ปัจจุบันผู้ใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านแบบอาคารเดี่ยว ซึ่งไม่ค่อยพบในกลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารที่เป็นห้องชุดสำหรับเช่า แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงโดยติดตั้ง Solar PV Rooftop ให้มีมาตรฐานติดตั้งบนทุกหลังคาของอาคารที่พักอาศัยในทุก ๆ หลัง ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับทั้งแก่ผู้เช่าและผู้ให้เช่า เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยของสถาบัน Fraunhofer ด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Fraunhofer ISE) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สถาบันฯ ได้มอบให้กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt เป็นรายแรก โดยสถาบัน Fraunhofer ISE ได้แบ่งการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์แบบจำลองเป็นกรณี ๆ ไป โดยผลของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในแบบจำลองต่าง ๆ พบว่า Solar PV Rooftop คุ้มค่าทั้งกับเจ้าของอาหารชุด และผู้เช่า อย่างการจำลองการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของโมเดลธุรกิจ สำหรับอาคารชุดที่มีผู้เช่า 10 ครัวเรือน ระบบดังกล่าวสามารถคืนทุนได้ภายในระยะ 15 ปี เมื่อนำค่าไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ระหว่าง 20 – 30 เซนต์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง มาเป็นตัวคำนวณ เพื่อให้เข้าใจในมุมมองการคำนวณของนักวิจัย ตามดัชนีราคาผู้บริโภค โดย Platform Verivox ซึ่งเป็น Web Portal สำหรับเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการ พบว่า ผู้บริโภคที่ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่ 36 เซนต์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยหลาย ๆ โมเดลธุรกิจที่สถาบัน Fraunhofer ISE ทำการตรวจสอบนี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับข้อบังคับทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในปี 2017 รัฐบาลได้ส่งเงินกองทุนพิเศษสำหรับโครงการ “ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้เช่า (Mieterstromprojekte)” ซึ่งมีสิทธิพิเศษหลายประการ เช่น เมื่อผู้ให้เช่ามีการขายไฟฟ้าให้กับผู้เช่า ค่าธรรมเนียมเครือข่าย (ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน) ค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็จะได้รับการยกเว้น นอกจากนี้ในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้รัฐบาลกลางของเยอรมันได้ตัดสินใจส่งนโยบาย Solar Package I “การจัดหาพลังงานส่วนรวม” ด้วยว่า เจ้าของอาคารชุดและผู้เช่าร่วมกันใช้ไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ก็จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเครือข่ายเช่นกัน นอกจากนี้ผู้เช่ายังได้รับเงินชดเชยตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยเรื่องพลังงานทางเลือก (EEG – Erneuerbare-Energien-Gesetz) สำหรับไฟฟ้าส่วนเกินที่พวกเขาไม่ได้ใช้เองแต่ถูกป้อนเข้าสู่เครือข่ายไฟฟ้าสาธารณะอีกด้วย

 

โดยสถาบัน Fraunhofer ISE ยังคำนึงถึงแนวคิดเรื่อง “การแบ่งปันพลังงาน” ซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจนำมาใส่เข้าไปใน Solar Package I แต่น่าจะถูกนำมาใส่ไว้กับ Solar Package ถัดไป เพื่อตอบสนองหลักเกณฑ์ที่สหภาพยุโรป (EU) ระบุไว้อีกด้วย โดยแนวคิดเรื่อง “การแบ่งปันพลังงาน” เป็นมากกว่าการจัดหาพลังงานบนอาคารที่ใช้ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันในชุมชนเพื่อผลิต  แบ่งปัน และใช้ไฟฟ้า/พลังงานหมุนเวียนร่วมกัน ภายใต้แนวคิดเรื่อง “การแบ่งปันพลังงาน” ประชาชนไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ใต้หลังคาเดียวกันอีกต่อไป ปัจจุบันศักยภาพของพื้นที่หลังคาสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้า Solar PV Rooftop มีจำนวนมากมาย และจากข้อมูลจาก Fraunhofer ISE ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันมีเพียง 16% ของอาคารที่พักอาศัยเท่านั้น ที่ติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านแบบอาคารเดี่ยวเป็นหลักที่ติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ในระหว่างที่ระบบ Solar PV Rooftop สำหรับอาคารที่เป็นห้องชุดยังไม่เป็นที่นิยม และถูกข้อยกเว้น เนื่องจากสถานการณ์ไม่เป็นเรื่องที่น่าดึงดูดใจมาเป็นเวลานาน เพราะในกรณีหลัก ผู้เช่า “ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อดีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และดังนั้นจึงไม่มีส่วนร่วมโดยตรงกับการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energiewende หมายถึง “นโยบายการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในเยอรมนี ที่อธิบายถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานฟอสซิล-นิวเคลียร์ที่มีอยู่ ให้เป็นระบบพลังงานที่ยั่งยืนผ่านพลังงานหมุนเวียน) ของประเทศเยอรมนี” งานวิจัยได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การมีส่วนร่วมโดยตรงกับ Energiewende อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีการบังคับให้มีการติดตั้ง Solar PV Rooftop บนหลังคาอาคารที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อผูกมัดทั่วประเทศที่สอดคล้องกัน โดยบางรัฐก็ได้เดินไปล่วงหน้ารัฐบาลกลางไปหนึ่งก้าวแล้ว อย่างในรัฐ Baden-Württemberg, Bayern, Bremen, Hamburg, Niedersachsen และ Nordrhein-Westfalen อาคารที่พักอาศัยที่ปลูกขึ้นใหม่จะต้องติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ตั้งแต่ปัดนี้เป็นต้นไป หรือตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป สำหรับในกรณีของการปรับปรุงหลังคาอาคารสำหรับอยู่อาศัย ก็มีการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีความคล้ายคลึงกันแล้ว โดยผู้ที่มอบให้ Fraunhofer ISE จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นก็คือ สหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเยอรมนี (BUND – Der Bund für Umwelt und Naturschutz Deutschland) กลุ่มผู้ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติเยอรมัน (DNR – Deutscher Naturschutzring) สมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติเยอรมนี (Nabu – Naturschutzbund Deutschland) กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF -World Wide Fund For Nature) กลุ่มความช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมเยอรมัน (DUH – Deutsche Umwelthilfe) และ Germanwatch

 

จาก Handelsblatt 26 กรกฎาคม 2567

de_DEGerman