การประมาณการณ์สภาวะทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดโดยสถาบันวิจัยของสำนักข่าว Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) เปิดเผยว่า ปี 2025 เศรษฐกิจของเยอรมนีจะหดตัว 0.1% อีกครั้ง หลังจากที่หดตัว 0.3% ในปี 2023 และหดตัวลง 0.2% ในปี 2024 ซึ่งนี่ถือเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน (ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์เยอรมันสมัยใหม่) เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ในปี 2002 และ 2003 ถือเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปีซ้อน โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ HRI คาดว่า กว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาเติบโตได้เล็กน้อยที่ 0.9 ก็น่าจะเป็นในช่วงปี 2026 นาย Bert Rürup หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ Handelsblatt ให้ข้อมูลว่า “ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจเยอรมันประสบวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นผลพวงมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วิกฤตพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ชาวเยอรมันโดยเฉลี่ยยากจนลง” และหากพิจารณาศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงเหลือเพียง 0.5% ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาขยายตัวขึ้นในเวลาอันไกล้ “เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันกำลังประสบกับภาวะที่มีจำนวนผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก” ตามการประมาณการของ Creditreform ซึ่งเป็นหน่วยงานประมาณสถานการณ์ด้านสินเชื่อแจ้งว่า มีการล้มละลายของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วถึงเกือบ 1 ใน 4 โดยมีบริษัท 22,400 แห่ง ที่แจ้งล้มละลาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 บริษัท Allianz Trade ซึ่งเป็นบริษัทประกันสินเชื่อคาดว่า ในปี 2025 การล้มละลายจะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้แนวโน้มการล้มละลายในบุคคลธรรมดา ก็ชี้เป้าว่าจะสูงขึ้นเช่นกัน ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น กำลังสร้างภาวะตึงเครียดให้กับครัวเรือน และการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่งกำลังตกอยู่ภาวะที่เสี่ยง จากข้อมูลของ Creditreform จำนวนการล้มละลายในบุคคลธรรมดาจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5% หรือมีการดำเนินการที่ 72,000 คดี โดยประมาณ
ปัจจุบันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นหลัก และการบริโภคของภาคประชาชนในประเทศนั่นเอง ตามการคาดการณ์ของ HRI การบริโภคในครัวเรือนจะเติบโตขึ้น 0.9% ในปี 2025 และการบริโภคโดยภาครัฐจะเพิ่มขึ้น 1.0% แม้ว่าการบริโภคในครัวเรือนจะสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโคโรนาในปี 2019 เล็กน้อย แต่การบริโภคโดยภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 ดูเหมือนว่า รัฐฯ ยังไม่สามารถออกจาก “โหมดวิกฤต” ได้สักที ตามการคาดการณ์ของ HRI ผลรวมของการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น (Gross Fixed Capital Formation, GFCF) ซึ่งมีความสำคัญต่อ การพัฒนาตัวด้านนวัตกรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะยังคงหดตัวต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาคาดการณ์โดย GFCF ในปี 2025 จะอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงปลายปี 2016 นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลในปี 1960 ไม่เคยมีช่วงเวลาที่ GFCF ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีลดลง 5 ปีติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนที่จะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูถูกเลื่อนออกไปก่อน หรือภาคเอกชนก็ย้ายไปลงทุนในต่างประเทศแทน จากการสำรวจของสภาหอการค้าพาณิชย์และอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 ของบริษัท ต้องการลดการลงทุนในปี 2025 ลง จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 26% ของบริษัท ให้คะแนนสถานการณ์ทางธุรกิจในปัจจุบันว่า “ดี” อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้ที่ให้คะแนนสถานการณ์ทางธุรกิจของตนว่า “แย่” เกือบจะเท่าเดิมคือ 25% นอกจากนี้ สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมแย่มาก โดยสัดส่วนของผู้ให้คะแนนสถานการณ์ในเชิงลบสูงเกือบ 2 เท่าของผู้สถานการณ์ในเชิงบวก โดยเดือนธันวาคม 2024 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระดับผู้บริหาร (Geschäftsklimaindex) จัดทำโดยสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ได้ลดลงอีก และอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) ของประเทศเยอรมนี (สินค้าที่นำไปประกอบหรือใช้เป็นชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปอีก (Verarbeitenden Gewerbe)) การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจสินค้าขั้นกลางซึ่งเรียกได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีกำลังตกอยู่ในภาวะหัวใจจะวาย
การไม่ลงทุนในวันนี้ เป็นอันตรายต่อตำแหน่งการจ้างงานในอนาคต แทบไม่มีสัปดาห์ใดเลยที่ไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมไหนไม่ออกมาประกาศลดจำนวนพนักงาน หลังจากที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานหลายปีติดต่อกัน ในที่สุดตัวเลขการปลดพนักงานก็เริ่มกลับมาความชัดเจนในสถิติการจ้างงานอีกครั้ง ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุด สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2024 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังจากหักลบค่าผันผวนตามฤดูกาลออกแล้ว มีจำนวนผู้มีงานทำลดลง 45,000 คน ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2021 เป็นต้นมา นี่เป็นการลดลงของสถิติการจ้างงานตามฤดูกาลเป็นครั้งแรก ตำแหน่งการจ้างงานหายไปในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิตและก่อสร้าง ตำแหน่งการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเฉพาะใน “ผู้ให้บริการภาครัฐ การศึกษา ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ” โดยมีการจ้างงานในธุรกิจดังกล่าวช่วงฤดูร้อนปีที่ผ่านมา หรือมากกว่าช่วงฤดูร้อนปี 2023 จำนวน 202,000 คน HRI คาดการณ์ว่า ในปีที่ผ่านมาการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 46.1 ล้านตำแหน่ง และจะถึงระดับสูงสุดแล้ว นับจากนี้ไป HRI คาดว่า การจ้างงานจะลดลงประมาณ 10,000 ตำแหน่ง/เดือน ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ของการจ้างงานที่ลดลงมาจากปัญหาด้านประชากรศาสตร์ มากกว่าที่จะมาจากปัญหาเชิงเศรษฐกิจ โดยใครบ้างที่จะถูกนับว่า เป็นผู้ประกอบอาชีพ ได้แก่ (1) ใครก็ตามที่ทำงานอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง หรือ (2) เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพอิสระ หรือ (3) ช่วยธุรกิจครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง บุคคลเหล่านี้ถือว่า เป็นผู้ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นในสถิติการว่างงาน นับตั้งแต่การว่างงานถึงจุดต่ำสุดของฤดูใบไม้ผลิปี 2019 การว่างงานที่หักลบค่าผันผวนตามฤดูกาลออกแล้วได้เพิ่มขึ้นประมาณ 600,000 คน ปัจจุบันมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 รายทุกเดือน เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีตำแหน่งว่างงานประมาณ 130,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว ดังนั้น HRI คาดว่า การพัฒนานี้จะดำเนินต่อไปและไม่มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงโดยมีความผันผวนเล็กน้อยในแต่ละเดือน และจะทยอยค่อย ๆ ลดลงในปีหน้าเท่านั้น โดยอัตราเฉลี่ยต่อปีคาดว่า เยอรมนีจะมีผู้ว่างงาน 3 ล้านคน ในปี 2025 และในปี 2026 เยอรมนีน่าจะมีผู้ว่างงานสูงถึง 3.06 ล้านคน คาดว่า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2015 จำนวนผู้ว่างงานจะเกิน 3 ล้านคน อีกครั้งในฤดูหนาวที่จะนี้ นอกเหนือ จากปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมของประเทศแล้ว ปัญหาช่องว่างทางการศึกษา และช่องว่างทางคุณวุฒิ ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน และมหาวิทยาลัย มีแนวโน้มที่จะสร้างความตึงเครียดในตลาดแรงงานขึ้นไปอีก ในอีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อดูด้านประชากรศาสตร์แล้ว คนประมาณ 400,000 คน จะออกจากตลาดแรงงานทุกปี ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนที่คนหนุ่มสาวจะเข้าทดแทน ในเวลาเดียวกันปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ที่ทรงพลังมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่การจ้างงานจำนวนมากที่พนักงานในออฟฟิศทำอยู่ ในขณะที่ประเทศจะยังคงขาดแคลนวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และช่างฝีมือ ต่อไป โดย HRI ไม่เหมือนกับผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ หรือรัฐบาลกลาง HRI ไม่เห็นแนวโน้มของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ค่าจ้างจะสูงขึ้น แต่รายได้ของผู้บริโภคหลังจากที่หักลบค่าอัตราเงินเฟ้อลงแล้ว ระดับราคาสินค้าอุปโภค – บริโภคที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้รายได้ของผู้บริโภคที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ๆ ลดลง ดัชนีการบริโภคของสมาคมผู้ค้าปลีกชาวเยอรมัน (HDE – Handelsverband Deutschland) ที่คำนวณโดย HRI แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการฟื้นตัวของดัชนีดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ และตามการสำรวจของ Ipsos ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024 มีเพียง 38% ของพลเมืองชาวเยอรมันเท่านั้นที่เชื่อว่า โดยรวมประเทศนี้กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง การบริโภคในครัวเรือนซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการเจริญเติบโตประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักได้ในขณะนี้
จากข้อมูลของ HRI อัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงกว่า 2% ทั้งในปี 2025 และ 2026 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าได้เข้าถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างทั่วทุกประเทศกลุ่มที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเยอรมนีและยูโรโซน ไม่รวมราคาพลังงาน และสินค้าบริโภคที่มีความผันผวนสูง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3% อัตราเงินเฟ้อนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ในอนาคตอันใกล้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประสบปัญหาทางวัตถุประสงค์ของตนเอง ในด้านหนึ่ง ECB ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง และในทางกลับกันอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงก็จะบังคับให้ ECB จะต้องออกมาตราการมาต่อต้านปัญหานี้ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น โดยปกติแล้วความอ่อนแอของเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomics[1]) ก่อนหน้านี้มักจบลงด้วยอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การขยายลงทุน และรายได้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เศรษฐกิจเยอรมนีต้องเตรียมพร้อมรับความจริงที่ว่า นาย Donald Trump ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลกทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งไม่ว่าเขาจะเป็นมิตรหรือศัตรูกับเยอรมนีก็ตาม ก็นับเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ว่า การกระทำของเขานี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคและส่งผลกับเยอรมนีขนาดไหน เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารกลางเยอรมัน (Bundesbank) ออกมาเตือนว่า แผนภาษีของ Trump อาจทำให้เยอรมนีต้องเสีย GDP ถึง 1% แม้แต่กระทรวงเศรษฐกิจฯ ซึ่งมักจะกระจายความเชื่อมันเชิงบวกเป็นหลักก็ออกมายอมรับว่า ความเสี่ยงต่อการพัฒนาตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น การปรับอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างรุนแรง นอกจากนี้การส่งออกพลังงานไฟฟ้าของเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้ถูกจำกัดให้ส่งออกในช่วงเวลาที่ราคาไฟฟ้าต่ำมาก ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดส่อง และมีลมพัดทำให้กังหันลมผลิตไฟฟ้าทำงาน ในทางกลับกันเยอรมนีต้องนำเข้าไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เรียกว่า “ไร้ลมไร้แดด” ซึ่งบางครั้งราคาพลังงานไฟฟ้ามีราคาสูงมาก สิ่งนี้ก็ทำให้เยอรมนีต้องเสียดุลการค้าไป จากการคาดการณ์ของ HRI การค้าพลังงานระหว่างประเทศนี้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีโดยรวมชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2025 และจะไม่สร้างแรงผลักดันการเติบโตใด ๆ ในปี 2026
ธุรกิจก่อสร้างยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศต่อไปในปีนี้ ตามการคาดการณ์ของ HRI การลงทุนด้านก่อสร้างจะยังคงหดตัวต่อไปในช่วงเวลาที่ HRI คาดการณ์ โดยปี 2026 จะเป็น 6 ปีติดต่อกันที่ธุรกิจก่อสร้างไม่มีการเติบโต โดยธุรกิจการก่อสร้างที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลอาจทรงตัวได้บ้างเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาจากช่องโหว่ของงบประมาณเทศบาลนับพันล้านยูโร ธุรกิจงานก่อสร้างมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ตามการคาดการณ์ของสหพันธ์เทศบาล การขาดดุลของเทศบาลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็น 13.2 พันล้านยูโร ในปี 2024 และจะยังคงอยู่ในระดับนี้ในปีต่อ ๆ ไป การลงทุนด้านการก่อสร้างในเขตเทศบาลที่มีมูลค่าเกือบ 35 พันล้านยูโร นั้นก็กลายเป็นสิ่งไม่แน่นอนไปทันที ซึ่งดูน่าสงสัยว่า รัฐบาลกลางเยอรมันชุดใหม่ซึ่งจะได้รับเลือกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ จะสามารถจัดการรักษาความปลอดภัยในการวางแผนการก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มเติมให้แก่บริษัทต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 และต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 โดยปกติจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนหลังจากการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลางในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่การเจรจาแนวร่วม 3 ครั้งล่าสุดกลับไม่ได้ดำเนินไปอย่างเช่นในอดีต ในปี 2013 ใช้เวลากว่า 86 วัน กว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ในปี 2017 ใช้เวลามากถึง 171 วัน และรัฐบาลชุดล่าสุดกว่าจะเริ่มดำเนินการได้ก็ใช้เวลาไปกว่า 73 วันหลังการเลือกตั้ง การดำเนินการอย่างเป็นทางการที่สำคัญประการแรกหลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ก็คือ การจัดเตรียมงบประมาณของรัฐบาลกลางใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหลังจากการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลาง 6 ครั้งล่าสุด ระยะเวลาเฉลี่ยกว่าที่จะสรุปจัดเตรียมงบประมาณฯ ก็ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ระหว่างหลังการเลือกตั้ง จนถึงช่วงสิ้นสุดการจัดการงบประมาณชั่วคราว เมื่อดูตามสถานการณ์ในอดีตแล้ว การปฏิรูปใด ๆ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะมีผลใช้ก่อนปี 2026 นาย Rürup หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Handelsblatt กล่าวย้ำว่า “ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทศวรรษทองของเศรษฐกิจเยอรมนีสิ้นสุดลงในปี 2018 เพียงแต่สาเหตุในตอนแรกมาจากฤดูร้อนที่ร้อนจัด และตามมาด้วยการระบาดครั้งใหญ่ ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศติดอยู่ในวิกฤตสองครั้ง นั่นคือ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และจุดเริ่มต้นของสังคมสูงวัยเมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว สำหรับเยอรมนีแล้วก็คงจะไม่มีช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ที่จะทำการปฏิรูประบบ Schuldenbremse (การรักษางบประมาณให้มีความสมดุล หรือ Balanced Budget Amendment) ที่ออกแบบมาผิด ๆ ให้เร็วที่สุด”
จาก Handelsblatt 17 มกราคม 2568
[1] เศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) เป็นสาขาของเศรษฐศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความสามารถ โครงสร้าง พฤติกรรม และการตัดสินใจในระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งประกอบไปด้วยเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก