับการใช้ผลิตตู้ครัว เฟอร์นิเจอร์ห้องน้ำ เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง (outdoor) ฉากกั้น กรุ ประตูและหน้าต่างภายนอก โดยเฉลี่ยราคาไม้อัด BWP จะค่อนข้างมีราคาแพง โดยมีราคาระหว่าง 90 – 100 รูปีต่อตารางฟุต เทียบกับราคาปกติสําหรับไม้อัดขนาด 18 มม. ที่
45 – 52 รูปีต่อตารางฟุต
2. การนําเข้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกลดลงในภาคอุตสาหกรรมไม้อัดอินเดีย: ศูนย์กลางการผลิตไม้อัดที่สําคัญในอินเดียตั้งอยู่ที่เมืองเกรละ หรยาณา ปัญจาบ อุตรประเทศ อุตตราขันณฑ์ ทมิฬนาฑู กรณาฏกะ และคุชราต ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้อัดขยายตัวจาก 32.28 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2019 เป็น 75.26 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2023 แต่ในปีงบประมาณ 2024 หดตัวลงเหลือ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ในทางตรงกันข้าม การนําเข้ายังมีความผันผวน โดยแตะระดับสูงสุดที่ 132.43 ล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2023 ภายหลังจากที่เคยหดตัวที่ระดับ 118.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2019
3. ความผันผวนและการเติบโตด้านการส่งออก ส่งผลให้ขาดดุลทางการค้าเพิ่มขึ้น: บริษัท Global Trade Research Initiative (GTRI) ให้ข้อมูลว่า การรับรองผ่านมาตรฐาน ISI ในปี 2568 จะมีผลบังคับใช้กับไม้อัด ที่ผลิตในประเทศและนําเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพของสินค้า ผู้นําเข้าที่ใช้สินค้านี้จะต้อง ประสานงานกับหน่วยงาน BIS เพื่อทดสอบและออกใบรับรอง จากข้อมูลล่าสุดระบุว่า การนําเข้าไม้อัดทั้งหมดของอินเดียมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ประเทศไทยเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญของอินเดีย โดยนำเข้ามูลค่าประมาณ 60-70 ล้านเหรียญสหรัฐ ของการนำเข้าทั้งหมด
4. จากกราฟแท่งแสดงให้ถึงมูลค่าการนําเข้าไม้อัดของอินเดียสําหรับปีงบประมาณ 2022-2023 ประเทศไทยมีส่วนสําคัญในการสร้างมูลค่าในตลาดไม้ถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนําเข้าจากประเทศอื่นๆ รวมกันประมาณ 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของประเทศไทยในฐานะซัพพลายเออร์สำคัญในตลาดนําเข้าไม้อัดของอินเดีย
ข้อคิดเห็น
1. ตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์มีการนำเข้าไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปเป็นวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในปี 2567 (เดือนมกราคม-มีนาคม) อินเดียนำเข้าไม้อัด (HS Code 4412) มูลค่า 66.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 86.20 จากเดิมที่มีมูลค่าการนำเข้า 35.53 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 ตลาดนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม เนปาล จีน อินโดนีเซีย และรัสเซีย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดนำเข้าอันดับที่ 28 ด้วยมูลค่า 9,766 เหรียญสหรัฐ จากข้อมูลเชิงสถิตสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดอินเดียยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาและดำเนินธุรกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจไม้อัดในอินเดียยังคงเติบโต ประกอบด้วย การพัฒนาด้านชุมชนเมือง การก่อสร้างและการปรับปรุงโครงการในแต่ละรัฐ ความนิยมของอพาร์ทเมนต์แบบ semi และ Fully furnished ที่มีการใช้ไม้อัดในการตกแต่ง ความชอบของผู้ใช้งานทั้งในสินค้าระดับพรีเมียมและเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อม อย่างไรก็ดี การออกมาตรการรับรองมาตรฐาน ISI Mark Scheme ของไม้อัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นการช่วยเหลือของภาครัฐต่อผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพและความทนทานของไม้อัดที่ใช้ในเฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ รวมถึงลดการนำเข้าไม้อัดคุณภาพต่ำจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเนปาล
2. แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะยังส่งออกไม้อัด ผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์จากไม้อัดมายังอินเดียในปริมาณที่ไม่มาก โดย 4 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 49,853.97 เหรียญสหรัฐ ด้วยปริมาณ 16 ลูกบาศก์เมตรแต่หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญในการนำเสนอเอกลักษณ์ของการออกแบบคุณภาพของวัสดุเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจและต้องการเจาะตลาดอินเดียควรศึกษาแนวโน้มสินค้าที่จะมีโอกาสเติบโตในอนาคต อาทิ ไม้อัดและผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานต่อไฟและกันน้ำควบคู่ไปกับการศึกษาขั้นตอนการส่งออกกได้ที่กรมการค้าต่างประเทศและต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน ISI ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตาม ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการส่งออกได้ที่หน่วยงาน Bureau of Indian Standards (BIS)
ที่มา: 1. https://www.globalwood.org/news/2024/news_20240611b.htm
2. https://vincular.in/plywood-and-door-shutters-now-need-to-get-isi-certified/