ข้าวหอม Malys Angkor ของกัมพูชา คว้ารางวัลข้าวหอมดีเด่นระดับโลก (World Best Rice) ครั้งที่ 6

  • เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ข้าวหอมมะลิอังกอร์ (Malys Angkor) ของกัมพูชาได้รับการคัดเลือกให้เป็นข้าวหอมคุณภาพเยี่ยมระดับโลกเป็นครั้งที่ 6 ในงานประชุม World Rice Conference 2024 ซึ่งจัดโดยสถาบันสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ (International Commodity Institute : ICI) และ ผู้ค้าข้าวสหรัฐอเมริกา (The Rice Trader : TRT) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • Mr. Lun Yeng เลขาธิการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation : CRF) เปิดเผยว่า การได้รับรางวัลข้าวหอมดีเด่นระดับโลกครั้งนี้เป็นเกียรติสำหรับประเทศชาติและภาคอุตสาหกรรมข้าวหอมของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทในการเพาะปลูกและแปรรูปข้าวจนข้าวหอมของกัมพูชาได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและรสชาติระดับสากล
  • กัมพูชาได้รับรางวัลข้าวหอมดีเด่นระดับโลกมาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 2555 ครั้งที่ 2 ในปี 2556 ครั้งที่ 3 ในปี 2557 ครั้งที่ 4 ในปี 2561 ครั้งที่ 5 ในปี 2565 และครั้งที่ 6 ในปี 2567
  • รายงานจากสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณ 507,029 ตันไปยัง 66 ประเทศทั่วโลก ผ่านผู้ส่งออก 55 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 376.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  1. ในปี 2565 กัมพูชา ได้รับรางวัล World Best Rice ในส่วนของพันธ์ข้าวผกาลำดวน (Phka Rumduol) ที่จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตของไทย ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 5 ที่กัมพูชาได้รับรางวัลดังกล่าว และในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6 ที่กัมพูชาได้รับรางวัล World Best Rice ที่จัดขึ้นในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในสายพันธุ์มะลิอังกอร์ (Malys Angkor)
  2. สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ของกัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ปีละ 1 ล้านตันนับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยจากข้อมูล พบว่าในปี 2565 และ 2566 ประเทศมีการส่งออกข้าวทั้งหมดประมาณ 637,000 และ 656,300 ตัน ตามลำดับ แม้จะยังห่างไกลจากเป้าหมาย แต่มีแนวโน้มที่จะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. ที่ผ่านมา กัมพูชามักใช้ชื่อเสียงของการได้รับรางวัล World Best Rice ในการขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆ และยังสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประเทศผู้ผลิต/ผู้ส่งออกข้าวหอมให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น จึงคาดว่ากัมพูชาจะใช้การได้รับรางวัลครั้งนี้ดังกล่าว ในการต่อยอดการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวกัมพูชาในการขยายการส่งออกข้าวของประเทศต่อไป
  2. แม้ว่า CRF ซึ่งถือเป็นสมาพันธ์ผู้ส่งออกข้าวหลักของประเทศที่ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวให้ได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีนับตั้งแต่ปี 2568 อย่างไรก็ตาม กัมพูชาอาจเผชิญปัญหาเรื่องการบริหารน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกเช่นเดียวกับหลายประเทศที่ประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้วโลก
  3. ในอนาคตแต่ละประเทศผู้ส่งออกข้าวจะมีความพยายามส่งเสริมการส่งออกข้าวของตนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวของในห่วงโซ่อุปสงค์ ควรให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ หรือข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบจากการส่งออกข้าวไปยังประเทศส่งเสริมมาตรการดังกล่าว และยังช่วยสร้างการยอมรับในวงกว้าง เพื่อรักษา/ต่อยอดการส่งออกข้าวของไทยให้มีความยั่งยืน

————–

ที่มา: Phnom Penh Post

พฤศจิกายน 2567

de_DEGerman