โครงการมื้ออาหารฟรีตามหลักโภชนาการของอินโดนีเซีย

ในบรรดาโครงการหาเสียงทั้งหมดของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต โครงการอาหารฟรีตามหลักโภชนาการนั้นถือว่าได้รับความสนใจมากที่สุด โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 2 มกราคม 2568 แม้ว่าจะไม่ใช่การริเริ่มครั้งแรกของโครงการลักษณะนี้ จากรายงานของโครงการอาหารโลก (WFP) ประจำเมื่อปี 2565 ประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาสามารถเข้าถึงอาหารฟรีหรืออาหารที่ได้รับการสนับสนุนได้ทุกวัน

โครงการนี้เป็นความพยายามในการส่งเสริมการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ของอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นผลลัพธ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบอัตราความแคระแกร็นลดลงจาก 31.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 เหลือเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีการพัฒนาประชากรของอินโดนีเซียจะถือว่า “สูง” อยู่ที่ 0.713 แต่ก็ยังคงเป็นอันดับที่ 112 จาก 193 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอับดับในปี 2566นอกเหนือจากนี้ ผลการประเมินโครงการนักเรียนนานาชาติ (PISA) ประจำปี 2565 แสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียมีความล้าหลังด้านการศึกษามากกว่าประเทศอื่นๆ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสามารถทางการอ่านและคณิตศาสตร์

โครงการอาหารฟรีตามหลักโภชนาการมีวัตถุประสงค์หลักสองประการ ได้แก่ การปรับปรุงโภชนาการของเด็กและส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากกับการพัฒนาโดยรวมของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัตถุประสงค์หลายประการของโครงการอาหารฟรีอย่างการปรับปรุงโภชนาการของเด็ก การส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และการสนับสนุนเกษตรกรรมในท้องถิ่น จะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้นั้นแลกมาด้วยข้อเสียบางอย่างเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การรับรองอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอาจต้องมีการนำเข้า ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายการสนับสนุนเกษตรกรรมในท้องถิ่น สะท้อนถึงการถกเถียงที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ระหว่างนโยบายความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเอง

จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำปี 2562 เรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน พบว่าในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง 33 ประเทศ ครึ่งหนึ่งของรายการอาหารกลางวันในโรงเรียนเท่านั้นที่เน้นโภชนาการ และมีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเช่นกันที่มุ่งเน้นการสนับสนุนภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการเหล่านี้ยังแตกต่างกันในแต่ละประเทศอีกด้วย สำหรับอินโดนีเซีย แม้ว่าโครงการอาหารกลางวันฟรีจะสามารถก่อคุณประโยชน์ต่อโภชนาการของเด็กได้อย่างทันท่วงที แต่สิ่งสำคัญคือการที่ต้องตระหนักถึงความท้าทายในระยะยาวด้วย ความท้าทายประการหนึ่งก็คือการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาสนับสนุนวัตถุประสงค์ของโครงการ

การส่งผ่านราคาในประเทศถือเป็นความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงกับหน่วยงานที่มีอยู่ เช่น หน่วยงานอาหารแห่งชาติ (Bapanas) หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ (Bulog) กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การวิจัยและเทคโนโลยี สำนักงานรัฐมนตรีประสานงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับประเทศตลอดจนถึงระดับนานาชาติ

ไม่ควรประเมินต้นทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุนและการดำเนินการตามโครงการเหล่านี้ต่ำเกินไป ตัวอย่างเช่น กำหนดการปี 2568 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายถึง 43.8 ล้านล้านรูเปียห์ (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์แหล่งเงินทุนอย่างรอบคอบ และการตอบสนองต่อนโยบายต้องคำนึงถึงความท้าทายที่สำคัญ รวมถึงด้านสภาพอากาศ เช่น ผลกระทบจากความผันผวนของราคาอาหาร ภาวะขาดสารอาหารเพราะสภาพอากาศ ภาวะขาดไมโครนิวเทรียนท์ (สารอาหารที่ร่างกายต้องการ  ในปริมาณที่ไม่มาก เช่น วิตามิน หรือเกลือแร่) และปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค

แนวร่วมความมั่นคงทางอาหารได้ริเริ่มความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มที่เปราะบางที่สุดของอินโดนีเซียจะมีความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อครอบคลุมช่องว่างด้านโภชนาการในระยะสั้นและช่วยรักษาเสถียรภาพของผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น พันธมิตรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ UNICEF ส่วนพันธมิตรในท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ (Bulog) และบริษัทอาหารของรัฐ โดยสรุปแล้ว โครงการอาหารฟรีตามหลักโภชนาการนั้นสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงก้าวหนึ่งสู่ความพยายามอันยิ่งใหญ่ในการรับรองความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาประชากรในระยะยาวของอินโดนีเซีย

 

ความคิดเห็นของสำนักงาน:

อินโดนีเซียได้เปิดตัวโครงการ “มื้ออาหารฟรี” ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาสำคัญของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2568 ปัจจุบัน โครงการนี้อยู่ในระยะทดลอง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความยั่งยืนและความสารถในการพึ่งพาตนเองจากการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่น และไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียพึ่งพาการนำเข้านมจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารฟรี (โดยเฉพาะนมผงและผลิตภัณฑ์นมต่างๆ) ธุรกิจไทยที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมผง นมพาสเจอไรส์ หรือผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง (เช่น ผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็ก) จะสามารถขยายตลาดได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการที่อินโดนีเซียมีการนำเข้านมจากต่างประเทศมากถึง 80% นอกจากนี้ อินโดนีเซียต้องการปรับปรุงการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ซึ่งเป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยที่ให้บริการด้านการศึกษา (เช่น การฝึกอบรม การพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอน การให้คำปรึกษา) สามารถขยายตลาดเข้าไปในอินโดนีเซียได้ โดยเฉพาะการสร้างโปรแกรมการศึกษาที่ช่วยยกระดับทักษะพื้นฐานให้กับนักเรียนอินโดนีเซีย

de_DEGerman