ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

เนื้อหาสาระข่าว: อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐกำลังเผชิญสถานการณ์ที่สับสนและอาจถึงขั้นเลวร้ายในปี 2025 โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างภาษีศุลกากร เครดิตภาษี และกฎระเบียบการปล่อยมลพิษที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในระดับที่บรรดานักลงทุนแทบไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนคือราคายานยนต์ โดยเฉพาะต้นทุนของยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV) อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะสะท้อนว่าชาวอเมริกันต้องการหันไปใช้พลังงานสะอาดมากเพียงใด การติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อมูลและปัจจัยต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน

เริ่มต้นจากประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มจะลดทอนมาตรฐานการปล่อยมลพิษ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อผู้ผลิตยานยนต์ในการพัฒนายานยนต์ที่ไร้การปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ เขายังมีแนวโน้มที่จะยุติเครดิตภาษีมูลค่า 7,500 เหรียญ สำหรับผู้ซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ริเริ่มในยุคของรัฐบาลไบเดน

สองปัจจัยดังกล่าวนี้ถือว่าสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากอยู่แล้ว แต่ในวันจันทร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม ได้ประกาศแผนเสนอเครดิตภาษีการซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งอาจไม่รวมถึง Tesla ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้งนี้ แคลิฟอร์เนียมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐ

หลังจากนั้น ทรัมป์ยังประกาศแผนการกำหนดภาษีศุลกากรร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโก และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 สำหรับ ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก การเพิ่มภาษีในเขตอเมริกาเหนือถือว่ามีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากในแต่ละปี สหรัฐผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 12 ล้านคัน แต่ต้องพึ่งพาการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกถึง 3-4 ล้านคัน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ยังเป็นแหล่งนำเข้าอะไหล่สำคัญที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 55 ของอะไหล่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในสหรัฐ ผลลัพธ์จากปัจจัยเหล่านี้คือ ราคาของรถยนต์ทุกรุ่นจะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์พลังไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าการคำนวณผลกระทบทั้งหมดจะมีความซับซ้อนและยังไม่แน่นอน แต่จากการประเมินของ Barron’s ราคาขายเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของยานยนต์พลังไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 12

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับยอดขายรถยนต์นั้นยังไม่ชัดเจนนัก โดยนับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ชาวอเมริกันซื้อยานยนต์พลังไฟฟ้าประมาณ 946,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า โดยยานยนต์พลังไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ผู้บริโภคมักตอบสนองต่อราคาที่เพิ่มขึ้นด้วยการซื้อน้อยลง แต่การจะวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงราคาต่อความต้องการซื้อนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ใช้ศิลป์มากกว่าศาสตร์

นักวิเคราะห์ ลุค จังค์ จาก Baird คาดการณ์ว่าภาษีศุลกากรร้อยละ 25 อาจทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ในสหรัฐลดลงประมาณ 1.1 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 7 ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ข้อมูลจากช่วงการระบาดใหญ่ช่วยให้มุมมองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในปี 2022 ราคาขายเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ในสหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 เหรียญ หรือร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันซื้อรถยนต์น้อยลงประมาณ 1.5 ล้านคัน ในขณะที่ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนที่เกิดจากภาษีศุลกากรในครั้งนี้ คาดว่าจะน้อยกว่านั้น โดย Barron’s คาดว่าตัวเลขอาจลดลงเพียง 500,000 คัน

แม้ว่าวอลล์สตรีทยังไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อยานยนต์พลังไฟฟ้าอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ยานยนต์พลังไฟฟ้ากำลังเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นักวิเคราะห์จาก Bernstein อย่าง แดเนียล โรสกา ประเมินว่ายานยนต์พลังไฟฟ้าประมาณ 1.7 ล้านคันจะถูกผลิตเพื่อจำหน่ายในสหรัฐในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคันในปี 2024 หากผู้ผลิตต้องลดราคาลงเพื่อเร่งการขาย นั่นอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการทำกำไรของยานยนต์พลังไฟฟ้า โรสกายังวิเคราะห์ผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อกำไรของ Ford Motor, General Motors และ Stellantis โดยคาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของ GM อาจลดลงถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ Ford และ Stellantis อาจลดลงร้อยละ 25 และ 20 ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อประมาณการเหล่านี้ แต่รายงานของโรสกายังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในประเด็นนี้

โดยรวมแล้ว แนวโน้มยังคงน่าเป็นห่วง นักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์อาจเผชิญกับผลกำไรที่ลดลง ยอดขายที่ลดลง และยอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้าที่ตกต่ำลงอย่างมาก หากการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แต่หากยอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้ายังคงสามารถเติบโตได้ในปี 2025 นั่นจะถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีพลังงานสะอาดสามารถครองใจผู้บริโภคในสหรัฐได้อย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงอาจไม่เป็นผลดีต่อ Tesla ซึ่งวางแผนจะเพิ่มยอดขายทั่วโลกขึ้นอีกร้อยละ 20-30 ในปี 2025 ตามที่ อีลอน มัสก์ CEO ของ Tesla เคยแถลงไว้ โดยจะมีรุ่นใหม่ที่ราคาถูกลงซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงต้นปี 2025 อาจช่วยในเรื่องยอดขายได้ แต่ความเสี่ยงยังคงสูง

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

แต่ราคาหุ้น Tesla นั้นเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 37 ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน จนถึงช่วงกลางวันของวันอังคารที่ 26 นี้ ในขณะที่ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในขณะนี้ บรรดานักลงทุนกำลังเผชิญกับเรื่องที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่งโดยเพียงสันนิษฐานเอาเองว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างมัสก์และประธานาธิบดีทรัมป์จะพลอยทำให้ทุกเรื่องเป็นไปในทิศทางที่จะเอื้อประโยชน์ต่อ Tesla ไปเสียหมดได้ ว่ากันง่ายๆ ขนาดนั้น

บทวิเคราะห์: จากสถิติโดย International Organization of Motor Vehicle Manufacturers ชี้ว่าในปี 2023 มียานยนต์ที่ผลิตจากทั่วโลก 93.6 ล้านคัน

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

โดยในสหรัฐฯ มีการผลิตประมาณปีละ 10.6 ล้านคัน

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สหรัฐฯ มีการผลิตเทียบเป็นร้อยละ 2.6 ของจำนวนที่ผลิตทั่วโลก

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

ในขณะที่มียานยนต์ใหม่ทุกชนิดขาย 16 ล้านคัน โดยสหรัฐฯ เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยานยนต์ เครื่องยนต์และอะไหล่รวมมูลค่า 1.84 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออก 720.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

ทั่วทั้งประเทศมียานยนต์จำนวน 283.4 ล้านคันบนท้องถนน โดยมีเพียง 3 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย เทกซัสและฟลอริดาเท่านั้นที่มีการขายรถใหม่เกินกว่า 1 ล้านคันต่อปี และทั้ง 3 รัฐนี้ก็ยังครองสถิติจำนวนยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนใช้งานมากที่สุดในสหรัฐฯ อีกด้วย

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

ในปี 2022 มีการขายยานยนต์ใหม่จำนวน 13.6 ล้านคันและเก่าจำนวนเกือบ 39 ล้านคัน รวมแล้วมีมากถึง 52.2 ล้านคันทั่วประเทศ ซึ่งรถกระบะ Ford F-Series ครองยอดขายอันดับหนึ่งในการขายยานยนต์ทุกชนิดมานานถึง 42 ปีสะท้อนให้เห็นว่ารถกระบะเป็นยานยนต์ยอดที่มียอดขายสูงที่สุดของสหรัฐฯ ด้วย และนอกจากนี้ หากดูเฉพาะยานยนต์ประเภทรถกระบะ Ford F-Series ก็ครองยอดขายอันดับหนึ่งมานานถึง 47 ปี ดังที่กล่าวไปแล้วว่ายานยนต์ประเภทรถกระบะนั้นคือประเภทของยานยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ลำดับรองลงมา ได้แก่ รถ Crossover SUV, รถซีดานขนาดกลาง, รถ SUV ขนาดกลาง, รถขนาดเล็ก (Compact), รถมินิแวนและรถ SUV ขนาดใหญ่ตามลำดับ

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

หากไม่จำแนกประเภท ยานยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 รุ่นของ ได้แก่ Ford F-Series, Chevrolet Silverado, Ram Pickup, Toyota Rav4, Honda CR-V, GMC Sierra, Toyota Camry, Nissan Rogue, Jeep Grand Cherokee และ Toyota Tacoma

ปี 2025 อาจเป็นฝันร้ายสำหรับยอดขายรถยนต์ บททดสอบสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV)

ในกลุ่มยานยนต์ใหม่ทั้งหมด แบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ Chevrolet, Ford, Toyota, Honda และ Hyundai โดย ค่าย GM ซึ่งรวมเอาแบรนด์ Chevrolet อยู่ในกลุ่มด้วยนั้นมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึงประมาณร้อยละ 17 ตามมาด้วย Toyota และ Ford ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 15 และ 14 ตามลำดับ

สำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้าในสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มียอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้า (EV) มากกว่า 660,000 คัน มีการขยายตัวถึงร้อยละ 57 และในเดือนกันยายน 2023 ยอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้าสูงถึง 1 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในตลาด EV ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าถึงและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์พลังไฟฟ้า โดยในเดือนกันยายน 2023 ยอดขาย EV คิดเป็นร้อยละ 11 ของยอดขายรถยนต์ประเภท light-duty ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2021 ปัจจุบันมียานยนต์พลังไฟฟ้าจำหน่ายในสหรัฐฯ ทั้งหมด 103 รุ่น ครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปจนถึงรถตู้เชิงพาณิชย์ Tesla ครองส่วนแบ่งตลาด EV ในสหรัฐฯ สูงสุด โดยคิดเป็น ครึ่งหนึ่ง ของยานยนต์พลังไฟฟ้าทั้งหมดที่ขายได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 Tesla ยังอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของยอดขายรวมทุกรุ่นระหว่างไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2023

แม้ปัญหาด้านแรงงานและการผลิตจะทำให้ราคารถยนต์ใหม่ยังคงสูงขึ้นในอนาคต แต่ยานยนต์พลังไฟฟ้าคาดว่าจะมีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น โดยในปี 2022 ยอดขายยานยนต์พลังไฟฟ้ามีสัดส่วนร้อยละ 7 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48-63 ภายในปี 2035 อันเป็นผลมาจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและ กฎหมาย เช่น Inflation Reduction Act of 2022 และ Infrastructure Investment and Jobs Act of 2021 ที่ให้เงินสนับสนุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างสถานีชาร์จยานยนต์พลังไฟฟ้าในทศวรรษนี้

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ดูจากแนวโน้มแล้วเชื่อว่ายานยนต์พลังไฟฟ้าน่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี และดียิ่งๆ ขึ้นไป แม้จะได้รับแรงส่งท้ายจากจีนน้อยมาก แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ เองก็ขานรับนโยบายของรัฐบาลไบเดนอย่างเต็มที่ แต่หลังจากวันดังกล่าว คงจะไม่มีใครกล้าฟันธงว่าอุตสาหกรรมยานยนต์พลังไฟฟ้าจะคืบหน้าไปอีกเพียงใด ด้วยนโยบายที่ทรัมป์ประกาศไว้ขณะรณรงค์หาเสียงนั้น เน้นว่าจะสวนกระแสการขยายตัวดังกล่าว จะเลิกเครดิตภาษี และจะกระตุ้นให้สหรัฐฯ ผลิตและใช้ยานยนต์แบบสันดาปภายในเช่นเคยกันอย่างเต็มที่ จะนำน้ำมันสำรองของสหรัฐฯ มาใช้ให้มากขึ้น ฯลฯ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นข่าวดีมากๆ สำหรับบรรดาบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบเดิมหากสายสัมพันธ์ระหว่าง Toyota และ GM ยังสานต่อกันติดได้อยู่ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่นโยบายการสนับสนุนด้านพลังงานของสหรัฐฯ อาจจะปรับเปลี่ยนไปจากนโยบายปัจจุบันอย่างมาก และยิ่งจะเน้นให้ผลิตในประเทศมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวอาจจะต้องรื้อแผนกระบวนการและสายการผลิตที่ได้วางไว้ล่วงหน้าเป็นปีๆ ให้ดำเนินไปตามทิศทางที่ตรงกันข้าม ซึ่งในระยะแรกเริ่มนี้ น่าจะมีโอกาสรออยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีศุลกากรจากแหล่งผลิตยานยนต์แหล่งหลัก 2 แหล่ง ซึ่งได้แก่ แคนาดาและเม็กซิโกอยู่ด้วยแล้ว หากผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปทดแทนความต้องการที่ถูกจำกัดตามมาตรการดังกล่าว ก็ควรรีบปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสนั้น แต่ก็ต้องเตรียมการรับความเสี่ยงไว้ด้วยเช่นกัน งานที่เป็นการตอบสนองความต้องการแบบกระทันหัน งานระยะสั้นๆ ที่สั่งเป็นครั้งๆ หรือสัญญาสั้นๆ ก็จะเสี่ยงน้อยกว่า ก่อนจะรับงานใดๆ ควรแน่ใจว่ามีสัญญาผูกพันกันไว้แน่นหนาเพียงพอ และเรื่องโอกาสที่มีระยะยาวแบบมีสัญญาผูกพันกันหลายปีนั้น เชื่อว่ายากจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมรับสัญญาระยะยาว ก็อยากจะเตือนไว้ว่าพึงระมัดระวังไว้ให้ดีกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด และเมื่อทรัมป์จัดการปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศได้ตามต้องการแล้ว ซึ่งก็น่าจะคุยกันจบได้ง่ายๆ แต่กว่าจะมีผลตามที่ทรัมป์ประกาศไว้โดยเอาเรื่องการลักลอบขนของและอพยพเข้าสหรัฐฯ มาขึ้นบนโต๊ะเจรจาด้วยแล้ว น่าจะใช้เวลาอีกเป็นปีก็อาจเป็นไปได้ หากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้จริง ซึ่งวิธีการก็คงไม่ต่างไปจากเรื่อง IUU ที่ไทยเคยต้องเผชิญแล้วทำให้วงการประมงของไทยต้องปรับตัวกันอย่างมากมาแล้ว กว่าจะวางแผน ดำเนินการ ลงมือทำ ไปจนถึงเป็นผลเพื่อเอากลับมาใช้เจรจากันอีกรอบก็คงจะไม่เร็วนัก

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของสายการผลิตยานยนต์พลังไฟฟ้า การเข้าสู่อำนาจของทรัมป์ อาจไม่ใช่ข่าวดีนัก แต่กระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซที่เป็นภัยต่อสภาพภูมิอากาศนั้นก็จุดติดแล้ว อีกทั้งยานยนต์พลังไฟฟ้าก็ได้มีโอกาสพิสูจน์ให้ผู้บริโภคทั่วไปรับทราบกันแล้วว่าช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา โดยเฉพาะในช่วงการใช้งานต้นๆ ที่ยังไม่จำเป็นต้องยกแบตตารีเปลี่ยนใหม่ อีกทั้งผลพวงจากการส่งเสริมโดยรัฐบาลไบเดนจนทำให้จุดเติมไฟฟ้าหาง่ายขึ้นกว่าในระยะแรกๆ จึงพอมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ตลาดยานยนต์พลังไฟฟ้าในสหรัฐฯ แม้จะไม่ขยายตัวอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ อย่างเลวร้ายก็จะแค่ทรงๆ ตัวแต่จะไม่หดตัวแน่

ข่าวอีกกระแสหนึ่งที่เริ่มหนาหูขึ้นทุกทีที่ว่า Elon Musk ที่เคยล้อเลียนแนวคิดของ Toyota เรื่องการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนว่าเป็นความคิดที่ “โง่เขลาอย่างเหลือเชื่อ” แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ เขากลับประกาศว่าจะหันไปแข่งกับญี่ปุ่นทำยานยนต์พลังงานจากไฮโดรเจน โดยใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบ Fuel Cell โดยจะนำร่องออกมาก่อนด้วย Model H เพราะในระยะยาว ด้วยนานาปัจจัยทั้งแหล่งวัตถุดิบ สภาพภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครแข่งขันแล้วชนะแหล่งผลิตจากจีนในสมรภูมิยานยนต์พลังไฟฟ้านี้ได้อย่างแน่นอน จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเตรียมตัวหาความรู้และโอกาสเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวไว้แต่เนิ่นๆ ด้านญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะมุ่งหน้าสู่เทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน จึงขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นว่าเมื่อไรจะพร้อมวางตลาดจำหน่ายกันจริงจังเท่านั้น ข่าวยังลือกันไปถึงขั้นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะไม่ได้หยุดอยู่แค่เปลี่ยนไปใช้ Fuel Cell เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่สุดท้ายสุดปลายทางคือความตั้งใจที่จะใช้น้ำเป็นแหล่งพลังงานโดยในกระบวนการทำงานจะมีขั้นตอนการแยกโมเลกุลน้ำออกมาเป็นก๊าซออกซิเจนและไฮโดรเจน โดยไฮโดรเจนจะถูกส่งต่อไปเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้เป็นพลังงานขับเคลื่อน ในขณะที่ออกซิเจนอาจปล่อยสู่ธรรมชาติหรือส่งกลับมาในห้องผู้โดยสารได้อีกด้วย แต่จนถึงวันนี้ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นทฤษฎีที่ยังต้องรอการพัฒนาขึ้นไปจนถึงในระดับสามารถนำออกมาใช้งานได้จริงต่อไป หากทฤษฎีนี้เป็นไปได้จริง เชื่อว่าเจ้าตลาดรถไฟฟ้าทั่วโลกที่ทุ่มทุนมหาศาล และเวลานานนับทศวรรษซุ่มพัฒนาศักยภาพในการผลิตยานยนต์พลังไฟฟ้าอย่างจีน คงต้องเผชิญผลกระทบทางอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแรงจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้หากวันหนึ่งยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรืออาจถึงขั้นพลังงานจากน้ำออกวางตลาด เราอาจได้เป็นเห็นการสิ้นสุดยุคของตลาดยานยนต์พลังไฟฟ้าและพลังน้ำมัน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ iPhone เคยทำให้วงการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปั่นป่วนจนแบรนด์ต่างๆ ที่เคยรู้จักล่มสลายกันไปจนเกือบหมดตลาด จะต่างก็เพียงมูลค่าต่อชิ้นที่สูงกว่ากันหลายเท่า และผู้เล่นรายใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแหล่งผลิตเดียวกันทั้งหมดเท่านั้น

ท้ายที่สุด อยากขอย้ำว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีใดจะครองใจผู้บริโภคและครองตลาดยานยนต์ได้ในที่สุด แต่สิ่งที่จะยังไม่หยุดหรือหดหายไปก็คือโอกาสของผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ และยิ่งเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่มาช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากเพียงใด ก็จะยิ่งส่งผลให้มีการใช้งานยานยนต์มากยิ่งขึ้น บ่อยยิ่งขึ้น ใช้งานหนักยิ่งขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่า คงต้องเปลี่ยนยางบ่อยขึ้นไปด้วย จะมีข้อกังวลบ้างก็อยู่ที่ราคาน้ำมันปิโตรเลียม ที่อาจมีแนวโน้มขึ้นลงตามความต้องการของตลาด หากยานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงมีจำนวนลดลงมากๆ ยางสังเคราะห์ก็อาจจะเป็นคู่แข่งกับยางจากธรรมชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าตลาดอยู่ แต่ไม่ว่าการใช้งานจากน้ำมันเชื้อเพลิงจะน้อยลงเพียงใดก็จะไม่ไปถึงขั้นเลิกใช้กันไปเลยแน่นอน และบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้นก็จะบริหารจัดการด้วยกลไกต่างๆ อาทิ การสามัคคีกันลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณความต้องการของโลกเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้เหมาะสม การแข่งขันจากยางสังเคราะห์ก็น่าจะมีมาบ้างแต่ก็จะไม่ยาวนานหรือบ่อยนัก  ความต้องการผลิตภัณฑ์จากยางจะไม่มีวันหมดไป ผลิตภัณฑ์ยางนี้ สหรัฐฯถือเป็นสินค้ายุทธปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งถึงขั้นที่จะไปพึ่งพาแหล่งผลิตนอกประเทศมากไม่ได้ และได้มีโครงการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากธรรมชาติมานานแล้ว รวมถึงมีการใช้หลักวิศวพันธุกรรมมาเร่งกำลังการผลิตด้วย หากวงการอุตสาหกรรมยางของไทยจะแข่งขันในตลาดโลกในฐานะเจ้าตลาดโลกยางธรรมชาติอยู่ต่อไป ก็อาจต้องริเริ่มพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ กำลังการผลิต ฯลฯ รวมถึงการวางยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมรับมือกับวิทยาการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกันไว้บ้างก็จะเป็นหลักประกันความเสี่ยงที่ควรเร่งดำเนินการ

*********************************************************

ที่มา: Barron’s
Thema: “2025 Could Be Horrendous for Car Sales. It’s a Huge Test for EVs.”
โดย: Al Root
สคต. ไมอามี /วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
de_DEGerman