แนวโน้มเศรษฐกิจเช็ก

รัฐบาลสาธารณรัฐเช็กได้ออกมาตรการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา ได้แก่ อัตราปกติอยู่ที่ร้อยละ 21 และอัตราลดหย่อนสำหรับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหารและยา อยู่ที่ร้อยละ 12 (จากเดิมมีสองระดับในอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ตามประเภทของสินค้าและบริการ) ส่งผลให้สินค้าที่จากเดิมมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 10 (ค่าสาธารณูปโภคและการขนส่ง) ก็มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่สูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสาธารณูปโภคและการขนส่งจะส่งผลให้ราคาในภาคส่วนเหล่านี้สูงขึ้น แต่การลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าอาหารและยาควบคู่ไปกับการลดลงของราคาสินค้าเกษตรมีส่วนช่วยให้ราคาอาหารคงที่หรือลดลงเล็กน้อย

 

แม้ว่าสาธารณรัฐเช็กจะมีการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าอาหารและยา แต่ยังถือเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตสูงที่สุดในประเทศแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี จัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าอาหารและยาอยู่ที่ร้อยละ 7 ประเทศออสเตรียและสโลวาเกียอยู่ที่ร้อยละ 10 ประเทศโปแลนด์อยู่ที่ร้อยละ 5 และ 8 ตามแต่ละประเภทของอาหาร  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีสินค้าประเภทนี้ในอัตราที่ต่ำที่สุด

 

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขการขาดดุลงบประมาณของประเทศ โดยนักเศรฐศาสตร์คำนวนว่าการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับงบประมาณของประเทศ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างการสร้างรายได้กับการรักษาราคาสินค้าและบริการในประเทศให้อยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถจับจ่าย ใช้สอยได้ ซึ่งรัฐบาลเช็กได้ออกมาตรการนี้มาในช่วงที่ค่าเงินเช็ก (เช็กคราวน์) มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ ค่าเงินเช็กคราวน์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรในปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าค่าเงินเช็กคราวน์จะเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ประมาณ 1 ยูโร ต่อ 25.2 เช็กคราวน์ เป็น 24.6 เช็กคราวน์ภายใน 12 เดือน ซึ่งมีผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความมีเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น นโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และการลดลงของสภาวะเงินเฟ้อ จากที่ต้นเดือนสิงหาคม 2567 สกุลเงินเช็กคราวน์มีการอ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ยูโร ต่อ 25.5 เช็กคราวน์ เป็นผลมาจากข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศและความคิดเห็นของรองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐเช็ก (Czech National Bank: CNB) นาย Jan Frait เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย และความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก โดย CNB คาดการณ์ว่าในปีหน้าค่าเงินเช็กคราวน์จะอยู่ที่ 25 เช็กคราวน์ ต่อ 1 ยูโร ในขณะที่  สมาคมธนาคารแห่งสาธารณรัฐเช็ก (Czech Banking Association: ČBA) คาดการณ์ว่าในปีหน้าค่าเงินเช็กคราวน์จะอยู่ที่ 24.7 เช็กคราวน์ ต่อ 1 ยูโร

 

นอกจากนี้ จากการวัดระดับดัชนีคุณภาพชีวิต Big Mac Index ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบราคาเมนูอาหารในร้านอาหาร Mcdonalds ของแต่ละประเทศเพื่อเป็นการเปรียบเทียบความเสมอภาคในการซื้อ (Purchasing Power Parity) ของแต่ละประเทศ ซึ่งมีทฤษฎีว่าสินค้าชนิดเดียวกัน ควรจะมีราคาเท่ากันในทุกประเทศเมื่อคำนวนโดยสกุลเงินเดียวกัน ผลการสำรวจล่าสุดพบกว่าค่าเงินเช็กคราวน์มีมูลค่าต่ำกว่าค่าเงินดอลลาห์สหรัฐถึงร้อยละ 18.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13 แสดงให้เห็นว่าสกุลเงินเช็กมีมูลค่าในการจับจ่ายใช้สอยต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดหากใช้เครื่องมือนี้ในการคำนวน แต่อย่างไรก็ตาม สกุลเงินเช็กคราวน์มีแนวโน้มว่าจะแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 12 เดือนข้างหน้า

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นการที่งบประมาณของประเทศสมดุลมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สกุลเงินเช็กคราวน์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้ามายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในปี 2566 สาธารณรัฐเช็กนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 236,662 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส ฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 787.48 ล้านเหรียญสหรัฐ

de_DEGerman