รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ประจำเดือนกรกฎาคม 2567
1. ภาพรวมเศรษฐกิจสำคัญ/ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1.1 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในช่วงไตรมาสสองของปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยภาคส่วนหลักที่มีส่วนร่วมในการเติบโตของ GDP ได้แก่ ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 16.0 ภาคค้าส่งและค้าปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.8 ภาคการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 8.2 สำหรับภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.7 และภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมป่าไม้และประมงหดตัวร้อยละ 2.3
ในส่วนของด้านอุปสงค์พบว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.6 ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 10.7 ในส่วนการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 4.2 และการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 5.2 สำหรับรายจ่ายเพื่อการสะสมทุนรวมเบื้องต้น (Gross Capital Formation) ขยายตัวร้อยละ 11.5 รายได้ประชาชาติ (Gross National Income) ขยายตัวร้อยละ 7.9 และรายได้ปฐมภูมิ (Net Primary Income)ขยายตัวร้อยละ 24.7
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2567)
1.2 ภาวะการลงทุน
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ฟิลิปปินส์มีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment: FI) มูลค่ารวม 1.48 แสนล้านเปโซ ลดลงร้อยละ 63.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 4.08 แสนล้านเปโซ โดยเป็นการลงทุนผ่านหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน 5 หน่วยงาน ได้แก่
– Board of Investments (BOI)
– Clark Development Corporation (CDC)
– Cagayan Economic Zone Authority (CEZA)
– Philippine Economic Zone Authority (PEZA)
– Subic Bay Metropolitan Authority (SBMA)
ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่าเป็นการลงทุนจากประเทศสิงคโปร์มากที่สุดคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 7.01 หมื่นล้านเปโซ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.2 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เนเธอร์แลนด์มีมูลค่าการลงทุน 3.89 หมื่นล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 26.2 และเกาหลีใต้มีมูลค่าการลงทุน 2.02 หมื่นล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 13.6 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ไอน้ำ และการปรับอากาศ คิดเป็นร้อยละ 73.6 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมที่พักและบริการอาหาร (ร้อยละ 13.5) และอุตสาหกรรมการผลิต (ร้อยละ 8.5) ตามลำดับ โดยผลจากการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 23,378 งาน หรือคิดเป็นร้อยละ 84.36 ของการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศทั้งหมด
1.3 การบริโภคภายในประเทศ
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในช่วงไตรมาสสองของปี 2567 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 4.64 ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2566 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.58 โดยการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่ามากที่สุด อยู่ที่ 1.37 ล้านล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 7.71 รองลงมาได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเชื้อเพลิง มีมูลค่า 586,784 ล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 23.85 และค่าใช้จ่ายด้านสินค้าเบ็ดเตล็ดบริการอื่นๆ มีมูลค่า 509,008 ล้านเปโซ หดตัวร้อยละ 6.63 ตามลำดับ
1.4 อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 3.7 แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 มีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิง ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งการขยายตัวของราคาค่าขนส่งและค่าบริการเพื่อการศึกษา
1.5 อัตราการจ้างงานและอัตราการว่างงาน
อัตราการจ้างงานในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 96.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 95.9 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีอัตราจ้างงานอยู่ที่ร้อยละ 95.5 สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4.1 และลดลงจากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4.5
2. สถานการณ์การค้า (การส่งออก-นำเข้า)
2.1 การส่งออก
การส่งออกของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีมูลค่ารวม 36,407.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่าส่งออก 35,335.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตารางที่ 2 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้า และตารางที่ 3 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของประเทศฟิลิปปินส์จำแนกตามตลาด
2.2 การนำเข้า
การนำเข้าของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีมูลค่า 61,407.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 62,961.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 2.5 ตารางที่ 4 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้า และตารางที่ 5 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์จำแนกตามแหล่งนำเข้า
2.3 มูลค่าการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์
มูลค่าการค้ารวมของไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 อยู่ที่ 5,304.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 5,297.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.79 ของการค้าไทยไปทั่วโลก สำหรับการส่งออกจากไทยไปยังฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีมูลค่า 3,658.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 3,731.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.52ของการส่งออกไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันไทยมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีมูลค่า 1,645.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่านำเข้า 1,565.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.09 ของการนำเข้าจากทั่วโลก สรุปการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 ปรากฏว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่า 2,012.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.4 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาสินค้า 5 อันดับที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 พบว่า สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 1,198.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.14 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเม็ดพลาสติก ตามลำดับ
2.5 การนำเข้าของไทยจากฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้า 5 อันดับของไทยจากฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 พบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าสูงสุด 391.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 61.98 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามลำดับ
- สถานการณ์และภาวะสินค้าเป้าหมายของไทยในตลาดฟิลิปปินส์
แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยมายังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 ประเภทสินค้าหลัก 5 อันดับของไทยที่มีการขยายตัวในการส่งออกมายังตลาดฟิลิปปินส์ คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและข้าว โดยสรุปข้อมูลสถานการณ์และภาวะสินค้าโดยสังเขป ดังนี้
3.1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ของฟิลิปปินส์ส่งสัญญาณเชิงบวกตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขับเคลื่อนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นและคาดการณ์ว่าในปี 2567 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในฟิลิปปินส์จะกลับมาเติบโตเกินกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญของไทย และเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกมายังประเทศฟิลิปปินส์เป็นอันดับ 1 โดยสถานการณ์การส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยมายังฟิลิปปินส์ขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์ โดยในปี 2566 มีมูลค่า 2,629.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.39 จากปี 2565 ที่มีมูลค่า 1,942.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและสามารถเติบโตได้อีกมากจากปัจจัยการสนับสนุนจากจำนวนประชากรขนาดใหญ่ อัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งปัจจัยหนุนอื่นๆ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการรถยนต์เพิ่มมากขึ้น
3.2 ข้าว
ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีการบริโภคเฉลี่ยมากถึงปีละประมาณ 16 ล้านตัน แต่สามารถผลิตข้าวได้เพียงปีละประมาณ 12 ล้านตัน ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวปีละกว่า 3 ล้านตัน ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักพื้นฐานของประเทศที่มีความท้าทายหลายประการในการผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการและการขยายตัวของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุไต้ฝุ่นที่ส่งผลต่อความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรทุกปี การขาดแคลนเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรในแรงงานภาคเกษตร และล่าสุดความกังวลต่อผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ ฟิลิปปินส์อาจต้องนำเข้าข้าวมากถึง 4.1 ล้านตัน เพื่อเสริมอุปทานข้าวในประเทศและสำรองข้าวไว้ใช้ในยามขาดแคลน ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกข้าวศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าข้าวสำคัญของฟิลิปปินส์รองจากประเทศเวียดนามที่ครองส่วนแบ่งตลาดข้าวนำเข้าอันดับ 1 ในฟิลิปปินส์ โดยในปี 2566 ไทยส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ปริมาณ 210.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 184.23 จากปี 2565 ที่มีมูลค่า 74.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับในปี 2567 (เดือนมกราคม – มิถุนายน) ไทยส่งออกข้าวมาฟิลิปปินส์มูลค่า 159.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 490.89 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่าส่งออก 27.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้าวไทยยังคงมีข้อได้เปรียบสำคัญในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานที่เป็นที่เชื่อมั่นใจของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ และราคาข้าวไทยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่ยังคงต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญ คือเวียดนามที่มีพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดฟิลิปปินส์จึงจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นต่อไป
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสสองของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2567 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2566 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ร้อยละ 6 – 7 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียพบว่า ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดเหนือกว่าประเทศเวียดนาม (ร้อยละ 5.6) จีน (ร้อยละ 5.3)
อินโดนีเซีย (ร้อยละ 5.1) และมาเลเซีย (ร้อยละ 3.9) สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสองของปี 2567 ได้รับแรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออกโดยเฉพาะการฟื้นตัวของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าชะลอลง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในระยะสั้นและระยะกลางจะยังคงเติบโตเชิงบวกแม้ว่าจะมีความเสี่ยงและความท้าทายที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น นโยบายการเงินที่ตึงตัว อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แนวโน้มการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์อาจลดลง รวมถึงความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและการผลิต ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 พบว่าการส่งออกสินค้าบางรายการของไทยมาฟิลิปปินส์ยังคงสามารถขยายตัวได้ดี โดยนอกจากสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและข้าวแล้ว ยังมีสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+ร้อยละ 81.51) สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ (+ร้อยละ 17.00) นมและผลิตภัณฑ์นม (+ร้อยละ 23.53) และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ (+ร้อยละ 34.68) เป็นต้น
Büro zur Förderung des Außenhandels in Manila
Abteilung für internationale Handelsförderung
15 สิงหาคม 2567