ในปี 2567 เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน ทั้งแรงกดดันจากสถานการณ์ภายในและอุปสรรคความท้าทายจากภายนอก อย่างไรก็ตาม หนิงเซี่ยหุยได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของหนิงเซี่ยหุยปรับตัวในทิศทางบวก โดยในปี 2567 หนิงเซี่ยหุยมียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค อยู่ที่ 142,258 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 1.5 และครองอันดับหนึ่งของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นอกจากนี้ หนิงเซี่ยหุยยังมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวม 20,610 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากปีก่อนหน้า มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถึง 23 แห่ง โดยมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ 2,149 ล้านหยวน และสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ถึง 185.4 ล้านหยวน ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ของปี 2567

ส่องความสำเร็จของเศรษฐกิจหนิงเซี่ยหุยในปี 2567

ส่องความสำเร็จของเศรษฐกิจหนิงเซี่ยหุยในปี 2567

แผนที่เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยในจีน  และแผนที่แสดงเขตการปกครองของหนิงเซี่ยหุย

(ภาพและแหล่งที่มา https://www.asiaharvest.org/china-resources/ningxia)

 

ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของหนิงเซี่ยหุยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจในสภาวะที่ท้าทาย หนิงเซี่ยหุยได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสามารถขอรับจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้โอกาสสำคัญจากการดำเนินนโยบาย “สองใหม่” หรือ “Two New Policy” (两新政策) [1] ของจีน ทำให้ได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกลาง เพื่อดำเนินโครงการอุดหนุนการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคเก่าเป็นใหม่ได้ถึง 880 ล้านหยวน นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนอีกหลายรายการ อาทิ โครงการสร้างระบบการค้าและการกระจายสินค้าที่ทันสมัยในนครหยินชวน จำนวน 300 ล้านหยวน โครงการพัฒนาระบบการค้าในระดับเขตเมือง จำนวน 140 ล้านหยวน และโครงการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 120 ล้านหยวน โดยตลอดทั้งปี 2567 หนิงเซี่ยหุยได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

 

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของการพัฒนาเศรษฐกิจของหนิงเซี่ยหุย ได้แก่

  • การส่งเสริมนครหยินชวนให้เป็นเมืองนำร่องสำหรับการพัฒนาระบบหมุนเวียนเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ (national modern commercial circulation system) และเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องชุดแรกของจีนเพื่อพัฒนา “วงจรชีวิตที่สะดวกสบายภายใน 15 นาที” (15-Minute Convenient Life Circles)
  • เมืองอู๋จงได้รับเลือกให้เป็นเมืองนำร่องชุดที่ 4 ของโครงการ “วงจรชีวิตที่สะดวกสบายภายใน 15 นาที”
  • อำเภอและเขต 5 แห่งของหนิงเซี่ยหุย ได้แก่ อำเภอหย่งหนิง เขตหุ้ยหนง เขตหลี่ตง เขตหยวนโจว และเขตชาโปโถว ได้รับเลือกให้เป็น “อำเภอ/เขตนำร่อง” ด้านการดำเนินธุรกิจระดับท้องถิ่นของกระทรวงพาณิชย์จีน
  • อำเภอจงหนิงได้รับเลือกให้เป็น “อำเภอนำร่อง” ด้านอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ชนบท

 

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของหนิงเซี่ยหุยเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการผสมผสานนโยบายรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพกับการใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ รัฐบาลหนิงเซี่ยหุยได้ดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด โดยอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ และการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจในระดับท้องถิ่นของหนิงเซี่ยหุยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หนิงเซี่ยหุยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากหนิงเซี่ยหุยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นและมีการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างหนิงเซี่ยหุยและไทยในปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม 2567) มีมูลค่ารวม 846.34 ล้านหยวน โดยหนิงเซี่ยหุยนำเข้าจากไทย 19.61 ล้านหยวน คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 103.99 หนิงเซี่ยหุยเป็นประตูสู่ตลาดจีนตะวันตก ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไปยังภูมิภาคนี้ได้ โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าอาหารและเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ผลไม้แปรรูป อาหารแช่แข็ง รวมถึงสินค้าฮาลาล เนื่องจาก   มีชาวมุสลิมจำนวนมากในภูมิภาคนี้ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญสำหรับสินค้าฮาลาลจากไทย

ส่องความสำเร็จของเศรษฐกิจหนิงเซี่ยหุยในปี 2567ส่องความสำเร็จของเศรษฐกิจหนิงเซี่ยหุยในปี 2567

หนึ่งในกลยุทธ์การเจาะตลาดหนิงเซี่ยหุยที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ โดยงานแสดงสินค้า China-Arab States Expo เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย และเป็นหนึ่งในเวทีสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างหนิงเซี่ยหุยกับต่างประเทศ โดยงานดังกล่่าวมีกำหนดจัดงานครั้งถัดไปในช่วงเดือนสิงหาคม 2568

 

นอกจากนี้ การขยายธุรกิจในรูปแบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางนี้เพื่อเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้โดยตรง โดยใช้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนการค้าออนไลน์ของจีนและระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยในเขตปลอดภาษีหยินชวน ซึ่งหนิงเซี่ยหุยมีความพร้อมด้านระบบการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศที่ทันสมัย  มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจร และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการขนส่งสินค้า

 

โดยสรุป หนิงเซี่ยหุยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านอาหารและเกษตรกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์ และการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน  การใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

————————————————–

Büro zur Förderung des Überseehandels in Chengdu

กุมภาพันธ์ 2568

แหล่งข้อมูล :

https://mp.weixin.qq.com/s/EvqQdSTH-4_SlUxhQsTpng

https://de.china-news-online.com/h5/lang/Thai/4315782.html

Global Trade Atlas

https://www.asiaharvest.org/china-resources/ningxia

[1] นโยบาย “สองใหม่” หมายถึง การสนับสนุนการปรับปรุงอุปกรณ์/เครื่องจักรกลขนาดใหญ่และการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรม และพัฒนาการพัฒนาสีเขียว โดยการสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ อัปเกรดอุปกรณ์ของตน ในขณะเดียวกันก็จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อขายผลิตภัณฑ์เก่าของตนเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐโดยตรง

 

de_DEGerman