อินเดียมองหาแหล่งก๊าซ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

อินเดียใช้ก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.2% ของพลังงานต่างๆ ที่ใช้ในอินเดีย เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ใช้ก๊าซในสัดส่วนประมาณ 24% ของพลังงานต่างๆ รวมกัน สะท้อนถึงแนวโน้มที่อินเดียจะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซให้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลอินเดียมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนให้เพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2573 อย่างไรก็ดี อินเดียจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากถึง 55% ของปริมาณก๊าซทั้งหมด โดยในช่วงปีงบประมาณ 2565-66 (เมษายน 2565 – มีนาคม 2566) อินเดียนำเข้าก๊าซเป็นมูลค่า 17.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 27%
อินเดียนำก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ไปใช้ในผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมองว่าต้องมีการจัดเก็บก๊าซ LNG ให้มากขึ้น รองรับการนำเข้าก๊าซจากแหล่งต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย กาตาร์ สหรับอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และ อิรัก โดยในปี 2565 อินเดียนำเข้า LNG จากทั่วโลกประมาณ 15.4 ล้านตัน โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุดที่ 5.8 ล้านตัน ภายใต้สัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าที่ลงนามก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าผ่านบริษัท GAIL India จำนวน 3.5 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากสถานีขุดเจาะที่เมือง Sabine Pass และ 2.3 ล้านตันจากสถานี Cove Point ของสหรัฐฯ
จากแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้น ผู้นำเข้าก๊าซรายใหญ่อย่าง Indian Oil Corp. Ltd (IOCL), Petronet LNG Ltd และ GAIL India Ltd เริ่มมองหาแหล่งความมั่นคงทางพลังงาน โดยจะสัญญาในระยะยาว 10-20 ปี ยกตัวอย่างเช่น IOCL ได้เข้าไปลงทุนทำคลังจัดเก็บก๊าซในอิรัก บริษัท Petronet กำลังเจรจาซื้อขาย LNG ล่วงหน้ากับบริษัท RasGas ของกาตาร์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้ามาถือหุ้นในโรงงานไฟฟ้าเพื่อนำก๊าซที่นำเข้ามามาต่อยอดการผลิตในอินเดียด้วย ในขณะที่ GAIL India ก็กำลังเจรจากับบริษัทโนวาเทค ผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ของรัสเซีย โดยจะรับชำระค่าก๊าซด้วยสกุลเงินรูปีหรือรูเบิลแทนเงินเหรียญสหรัฐ รวมถึงมีแผนที่จะต่อยอดก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาให้เป็นก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas: LPG) ในอินเดีย
นอกจากการนำเข้าแล้ว ภาคเอกชนของอินเดียได้เข้าไปร่วมลงทุนในการขุดเจาะก๊าซในประเทศต้นทาง อาทิบริษัท Gail ที่ได้เข้าไปร่วมลงทุนในโครงการผลิตก๊าซของบริษัท Tellurian Inc (Driftwood LNG project) ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นโยบายของอินเดีย ภายใต้นายฮาร์ดีป สิงห์ ปูรี (Hardeep Singh Puri) รัฐมนตรีปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ยังคงมองหาแหล่งพลังงานสำรองเพื่อลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจและชาติในตะวันออกกลางเหล่านี้ด้วย ซึ่งอาจมีประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงได้ทุกขณะ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
ไทยเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติและมีที่ตั้งใกล้กับอินเดีย แต่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าในประเทศไทย จึงไม่สามารถส่งออกมาเติมเต็มความต้องการของอินเดียได้ ในขณะที่ การสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ก็จำเป็นต้องสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนของไทยอาจนำประสบการณ์ในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติไปใช้ โดยเข้าไปลงทุนในธุรกิจคลังจัดเก็บและระบบกระจายก๊าซเข้าไปยังเมืองรองและเขตอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดมากขึ้นในอินเดีย รวมถึงการนำก๊าซไปต่อยอดการผลิตในอุตสาหกรรมปุ๋ย เป็นต้น

en_USEnglish