สินค้ากุ้งมังกรเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกออสเตรเลียที่ส่งออกไปจีนมากที่สุดและได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่จีนบังคับใช้กับสินค้าส่งออกออสเตรเลียหลายรายการในช่วงปี 2563 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่สั่นคลอน
ปี 2566 ภายใต้การบริหารโดยรัฐบาลชุดใหม่โดยมี นาย Anthony Albanese เป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้า/การทูตระหว่างจีนกับออสเตรเลียให้ดียิ่งขึ้น จีนเริ่มพิจารณาทบทวนมาตรการทางการค้ากับสินค้าส่งออกออสเตรเลียและทยอยผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าถ่านหิน (ยกเลิกในเดือนมกราคม 2566) ไม้ (ยกเลิกในเดือนพฤษภาคม 2566) ข้าวบาเลย์ (ยกเลิกในเดือนสิงหาคม 2566) สินค้าไวน์ (ยกเลิกในเดือนมีนาคม 2567) และในเดือนพฤษภาคม 2567 จีนอนุญาตให้สินค้าเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์รายใหญ่ (ถูกเพิกถอนใบอนุญาตส่งออกด้วยเหตุผลด้าน Biosecurity) สามารถส่งออกไปจีนได้ ทำให้ปัจจุบันสินค้าเนื้อสัตว์ที่ส่งออกไปจีนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-ออสเตรเลียเต็มโควต้าแล้ว (สินค้าที่เกินโควต้าจะถูกเก็บภาษีร้อยละ 12)
นาย Murray Watt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออสเตรเลียเปิดเผยว่า จีนทยอยยกเลิกมาตรการทางการค้าที่มีต่อสินค้าส่งออกออสเตรเลียแล้วเกือบทั้งหมด สินค้ากุ้งมังกรและเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์รายใหญ่ (2 แห่ง) เป็นสินค้ารายการสุดท้ายที่รอการพิจารณายกเลิกมาตรการทางการค้าที่เข้มงวด โดยที่ผ่านมาออสเตรเลียส่งออกกุ้งมังกรมากกว่าร้อยละ 90 ไปจีนมีมูลค่ารวมกว่า 770 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดของจีน ทำให้ผู้ส่งออกออสเตรเลียเริ่มส่งออกสินค้าไปยังตลาดรอง เช่น ฮ่องกง ไต้หวันและเวียดนามมากขึ้น
ล่าสุด นาย Anthony นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้หารือร่วมกับนาย Li Qiang นายกรัฐมนตรีจีนในช่วงระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและได้เห็นชอบในข้อตกลงยกเลิกมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดสินค้ากุ้งมังกรจากออสเตรเลีย คาดว่า จะเริ่มมีผลภายในสิ้นปี 2567 และทันงานเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีของฟาร์มกุ้งมังกรโดยเฉพาะฟาร์มกุ้งมังกรในรัฐ Western Australia ที่มีการส่งออกไปจีนมากกว่า 5,500 ตันมีมูลค่าสูงถึง 448 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับนาย Andrew Ferguson เจ้าของฟาร์มกุ้งมังกรส่งออกรายใหญ่ในรัฐ South Australia แสดงความเห็นว่า ปริมาณความต้องการบริโภคกุ้งมังกรในตลาดจีนอาจต่ำกว่ายอดสั่งซื้อในช่วงก่อนการใช้มาตรการ (ปี 2562) อีกทั้ง ผู้ผลิตกุ้งมังกรออสเตรเลียหลายรายได้เริ่มทำตลาดสำรองเพื่อขยายฐานตลาดส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปจีนและหลีกเลี่ยงผลกระทบในระยะยาว
………………………………………………………………………………..
Königlich Thail. Generalkonsulat, Büro für internationale Handelsförderung in Sydney-Stadt
Source: www.abc.net.au/ www.smh.com.au